วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

ความจริง และเหตุผลการออกมาแสดงตน ของบุคคลผู้ถูกตั้งข้อสงสัย

ความจริง และเหตุผลการออกมาแสดงตน ของบุคคลผู้ถูกตั้งข้อสงสัย

บทแถลงข่าว

ความจริง และเหตุผลการออกมาแสดงตน ของบุคคลผู้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้อง
กับการก่อเหตุรุนแรง

---------------------------------------------------

            ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย อันประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส

 
 และ ๔ อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และ อำเภอสะบ้าย้อย ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๗ ในห้วงที่ผ่านมามีบุคคลที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง มีความประสงค์ต้องการออกมารายงานตัวหรือแสดงตนต่อทางการเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ขอชี้แจงเหตุผล แรงจูงใจที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นจำเป็นต้องออกมาแสดงตนจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้คือ

  • ประการที่ ๑ ถูกหลอกลวง หรือถูกชักจูงให้เข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหว แล้วทำการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ และ ๔ อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ด้วยแนวทางที่ประกอบด้วย
  •       ๑. มีการบิดเบือนหลักการทางศาสนา ให้ปฏิบัติขัดต่อหลักคำสอนของศาสนาแล้วเป็นการไม่บาป ตัวอย่างเช่น การฆ่าคนในเดือนรอมฎอน การฆ่าคนต่างศาสนาแล้วได้บุญ ซึ่งตามหลักคำสอนทางศาสนาอิสลามแล้วไม่ได้บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์


  •         ๒. การเบี่ยงเบนหลักการซุ๊มเป๊าะ โดยหลอกลวงให้เยาวชนกลุ่มใหม่ หรือประชาชนทั่วไปให้สาบานตน เข้ามาเป็นแนวร่วมในขบวนการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งบางรายเมื่อเข้าไปอยู่ในวังวนเหล่านี้แล้วจะไม่กล้าออกมารายงานตัวหรือแสดงตนเพราะกลัวคำสาบานที่ให้ไว้ แต่ก็ยังมีบางรายอดทนต่อความอึดอัด หรือขับข้องใจไม่ไหว จึงติดต่อขอออกมาแสดงตนเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  • ประการที่ ๒ เกิดจากความอับอาย ที่ตัวผู้ถูกตั้งข้อสงสัยได้ก่อเหตุกระทำลงไป กล่าวคือ
  •         ๑. การยิงประชาชนผู้ไม่มีอาวุธ ลอบทำร้ายผู้บริสุทธิ์ เช่น ครู บุคลากรทางการศึกษา จนเกิดกระแสถูกการประณามจากการกระทำที่รุนแรง ซึ่งส่งผลให้ผู้ถูกตั้งข้อสงสัยเกิดความอับอายที่กระทำต่อผู้ที่ไม่มีทางต่อสู้
  •          ๒. การก่อเหตุ มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดผลกระทบต่อญาติ บุตรหลานของตนเอง ก่อให้เกิดการสูญเสีย จึงมีความละอายที่ตนเองมีส่วนร่วมในการก่อเหตุ

  • ประการที่ ๓ เกิดจากความเบื่อหน่าย ของตัวผู้ถูกตั้งข้อสงสัย ที่มีความสงสารต่อญาติพี่น้อง พ่อแม่ บุตรภรรยาของตนเองที่ต้องพลอยได้รับความเดือดร้อน ในการทำมาหากิน บุตรหลานขาดการศึกษา ขาดผู้นำในครอบครัว ต้องหลบซ่อน เจ้าหน้าที่รัฐ และการลงมาเยี่ยมเยียนครอบครัว รวมทั้งต้องแอบอาศัยอยู่ตามป่าเขา มีผลให้เกิดความหวาดระแวง ไม่มีอิสรเสรีภาพในการดำรงชีวิต

             จากบทเรียนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาได้มีส่วนทำให้เจ้าหน้าของรัฐเกิดความรู้ มีความเข้าใจ ต่อประชาชน และผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยได้มีโอกาสแสดงตน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือตามกฎหมาย มาตรา 21 สำหรับผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อำเภอจะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา และ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี หรือการดำเนินการตามกฎหมายสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิด ได้ต่อสู้ยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เปิดช่องทางให้แล้ว โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า ได้ริเริ่มจัดทำโครงการพาคนกลับบ้าน ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง




          นโยบายพาคนกลับบ้านของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เป็นการใช้แนวทางสันติวิธี ในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ และเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐได้มีช่องทางในการแสดงความคิดเห็น เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยเปิดโอกาสกับผู้ที่กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ต้องหนีออกจากบ้านไปหลบซ่อนอยู่ที่อื่นเพราะการถูกหลอกลวง หรือถูกข่มขู่ จึงทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและเกิดความไม่มั่นใจในความปลอดภัย ได้มีโอกาสเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมมาอยู่กับครอบครัวอันเป็นที่รักเพื่อความสันติสุขเกิดขึ้น ณ ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้ตราบนานตลอดไป

----------------------------------------------------------------
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม