วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คุณลักษณะสามประการของผู้รักษาพระพุทธศาสนา

คุณลักษณะสามประการของผู้รักษาพระพุทธศาสนา
คุณลักษณะสามประการของผู้รักษาพระพุทธศาสนา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม
คัดบางตอนจากหนังสือ จากสุขในบ้าน สู่ความเกษมศานติ์ทั่วสังคม

คัดลอกจาก http://www.geocities.com/sakyaputto/article2.htm

          สภาพความเสื่อมนี้ในปัจจุบันญาติโยมพูดกันมาก เพราะมีข่าวร้ายต่าง ๆ มากมาย เรื่อง อย่างนี้พระสงฆ์ก็ควรจะเอามาพูดบ้าง ไม่งั้นญาติโยมพูดฝ่ายเดียวจะกลายเป็นนินทาพระ แต่ถ้าพระเอามาพูดบ้างในฐานะที่เป็นผู้รู้เรื่องทางธรรม พูดในทางแนะนำและหาทางแก้ปัญหา ก็จะได้มีทางช่วยกันให้รู้จักวางใจได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อเรื่องร้าย ๆ และปัญหาเกิดขึ้น พระจำเป็นต้องเอามาพูดให้โยมรู้ว่า ความเสื่อมเกิดขึ้นได้อย่างไร มีทางแก้ไขอย่างไร เราจะได้ช่วยกันป้องกัน และที่จริงนั้นตัวเราเองก็มีหน้าที่ด้วย เพราะว่า ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน เรามีหน้าที่ช่วยกันป้องกันพระศาสนา

           อย่างวันสองวันนี้ก็ได้ข่าวอีกแล้วรายใหม่ อาตมาเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ท่านมหา และหลวงลุงท่านก็อ่านและท่านเล่าให้ฟังว่า มีพระองค์หนึ่งไปหลอกร้านค้าเพชร เอาเพชรไปแล้วไม่จ่ายเงินให้แก่เขา จำนวนเป็นล้าน ๆ บาท และขอประทานอภัยก็ไปทำศิวลึงค์นำไปแจกในต่างประเทศ พอฟังหรืออ่านข่าวพระประพฤติอย่างนี้แล้ว โยมก็อาจจะพูดว่าพระไม่ดี พระเสียหาย พระหลอกลวง พระเหลวไหล ไม่น่านับถือ จากพระไม่ดี ก็เลยพาลพาโลต่อไปว่าพระพุทธศาสนาไม่ดี แล้วก็จะไม่นับถือพระ จะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา

           ที่จริงนั้น พระพุทธศาสนาเป็นของเรา ไม่ใช่เป็นของพระองค์นั้น เพราะว่าคนที่จะมีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา นั้นจะต้องเป็นพุทธบริษัท พุทธบริษัทก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ของชาวพุทธอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นพระก็ต้องเป็นพระที่ประพฤติปฏิบัต ิและทำหน้าที่ของพระอย่างถูกต้อง ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็เป็นคฤหัสถ์ที่ทำหน้าที่ของชาวบ้านอย่างถูกต้อง ถ้าเราทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนถูกต้อง เราเองนี่แหละเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา

          ในทางตรงข้าม พระก็ตาม ญาติโยมก็ตาม แม้จะประกาศตนเป็นชาวพุทธ แต่ถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง ทำตัวเหลวไหล ก็ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา ควรจะระแวงว่าเป็นคนร้ายที่แฝงซ่อนเข้ามาหาประโยชน์จากพระศาสนา ที่เรียกกันว่าเข้ามาปล้นศาสนา

         เพราะฉะนั้น พระที่ประพฤติเลวทรามเหล่านั้นเราไม่ถือว่าเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา โยมจะต้องไม่มองว่าเป็นพระประพฤติชั่ว โยมจะต้องมองว่าคนชั่วเข้ามาทำลายพระศาสนา ถ้าเราวางใจให้ถูกต้องอย่างนี้แล้วพระศาสนาก็จะดีขึ้น เราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา อย่าถือธุระไม่ใช่ อย่ายกสมบัติของเราให้เขาไป

        อาตมาเคยเปรียบเทียบบ่อย ๆ ว่า ถ้ามีโจรเข้ามาปล้นบ้าน แล้วเรายกสมบัติให้โจรไปเลย อย่างนี้ถือว่าวิปริตใช่ไหม ที่ถูกนั้นเราต้องรักษาทรัพย์สมบัติของเรา แต่ที่เป็นกันเวลานี้เราก็ทำวิปริตกันอยู่โดยไม่รู้ตัว คือ ทั้ง ๆ ที่พระศาสนานี้เป็นของเรา แต่พอมีโจรคือคนที่แฝงตัวมาในเพศของพระประพฤติไม่ดีทำเสียหาย เป็นโจรปล้นศาสนา พอมีโจรเข้ามาปล้นพระของเราอย่างนี้ แทนที่เราจะช่วยกันรักษาพระศาสนาของเรา เรากลับยกศาสนาให้โจรไปเสียนี่ อย่างนี้เขาเรียกว่ายกสมบัติให้โจร เพราะฉะนั้นการทำอย่างนี้ เรากำลังทำผิดพลาด ต้องทำใจให้ถูกต้อง เราต้องรักษาพระพุทธศาสนาของเรา ดูให้ดี ปัญหาอยู่ที่คนร้าย หรืออยู่ที่ตัวเรา

        พระพุทธเจ้าทรงระวังมากในเรื่อง อามิสไพบูลย์ และ ธรรมไพบูลย์ ทรงเตือนให้เตรียมสร้างธรรมไพบูลย์ไว้ให้พร้อมและ ให้ไม่ประมาทในเวลามีอามิสไพบูลย์ เช่น ก่อนที่จะปรินิพพานพระองค์ก็ได้ทรงวางเงื่อนไขไว้ว่า ต้องให้พุทธบริษัททุกฝ่ายมีคุณสมบัติ อย่างน้อย ๓ ประการ จะเป็นพระคือภิกษ ุหรือภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกาก็ตาม ทุกคนควรจะมีคุณสมบัติ ๓ ประการต่อไปนี้ จึงจะถือว่ามีธรรมไพบูลย์ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนยาวได้

        พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไข ๓ ประการนี้ไว้ในตอนจะรับอาราธนาปรินิพพาน มีเรื่องว่ามารมาอาราธนาพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระองค์ตรัสว่าจะยังไม่ปรินิพพาน และพระองค์ก็ทรงวางเงื่อนไขไว้สามประการ ต่อมาครั้งสุดท้ายมารก็มาอาราธนาอีกโดยทวงว่า เงื่อนไขที่พระองค์ได้ทรงวางไว้นั้นสมบูรณ์แล้ว ขอนิมนต์ปรินิพพานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงสำรวจดู ปรากฏว่าเงื่อนไขที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ๓ ประการ ครบแล้วจริง พระองค์ก็เลยรับอาราธนาปรินิพพาน แล้วทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน ในที่นี้สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าการปลงพระ ชนมายุสังขาร ก็คือเงื่อนไข ๓ ประการนี้ ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ว่า
พุทธบริษัททุกประเภท คือทั้ง ๔ พวก จะต้องมีความสามารถที่จะดำรงพระศาสนาได้ พระองค์จึงจะปรินิพพาน มิฉะนั้นพระองค์ก็จะต้องทำหน้าที่ของพระศาสดาต่อไป หมายความว่าพระองค์ทรงฝากพระศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ที่มีความสามารถ ๓ ประการ ความสามารถ ๓ ประการนี้มีอะไรบ้าง

  1. ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาจะต้องรู้หลักธรรมเข้าใจคำสั่งสอนของพระองค์แล้วนำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง พูดสั้น ๆ ว่า รู้คำสอนและปฏิบัติได้ถูกต้อง
  2. ให้สามารถยิ่งกว่านั้นอีก คือ นอกจากรู้เข้าใจปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเองแล้ว ยังนำไปบอกกล่าวชี้แจงสั่งสอนคนอื่นได้ด้วย คนที่จะไปบอกกล่าวแนะนำสั่งสอนชี้แจงคนอื่นได้นั้น
  • จะต้องมีความสามารถที่จะแนะนำสั่งสอน และ
  • ต้องมีน้ำใจประกอบด้วยเมตตากรุณา บางคนถึงจะมีความสามารถแต่ไม่มีน้ำใจกรุณา ก็ไม่ใส่ใจที่จะสอนก็ไม่ได้ผล เหมือนกัน จึงต้องมีทั้งน้ำใจ ต้องมีทั้งความสามารถ แล้วก็เอา ธรรมไปแนะนำสั่งสอนแก่คนอื่นต่อไป
  • ข้อสุดท้ายว่า ถ้ามีการจาบจ้วง คำว่าจาบจ้วงนี่เป็นภาษาโบราณ หมายความว่ามีการกล่าวร้ายต่อพระศาสนา หรือมีการสั่งสอนลัทธิที่ผิดจากธรรมผิดจากพระวินัยขึ้น ก็สามารถกล่าวแก้ ชี้แจงกำราบได้ เรียกว่ากำราบปรับวาทได้
         เงื่อนไขคุณสมบัติของพุทธบริษัท ๓   ประการนี้เราจะต้องเอามาใช้เกณฑ์มาตรฐานสำหรับสำรวจตรวจสอบพุทธศาสนิกชนว่า จะสามารถรักษาพระศาสนาได้หรือไม่ เพราะว่าเมื่อตรัสหลักการ ๓ ประการนี้ก็เท่ากับว่า พระพุทธเจ้าก่อนจะปรินิพพาน ได้ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้แก่เราแล้ว ถ้าพุทธศาสนิกชนไม่มีคุณสมบัติ ๓ ประการนี้แล้วก็จะรักษาศาสนาของพระพุทธเจ้าไว้ไม่ได้ พระพุทธศาสนาก็ต้องเสื่อมแน่นอน

       เราไม่ต้องไปคำนึงมากนัก เรื่องพระที่ประพฤติเสียหายอะไรนั้นเป็นเรื่องรองลงไป คุณสมบัติ ๓ อย่างของตัวเราเองนี้แหละสำคัญกว่า เรื่องพระประพฤติเสียหายทำไม่ดีนั้น ถ้ามีขึ้นมาเราถือว่าเป็นโจร เป็นคนร้ายเข้ามาทำลายพระศาสนา เราก็ต้องช่วยกันรักษาพระศาสนา เพราะพระศาสนานี้เป็นสมบัติส่วนรวมของเรา แต่ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติ ๓ อย่างนั้น โจรจะเข้ามาหรือไม่ เราก็จะรักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ ดีร้ายตัวเราอาจจะกลายเป็นโจรไปเสียเอง แต่ถ้าเรามีคุณสมบัติสามประการนี้แล้วเราก็รักษาพระศาสนาของเราไว้ได้ ขอทวนอีกครั้ง

  1. รู้เข้าใจธรรมวินัย และปฏิบัติได้ถูกต้องด้วยตนเอง
  2. มีความสามารถและเอาใจใส่ที่จะบอกกล่าว ชี้แจงสั่งสอนธรรมแก่ผู้อื่น
  3. เมื่อมีลัทธิคำสอนที่ผิดพลาดแปลกปลอมขึ้นมาก็สามารถกล่าวชี้แจงกำราบได้
       สามประการนี้แหละเป็นธรรมไพบูลย์ ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เพียงแต่เราปฏิบัติถูกต้อง ธรรมก็ไพบูลย์อยู่ในตัวเราแล้ว เมื่อเราเอาไปแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้รู้และปฏิบัติกันกว้างขวางยิ่งขึ้น ธรรมก็ไพบูลย์กว้างขวางออกไปทุกที แม้จะมี คำสอนอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นมาก็ชี้แจงแก้ไขได้ อุปสรรคก็หมด ไป นี่แหละเป็นธรรมไพบูลย์ที่แท้จริง .
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม