วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎี "แบ่งแยกดินแดน" ในภาคใต้ไทย 3


แน่นอนว่าแนวความคิดดังกล่าวมาก่อนกาลอันสมควร รัฐไทยที่เป็นประชาธิปไตยเพิ่งจะได้ลิ้มชิมรสของการสร้างรัฐในจินตนาการของผู้นำ ที่ไม่ใช่ชนชั้นศักดินาอย่างแท้จริงก็ในช่วงดังกล่าวไม่นาน การจะปล่อยให้อำนาจรัฐและการควบคุมหลุดไปยังผู้นำท้องถิ่นและภูมิภาค เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน

ในการประชุม คณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯ ได้มีการปรึกษากับฮัจญีสุหลงในข้อเรียกร้องดังกล่าว ว่าข้อไหนจะรับได้และข้อไหนคงรับไม่ได้ ข้อที่ฝ่ายรัฐบาลคิดว่าคงให้ได้มากที่สุดคือ ว่าด้วยเสรีภาพในทางศาสนา และยอมรับว่าชาวมุสลิมในประเทศไทยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาติไทยได้ในฐานะที่เป็น "ไทยมุสลิม" แต่รัฐบาลไม่อาจรับข้อเรียกร้องในการที่ชนชาติหนึ่งชาติใด สามารถจะเรียกร้องให้มีการปกครองที่เป็นสิทธิอิสระหรือเป็นการปกครองของตนเอง บนพื้นฐานของการมีอัตลักษณ์อันเป็นเฉพาะของตนเองได้

การยอมรับหลักการดังกล่าวจะนำไปสู่การบ่อนทำลายความเชื่ออันเป็นหัวใจว่าชาติไทยไม่อาจแบ่งแยกได้ โดยวางอยู่บนหลักของชาติ ศาสนา(พุทธ) และพระมหากษัตริย์ นายกรัฐมนตรีหลวงธำรงฯ นำเรื่องข้อเสนอ ๗ ประการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติว่า กล่าวโดยรวมแล้วข้อเรียกร้อง ๗ ประการไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากว่า "รูปการปกครองเวลานี้ดีแล้ว ถ้าจะจัดเป็นรูปมณฑลไม่สมควรเพราะจะเป็นการแบ่งแยก..." อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาหาทางออกให้แก่ปัญหาของมุสลิมภาคใต้ เช่น

- การปกครองให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณารูปแบบนโยบายการปกครองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
- ให้สิทธิแก่นักเรียนมลายูมุสลิมเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในเหล่าทหารและตำรวจได้ โดยให้อยู่ในการพิจารณาของรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทย
- การปิดสถานที่ราชการในวันศุกร์นั้นไม่ขัดข้อง
- ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลยังขาดเงินในการพัฒนาและซ่อมแซมถนนหนทาง
- ส่วนด้านศาสนาและวัฒนธรรม ยินดีให้ตามประเพณีมุสลิม แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งมีโครงการจะสร้าง "สุเหร่าหลวง" ประจำจังหวัดๆ ละ ๑ แห่ง ซึ่งจะต้องรอมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๔๙๑
- ด้านการศาลกำลังแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมจังหวัดละ ๒ คน แต่ไม่มีความเห็นให้แยกศาลศาสนาตามที่ผู้นำอิสลามในสี่จังหวัดได้ร้องขอ
- ด้านการศึกษาจะให้มีการสอนภาษามลายูตามที่ผู้นำมุสลิมร้องขอ
- ส่วนข้อที่ขอให้มีข้าราชการมุสลิมถึงร้อยละ ๘๐ นั้นเป็นไปไม่ได้ในเวลาอันเร่งด่วน เพราะชาวมลายูมุสลิมส่วนมากขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จะหาทางเพิ่มทางอื่นต่อไป
- สุดท้ายด้านการสื่อสารมวลชนรัฐบาลมอบหมายให้กรมโฆษณาการรับไปพิจารณาจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายู เพื่อแถลงข่าวการเมืองที่ควรรู้ตลอดจนรายการดนตรี นอกจากนั้นจะจัดพิมพ์หนังสือภาษามลายูส่งไปเผยแพร่เป็นครั้งคราว

นโยบายและข้อเสนอแนะมากมายของรัฐบาลหลวงธำรงฯ ข้างต้นนั้น มีการนำไปปฏิบัติในขณะนั้นน้อยมาก ด้วยสาเหตุและเงื่อนไขหลายประการที่ทำไม่ได้หรือได้ค่อนข้างช้าและยากมาก แต่ทั้งหมดนั้นจะเลือนหายไปเกือบหมดภายหลังการรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ และกระทั่งเมื่อนำมาพิจารณาใหม่ในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๔๘) หลายเรื่องก็เพิ่งมีการนำมาปัดฝุ่นและจะนำไปปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง

กล่าวโดยสรุป แม้จะมีการเจรจาและพบปะกันระหว่างกรรมการสอดส่องภาวการณ์ฯของรัฐบาล และผู้นำมลายูมุสลิมแล้วก็ตาม แต่ปัญหาทั้งระยะสั้นและยาวก็ยังไม่ได้รับการคลี่คลายไปเท่าที่ควร พัฒนาการที่ก่อรูปขึ้นกลับเป็นไปในทางที่มีความไม่ไว้วางใจในพฤติการณ์ของผู้นำมุสลิมบางคน โดยเฉพาะฮัจญีสุหลง ในเวลาเดียวกันเหตุการณ์ไม่สงบเช่นการปล้นก็ทวีมากขึ้น  ในปลายปี ๒๔๙๐ ภายในจังหวัดปัตตานีแห่งเดียวมีการปล้นเกิดขึ้นราว ๒๐๐ คดี  "บางรายถูกปล้นและเผาบ้านด้วย โดยเฉพาะคนไทยพุทธถูกปล้นมากที่สุด ผู้ถูกปล้นให้การกับตำรวจว่า     เมื่อผู้ร้ายลงจากบ้านเรือนไปแล้วก็จะร้องตะโกนว่า "อิโดะมลายู" (มลายูจงตื่นเถิด) นอกจากนั้น    มีการเผาโรงเรียนของรัฐบาลในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ๑ แห่ง" มีการแจกใบปลิวเรียกร้องชาตินิยมมลายูด้วย

เนื่องจากมีเรื่องร้องทุกข์มาก รัฐบาลจึงตั้งกรรมการอีกชุดเรียกว่า "กรรมการสืบสวนคำร้องทุกข์ของชาวไทยอิสลาม" ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๐ เพื่อลงไปสืบสวนคำร้องทุกข์อีกวาระหนึ่ง ในระหว่างการสอบสวนครั้งแรกนั้น ซึ่งกินเวลาพอสมควร หลายคนได้ถอนตัวออกจากการร้องเรียน เพราะถูกข่มขู่ บัดนี้เรื่องร้องเรียนเหล่านั้นก็ถูกนำกลับมาอีกครั้ง ในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการอะไรที่รัฐบาลลงมือกระทำหลังจากการสอบสวนทั้งหลายแล้ว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัตตานีคือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตอบโต้ต่อผู้ที่ให้ปากคำแก่คณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด ด้วยการเริ่มการปราบใหม่ที่มีทั้งการยิงและการขู่กรรโชกชาวบ้าน บรรยากาศโดยรวม บรรดาผู้นำมุสลิมไม่ค่อยมีความหวังต่อรัฐบาลในการรับข้อเสนอ ๗ ประการ ฮัจญีสุหลงก็นำการประท้วงไม่เห็นด้วยในการที่รัฐบาลแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรม.

ข้อมูลของทางการเริ่มรวมศูนย์ไปที่การเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแบกดินแดนโดยผู้นำมุสลิม คนที่อยู่ในเป้าสายตาคือฮัจญีสุหลง ปมเงื่อนสุดท้ายคือโยงใยของเขากับบุคคลนอกประเทศ ในระยะนั้นมีคนสองคนที่เข้ามาพัวพันกับความคิดและการเคลื่อนไหวของฮัจญีสุหลง ซึ่งจะมีผลต่อชะตากรรมและชีวิตของเขาอย่างคิดไม่ถึง คนแรก คือ    ตนกูมะไฮยิดดิน ขณะนั้นพำนักอยู่ในกลันตัน และนางสาวบาร์บารา วิททิงนั่ม โจนส์ นักข่าวชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางมาดูสถานการณ์ในปัตตานี บางแหล่งข่าวบอกว่าตามคำเชิญของ ตนกูมะไฮยิดดิน บาร์บารา วิททิงนั่ม-โจนส์เดินทางมาถึงปัตตานีในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ฮัจญีสุหลงมารอรับที่สถานีโคกโพธิ์ และให้เธอพักที่บ้านของเขา

จากนั้นได้นำเธอเพื่อไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แต่ท่านผู้ว่าฯไม่อยู่จึงไม่ได้พบกัน. วิททิงนั่ม-โจนส์ ใช้เวลา  ๓ วันในการเดินทางทั่วปัตตานีก่อนจะกลับไปเขียนบทรายงานลงหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ บทความนี้ตีพิมพ์ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๙๐

ผลก็คือปัญหาของมลายูมุสลิมภาคใต้ของไทยกลายเป็นจุดสนใจของนานาประเทศไป รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ชั้นสูงมีปฏิกิริยาไม่พอใจต่อบทความโดยเฉพาะการวิพากษ์ วิจารณ์ด้านลบอย่างมาก บทความชิ้นนี้จะกลายมาเป็นหลักฐานหนึ่งในการดำเนินคดีกับฮัจญีสุหลงข้อหา "ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก"

ว่าไปแล้วภาพของปัตตานีที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของบาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์ ดูน่าตระหนกสำหรับคนภายนอกพอสมควร เธอเขียนว่า "อาณาจักรปตานีเก่าซึ่งกลายเป็นซากปรักหักพัง ก่อนนี้เคยรุ่งโรจน์และมั่งคั่งเพราะเป็นเมืองท่าระหว่างมะละกากับญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ ปตานีอยู่ภายใต้การควบคุมของเครือข่ายน้อยนิดของข้าหลวง ตำรวจและข้าราชการอื่น ๆ ของสยาม ...ทุกหนทุกแห่งที่ข้าพเจ้าไปถึง มีแต่เรื่องราวอันเดียวกันของการกดขี่อย่างเป็นระบบ และการรณรงค์โดยจงใจที่จะลดความเป็นชาติของประชากรเหล่านั้นเสีย ความไม่พอใจลึก ๆ เกิดขึ้นจากการห้ามไม่ให้ศึกษาภาษามลายู การห้ามไม่ให้มีโรงเรียนมลายู ได้รับการผ่อนปรนในช่วงหลังสงครามโลกใหม่ ๆ ในขณะที่สถานะของสยามยังเป็นประเทศศัตรูอยู่ ขณะนี้ถูกนำมาใช้อีกแล้ว"

          ในทรรศนะของเธอ สยามกำลังทำตัวเป็นเสมือน "เจ้าอาณานิคม" และ "ผู้ครอบครอง" นั่นเองเป็นเหตุให้ "ไม่น่าแปลกใจเลยที่บางคนของกลุ่มที่เป็นหัวกบฎและถูกมองว่าเป็นพวกนอกสังคม จะกลายเป็นศัตรูของสังคมไปด้วย โดยการเข้าร่วมการลักลอบขนของเถื่อน โจรสลัดและการปล้นทรัพย์" บาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์ไม่มีความเมตตาต่อเจ้าหน้าที่ไทยเลยเมื่อมาถึงปัญหาการคอรัปชั่น การแบล๊กเมล์และการลงโทษเหยื่อชาวมลายูมุสลิม 

         
เธอเขียนว่า "ด้วยข้อหาเพียงว่าให้ที่หลบซ่อนแก่แก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งทางการชอบมากกว่าการจับกุมตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจสยามก็ทำการเผาหมู่บ้านราบเป็นหน้ากลอง ทำการขู่กรรโชกเจ้าของร้านค้าที่ร่ำรวยหน่อย ให้ต้องจ่ายเงินนับพันบาทสำหรับเป็น "ค่าคุ้มกัน" ทำการใช้กำลังบุกเข้าไปในบ้านคนมลายู ทุบตีผู้หญิงและฉกฉวยเอาสิ่งของเล็ก ๆ ที่หยิบติดมือได้ไปด้วยตามความพอใจ 

           
คนจำนวนหนึ่งถูกยิงอย่างหน้าตาเฉยบ่อย ๆ หรือไม่ก็หายไป และไม่ได้ยินข่าวของพวกเขาอีกเลย" เธอสรุปว่า "เนื่องจากอยู่ห่างไกลและตัดขาดจากโลกภายนอก ปะตานีไม่อาจช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากอำนาจก่อความหวาดกลัวนี้ (this reign of terror) ได้เลย การพูดวิจารณ์รัฐบาลอย่างกลางๆก็ถูกตราว่าเป็น "การพูดที่อันตราย" และถูกปิดกั้นด้วยความตายหรือการแบล๊กเมล์ (ขู่กรรโชก) ชาวมลายูปตานีไม่มีเสรีภาพในการพูด ไม่มีหนังสือพิมพ์ มีวิทยุไม่กี่เครื่อง และไม่มีกลไกทางการเมืองอะไร" 


          ถ้าหากจะถือเอาบทความของบาร์บารา วิททิ่งนั่ม-โจนส์เป็นปรอทวัดอุณหภูมิของสถานการณ์ในบริเวณสามจังหวัดภาคใต้ขณะนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่ามีแนวคิดอยู่สามทางในหมู่ผู้นำมลายูมุสลิมต่ออนาคตทางการเมืองของพวกเขา


- หนึ่งคือการก่อตั้งรัฐมลายูที่เป็นอิสระปกครองตนเองโดยมีมะไฮยิดดินเป็นหัวหน้า
- สองคือการรวมเข้ากับสหพันธรัฐมลายา และ
- สามซึ่งไม่ใคร่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากนัก แต่มีคนคิดกันก็คือการรวมกันเข้าเป็นรัฐเอกราชแห่งอินโดนีเซีย อันนี้ขึ้นอยู่กับหนทางและผลของการปฏิวัติเอกราชอินโดนีเซียขณะนั้นด้วย

ไม่นานนักหนทางที่สองและสามก็จางหายไป เพราะปัจจัยและมูลเหตุภายนอกเหล่านั้น ไม่อำนวยให้เป็นไปได้ ที่สำคัญสำหรับไทยคือบทบาทของอังกฤษและการสนับสนุนของสหรัฐฯ               ที่ให้ต่อรัฐบาลไทยหลังสงครามโลกอย่างแข็งขัน รวมทั้งการพยายามกลับเข้ามามีอำนาจเหนืออาณานิคมเก่าของดัตช์และอังกฤษ ผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ตระหนักดีว่า การรวมกับมลายาไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นหนทางที่เหลือคือการต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองที่เป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้หนทางแรกนี้ก็มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ระหว่างฝ่ายนำที่แยกกันตามภูมิสังคม คือ ฝ่ายผู้นำในปัตตานีที่มีฮัจญีสุหลงเป็นแกนสำคัญ กับมะไฮยิดดินที่อยู่ในกลันตันและมีความหวังที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นเจ้าเก่าของอาณาจักรปัตตานี แต่สำหรับรัฐไทยทั้งสองแกนนำล้วนเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลเหมือนๆ กัน

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวของมุสลิมภาคใต้ภายใต้การนำของฮัจญีสุหลงมีการติดต่อและการเจรจา(dialogue) กับรัฐไทยและรัฐบาลไม่น้อย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าในหมู่ผู้นำมลายูมุสลิมนั้น มีทิศทางสองอันในการจัดการปัญหาอนาคตการเมืองของมุสลิมภาคใต้

-          ทางหนึ่งคือการมองลงทางใต้ คือการต่อสู้แนวทางของตนกูมะไฮยิดดิน
-          อีกทางคือการมองขึ้นทางเหนือ คือการต่อสู้ของฮัจญีสุหลงที่มองไปยังกรุงเทพฯ

๑๓) รัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ กับจุดจบของการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม

เหตุการณ์ที่พลิกผันและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์การเมืองไทยอย่างหน้ามือเป็นหลังมือคือการรัฐประหารโดยคณะทหารในวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อมองย้อนกลับไป รัฐประหารครั้งนี้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางของการเมืองไทยต่อมา สองปัจจัยที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายหลังรัฐประหารครั้งนั้น

- อันแรก คือปัจจัยภายนอกที่มาจากภาวะเศรษฐกิจขาดแคลนฝืดเคืองหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการชาตินิยมและเอกราชทั่วไปในภูมิภาคนี้
- อันที่สอง คือปัจจัยมูลเหตุภายใน ได้แก่การสวรรคตอย่างกะทันหันและมืดมนของรัชกาลที่ ๘ ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ กรณีนี้นำไปสู่การลาออกของรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นเงื่อนไขให้กับการกลับมาหรือรื้อสร้างพลัง "เจ้านิยม"(royalists) กับ "อนุรักษ์นิยม" ขึ้นมาในการเมืองไทย

คณะรัฐประหารซึ่งเรียกตัวเองว่า "คณะทหาร" ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยทหารบก ที่น่าสังเกตคือบรรดานายทหารผู้ใหญ่นั้นเป็นนายทหารนอกประจำการ เช่น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัน และพันเอกกาจ กาจสงคราม เป็นต้น. นายทหารในประจำการคือกลุ่มนายทหารหนุ่มฝ่ายคุมกำลังจำนวนมากเช่นพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑ ทำการยึดอำนาจรัฐบาลจากหลวงธำรงฯและฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นพลังการเมืองหลักนับแต่หลังสงครามโลกยุติลง

การเกิดรัฐประหารเป็นเรื่องไม่คาดคิดว่าจะเป็นจริงได้ในขณะนั้น เพราะฝ่ายทหารหมดอำนาจจากรัฐบาลและถูกลดบทบาทการเมืองไปมาก จากการที่จอมพล ป. พิบูลสงครามตกเป็นฝ่ายปราชัยและเป็นจำเลยอาชญากรสงคราม จำต้องล้างมือจากวงการการเมืองไป ทำให้ฝ่ายทหารขาดบุคคลผู้ที่สามารถนำการยึดอำนาจรัฐบาลได้ ในวาระสุดท้ายคณะปฏิวัติถึงกับใช้วิธีแบล๊กเมล์ให้จอมพล ป.พิบูลสงครามรับตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ

อย่างไรก็ตามภายหลังการยึดอำนาจสำเร็จ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ไม่อาจรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีชนักติดหลังกรณีประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรและเป็นมิตรกับญี่ปุ่น แน่นอนว่าอังกฤษและสหรัฐฯต้องไม่รับรองรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้นนายควง อภัยวงศ์จึงได้รับการเสนอชื่อให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ในความรับรู้ของผู้คนทั่วไป ต่างคิดตรงกันว่านี่คือรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จุดนี้ส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ การพลิกผันของเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ มีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองมุสลิมภาคใต้ต้องพลิกตามไปด้วย

หลังจากรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์แห่งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาปกครอง (2) ผู้นำมลายูมุสลิมภาคใต้ก็ดำเนินการเรียกร้อง ๗ ประการต่อไป คราวนี้คำตอบที่ได้จากรัฐบาลควงยิ่งแย่กว่าสมัยรัฐบาลหลวงธำรงฯเสียอีก นายควงบอกว่าตนมีธุระยุ่งหลายเรื่อง นอกจากนั้นปัญหาของมลายูมุสลิมนั้นก็มีมานานแล้ว ถ้าจะรอไปอีกสักหน่อยก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

เป็นไปได้ว่าในระยะปลายปี ๒๔๙๐ ฮัจญีสุหลงและคณะคงรู้แล้วว่า ความหวังในการเจรจากับรัฐบาลควงไม่มีอีกต่อไปแล้ว อาวุธสุดท้ายที่มีอยู่คือการรณรงค์ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ต่อไป การบอยคอตรัฐบาลกลายเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของฝ่ายมุสลิมไปโดยมีน้ำหนักทางศาสนาอยู่ด้วย (3) แต่แผนการบอยคอตที่จะมีผลกระเทือนทางการเมืองสูงมากคือ การบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม ๒๔๙๑ มีเหตุการณ์ที่เพิ่มแรงกดดันให้แก่นโยบายเหยี่ยวของรัฐบาลควง(๓) คือในเดือนธันวาคม ๒๔๙๐ เกิดกรณีสังหารตำรวจที่หมู่บ้านบาลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยกลุ่มโจร เมื่อตำรวจทราบได้ส่งกำลังไปยังหมู่บ้าน จับชาวบ้านไปทรมานสอบสวนหาฆาตกร จากนั้นเผาหมู่บ้านเป็นเถ้าถ่านเพราะความแค้น เป็นเหตุให้ชาวบ้าน ๒๙ ครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัย

การเริ่มต้นของจุดจบนี่เองทำให้รัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลควง(๓) คือ พลโท ชิด        มั่นศิลป สินาดโยธารักษ์ ซึ่งถือปัญหาสี่จังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องรีบด่วนสองเรื่องที่จะต้องจัดการอย่างเด็ดขาด (เรื่องหนึ่งคือปัญหาคอร์รัปชั่น) เพราะ "ได้ระแคะระคายว่า ชาวพื้นเมืองมีความไม่พอใจในการปกครองของรัฐบาลทวีขึ้น ประจวบกับเหตุที่มลายูได้รับเอกราช จึงบังเกิดความตื่นตาตื่นใจตามไปด้วยเป็นธรรมดา และเป็นช่องทางให้ผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ฉวยโอกาสหาทางถีบตัวขึ้นเป็นใหญ่ หาสมัครพรรคพวก ก่อหวอดเพื่อจะแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทยไปรวมกับรัฐมาเลเซีย หรือไม่ก็จัดเป็นกลุ่ม แยกตัวออกไปเป็นอิสระโดยเอกเทศ นับว่าเป็นเรื่องที่จะรีรออยู่ไม่ได้ จะต้องขจัดปัดเป่าให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อนที่จะทรุดหนักจนเหลือแก้" (4)

ปมเงื่อนสำคัญในการไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอยู่ที่การหาผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีคนใหม่ ที่"มั่นคงจงรักภักดีต่อประเทศ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์….ต้องกล้าหาญ เอาการเอางานเพื่อเสี่ยงภัยต่อการใช้พระเดช….ต้องรู้ภาษามลายูดีทั้งเป็นที่เชื่อถือของคนพื้นเมือง" หน้าที่เร่งด่วนของผู้ว่าฯคนใหม่นี้ คือ "สืบหาตัวการที่คิดแบ่งแยกดินแดน ค้นหาเหตุที่ราษฎรเดือดร้อน…" ในที่สุดก็ได้ตัวพระยา   รัตนภักดี (แจ้ง สุวรรณจินดา) อดีตผู้ว่าราชการปัตตานี จากปี พ.ศ.๒๔๗๒- ๗๖ โดยถูกออกจากราชการ เหตุเพราะเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในเวลาเดือนเดียว พระยารัตนภักดีก็รายงานไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย ว่าสืบได้ตัวหัวหน้าผู้คิดก่อการแยกดินแดนแล้ว นั่นคือการจับกุมฮัจญีสุหลงในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ (5) ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงจากชาวมุสลิมภาคใต้มากมาย จนต้องย้ายการพิจารณาคดีไปยังศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เพระทางการกลัวว่าจะเกิดการจลาจลขึ้นหากพิจารณาคดีที่ปัตตานี กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้ในขณะนั้น กำลังคุกรุ่นและร้อนแรงขึ้นทุกวัน สภาพทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังอยู่ในสภาพหลังสงครามโลก ที่ขาดแคลนและมีตลาดมืด ทำให้สินค้าราคาแพงและหายาก โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม รวมถึงโจรที่มาจากฝั่งมลายาด้วย ซึ่งชาวบ้านและทางการเรียกรวมๆว่า "โจรจีนคอมมิวนิสต์" (6)

ในเดือนกุมภาพันธ์ มีการประท้วงก่อความไม่สงบกระจายไปทั่วในหลายอำเภอของจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีการปะทะกันด้วยกำลังระหว่างชาวบ้านกับตำรวจและกำลังในจังหวัดชายแดน ในระหว่างนั้นเองที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งแทนนายควง อภัยวงศ์ ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๔๙๑ เหตุการณ์นี้เรียกกันว่า "การจี้นายควง" ให้ออกจากรัฐบาลโดยคณะทหาร

ในที่สุดก็มาถึงวันที่เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านในหมู่บ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๙๑ ดังรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์สยามนิกรขณะนั้นดังต่อไปนี้

"วิทยุกระจายเสียงรอบเช้าวานนี้ประกาศข่าวรวบรวมหลายกระแสว่า ได้เกิดปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎรครั้งใหญ่ ในจังหวัดนราธิวาส ข่าวนั้นได้ยังความตื่นเต้นกันทั่วไป จากข่าววิทยุนั้นแสดงให้เห็นว่า ความยุ่งยากในบริเวณ ๔ จังหวัดภาคใต้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว ราษฎรกลุ่มหนึ่งในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ประมาณ ๑ พันคน ได้ก่อการจลาจลต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในโทรเลขซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย ใช้คำว่า "ก่อการขบถ" แต่รัฐมนตรีนายหนึ่งแถลงแก่คนข่าวของเราว่า "บุคคลเหล่านั้นมักใหญ่ใฝ่สูงก่อการจลาจล"

การต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎร ๑ พันคนนั้น ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทานกำลังไม่ไหว เนื่องจากมีอาวุธต่อสู้ทันสมัย เช่น เสตน คาร์ไบน์ ลูกระเบิด แม้แต่กระทั่งปืนต่อสู้รถถังก็ยังมีเช่นเดียวกัน โทรเลขฉบับแรกซึ่งส่งเข้ามายังมหาดไทยเมื่อบ่ายวันที่ ๒๖ เดือนนี้ เพื่อขอให้ส่งกำลังไปช่วยเหลือโดยด่วนนั้น ทราบว่าอธิบดีตำรวจได้เรียกประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่โดยฉับพลัน เพื่อจัดส่งกำลังไปช่วยเหลือตามที่โทรเลขแจ้งมา"

การปะทะกับกำลังตำรวจดำเนินไปสองวันมีคนเข้าร่วมถึงพันคน จำนวนตัวเลขผู้ตายและบาดเจ็บซึ่งยังไม่ตรงกันรายงานว่า ชาวบ้านมุสลิมตายไปถึง ๔๐๐ คน ส่วนตำรวจตายไป ๓๐ คน. ชาวบ้านเล่าว่าตำรวจเป็นฝ่ายเปิดฉากการยิงเข้าใส่ก่อน ขณะที่กำลังทำพิธีต้มอาบน้ำมัน เหตุที่ชาวบ้านมีการเตรียมอาวุธเพราะต้องการเอาไว้ต่อสู้กับการปล้นของโจรจีนคอมมิวนิสต์ ฝ่ายตำรวจก็สงสัยในพฤติการณ์ของชาวบ้านจึงต้องการมาสอบสวนและเกิดปะทะกันขึ้น

จากคำอธิบายหลายๆ ฝ่าย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า กรณี "กบฏดุซงญอ" นั้นคือการที่ความขัดแย้งและความไม่เข้าใจไม่ไว้วางใจของทางการกับชาวบ้านได้เร่งขึ้นถึงจุดเดือด และระเบิดออกมาเมื่อมีชนวนเพียงนิดเดียว อคติและการไม่ไว้ใจชาวบ้านมุสลิมเห็นได้จากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองที่มีไปถึงรัฐบาลกรุงเทพฯ เช่นบอกว่าชาวบ้านมีปืนสเต็น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ระเบิดเป็นต้น

ทั้ง ๆ ที่ต่อมาหนังสือพิมพ์รายงานว่า ชาวบ้านมีแค่อาวุธชาวบ้านธรรมดาคือมีด ไม้ และหอก ก้อนหินอะไรที่พอหาได้ในหมู่บ้าน ยิ่งกว่านั้นการลุกฮือของชาวบ้านที่ดุซงญอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏหะยีสุหลงแต่ประการใดด้วย ดังที่รายงานและวาทกรรมของทางการต่อปัญหามุสลิมภาคใต้จะบรรยายกันต่อๆ มาเป็นวรรคเป็นเวร ผลจากการลุกฮือปะทะกันใหญที่ดุซงญอมีผลทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามมีคำสั่งให้ยอมประกันตัวฮัจญีสุหลงได้

หลังจากการปะทะที่ดุซงญอผ่านพ้นไป ความรุนแรงและผลสะเทือนของเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านมลายูประมาณ ๒,๐๐๐ ถึง ๖,๐๐๐ คนหลบหนีออกจากฝั่งไทยเข้าไปอาศัยอยู่ในฝั่งมลายา ต่อจากนั้นมีชาวมุสลิมปัตตานีถึง ๒๕๐,๐๐๐ คนทำหนังสือร้องเรียนไปถึงองค์การสหประชาชาติให้ช่วยดำเนินการแยกสี่จังหวัดมุสลิมภาคใต้ และไปรวมกับสหพันธรัฐ  มลายาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณสี่จังหวัด และส่งกำลังตำรวจหน่วยพิเศษ ๓ กองลงไปยังนราธิวาส แต่ประกาศว่าภารกิจของหน่วยพิเศษนี้คือการต่อสู้กับ "พวกคอมมิวนิสต์" (7)

รายงานข่าวการ "ก่อการขบถ" ของชาวบ้านนับพันคน     ดังที่เจ้าหน้าที่มหาดไทยท้องถิ่นรายงานเข้ากระทรวงฯนั้นเห็นชัดเจนว่า เป็นการข่าวที่คลาดเคลื่อน จะเรียกว่า "บิดเบือน" ก็อาจหนักไป เพราะหากเกิดการปะทะกันขึ้น กำลังเป็นสิบหรือหลายสิบ     ก็น่ากลัวพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรีบประเมินความหนักหน่วงน่ากลัวของสถานการณ์ให้เบื้องบนทราบ  ต่อเนื่องจากการให้ตัวเลข ขนาด จำนวน ประเภท ของอาวุธที่ชาวบ้านใช้ ซึ่งล้วนเป็นอาวุธหนักและใช้ในการสงคราม เช่น คาร์ไบน์ ปืนต่อสู้รถถัง ปลยบ.๖๖ ระเบิดมือ สเตน เป็นต้น

แสดงว่าทางการได้มีสมมติฐานอยู่ในใจก่อนแล้ว ว่าชาวบ้านมุสลิมภาคใต้กำลังคิดกระทำอะไรอยู่ หากไปอ่านความในใจของรัฐมนตรีมหาดไทยสมัยนั้น เช่นพลโท ชิด มั่นศิล สินาดโยธารักษ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีพระยารัตนภักดี ก็จะไม่แปลกใจว่าทำไม ทางการถึงประเมินและเชื่อว่าชาวบ้านมีอาวุธหนักขนาดทำสงครามไว้ในครอบครอง เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมีข่าวกรองอยู่ก่อนแล้ว ประกอบเข้ากับอคติและความไม่ชอบในการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มมุสลิมหัวก้าวหน้าด้วย ทำให้หนทางและวิธีการในการคลี่คลายปัญหาและความตึงเครียดขณะนั้นโดยสันติวิธี และ"ละมุนละม่อม"ตามที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งตามไปในวันหลัง ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมากๆ

จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ดังกล่าว ก็คือ การใช้ความรุนแรงในภาคใต้นั้น เป็นผลโดยตรงจากการมีทัศนคติ อคติ ความเชื่อในอุดมการณ์การเมืองของชาติที่ไม่สอดคล้องกระทั่งขัดแย้งกับความเป็นจริงของสังคมมุสลิมภาคใต้ ทั้งหมดทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ (ทั้งในโครงสร้างและนอกเหนือกฎหมายหลากหลายสารพัด) ไม่ต้องสงสัยว่าประเด็นปัญหาปัตตานีดังกล่าวเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ รวมถึงองค์กรความสัมพันธ์แห่งเอเชีย, สันนิบาตอาหรับ, และองค์การสหประชาชาติ การร้องทุกข์ของคนมลายูมุสลิมมีไปถึงบรรดาประเทศมุสลิมด้วย เช่นสันนิบาตแห่งรัฐอาหรับ อินโดนีเซียและปากีสถาน มีการให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มมุสลิมภายในประเทศไทยเองด้วย และจากพรรคชาตินิยมมาเลย์ในมลายา สถานการณ์ขณะนั้นเครียด มีกองกำลังจรยุทธเคลื่อนไหวไปมาตามชายแดนจากมลายาเข้ามายังภาคใต้ไทย ผู้นำศาสนาทั้งสองฟากของพรมแดนเรียกร้องให้ทำญีฮาดตอบโต้อำนาจรัฐไทย (8)


          น่าสังเกตว่าเมื่ออัยการโจทย์นำคดีฟ้องร้องฮัจญีสุหลงยื่นต่อศาลนั้น ในคำฟ้องระบุอย่างชัดเจนว่า ฮัจญีสุหลงและสานุศิษย์ของเขาที่ถูกฟ้องนั้นล้วนมีเชื้อชาติไทยและสัญชาติไทย ข้อหาที่ฟ้องร้องฮัจญีสุหลงกับพวกคือ "ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป และเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก" (9) ในคำฟ้องของโจทย์นั้นกล่าวหาจำเลยและพวกว่าคบคิดกันทำการกบฏในเดือนสิงหาคม ๒๔๙๐ โดยจัดการประชุมที่สุเหร่าปรีกี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี 

         
ฮัจญีสุหลงพูดปลุกปั่นราษฎรว่า "รัฐบาลไทยได้ปกครองสี่จังหวัดภาคใต้มาถึง ๔๐ ปีแล้ว ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองดีขึ้น และกล่าวชักชวนให้ราษฎรไปออกเสียงร้องเรียนที่ตัวจังหวัดเพื่อขอปกครองตนเอง ถ้ารัฐบาลยินยอมก็จะได้เชิญตนกูมะไฮยิดดินมาปกครองแล้ว จะได้ใช้กฎหมายอิสลามเพื่อให้ความชั่วหมดไปและทำให้บ้านเมืองเจริญ ถ้ารัฐบาลไม่ยอมตามคำขอปกครองตนเอง ก็จะได้ให้ราษฎรพากันไปออกเสียงร้องเรียนให้สำเร็จจนได้" (10)


อีกประเด็นที่โจทก์ฟ้องคือฮัจญีสุหลงทำหนังสือฉันทานุมัติแจกให้ราษฎรลงชื่อ หนังสือนี้ถูกกล่าวหาว่าต้องการเชิญตนกูมะไฮยิดดินมาเป็นหัวหน้าปกครองสี่จังหวัด ในขณะเดียวกันเอกสารนี้ยังมีข้อความ "ที่จะก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลและราชการแผ่นดิน และจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน" ในการนี้ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า ข้อความวิจารณ์และติเตียนการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่นั้น เป็นการก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลไทยและข้าราชการไทย ตลอดจนถึงราชการแผ่นดิน ซึ่งผิดวิสัยที่รัฐบาลจะกระทำต่อพลเมือง น่าสังเกตว่าทรรศนะของศาลเป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำของรัฐบาล ซึ่งตามหลักการปกครองย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ทำนองเดียวกับการที่ลูกจะฟ้องร้องพ่อแม่ว่าทำทารุณกรรมลูกๆ ไม่ได้ เพราะผิดวิสัยของพ่อแม่ในทางหลักการ แม้ในความเป็นจริงอาจเกิดตรงข้ามกับหลักการก็ได้ 

ในที่สุดศาลชั้นต้นก็ตัดสินว่า ฮัจญีสุหลงจำเลยมีความผิดฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักร ให้จำคุกกับพวกอีก ๓ คนคนละ ๓ ปี อย่างไรก็ตาม ในที่สุดหลังจากศาลตัดสินลงโทษจำเลยอย่างไม่หนักเท่าที่โจทก์ได้คาดหวังไว้ ก็อุทธรณ์ไปถึงศาลชั้นบน คราวนี้ผลออกมาว่า ฮัจญีสุหลงกระทำการละเมิดกฎหมาย ในการเชื้อเชิญให้มะไฮยิดดินมาเป็นผู้นำตามข้อเรียกร้องข้อที่ ๑ "เป็นลักษณะของการสืบทอดเจตนารมณ์ของการกบฏ" การเรียกร้องให้แยกศาลศาสนาออกจากศาลจังหวัด "เป็นการกระทำให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป ทั้งในทางการบริหารและการศาล นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองของ ๔ จังหวัด เพื่อให้ผิดแผกไปจากที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างมากมาย....การคิดการเช่นนี้ย่อมเป็นผิดฐานกบฏ"

การที่ศาลอุทธรณ์สามารถหาความผิดให้แก่คำเรียกร้อง ๗ ข้อได้นั้น ก็ด้วยการนำเอาข้อเขียนของมิสวิททิ่งนั่ม-โจนส์ ที่กล่าวถึงความทารุณต่างๆ ในสี่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการเมืองอันมีการกระทำมุ่งหวังจะให้คนคล้อยเชื่อตามนั้น จนอาจจะต้องใช้การต่อสู้ของประชาชนก็ตาม มาเป็นพยานหลักฐานหนึ่งในการลงโทษ ตรรกของศาลไทยสมัยนั้น คือ การหาว่าฮัจญีสุหลงและพวกกระทำการ "นอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย" อย่างไรบ้าง

กิจกรรมทั้งหลายของจำเลยจึงถูกนำมาทำให้เป็น "การเมือง" ในทรรศนะของรัฐไทยไปหมด ที่ประหลาดก็คือการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ ก็เป็นการกระทำที่ "นอกเหนือรัฐธรรมนูญ" สมัยดังกล่าวไปด้วย รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาด้วยเช่นกัน ประเด็นหลังนี้ยิ่งหนักขึ้น เพราะพยานโจทก์นายหนึ่งคือนายอุดม บุณยประกอบ อดีตข้าหลวงตรวจการกระทรวงมหาดไทยภาค ๕ ให้การว่า "ทางภาคใต้ ๔ จังหวัดนี้ ศาสนากับการปกครองแยกกันไม่ออก" ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงมีความเห็นว่า "ขณะใดที่มีการกล่าวถึงศาสนานั้น ก็มีการเมืองการปกครองรวมอยู่ด้วย" เท่านั้นเอง การเคลื่อนไหวในที่ประชุมชนอะไรของฮัจญีสุหลงก็กลายเป็น "การเมือง" ไปสิ้น รวมถึงใบปลิว จดหมาย และข้อเขียนอะไรที่ออกไปจากจำเลย ก็กลายเป็นการเมืองไป นั่นคือนอกเหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย

แม้ว่าเรื่องที่จำเลยร้องเรียนจะเป็นความจริง และเป็นการเรียกร้องในสิทธิของมนุษยชนก็ตาม ก็เป็นความผิดตามเหตุผลของรัฐไทย  ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาเป็นเอกฉันท์เพิ่มโทษเฉพาะฮัจญี    สุหลงให้จำคุกมีกำหนด ๗ ปี แต่เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษฐานปรานีให้ ๑ ใน ๒ เหลือจำคุกมีกำหนด ๔ ปี ๘ เดือน ศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์  ฮัจญีสุหลงถูกจำคุกเป็นเวลา ๔ ปีกับ ๖ เดือนก่อนที่จะถูกปล่อยในปี ๒๔๙๕ เขาเดินทางกลับปัตตานีและทำงานอาชีพเก่าต่ออีก นั่นคือการสอนหนังสือ "การสอนของเขามีคนมาฟังเป็นจำนวนมาก ในวันที่เขาทำการสอน ตัวเมืองปัตตานีจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนรถราติดบนท้องถนน บรรดาผู้เข้าฟังกล่าวกันว่า มีที่มาไกลถึงยะหริ่ง และปาลัส(อยู่ทางทิศตะวันตก)และบ่อทอง หนองจิก(อยู่ทางทิศเหนือ)" (11)

ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกให้ฮัจญีสุหลงไปพบ เขาไปพร้อมกับลูกชายคนโตที่เป็นล่าม เพราะฮัจญีสุหลงและเพื่อนๆ ที่ถูกเรียกตัวไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ทั้งหมดนั้นได้ "สูญหาย" ไปและไม่กลับมายังปัตตานีอีกเลย การสูญหายของฮัจญี    สุหลงและพวกไม่เคยสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่มีพยาน ไม่มีการให้ความร่วมมือจากฝ่ายตำรวจ      มีแต่ความรู้สึกกลัวที่หลอกหลอนสังคมปัตตานีเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมของฮัจญีสุหลงและเพื่อน ๆ (12)


๑๔) บทสรุป
บทความนี้ศึกษาถึงกำเนิดและความเป็นมาของการสร้างมายาคติว่าด้วย "ลัทธิแบ่งแยกดินแดน" ในวาทกรรมการเมืองสมัยใหม่ของรัฐไทย เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผูกพันและรองรับมโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนมาจาก และก็ทำให้เกิดมายาคติในเรื่อง "กบฏหะยีสุหลง" และ "กบฏดุซงญอ"ด้วย ในเวลาเดียวกันพัฒนาการและความเป็นมาของรัฐไทยสยามที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย และการสร้างรัฐไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามมหาอาเซียบูรพา ก็มีส่วนในการผลักดันและสร้างแนวความคิดทางการเมืองของ "การแบ่งแยกดินแดน" ให้เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพลังการเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ จากใต้จรดเหนือและอีสาน กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสร้างรัฐไทยสมัยชาตินิยมนี้ นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามและสยบการเรียกร้องและสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองของภูมิภาคทั้งหลายลงไป โดยที่กรณีของมลายูมุสลิมในภาคใต้มีลักษณะเฉพาะต่างจากภาคอื่น และมีผลสะเทือนที่ยังส่งผลต่อมาอีกนาน

บทความนี้มุ่งสร้างความ กระจ่างแจ้งในพัฒนาการและความเป็นมาของการเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อที่จะช่วยทำให้มโนทัศน์เรื่อง "การแบ่งแยกดินแดน" มีบริบทอันถูกต้องขึ้นมาด้วย แทนที่จะเป็นเรื่องเล่าประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยอำนาจรัฐและอุดมการณ์ของรัฐแต่ฝ่ายเดียว จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมด กล่าวได้ว่าเหตุการณ์และความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีทรรศนะในการมองที่ตรงข้ามกันระหว่างรัฐและประชาชนมลายูมุสลิมภาคใต้ ในขณะที่รัฐมองว่าการต่อต้านลุกฮือต่างๆของคนมลายูมุสลิมนั้นเป็นการ "กบฎ" แต่ฝ่ายประชาชนมุสลิมเองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวถึงการประท้วงต่อสู้ต่างๆนั้นคือ "การทำสงคราม" เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมตามศรัทธาและความเชื่อของตน

จากการศึกษาในบทความนี้ เห็นได้ว่าผู้นำมลายูมุสลิมในภาคใต้มีความต้องการแน่วแน่ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทย ต่อปัญหาขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในทศวรรษปี ๒๔๘๐ เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวและขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นปฏิกิริยาต่อการจัดการปัญหาและไม่พอใจสภาพกดขี่ไม่ยุติธรรมที่พวกเขาได้รับอยู่ และต่อเนื่องมาจากการต่อรองเจรจากับรัฐบาล มีลักษณะสองอย่างในชุมชนมุสลิมที่ทางการไทยไม่เข้าใจ(จะด้วยเหตุใดก็ตาม) และนำไปสู่การสรุปว่าเป็นการแข็งขืนทางการเมือง

ข้อแรกคือ การที่ชุมชนมุสลิมมีการจัดตั้งและมีโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งแน่นเหนียว ทำให้สามารถดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพได้สูง ลักษณาการเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ผู้นำรัฐและเจ้าหน้าที่หวาดระแวง และกระทั่งหวาดกลัวการกระทำที่อาจนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจการปกครองของพวกตนได้ การเปรียบเทียบชุมชนในสายตาของเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมาจากการเปรียบเทียบกับชุมชนไทย ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ช่วยให้เข้าใจหรือมองชุมชนมุสลิมในด้านบวกได้มากนัก โดยเฉพาะในระยะเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียด

ข้อสองคือ ลักษณะและธรรมชาติของศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับการเมืองหรือสังคม ทรรศนะเชิงลบของเจ้าหน้าที่รัฐไทยเห็นได้จาก ความเห็นของศาลเมื่อตัดสินว่าพฤติการณ์ของฮัจญีสุหลงในทางศาสนาและอื่น ๆ ล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ในความหมายของการกระทำที่บ่อนทำลายอำนาจและความชอบธรรมของรัฐไทยลงไป ทั้งหมดนี้ทำให้ทางการไทยมองว่า การปฏิบัติหรืออ้างถึงศาสนาในฝ่ายมุสลิมนั้น แท้จริงแล้วคือมีจุดหมายทางการเมืองเป็นสำคัญ

นักวิชาการอธิบายถึงสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชนชาติส่วนน้อยกับรัฐว่ามาจากการมีความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่แตกต่างตรงข้ามกัน ในทางเป็นจริงนั้น ดังกรณีของกบฏดุซงญอ ปัญหาของศาสนาและเชื้อชาตินั้น ขึ้นต่อปัญหาและความเป็นมาในพัฒนาการทางการเมืองระดับชาติและในทางสากลด้วย ดังเห็นได้จากการที่ทรรศนะและการจัดการของรัฐไทยต่อข้อเรียกร้องของขบวนการมุสลิมว่า เป็นภยันตรายและข่มขู่เสถียรภาพของรัฐบาลไป

จนเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ และสหรัฐฯและอังกฤษต้องการรักษาสถานะเดิมของมหาอำนาจในภูมิภาคอุษาคเนย์เอาไว้ วาทกรรมรัฐว่าด้วย "การแบ่งแยกดินแดน" ก็กลายเป็นข้อกล่าวหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามเย็นในการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนภาวการณ์ในประเทศ การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายใต้อำนาจรัฐของศูนย์กลาง ก็เป็นความจำเป็นภายในประเทศที่เร่งด่วน ทั้งหมดทำให้การใช้กำลังและความรุนแรงต่อกลุ่มชนชาติ(ส่วนน้อย) และหรือกลุ่มอุดมการณ์ที่ไม่สมานฉันท์กับรัฐบาลกลาง เป็นความชอบธรรมและถูกต้องไปได้ในที่สุด

ภาคผนวก :-
ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของปตานีและสยาม จากยุคโบราณถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ 
รวบรวมจาก อิมรอน มะลูลีม วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กรุงเทพ, สำนักพิมพ์อิสลามิคอะเคเดมี, ๒๕๓๘) และ รัตติยา สาและ, การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส (กรุงเทพ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๔)

รัฐปตานี
- ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ศตวรรษที่ ๖) เมืองปตานีเริ่มส่งทูตและการค้าติดต่อกับอาณาจักรจีน
-  พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๗ นครรัฐปตานีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือแคว้นลังกาสุกะที่เป็นฮินดู-ชวาและพุทธมหายาน และยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายกลุ่มเมืองศรีวิชัย
- พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ (ศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕) อาณาจักรปตานีนับถืออิสลาม ปฏิสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยที่เพิ่งก่อตั้ง ต่อมา เมืองมลายูปักษ์ใต้ถูกกำกับโดยเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา
- พ.ศ. ๒๐๔๓ - ๒๓๕๑ (ค.ศ.๑๕๐๐ - ๑๘๐๘) ราชอาณาจักรมลายู-อิสลาม ปตานี
- พ.ศ. ๒๓๓๒ - ๒๔๕๑ (ค.ศ.๑๗๘๙ - ๑๘๐๘) กบฏตนกูละมิดดิน รายาปตานี
- พ.ศ.๒๓๗๔ (ค.ศ.๑๘๓๑) ไทรบุรีก่อกบฏ ขยายไปทั่วเมืองมลายู
- พ.ศ. ๒๓๕๑ (ค.ศ ๑๘๐๘) กบฏดะโต๊ะปักลัน
- พ.ศ. ๒๓๗๕ (ค.ศ.๑๘๓๒) ถูกปราบ สยามแบ่งแยกเป็นเจ็ดหัวเมือง
- พ.ศ. ๒๓๕๑ - ๒๔๔๕ (ค.ศ.๑๘๐๘ - ๑๙๐๒) นครรัฐปตานีถูกแบ่งออกเป็น ๗ หัวเมือง (ปตานี หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา สายบุรี รามัน ระแงะ)
- พ.ศ. ๒๓๘๒ (ค.ศ. ๑๘๓๙) เมืองไทรบุรี เมืองกะบังปาสุ เมืองเปอร์ลิส เมืองสตูล
- พ.ศ. ๒๔๐๒ (ค.ศ.๑๘๕๙) เมืองไทรบุรี เมืองเปอร์ลิส เมืองสตูล
- พ.ศ. ๒๔๔๐ (ค.ศ. ๑๘๙๗) มณฑลไทรบุรี
- พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๕ "กบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง"
- พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๔๙ (ค.ศ. ๑๙๐๒ - ๑๙๐๖) ตั้ง "บริเวณ ๗ หัวเมือง"
- พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๔๗๖ (ค.ศ.๑๙๐๙ - ๑๙๓๓) จากสัญญาอังกฤษ มณฑลไทรบุรีประกอบไปด้วย รัฐเคดาห์และรัฐเปอร์ลิสของสหพันธรัฐมาเลเซีย และเมืองสตูล (รวมอยู่ในมณฑลภูเก็ต)
- พ.ศ. ๒๔๔๙ - ๒๔๗๕ (ค.ศ. ๑๙๐๖ - ๑๙๓๒) มณฑลปัตตานี (ปตานี ยะลา สายบุรี บางนรา)
- พ.ศ. ๒๔๗๕ - ปัจจุบัน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล สงขลา รวมเป็นห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้
- พ.ศ. ๒๔๗๖ ถึงปัจจุบัน จังหวัดสตูล สยามประเทศไทย
- พ.ศ. ๑๖๙๖ (ค.ศ.๑๒๕๓) กองทัพมงโกลบุกถึงยูนนาน กำเนิดรัฐไททั้งหลาย
- พ.ศ. ๑๘๙๓ (ค.ศ.๑๓๕๐) กำเนิดอยุธยา
- พ.ศ. ๒๐๐๓ (ค.ศ.๑๔๖๐) อยุธยามีอำนาจเหนือทวาย
- พ.ศ. ๒๑๐๖ (ค.ศ.๑๕๖๓) กบฏปัตตานีสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ
- พ.ศ. ๒๑๓๒-๗๖ กบฏปัตตานีสมัยพระเจ้าปราสาททอง
- พ.ศ. ๒๓๒๘ รัชกาลที่ ๑ โจมตีปัตตานี
- พ.ศ. ๒๓๗๔ กบฏไทรบุรี
- พ.ศ. ๒๔๔๒ (ค.ศ.๑๘๙๙) รัชกาลที่ ๕ ปฏิรูปการปกครองสยาม
- พ.ศ. ๒๔๔๔ (ค.ศ.๑๙๐๑) ออกกฎข้อบังคับการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ระบบเทศาภิบาล
- พ.ศ. ๒๔๕๐-๑ (ค.ศ. ๑๙๑๐)กบฏชาวบ้านปัตตานีสมัยรัชกาลที่ ๖
- พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) สนธิสัญญาอังกฤษ
- พ.ศ. ๒๔๖๖ (ค.ศ.๑๙๒๓) กระทรวงมหาดไทยออกสมุดคู่มือสำหรับปกครองในมณฑลซึ่งมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลามขึ้น
- พ.ศ. ๒๔๗๕ การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม
- พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๑ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา
- พ.ศ. ๒๔๗๗ รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกกฎหมายให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ทั่วประเทศ แต่ให้ยกเว้น "บริเวณเจ็ดหัวเมืองซึ่งมีกฎข้อบังคับ ร.ศ. ๑๒๐" ในส่วนที่เกี่ยวด้วยครอบครัว ให้ใช้กฎหมายอิสลาม
- พ.ศ. ๒๔๘๑-๘๗ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งแรก
- พ.ศ. ๒๔๘๖ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พุทธศักราช ๒๔๘๖ ยกเลิกข้อยกเว้นแต่เดิมสำหรับคนมลายูมุสลิม
- สิงหาคม ๒๔๘๗ - สิงหาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ (๑)
- พ.ศ. ๒๔๘๘ พระราช กฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. ๒๔๘๘
- กันยายน ๒๔๘๘ - มกราคม ๒๔๘๙ รัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
- มกราคม ๒๔๘๙ - มีนาคม ๒๔๘๙ รัฐบาลควงฯ (๒)
- มีนาคม ๒๔๘๙ - สิงหาคม ๒๔๘๙ รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์
- สิงหาคม ๒๔๘๙ - ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ รัฐประหารโดยคณะทหารบก
- พฤศจิกายน ๒๔๙๐ - กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ ตั้งรัฐบาลควงฯ (๓)
- ๑๖ มกราคม ๒๔๙๑ จับกุมฮัจญีสุหลง มลายูมุสลิมวางแผนบอยคอตการเลือกตั้งทั่วไป
- กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ - เมษายน ๒๔๙๑ รัฐบาลควงฯ (๔)
- เมษายน ๒๔๙๑ - กันยายน ๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยุค ๒)
- ๒๖-๒๗ เมษายน ๒๔๙๑ เกิดจลาจลที่หมู่บ้านดุซงญอ นราธิวาส
- พ.ศ. ๒๔๙๕ ปล่อยตัวฮัจญีสุหลงหลังจากถูกพิพากษาจำคุก ๔ ปี ๖ เดือน
- ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๗ ฮัจญีสุหลงหายสาบสูญไป หลังจากตำรวจสันติบาลเรียกไปพบที่สงขลา พร้อมกับลูกชายคนโต

****************************************************



ข้อเสนอทางการเมืองเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้
ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


REALPOLITIK BEFORE MINIMAL JUSTICE ความอิหลักอิเหลื่อของทางราชการและรัฐบาลเรื่องรับผิดชอบต่อกรณีผู้ชุมนุม ๘๕ คนเสียชีวิตที่ตากใบเป็นประเด็น REALPOLITIK หรือนัยหนึ่ง "การเมืองบนพื้นฐานความจริงหรือความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติของอำนาจ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือพวกพ้องแล้วแต่กรณี" มากกว่าจะเป็นประเด็นหลักการทางนิติธรรม ยุติธรรม หรือศีลธรรมเชิงอุดมคติใด ๆ

ในแง่หนึ่ง ท่ามกลางภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานที่ชายแดนภาคใต้ กองทัพอยู่แถวหน้าในการรับมือการก่อการร้าย ฉะนั้นจึงต้องพยายามตีวงจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบไว้ ไม่ให้กำลังพลเสียขวัญกำลังใจ

อีกแง่หนึ่ง ฝ่ายนำทางการเมืองผู้เป็นเจ้าของนโยบายส่งทหารเพิ่มกำลังจากต่างถิ่นลงไปประชิดกับมวลชนต่างชาติพันธุ์และศาสนาในพื้นที่ เพื่อแปรชายแดนภาคใต้ให้เป็นแบบทหารหรือแบบอิรัก (MILITARIZATION หรือ IRAQIZATION) จนเป็นเงื่อนไขให้เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมขึ้นนั้น ย่อมสามารถอาศัยเสียงข้างมากในประเทศเป็นเกราะกำบังตัวเองจากความรับผิดชอบเชิงนโยบาย ขณะเดียวกันก็แบ่งรับแบ่งสู้แสดงความรับผิดชอบต่อชุมชนในพื้นที่และประชาคมระหว่างประเทศ (ได้แก่มาเลเซียและอินโดนีเซียในอาเซียน, กลุ่มประเทศอิสลาม, องค์กรและประเทศมหาอำนาจในระบอบพิทักษ์สิทธิมนุษยชนสากล) เท่าที่พอจะหาผู้ถูกกะเกณฑ์ให้เสียสละมารับผิดได้  น้ำหนักแห่งความรับผิดชอบที่ทางราชการและรัฐบาลแสดงออกต่อพลเมืองไทย ๘๕ ชีวิตที่สูญเสียไปจึงตกห่างจากความคาดหมายของชุมชนมลายูมุสลิมในพื้นที่ และเครือข่ายมุสลิมในประเทศจนยากจะรับได้ ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองภายใต้อำนาจเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดยังคงดำรงอยู่ต่อ ซึ่งจะยิ่งเป็นเชื้อไฟให้มวลชนญาติมิตรของผู้เสียชีวิตอุกอั่งคับแค้น ไม่เห็นหนทางอื่นในการทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ เท่ากับไปสร้างขยายแนวร่วมทางอ้อมและทางตรงให้ผู้ก่อการร้ายอีก

ความยุติธรรมขั้นต่ำสุด (MINIMAL JUSTICE) ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและยอมอยู่ด้วยอันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนจึงยังไม่บังเกิด การก่อการร้ายต่อต้านรัฐยังคงจะถูกถือเป็นทางเลือก ทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเพิ่มอีก

THE SUCCESS & FAILURE OF PEACE BOMBS ปฏิบัติการนกกระดาษที่สถานีวิทยุ   บีบีซีเรียกว่า "PEACE BOMBS" ช่วยปลุกกระแสชาตินิยมในระดับควบคุมได้ขึ้นมาในขอบเขตทั่วประเทศ และกลบเกลื่อนความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ไว้จากความรู้สึกและรับรู้ของคนนอกพื้นที่, แต่มันย่อมไม่อาจบรรเทาความรุนแรงและผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เองลงไป, ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านพ้นซึ่งกลับตาลปัตรกันระหว่างระดับประเทศ (รัฐบาลได้ ส.ส. ๓๗๗ จาก ๕๐๐ ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร) กับระดับพื้นที่ (รัฐบาลได้ ส.ส. เพียง ๑ จาก ๕๔ ที่นั่งในภาคใต้) มีส่วนสะท้อนความจริงข้อนี้

RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER 

เบื้องแรกสุด รัฐและสังคมไทยควรต้องคิดให้ชัดและแยกให้ออกว่าศัตรูคือ [ผู้ใช้วิธีก่อการร้าย ฆ่าฟันเจ้าหน้าที่และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ เพื่อเป้าหมายแยกดินแดน], ไม่ใช่ [ประชาชนมลายูมุสลิมที่ใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องอย่างสันติ เพื่ออำนาจปกครองตนเองในท้องถิ่น], ฝ่ายหลังเป็นมิตรและจะเป็นฐานพลังการรุกทางการเมืองเพื่อปฏิรูปการเมืองภาคใต้ไปสู่สันติสุข


น่าเสียดายที่รัฐบาลยังจำแนกมิตร/ศัตรูไม่เป็น, คละเคล้าสับสนปนเป [ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล] เข้ากับ [ผู้เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้ายแยกดินแดน], ขับไสมิตร เพิ่มศัตรู, ไม่ว่าจะเป็นกรณีนกกระดาษที่นายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล (ชุดก่อน) ใช้การเห็นด้วยหรือเห็นต่างจากการรณรงค์นี้มาขีดเส้นแบ่งจำแนกมิตร/ศัตรู, กรณีหน่วยงานข่าวกรองราชการบางหน่วยโยงนักวิชาการที่วิพากษ์ วิจารณ์แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลและเรียกร้องวิถีมุสลิม-ปกครองตนเองว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการร้าย, กรณีนายกฯมีดำริจะใช้มาตรการแบ่งโซนพื้นที่มาเลือกปฏิบัติในการจัดสรรงบประมาณ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนบ่งส่อกลุ่มอาการอำนาจนิยมเอียงขวาไร้เดียงสา (RIGHT-WING AUTHORITARIANISM: AN INFANTILE DISORDER) ตามอารมณ์ชั่วแล่นที่เป็นคุณอย่างยิ่งต่อผู้ก่อการร้าย ความเป็นมลายูกับความเป็นมุสลิม สังคมไทยยังมองปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้และคนในพื้นที่แบบแยกส่วน โดยเห็นและเน้นแต่มิติทางศาสนาเรื่อง [ความเป็นมุสลิม], ไม่ค่อยเห็นและละเลยมิติทางชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์เรื่อง [ความเป็นมลายู] ทั้งที่ในความเป็นจริงทั้งสองส่วนเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวแยกไม่ออกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และทำให้ชุมชนมลายูมุสลิมมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากมุสลิมภาคอื่น การเลือกเข้าใจแบบไม่ครบถ้วนนี้สะท้อนออกในคำเรียกหาพี่น้องมลายูมุสลิมว่า "ชาวไทยมุสลิม" ตลอดเวลา, เรียกขานภาษา (language) ที่พวกเขาพูดว่า "ภาษายาวี" ทั้งที่เอาเข้าจริงเป็น "ภาษามลายู" ขณะที่ "ยาวี" เป็นชื่อเรียกอักขระหรือตัวอักษร (script หรือ alphabet) อาหรับที่พวกเขาใช้มาขีดเขียนภาษามลายูนั้น (เทียบกับมาเลเซียที่เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษามลายูแทน หรือเวียดนามที่เลิกใช้อักษรจีน เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันเขียนภาษาเวียดนาม) เป็นต้น

การมองปัญหาที่เห็นแต่มิติศาสนา ละเลยมิติชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ ทำให้คับแคบ เห็นเฉพาะส่วน ประเมินต่ำ ผิดพลาด เบี่ยงเบน และอาจแก้ไม่ถูกจุดหรือไม่ครอบคลุมเพียงพอ

TRIPLE MINORITIES  ปัญหาความรุนแรงชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาชนส่วนน้อยมลายูมุสลิมในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธเท่านั้น เพราะถ้ามองอย่างลึกซึ้งกว้างไกลแล้ว มันเป็นสถานการณ์ TRIPLE MINORITIES หรือ ชนส่วนน้อยซ้อนกันสามชั้น ต่างหาก กล่าวคือ

ชั้นแรก) ในระดับพื้นที่ ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในชายแดนภาคใต้
ชั้นสอง) ในระดับประเทศ ชาวมลายูมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวไทยพุทธส่วนใหญ่ในประเทศไทย
ชั้นสาม) ในระดับภูมิภาค ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และภาคใต้ของฟิลิปปินส์ 
ความสลับซับซ้อนหลายชั้นดังกล่าวทำให้ต้องคำนึงถึง [สิทธิของคนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตย] ให้มากเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายจำต้องคิดเผื่อคนอื่นในเรื่องนี้ เพราะหากฝ่ายอื่นได้ ฝ่ายเราก็จะได้ด้วย เนื่องจากทั้งเราและเขา, ทั้งมลายูมุสลิมและไทยพุทธ ก็เป็นชนส่วนน้อยเหมือนกัน มีฐานะและประสบปัญหาชะตากรรมละม้ายคล้ายกัน เพียงแต่อยู่ในระดับต่าง ๆ กัน


เราควรยกระดับและเจาะลึกการคิดเรื่องสิทธิชนส่วนน้อยให้ลงไปในระดับชุมชนว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยภายในชุมชนพื้นที่ของเราอย่างไร? และขี้นไปในระดับภูมิภาคว่าจะดำรงความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อคนส่วนน้อยในภูมิภาคอย่างไร? ได้เวลาที่ ASEAN จะต้องคิดเรื่องกฎบัตรสิทธิทางวัฒนธรรม (Charter of Cultural Rights) ในระดับภูมิภาคแล้ว ประชาธิปไตยกับการก่อการร้าย, ความมั่นคงกับสิทธิมนุษยชน ระบอบประชาธิปไตยควรจะรับมือการก่อการร้ายอย่างไร? เหมือนกันหรือไม่กับวิธีรับมือการก่อการร้ายของระบอบเผด็จการ


คำถามนี้สำคัญเพราะประสบการณ์ในประเทศและสากลสองสามปีที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยหลายแห่งกำลังเลือกใช้วิธีการของเผด็จการไปปราบปรามการก่อการร้าย โดยยินยอมกระทั่งจงใจละเลยและละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน นิติธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย นี่นับเป็นตลกร้ายที่เป็นโศกนาฏกรรม เพราะมันเท่ากับว่าในกระบวนการปกป้องประชาธิปไตยไว้จากการก่อการร้าย เรากลับกำลังทำลายสิ่งที่น่าหวงแหนที่สุด ทรงคุณค่าคู่ควรแก่การปกป้องที่สุดในระบอบประชาธิปไตยลงไปกับมือของเราเอง ทว่าหากปราศจากเนื้อหาที่เป็นแก่นสารของประชาธิไตยเหล่านี้เสียแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเอาเข้าจริงเรากำลังปกป้องอะไร? ปกป้องไว้จากใคร? เพื่อสิ่งใด?


ฉะนั้น เราจำต้องช่วยกันคิดค้นหาลู่ทางรับมือการก่อการร้าย ที่เชื่อมโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับการธำรงรักษาและส่งเสริมประชาธิปไตย, ออกแบบวิธีเฉพาะตัวของประชาธิปไตยในการสู้ภัยก่อการร้าย, ผสมผสาน
๑) มาตรการทางการเมือง
๒) มาตรการความมั่นคง (ซึ่งครอบคลุมทั้งมาตรการด้านการทหารและกฎหมาย) และ
๓) มาตรการทางการพัฒนา เข้าด้วยกัน ภายในกรอบของรัฐธรรมนูญในสัดส่วนที่เหมาะสม ยืดหยุ่นพลิกแพลงตามภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่เปลี่ยน แปลงไป, เพื่อนำระเบียบวาระต่อต้านการก่อการร้าย กับระเบียบวาระสิทธิมนุษยชนมาอยู่ร่วมในกรอบโครงเดียวกันให้     จงได้

แน่นอนว่าลำพังประชาธิปไตยย่อมไม่สามารถกวาดล้างการก่อการร้ายให้หมดไป แต่มันก็สร้างบริบทเงื่อนไขที่ช่วยเหนี่ยวรั้งยับยั้งการก่อการร้ายไว้ ไม่ให้แผ่ขยายลุกลามและอาจนำไปสู่การเจรจาหาทางออกอย่างสันติได้ ในที่สุด แม้ว่าอาจจะต้องผ่านช่วงการทดสอบฝ่าฟันอันเจ็บปวดยาวนานก็ตาม ดังประสบการณ์การยุติสงครามประชาชนระหว่าง รัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างสันติในอดีตเป็นตัวอย่าง ปมเงื่อนคงอยู่ตรงจะจัดวางบทบาทของกองกำลังทหาร-ตำรวจ กับหน่วยงานข่าวกรองของรัฐให้เหมาะสมไม่มากไม่เกินอย่างไร เพื่อสามารถทั้งรับมือการก่อการร้ายและเสริมสร้างประชาธิปไตยไปพร้อมกัน?

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการก่อการร้าย หากยึดสภาพความจริงทางการทหารเป็นที่ตั้ง อาจวิเคราะห์ได้ว่ายุทธศาสตร์การก่อการร้ายในชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นสงครามพร่ากำลังหรือ WAR OF ATTRITION กล่าวคือ ก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีไปเรื่อย ๆ ฆ่าฟันทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวบ้านไปเรื่อย ๆ, ถามว่าการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีดังกล่าว จะนำไปสู่ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารในชายแดนภาคใต้หรือไม่? เมื่อไหร่? อย่างไร? คำตอบที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการทหารที่สุดคือไม่และเป็นไปไม่ได้ ลำพังสงครามพร่ากำลังด้วยการก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธี โดยตัวมันเองจะไม่นำไปสู่การรุกทางยุทธศาสตร์การทหารจนถึงขั้นยึดเมืองใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้หรอก เพราะข้อจำกัดทางอาวุธยุทโธปกรณ์, ขั้นตอนการรุกทางยุทธศาสตร์การทหารนั้น ต้องอาศัยอาวุธหนักประเภทรถถัง ปืนใหญ่ จรวดหรือปืนต่อสู้อากาศยาน ซึ่งผลิตเองในป่าเขาหรือหมู่บ้านไม่ได้, อาวุธหนักขนาดนั้นผู้ก่อการร้ายไม่มี ต้องสั่งซื้อจากมหาอำนาจทางทหารภายนอกและลักลอบขนเข้ามา

ฉะนั้น ตราบใดที่ชายแดนภาคใต้ยังปิดต่อการขนส่งลำเลียงอาวุธหนัก รัฐบาลมาเลเซีย ไม่เปิดพรมแดนอำนวยความสะดวกเป็นทางผ่านให้ และกองทัพไทยยังสามารถผูกขาดอาวุธหนัก   ในมือ, ตราบนั้นชัยชนะทางการทหารของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่ดูเหมือนขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนจะคาดหวัง และรอคอยมากกว่าชัยชนะทางการทหารคือชัยชนะทางการเมืองเมื่อรัฐบาลหลงกลพลาดพลั้ง

หากมองแง่นี้ การก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีแบบสงครามพร่ากำลังก็น่าจะทำขึ้นเพื่อยั่วยุให้รัฐบาล over-react หรือใช้กำลังตอบโต้เกินกว่าเหตุ ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ส่งทหารลงไปเต็มพื้นที่ militarization ชายแดนภาคใต้ กระทั่งฝ่ายรัฐเลือดเข้าตาสติแตก ลงมือก่อการร้ายโดยรัฐเอง (state terrorism) เพื่อตอบโต้โดยไม่จำแนกผู้ก่อการร้ายกับประชาชนชาวมลายูมุสลิม ถึงจุดนั้นสถานการณ์ก็อาจพลิกผัน กลายเป็นว่าฝ่ายรัฐดำเนินนโยบายเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานเชื้อชาติ-ศาสนา (racial or religious discrimination) เกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์แพร่ขยายลุกลามในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง (ethnic conflict) จนรัฐล้มเหลวในการธำรงรักษาหลักนิติธรรมและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง (failed state) แบบที่เคยเกิดขึ้นในบอสเนีย และโคโซโวในอดีตยูโกสลาเวีย, หรือดาร์ฟูในซูดานปัจจุบัน นี่ย่อมเปิดช่องให้มีการอ้างได้ว่าเกิดเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ขึ้น เพื่อที่มหาอำนาจของโลก, องค์การระหว่างประเทศและแนวร่วมกลุ่มประเทศอิสลามในภูมิภาคและสากล จะจัดส่งกองกำลังนานาชาติเข้ามาแทรกแซงรักษาความสงบ ซึ่งนั่นก็จะกลายเป็นชัยชนะทางการเมืองของขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดน

ถ้าข้อวิเคราะห์ข้างต้นฟังขึ้น ก็จะพบว่าที่ผ่านมารัฐบาลและตำรวจ-ทหารสายเหยี่ยวหลงกลเดินตามยุทธวิธีของผู้ก่อการร้ายแยกดินแดนเกือบตลอด จนพลาดพลั้งทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า มาถึงจุดที่ประเทศอิสลามใน ASEAN เองคือมาเลเซีย อินโดนีเซีย, องค์การการประชุมโลกอิสลาม (OIC - Organization of Islamic Conference) และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ-อเมริกา เริ่มลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและปฏิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลไทยในชายแดนภาคใต้ และยกประเด็นปัญหานี้เข้าสู่เวทีระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ

ในทางกลับกัน ก็ไม่แน่เหมือนกันว่า บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยจะเป็นเดิมพันอันมีน้ำหนักคุณค่าสำคัญพอบนโต๊ะเจรจาแบ่งปันทรัพยากร และเขตอิทธิพลของบรรดาประเทศมหาอำนาจของโลกที่จะให้พวกเขาเสี่ยงทุ่มต้นทุนอาวุธและชีวิตผู้คนเข้ามาเกี่ยวพันด้วย (หากเทียบกับจุดยุทธศาสตร์คับขันของโลกอย่างคาบสมุทรเกาหลี, ไต้หวัน, อ่าวเปอร์เซียและตะวันออกกลาง เป็นต้น)

ในกรณีที่ชายแดนภาคใต้ไม่สำคัญพอที่มหาอำนาจจะเข้ามาแทรกแซง, การก่อการร้ายพร่ากำลังเพื่อยั่วยุ VS การก่อการร้ายโดยรัฐเพื่อตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน บ้ามาก็บ้าไป ก็จะแข่งกันไต่บันไดขีดขั้นความรุนแรงขึ้นไปเป็นเกลียวอุบาทว์แบบมืดบอดไม่เห็นที่สิ้นสุด และชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ก็อาจจะล้มตายเปล่าเปลืองมากมาย

การแยกดินแดนกับการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ครั้งใหญ่ ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป้าหมายและข้อเรียกร้อง "แยกดินแดน" (SECESSION) เป็นเสมือนประตูปิดตายที่ไม่เปิดช่องทางหรือพื้นที่ให้แก่การเจรจาต่อรองหรือประนีประนอมปรองดองใด ๆ ระหว่างคู่ขัดแย้ง ทั้งนี้เพราะขึ้นชื่อว่า "ดินแดน" (TERRITORY) ย่อมมีอยู่ผืนเดียว ถ้าไม่ติดเป็นปลายด้ามของขวานประเทศไทย ก็มีแต่แยกหลุดออกไปเป็นของคนอื่น, เมื่อเดิมพันถูกผูกติดกับอุปลักษณ์ (METAPHOR) เรื่อง "ดินแดน" และจินตนากรรมผ่านแผนที่ (A COMMUNITY OF PLACE THAT IS IMAGINED THROUGH MAPPING) ความขัดแย้งย่อมกลายเป็นเกมแพ้/ชนะเด็ดขาด ที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ "ดินแดน" มา อีกฝ่ายก็ต้องเสีย "ดินแดน" ไป (ZERO-SUM GAME) เพราะผลประโยชน์ของสองฝ่ายที่ต่างก็อยากได้ "ดินแดน" นั้นมันขัดแย้งกันอย่างเป็นปฏิปักษ์ มีแต่ต้องสู้กันแตกหักไปข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น แต่เอาเข้าจริง "แยกดินแดน" แปลว่าอะไร? สมมุติว่าเกิดการ "แยกดินแดน" ขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า "ดินแดน" ผืนที่เป็นปลายด้ามขวานจะถูกบิแบะแยกออกแล้วยกย้ายไปตั้งไว้ต่างหากที่อื่นตรงไหน มันก็ยังจะติดตั้งอยู่ที่เก่านั่นแหละ เพียงแต่ตกอยู่ใต้สังกัดและการปกครองของอำนาจรัฐใหม่ ซึ่งมิใช่อำนาจรัฐไทย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สิ่งที่ผู้ก่อการคิดจะเปลี่ยนและแยกมิใช่ "ดินแดน" เท่ากับ "อำนาจรัฐ" (STATE POWER) พวกเขาต้องการรัฐที่จะพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ของพวกเขา (A PROTECTIVE STATE), เป็นตัวแทนของพวกเขา, เป็นรัฐแห่งชาติปัตตานี-มลายู-มุสลิมของเขาเอง (THEIR OWN NATIONAL STATE)  ข้อเรียกร้องและเป้าหมาย "แยกดินแดน" จึงสะท้อนสิ่งที่ไม่มีหรือพวกผู้ก่อการรู้สึกว่าตัวหาไม่พบใน [รัฐไทย - ชาติไทย - และเศรษฐกิจทุนนิยมไทย] ปัจจุบัน กล่าวคือ: - พวกเขาเรียกร้องรัฐใหม่ของตัวเองก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าตนไม่ได้รับการพิทักษ์ปกป้องสิทธิประโยชน์ด้วยความเสมอภาคและยุติธรรมจากรัฐไทย ตำรวจไทย ทหารไทย เจ้าหน้าที่ราชการไทย และรัฐบาลไทย พวกเขาคิดฝันถึงชุมชนแห่งชาติของตัวเองบนผืนแผ่นดินของรัฐปัตตานีในอดีต ที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมของชาวมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่า ชาติไทยและความเป็นไทยของทางราชการ ไม่ได้ถูกจินตนากรรมมาให้เปิดกว้างและเป็นกลางทางภาษา-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์และศาสนา มากพอที่จะต้อนรับนับรวมความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของคนอย่างเขา ให้เข้ามาร่วมรวมเป็นหนึ่งอย่างเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความหลากหลายของชุมชนชาติไทยอย่างแท้จริง พวกเขาพากันข้ามพรมแดนไปทำงานในมาเลเซียเป็นหมื่น ๆ ก็เพราะพวกเขารู้สึกว่าเศรษฐกิจทุนนิยมฟากไทยได้รุกล้ำฉวยใช้ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชุมชนท้องถิ่นของเขา บีบคั้นกดดันให้พวกเขาจำต้องเปลี่ยนหนทางทำมาหากิน และวิถีชีวิตอย่างเสียเปรียบและจนตรอก กระทั่งพวกเขาไม่สามารถดำรงชีวิตเศรษฐกิจที่มั่นคง พอเพียง ยั่งยืนและรักษาวิถีขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีและมีทางเลือกได้

ฉะนั้น ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกันปฏิรูปรัฐไทย - ปฏิรูปชาติไทย - และปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยมไทยทั้งโดยทั่วไปและโดยเฉพาะในชายแดนภาคใต้ให้บำบัดบรรเทาความเดือดร้อน และตอบสนองข้อเรียกร้องที่ถูกต้องชอบธรรมดังกล่าวข้างต้นของพวกเขา ในฐานะเพื่อนพี่น้องพลเมืองร่วมประเทศที่ไม่เหมือนกัน แต่เท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่ใครจะต้อง"แยกดินแดน" และก่อการร้ายฆ่าฟันกันเพื่อสิ่งนั้นอีก พูดให้ถึงที่สุด ปัญหาก่อการร้าย "แยกดินแดน" ชายแดนภาคใต้จึงเกิดจากจุดอ่อน ข้อบกพร่องและความไม่เป็นธรรมของรัฐไทย, ชาติไทยและเศรษฐกิจทุนนิยมไทยดังที่เป็นมาและเป็นอยู่ ฉะนั้นมันจะแก้ไขได้ก็แต่โดยการปฏิรูปรัฐไทย - ชาติไทย เศรษฐกิจทุนนิยมไทยครั้งใหญ่เท่านั้น  ที่น่าคิดยิ่งคือ ข้อเรียกร้องปฏิรูปเหล่านี้ก็สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยทั่วไปของประชาชนไทยทุกเชื้อชาติศาสนา และเป็นความต้องการขององค์กรชาวบ้านหลายกลุ่มหลายฝ่าย ในขบวนการเมืองภาคประชาชนทั่วประเทศด้วย, การผลักดันเปลี่ยนแปลงแนวทาง "แยกดินแดน" ให้กลายเป็นแนวทาง "ปฏิรูปรัฐไทย-ชาติไทย-ทุนนิยมไทยครั้งใหญ่" จะเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายสงครามกลางเมืองและการก่อการร้ายให้กลายเป็น การต่อสู้ผลักดันทางการเมืองอย่างสันติวิธี, เปลี่ยนขบวนการทำลายคนอื่นและทำลายตัวเองของชนกลุ่มน้อยให้กลายเป็น ขบวนการสมานฉันท์สร้างสรรค์ร่วมกันของผู้คนส่วนใหญ่     ทั่วประเทศ, และเปลี่ยนสภาวะจุดอับ ZERO-SUM GAME ที่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายต้องเสีย        ให้กลายเป็น WIN-WIN SITUATION สำหรับทุกฝ่ายเอาชนะการก่อการร้ายด้วยการรุกทางการเมือง การรุกทางการเมืองด้วยการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ เพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจและปกป้องคุ้มครองสิทธิระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนส่วนมากกับชนส่วนน้อยด้วยกันเอง จึงเป็นกุญแจหัวใจที่จะเอาชนะการก่อการร้ายแยกดินแดนภาคใต้ด้วยการเมือง เพราะไม่มีการต่อต้านรัฐด้วยกำลังอาวุธของมวลชนแห่งใดในโลกที่ถูกพิชิตได้ด้วยการทหารล้วน ๆ มีแต่ต้องเอาชนะกันด้วยการเมืองทั้งนั้น

นอกจากนั้น การเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองท้องถิ่นของชายแดนภาคใต้ ยังเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับกระบวนการเรียกร้องสิทธิทำนองเดียวกันของชุมชนทุกชาติพันธุ์ ทุกท้องถิ่นทั่วประเทศด้วย เพราะรัฐที่นิยมอำนาจรวมศูนย์แบบ CEO เป็นปัญหาของคนไทยทุกพื้นที่ในการพัฒนา ด้วยการเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรและรวบอำนาจตัดสินใจของคนในพื้นที่, ในกรณีชายแดนภาคใต้ ลักษณะเฉพาะและสิทธิทางวัฒนธรรมเป็นมิติที่เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งควรคำนึงแบบครอบคลุมทั้งคนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ และชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธในพื้นที่ด้วย

วิพากษ์ขบวนการก่อการร้ายและคำถามเรื่องอำนาจปกครองตนเองท้องถิ่น 

กระบวนการเสวนาสาธารณะในสังคมการเมืองไทย เพื่อการปฏิรูปชายแดนภาคใต้ควรต้องทำควบคู่กันไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ขบวนการก่อการร้าย พูดอย่างตรงไปตรงมา ขบวนการก่อการร้ายเป็นองค์การกึ่งรัฐ (QUASI STATE) ที่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารและข่มขู่คุกคามผู้เห็นต่าง, คนที่ถูกถือเป็นพวกอื่นและผู้บริสุทธิ์เยี่ยงศาลเตี้ย เลือกปฏิบัติและเลือกฆ่าคนบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์ อันนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ผลกระทบรุนแรงร้ายกาจของมันในสายตาและความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อและญาติมิตร ย่อมไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะประสบกับการก่อการร้ายโดยขบวนการในนาม "เพื่อการปลดปล่อย" และ "ญิฮาด", หรือประสบกับการก่อการร้ายโดยรัฐภายใต้ข้ออ้าง "เพื่อปราบโจร" แล้วอำนาจรัฐประเภทใดเล่าที่ขบวนการก่อการร้ายแยกดินแดนในนามศาสนามุ่งจะสถาปนาขึ้นมา? มันจะเป็นรัฐเทวาธิปไตย (THEOCRATIC STATE) ที่ยึดศรัทธาศาสนาหนึ่งเป็นที่ตั้ง หรือรัฐโลกวิสัย (SECULAR STATE) ที่ถือหลักเป็นกลางและเปิดกว้างทางศาสนา? เส้นแบ่งระหว่างรัฐกับศาสนาจะมีหรือไม่? และอยู่ตรงไหน? ในเมื่อพูดให้ถึงที่สุด ขึ้นชื่อว่ารัฐแล้วย่อมเป็นเรื่องของการบังคับขับไส (COERCION) ในขณะที่กิจทางศาสนาโดยแก่นแท้แล้วเป็นเรื่องของใจสมัคร (VOLITION)


ในอีกแง่หนึ่ง การปฏิรูปการเมืองชายแดนภาคใต้เพื่อการปกครองตนเองของท้องถิ่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั้นอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีหลักประกันว่าอำนาจปกครองเสียงข้างมากของชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นที่จะสร้างขึ้น (MAJORITY RULE) จะเคารพสิทธิของชนส่วนน้อยชาวไทยพุทธ (MINORITY RIGHTS), อำนาจนั้นจะไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานศาสนา-ชาติพันธุ์-ภาษา-วัฒนธรรม ไม่ทำซ้ำความผิดพลาดที่รัฐชาตินิยมคับแคบของไทยเคยทำต่อคนมลายูมุสลิม และชนเชื้อชาติศาสนาส่วนน้อยอื่น ๆ, เป็นองค์กรปกครองโลกวิสัยที่จะไม่ยัดเยียดข้อปฏิบัติพิเศษเฉพาะของศาสนาใดศาสนาหนึ่งต่อประชากรนานาศาสนิกทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม