วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ฆ่าไม่เลือก’ -----ชายแดนใต้


ฆ่าไม่เลือกที่ชายแดนใต้

ถอดรหัสปริศนา ‘ฆ่าไม่เลือก’ -----ชายแดนใต้




การก่อเหตุบุกขึ้นไปบนสถานีอนามัยบ้านบราโอ ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ยิงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เสียชีวิตสองคน และล่าสุดกรณียิงนายปิยะพงศ์ เพชรเงิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เสียชีวิตระหว่างเดินทางจาก จ.ยะลากลับมายังจ.ปัตตานี สร้างความตกตะลึงไม่น้อย ด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักศึกษาเป็นเหยื่อความรุนแรงซึ่งแทบไม่ปรากฏ ให้เห็นเลย 
พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 อธิบาย ปรากฏการณ์นี้จากมุมมองของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงว่า การก่อเหตุเช่นนี้ ขบวนการใต้ดินเปลี่ยนเป้าหมาย หลังจากพ่ายแพ้ยุทธการเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ ใช้ ความโหดเหี้ยม เพื่อให้เกิดกระแสข่าว เพราะหากต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ต่อไป สื่อจะให้ความสำคัญน้อยลง จึงหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เช่นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักศึกษา เพื่อให้สื่อสนใจ
คำอธิบายดังกล่าว อาจทำให้ภาพสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้น่าสะพรึงกลัว ในกรณีนี้ คำอธิบายจากมุมมองจากองค์ความรู้อื่นๆ และจากข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อมิให้ภาพสถานการณ์ถูกลดทอนหรือขยายไปกว่าความเป็นจริง


ปัญญศักดิ์ โสภณวสุ นักวิจัยโครงการความมั่นคงศึกษา ผู้เสนองานวิจัยเรื่อง ‘สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : วาทกรรมที่มีนัยทางศาสนา' ซึ่งมาจากการศึกษาหนังสือ เบอร์ญิฮาด ดิ ปัตตานี หรือ การต่อสู้ที่ปัตตานี หนังสือซึ่งพบครั้งแรกจากศพผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ซึ่งต่อมามีผู้เรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ‘คัมภีร์ปฏิวัติ ของนักต่อสู้เพื่อฟื้นฟูรัฐปัตตานี'
งานวิจัยดังกล่าวของ ปัญญศักดิ์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการ ‘ถอดรหัส' แนว คิด วิธีการของขบวนการใต้ดิน และจากประสบการณ์ในการเฝ้าแกะรอยความคิด ผ่านวิธีการก่อเหตุ ผู้ตกเป็นเป้าหมาย เอกสาร ใบปลิวต่างๆ ที่พบ ทำให้เขาฟันธงในทันทีว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความสะเปะสะปะ แต่เป็นความจงใจเลือก ‘เหยื่อ' ซึ่งมีนัยสำคัญเพื่อการส่งสาร เป็นสารที่สร้างความกลัว และรักษาอิทธิพลของกลุ่มใต้ดินเอาไว้
          ปัญญศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำความเข้าใจแนวคิดในปฏิบัติการของขบวนการใต้ดิน จำเป็นต้องแยกพิจารณาเป็นพื้นที่ เพราะแต่ละแห่ง แต่ละพื้นที่มีสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขไม่เหมือนกัน


 

          "รัฐ ต้องยอมรับและกล้าพูดว่านี่ไม่ใช่การต่อสู้ที่งี่เง่า อย่ามองปัญหาแบบเหมารวม แต่ต้องเข้าใจว่า ขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ  3-4 จังหวัด นี้ มีรูปแบบวิธีการก่อเหตุที่ต่างกัน ซึ่งสะท้อนว่ามีแนวคิดที่ต่างกัน ซึ่งมาจากการจัดตั้ง การอธิบายการตีความของอุสตาชที่ต่างกัน" ปัญญศักดิ์ให้ความเห็น

            เขายกตัวอย่างการก่อเหตุหลายกรณีให้เห็นเพื่อยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความไร้ระเบียบแบบแผน แต่ผ่านมีการเจาะจง วางแผน และกุมสภาพได้อย่างสมบูรณ์ อย่างกรณีที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีการวางระเบิดทหาร ก็มีกลุ่มใต้ดินไปยืนอยู่ต้นทางกันเด็ก ๆ ไม่ให้ผ่านเส้นทางดังกล่าว หรือกรณีการฆ่าครู การบุกขึ้นไปยิงถึงห้องเรียน ก็มิใช่การกระทำที่ไร้เหตุผลที่จะฆ่า มีคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ว่า ครูบางคนวาดรูปปืนบนกระดานดำแล้วถามนักเรียนว่าเคยเห็นหรือไม่ บ้านใครมีบ้าง นี่คือสิ่งที่ทำให้กลุ่มใต้ดินตัดสินใจที่จะฆ่า

และการฆ่าในบางพื้นที่ก็มิใช่การฆ่าเพื่อสะท้อนถึงความโหดเหี้ยมเพียงอย่าง เดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักการ เหตุการณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์พิสูจน์ว่า หลายครั้งในพื้นที่ต่างๆ กลุ่มใต้ดินเจาะจงใช้ความโหดเหี้ยมกับบางคน บางกลุ่มเท่านั้น
          "กรณีบุกเข้าไปยิงในสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลปะโด อ.มายอ จ.ปัตตานี พวกเขาไล่ผู้หญิงซึ่งอยู่ในห้องนั้น 3 คนออกไป ก่อนจะลงมือยิงเจ้าหน้าที่ อบต.ซึ่งเป็นผู้ชายตาย 4 คน หรือแม้แต่ล่าสุดกรณียิงเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านบราโอ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นไทยพุทธเสียชีวิต 2 คน พวกเขาก็ไล่เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นมุสลิมออกไปก่อน ดังนั้น จะกล่าวแบบเหมารวมว่า สะเปะสะปะ ไม่เลือกเป้าหมาย  เพื่อแสดงถึงความโหดเหี้ยมเพียงอย่างเดียวไม่ได้" 

            อีกกรณีหนึ่ง เขายกตัวอย่างให้เห็นกรณียิงผู้โดยสารรถตู้สายยะลา-เบตง  เมื่อ ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคนร้ายยิงผู้โดยสารซึ่งเป็นคนไทยพุทธเสียชีวิตทั้งคัน ในขณะที่คนขับซึ่งเป็นมุสลิม รอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิด  เพราะถึงแม้ว่าคนร้ายจะจ่อปืน แต่ก็เพียงยิงเฉียดหน้าผากไปเท่านั้น

 

          "ขณะ ที่คนร้ายจ่อปืนที่ศีรษะ คนขับรถซึ่งเป็นมุสลิมได้กล่าวกาลีมะ (คำปฏิญานตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) ว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ ทำให้คนขับคนนี้รอดชีวิตมาได้"

            นักวิจัยผู้พยายามศึกษารูปแบบและวิธีการ เพื่อทำความเข้าใจแนวคิดของขบวนการใต้ดินผู้นี้ให้ความเห็นต่อว่า หากจะมองการก่อเหตุว่าเป็นการสะเปะสะปะ ให้ก่อเหตุยิงวันละ 20-30 คนก็ทำได้ หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 อาจ จะเห็นว่ามีการก่อเหตุฆ่ารายวันโดยการยิงเป็นจำนวนมาก อาจดูเหมือนสะเปะสะปะ ไม่มีเป้าหมายอย่างกรณียิงคนขายไอติมหรือพ่อค้าเร่ แต่มีกรณีหนึ่ง คือการยิงคนขายทอง เอาทองรูปพรรณไปขายในหมู่บ้าน ไป 2-3 ครั้ง มีลูกค้าประจำ ก็ถามว่ารู้จักคนบ้านนั้น บ้านนี้ไหม พอไม่นานคนขายทองก็ถูกยิงตาย และกลุ่มใต้ดินก็ประกาศในพื้นที่ว่าเขาทำได้ทั้งหมด นี่คือการส่งสัญญาณ สื่อสารกับชาวบ้านว่า เขาต้องการคุมพื้นที่ และคุมได้จริง 

            นอกจากสิ่งที่เขาได้รับรู้มาด้วยตนเองแล้ว ปัญญศักดิ์ ยังอ้างถึงงานวิจัยของ ผศ.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งระบุถึง ‘การเตือนก่อนตาย'

 

            "สัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งผ้าขาว ข้าวสาร และไข่  ซึ่ง เป็นของใช้ในพิธีศพตามวัฒนธรรมมลายูมุสลิม เป็นสัญลักษณ์การเตือนว่าให้หยุดพฤติกรรมการกระทำที่เป็นมุนาฟิก (กลับกลอก) ซึ่งส่วนใหญ่จะได้แก่ผู้ทำตัวเป็นสายลับให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือกรณีคนไทยพุทธก็จะมีการทิ้งใบปลิวขับไล่ออกไปนอกพื้นที่ นั่นแสดงอย่างชัดเจนว่า นอกเหนือจากการฆ่าแล้ว พวกเขายังต้องการแสดงให้เห็นถึงอำนาจอีกด้วย"

            ในฐานะผู้พยายามถอดรหัสปฏิบัติการ เพื่อศึกษาและเข้าใจถึงแนวคิดของขบวนการใต้ดิน ปัญญศักดิ์ เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่าย หลายความรู้ ความชำนาญ เพื่อสร้างทีมวิเคราะห์ข้อมูล ป้องกันมิให้การตีความผิดพลาด ทำให้แนวทางการแก้ปัญหาเป็นไปแบบผิดทิศผิดทาง ซึ่งจะทำให้ปัญหาบานปลาย ขยายออกไป การแก้ไขก็จะยากยิ่งขึ้นไปด้วย

จาก ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ชายแดนภาคใต้
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม