วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

ยอดจับน้ำมันเถื่อนพุ่ง ชี้เจ้าพ่อน้ำมันเถื่อนร่วมวงจุดไฟใต้

ชี้เจ้าพ่อน้ำมันเถื่อนร่วมวงจุดไฟใต้






          "การดำเนินการต่อขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในห้วงที่ผ่านมา สามารถตรวจยึดของกลางได้จำนวนกว่า 3 แสนลิตร พร้อมของกลางอื่นๆ ได้อีกเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการดำเนินการต่อขบวนการค้ายาเสพติด โดยสามารถขยายผลการจับกุมนำไปสู่การยึดทรัพย์เครือข่ายรวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และพบหลักฐานสำคัญที่เชื่อได้ว่าเครือข่ายยาเสพติดและน้ำมันเถื่อนที่ถูกจับกุมมีความเชื่อมโยงกับผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงกับแกนนำผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่อย่างชัดเจน"

            นี่เป็นบางช่วงบางตอนของเอกสารรายงานที่จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งได้สรุปความคืบหน้าการดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหา "ภัยแทรกซ้อน" นำเสนอหน่วยเหนือและรัฐบาล


          ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลานั้น ไม่ได้มีแต่ปัญหาที่เกิดจากกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเพียงด้านเดียว แต่ยังมีขบวนการค้ายาเสพติดและน้ำมันเถื่อนเป็น "ภัยแทรกซ้อน" ที่ผสมโรงทำให้เกิดความรุนแรงขยายวงในพื้นที่ด้วย

ขบวนการแยกดินแดน"เปลี่ยนไป?"

            ทฤษฎีที่อธิบายความรุนแรง ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน ว่ามียาเสพติด น้ำมันเถื่อน และธุรกิจผิดกฎหมายร่วมขบวนอยู่ด้วยนั้น เป็นประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พยายามสื่อสารต่อสังคมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเรียกรวมๆ ว่า "ปัญหาภัยแทรกซ้อน" แต่ก็ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามอยู่หลายประเด็น แม้แต่ในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงด้วยกันเอง

          บ้างก็ว่าขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนจะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายได้อย่างไร เพราะขบวนการนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังศรัทธาและศาสนา เพื่อกู้ชาติปัตตานี ซึ่งมีอัตลักษณ์เด่นทั้งในแง่เชื้อชาติมลายูและความเป็นมุสลิม บ้างก็ว่าการปั่นสถานการณ์ให้เต็มไปด้วยความรุนแรง จะช่วยให้ธุรกิจผิดกฎหมายขับเคลื่อนไปโดยสะดวกโยธินได้อย่างไร เพราะย่อมถูกจับตา ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกว่า 6 หมื่นนายที่ประจำการอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ ฯลฯ

           แต่ข้อมูลจาก พ.อ.จตุพร กลัมพสุต ผู้อำนวยการกองข่าว ศูนย์ข่าวกรองจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เกาะติดปัญหาภัยแทรกซ้อนมานาน และฝังตัวอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเพียง 1 วัน อธิบายได้ว่า ข้อสังเกตและคำถามจากหลายฝ่ายนั้นไม่ได้ผิด เพียงแต่สถานะของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนได้เปลี่ยนไปแล้ว หลังจากต้องเผชิญหน้าต่อสู้กับกองกำลังของรัฐมานานเกือบ 1 ทศวรรษ และยังมีสถานการณ์จากภายนอกกดดันให้กลุ่มขบวนการต้องหันเหไปยึดโยงกับธุรกิจผิดกฎหมายด้วย

3 ยุคกลุ่มติดอาวุธป่วนใต้

           พ.อ.จตุพร กล่าวว่า หากพิจารณาจากกลุ่มติดอาวุธของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนซึ่งถูกจับกุมได้ และบางส่วนยอมเข้ามอบตัวกับทางราชการ จะพบความเปลี่ยนแปลงที่แบ่งออกได้เป็น 3 ยุคของการก่อเหตุรุนแรง กล่าวคือ

  • 1.ห้วงปี 2547-2549 เป็นช่วงที่ขบวนการใช้เยาวชนเรียนดี ประพฤติดี และเคร่งศาสนา มาเป็นกำลังหลักในการก่อเหตุ ด้วยวิธีการหลอกให้เข้าร่วมขบวนการโดยอ้างอุดมการณ์ชาตินิยมและบิดเบือนคำสอนทางศาสนาบางประการ เห็นได้จากการก่อเหตุโจมตีป้อมจุดตรวจ 11 จุดในพื้นที่เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ) ผู้ก่อเหตุเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนเรียนดี แต่ถูกหลอกให้มาก่อเหตุจนเสียชีวิต โดยกลุ่มผู้ก่อการหวังว่าจะใช้เป็นเงื่อนไขยกระดับสถานการณ์สู่สากล ช่วงนั้นฝ่ายความมั่นคงทำงานยากมาก เพราะเมื่อไปจับกุมผู้ก่อเหตุ ก็จะถูกต่อต้านจากพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชน เนื่องจากไม่เชื่อว่าเยาวชนที่เป็นเด็กดี เคร่งศาสนา จะไปร่วมก่อความรุนแรง ซึ่งทั้งหมดเป็นแผนการที่กลุ่มผู้ก่อการวางเอาไว้
  • 2.ห้วงปี 2550-2553 เป็นช่วงที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นชายฉกรรจ์และวัยกลางคน อายุระหว่าง 30-40 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ เคยก่อเหตุและอยู่ระหว่างหลบหนี สาเหตุที่ต้องใช้คนกลุ่มนี้ เพราะเยาวชนกลุ่มเดิมหมดไปแล้ว บางส่วนเสียชีวิตจากการถูกหลอกให้ก่อเหตุ ขณะที่แนวร่วมรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถสร้างได้ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มรู้ทัน และดูแลบุตรหลานใกล้ชิดขึ้นกว่าแต่ก่อน
  • 3.ห้วงปี 2554-2555 เริ่มพบเด็กวัยรุ่นและเยาวชนอายุระหว่าง 17-19 ปีกลับมาเป็นผู้ก่อเหตุอีกครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ไม่ร้ายแรงนัก แต่ที่ต่างจากห้วงปี 2547-2549 คือเป็นเด็กนอกสถานศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือ บางคนเสพยาบ้า บางคนมีประวัติเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายย่อย หรืออยู่ในขบวนการน้ำมันเถื่อน 

"เงินขาดมือ"ต้องหาทุนก่อเหตุ

         พ.อ.จตุพร กล่าวต่อว่า หลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ค้าน้ำมันเถื่อนและยาเสพติด กับกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนบางระดับเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการจับกุมขบวนการเหล่านี้ในระยะหลัง เช่น การตรวจค้นฐานฝึและแหล่งพักของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เริ่มพบยาบ้าตั้งแต่ปลายปี 2553 จนถึงปัจจุบัน

        เหตุการณ์โจมตีและปล้นฐานพระองค์ดำที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 15 ม.ค.2554 มีการสอบปากคำผู้รู้เห็นในการก่อเหตุ ได้ข้อมูลว่าในวันนั้นรถน้ำมันเถื่อนหยุดวิ่ง จึงกลายเป็นประเด็นเจ้าหน้าที่เข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อน, การจับกุมเครือข่ายยาเสพติดและขยายผลไปค้นบ้าน เจอเอกสารการปฏิวัติปัตตานี เอกสารร้องเรียนว่าผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมาน และใบปลิวที่ทำล่วงหน้าป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียเอง


         นอกจากนั้นยังมีความพยายามส่งคนมาขอเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อค้าน้ำมันเถื่อน เมื่อปฏิเสธหรือมีการจับกุมผู้ค้าและยึดของกลางล็อตใหญ่ ก็มักจะมีเหตุระเบิดอย่างรุนแรงตามมาทันที อาทิ เหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่แฟลตตำรวจ สภ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส การเข้าโจมตีจุดตรวจไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นต้น

          สำหรับสาเหตุที่กลุ่มขบวนการต้องปรับยุทธวิธีหันมายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมายนั้น จากการวิเคราะห์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พบเหตุผลสำคัญ 3 ประการ คือ

  • 1.ความจริงเริ่มปรากฏ เยาวชนที่เคยก่อเหตุเมื่อปี 2547-2549 เป้นเพราะผู้ปกครองไม่รู้เรื่อง ระยะหลังเริ่มหันมาดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
  • 2.อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนส่วนบุคคลที่ถ่ายทอดกันยังมีอยู่ แต่คนสืบทอดมีน้อยลง เพราะโรงเรียนที่เคยเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดถูกปิดไปหลายแห่ง จึงต้องไปเก็บเด็กตามหมู่บ้านมาก่อเหตุ
  • และ 3.งบสนับสนุนขาดมือ เนื่องจากช่วงปี 2553-2554 เกิดปรากฏการณ์อาหรับสปริงส์ มีความวุ่นวายในตะวันออกกลาง

         "ข้อสังเกตที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ เมื่อก่อนขบวนการระดมทุนด้วยการเก็บเงินคนละ 1 บาทเพื่อกู้ชาติปัตตานี แต่ระบบนี้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2552 แล้ว เพราะทำให้เสียมวลชน เหตุนี้จึงต้องหาแหล่งรายได้อื่นแทน เพราะปฏิบัติการความรุนแรงใหญ่ๆ ครั้งหนึ่งใช้เงินเป็นแสน โดยเฉพาะคาร์บอมบ์ ต้องมีผู้ร่วมขบวนการกว่า 10 คน ทั้งคนเฝ้าต้นทาง คนชี้เป้า คนพาหนี ทุกคนที่ร่วมกระทำความผิดมีค่าตอบแทนทั้งสิ้น แต่ลองหันมาดูรายได้จากน้ำมันเถื่อนที่ได้กำไรลิตรละ 10 บาท หากดัดแปลงถังน้ำมันให้ขนได้เที่ยวละ 3 พันลิตร ขนแค่ 5 เที่ยวก็มีเงินมาทำคาร์บอมบ์ 1 ครั้งแล้ว"


5 กลุ่มน้ำมันเถื่อนโยงการเมือง
         จากการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงานความมั่นคง พบว่า น้ำมันเถื่อนเป็นแหล่งทุนสำคัญของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทุกกลุ่มในพื้นที่ เพราะมียอดการใช้สูงและรายได้งาม มีการประเมินกันว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จดทะเบียนราว 1.2 ล้านคัน หากใช้น้ำมันแค่คันละ 1 ลิตรต่อวัน ก็มียอดการใช้ถึง 1.2 ล้านลิตรแล้ว

          ขณะที่ยอดจับกุมตั้งแต่เดือน มี.ค.2554 ถึงต้นเดือน ส.ค.2555 มีจำนวนกว่า 4.2 แสนลิตร เฉพาะปีงบประมาณ 2555 ตั้งแต่ 1 ต.ค.54 ถึง 31 ก.ค.55 ยึดของกลางได้ 3 แสนลิตร รถกระบะ 111 คัน เรือ 4 ลำ สถานที่เก็บน้ำมัน 16 แห่ง ผู้กระทำผิด 127 ราย ส่วนยาเสพติด มีการปิดล้อมตรวจค้น 150 ครั้ง จับกุม 211 ราย ยึดของกลางยาบ้า 253,000 เม็ด ยาแก้ไอ 33,000 ขวด พืชกระท่อม 2,500 กิโลกรัม ทั้งหมดขยายผลยึดทรัพย์เครือข่ายได้ถึง 300 ล้านบาท


          จากข้อมูลเชิงลึกของหน่วยข่าวในพื้นที่พบว่า กลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่มีทั้งหมด 5 กลุ่ม แยกเป็น จ.ปัตตานี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชื่อย่อ "อ." กับกลุ่มตะลุโบะ จ.นราธิวาส 2 กลุ่ม คือกลุ่มตากใบ กับกลุ่มรือเสาะ และยะลา 1 กลุุ่ม เกือบทั้งหมดมีนักการเมืองหนุนหลัง

           ส่วนข้อมูลกลุ่มก่อความไม่สงบที่รวบรวมไว้จนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 9,654 คน เป็นกลุ่มที่เข้ารายงานตัวเอง 3,300 คน เป็นผู้ปฏิบัติการหลัก 2,400 คน เสียชีวิตไปแล้ว 140 คน ที่เหลือถูกจับกุมตามกฎหมาย บางส่วนถูกดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม

"ขบวนการ-แก๊งอิทธิพล"สมประโยชน์

          แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคงอีกรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า การเอื้อประโยชน์กันระหว่างกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนกับผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย คือเมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ผู้มีอิทธิพลที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงก็จะเข้าไปกว้านซื้อที่ดินราคาถูกจากชาวบ้านที่หนีความรุนแรงเข้าไปอยู่ในเมือง จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าผู้มีอิทธิพลระดับท้องถิ่นบางรายถือครองที่ดินนับพันไร่

         "จะเห็นได้ว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงถูกจับกุม มอบตัว และอยู่ในกระบวนการยุติธรรมร่วมหมื่นคน ทำให้ขบวนการมีแนวร่วมน้อยลงและลดอิทธิพลลงมาก จึงต้องก่อเหตุใหญ่ๆ เพื่อให้เสียงดัง จะได้ควบคุมมวลชนได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงใช้น้ำมันเถื่อนกับยาเสพติดมาสนับสนุนทั้งทุนและกำลังคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็วุ่นกับงานเชิงรับ ทั้ง รปภ.ครู รปภ.สถานที่ ทำให้ไม่มีเวลาไล่จับ เมื่อเขาก่อเหตุรุนแรงได้ ก็สกัดคนออกจากขบวนการได้ และไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้เจ้าหน้าที่ ทั้งหมดนี้คือวงจรของความรุนแรงที่ชายแดนใต้" 
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม