วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เสรีภาพกับความรับผิดชอบ


เสรีภาพกับความรับผิดชอบ



         การรับรู้ความเป็นไปของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนทั่วไปทั้งใน พื้นที่สามจังหวัดและพื้นที่อื่นของประเทศรวมถึงประชาคมโลกนั้น  หากไม่ใช่ผู้ที่ประสบเหตุด้วยตนเองแล้ว  ล้วนได้รับข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งสิ้น  ซึ่งที่ผ่านมาในประเด็นของการนำเสนอทั้งทิศทางของความรุนแรง  ความน่าสะพรึงกลัวหวาดหวั่น  ขวัญกำลังใจในการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ของประชาชน การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของฝ่ายความมั่นคง  หรือในแง่ความร่วมมือร่วมใจในการสร้างสันติสุข  รวมถึงความเบื่อหน่ายของประชาชนจากการก่อเหตุของขบวนการ  แม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อมูลที่มีของเหล่านักคิดนักเขียนคอลัมนิสต์ต่างๆ  ที่ผลิตสื่อออกไป  ล้วน สร้างความรับรู้ในมุมมองที่หลากหลายทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องให้แพร่ กระจายผ่านสื่อของตนไปสู่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ซึ่งเป็นผู้รับสารได้ทั้งสิ้น 
 
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า  ภายใต้แรงขับเคลื่อนของสื่อนั้นหากนำเสนออย่างถูกต้องตรงไปตรงมาก็จะเป็น ประโยชน์ต่อผู้รับสารในการได้รับข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เพื่อนำเสนออย่าง ถูกต้อง  และถ้าเป็นข่าวสารที่มุ่งสร้างความร่วมมือสร้างความรักความสามัคคีของคนใน พื้นที่  ข่าวนั้นจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยระดมสรรพสิ่งที่เป็นตัวแปรให้เกิด ความสงบสันติได้  แต่หากเป็นการนำเสนอโดยมุ่งหวังให้เกิดภาพลบ  แอบแฝงไว้ด้วยเจตนาที่จะทำลายความน่าเชื่อถือในกลุ่มคนหรือบุคคลโดยใช้ สถานการณ์ภาคใต้ที่หาทางออกได้ยากยิ่งนี้ล่ะ  เรื่องแบบนี้ย่อมส่งผลเลวร้ายกว่าที่คิด 

 และแน่นอนว่าสื่อใดๆ ที่ประพฤติเยี่ยงนั้นย่อมมีความเลวร้ายยิ่งกว่า

          สองสามวันที่ผ่านมานี่จากกระแสกดดันให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ได้ออกมาแสดงบทบาทโดยการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ให้ชัดเจนหลังจาก ปล่อยปละละเลยจนดูเหมือนกับไม่ทำอะไรเลยตั้งแต่เป็นรัฐบาล  จนต้องมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.จชต. ขึ้นมาเพื่อปรับเปลี่ยนบริบทของการแก้ไขปัญหาให้มีการบูรณาการมากขึ้น  ซึ่งการกำหนดแนวทางครั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มทำอะไรอย่างเป็น ชิ้นเป็นอัน  แต่ที่ชัดเจนและเริ่มขึ้นแล้วอย่างเผ็ดร้อนคือกระแสวิพากษ์มากมายจากนัก วิชาการและพระเอกของเรื่องคือสื่อมวลชนสำนักต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลด้วยข้อหาหนักหลายข้อหา  โดยรวมคือน่าจะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งที่ค่อยๆ จางหายไปอีกละรอก

ที่เผ็ดร้อนจนแสบแก้วหูและสะเทือนไปถึงฝ่ายความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นจะได้แก่ คอลัมนิสต์คนหนึ่งซึ่งใช้นามปากกา “สิริอัญญา” นักกฏหมายและนักเขียนฝีปากกล้าที่ใครๆ ก็รู้ว่าห่มเหลืองที่ใช้สื่อในแวดวงของตนถล่มฝ่ายตรงข้ามคือรัฐบาลซึ่งทราบ กันดีเช่นเดียวกันว่าฉากหลังนั้นใส่เสื้อแดง  ซึ่งได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์ทางการเมืองที่โอนเอียง  ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่บอกกับผู้บริโภคข่าวสารว่าเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำระดับหน้าในคอลัมน์บ้านเกิดเมืองนอน ตอน “จับตา! รัฐบาลทิ้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ซ้ำร้ายกว่านั้นข้อมูลที่ท่านได้นำออกมาสนับสนุนแนวคิด เพื่อฝังฝ่ายรัฐบาลให้จมดิน ที่ได้เห็นแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะออกมาจากปลายปากกาของ “นักเขียนบทความดีเด่นประจำปี 52”  ที่มุ่งสร้างภาพสถานการณ์และความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้เฉกเช่นพื้นที่ แห่งนี้ในวันนี้ได้ถูกยึดครองโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนไปเรียบร้อยแล้ว  อำนาจรัฐเกือบเป็นศูนย์  หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ไม่กล้าแม้แต่จะปริปากพูดถึงความรับผิดชอบและ การป้องกันแก้ไขปัญหา  ไล่เรียงตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการกองทัพบกถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  

ยังไม่พอ...ยังได้กล่าวถึงการยกระดับความรุนแรงให้มากยิ่ง ขึ้นด้วยการทำลายระบบพื้นฐานทางเศรษฐกิจ คมนาคม  แถมด้วยการคาดการณ์ว่าจะทำลายระบบการสื่อสารในเวลาอันใกล้  วาดภาพสร้างความตื่นตระหนกของประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธและคนไทยเชื้อสายจีน ว่าได้อพยพออกนอกพื้นที่จนเหลือเพียง  50,000  คน ทั้งๆ ที่ข้อมูล ณ ปัจจุบันมีอยู่กว่า 300,000 คน ยิ่งกว่านั้นยังกล้ากล่าวว่าหากลดเหลือ 30,000 คน จะทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดจากการปกครองของรัฐบาลและประเทศไทยทันที  ในเมื่อไม่ว่าประชาชนในพื้นที่จะเหลือผู้นับถือศาสนาใดประชาชนทุกคนก็ยัง เป็นคนไทยอยู่มิใช่หรือ  แล้วมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ช่างจิตนาการเหมือนกับเคยมาอยู่ในพื้นที่ทั้งๆ ที่ไม่เคยมาเหยียบพื้นที่แห่งนี้เลยได้อย่างน่าชื่นชม  

เข้าตำรา “ว่าแต่เหลิม  ไพ..เอ้ย...สิริอัญญาเป็นเอง”

มุ่งแต่จะสยบฝ่ายที่เห็นต่างให้ย่อยยับลงไปโดยไม่ได้ คำนึงถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและผลที่กระทบด้านจิตวิทยาที่จะเกิดขึ้นใน ลักษณะไร้ซึ่งจรรยาบรรณ  หรือท่านอาจจะเขียนแบบ “เอามันส์” จนหน้ามืดตามัวไปชั่วขณะ  

          ทุกวันนี้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ได้พยายามอย่างที่สุดที่จะนำสันติภาพกลับมา สู่ชายแดนใต้อย่างเร็วที่สุด ผู้เสียสละหลายท่านทั้งครู ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครที่ได้พลีชีพเพื่อให้บ้านเมืองนี้ดำรงอยู่  ไม่นับรวมประชาชนตาดำๆ  ที่เสียชีวิตไปหลายพันคนต้องไม่ตายเปล่า  อย่างน้อยที่สุดชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าความคิดต่าง เห็นต่างคือสาเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียอย่างสุดประมาณ   ดังนั้น  การคิด ต่างเห็นต่างทางการเมืองของนักการเมืองและพวกพ้องก็ไม่สมควรที่จะกล่าว พาดพิงหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอย่างมุ่งมั่นตามภารกิจหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ เสียหายด้วย  อย่าดึงเอาผู้ตั้งใจทำงานที่เสียสละได้แม้แต่ชีวิตเหล่า นี้ต้องไปแปดเปื้อนกับน้ำโคลนที่พวกท่านสาดใส่กันไปมาอย่างบ้าคลั่ง  ตีฝีปากใส่กันเข้าทำนอง  “รักชาติจนปากคอสั่น”  

          การบิดเบือนข้อเท็จจริงในลักษณะ “ใส่ไข่” โดยไม่รับผิดชอบ  ใช้ความเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่นของตนเองโดยการให้ข่าวสารด้าน เดียวโดยไม่สนใจผลเสียอื่นใดจึงไม่น่าจะใช่ผู้ที่เรียกตนเองในฐานะสื่อมวลชน ว่า WATCH DOGหรือ “หมาเฝ้าบ้าน”
 
ถ้า จะให้ดีขอฝากถึงกองบรรณาธิการสำนักข่าวฉบับนี้ด้วยว่า  ดูแลกันซักนิด  เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเปิดโปงตัวตนที่แท้จริงของใครบางคนเท่านั้น  แต่เป็นการเปิดโปงทิศทางและคุณภาพการทำหน้าที่ในฐานะสื่อของสำนักข่าวของ ท่านด้วย  หรือจะเปิดตัวว่าไม่ได้อยู่ฝั่งรัฐบาลก็แล้วแต่จะไตร่ตรอง

          เพราะหากบอกว่าวันนี้ผู้ก่อเหตุรุนแรงได้พยายามยกระดับการก่อการร้ายให้ รุนแรงมากขึ้นโดยวิธีการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อให้สหประชาชาติเข้า แทรกแซงแล้ว  ไม่ต้องรอให้ความพยายามยกระดับสถานการณ์ของขบวนการสำเร็จหรอก  วันนี้การนำเสนอข่าวของท่านได้ทำให้การแบ่งแยกดินแดนในความรู้สึกของประชาน ผู้บริโภคข่าวสารสำเร็จไปแล้ว  และท่านนั้นแหละคือ  “สื่อมวลชนทิ้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ต้องจับตา
ซอเก๊าะ   นิรนาม
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม