วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รำพึงถึง มาลาล่า ยูซัฟไซ

รำพึงถึง มาลาล่า ยูซัฟไซ

โดย จอห์น วิญญู
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 
ปีที่ 32 ฉบับที่ 1679 หน้า 79 


ขณะที่กำลังนั่งเขียนต้นฉบับนี้ น้องมาลาล่า ยูซัฟไซ กำลังถูกเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลในปากีสถานไปรักษาตัวต่อที่สหราชอาณาจักร 

เด็ก หญิงวัย 14 ปีชาวปากีสถานนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการได้รับการศึกษาของผู้หญิงมุสลิม ถูกสมาชิกตาลีบันพยายามฆ่าโดยยิงเข้าที่หัวและลำคอในระยะประชิดบนรถโรงเรียน ขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน  
เพื่อนหญิงของมาลาล่าสองคนก็ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ฝ่ายราชการของปากีสถานยังคงให้ข่าวไปในทางที่ว่ามาลาล่าอาการดีขึ้นและจะค่อยๆ ดีขี้นเรื่อยๆ 
แต่จากหลายแหล่งข่าวภายในโรงพยาบาลกลับพูดไปอีกทางหนึ่งว่าเด็กหญิงมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมากเนื่องจากอาการสมองบวมอย่างรุนแรง 
ฝ่ายตาลีบันประกาศว่าถ้างานนี้ไม่ตาย จะกลับมาเอาให้ตายให้ได้--- 
ทั้งหมดนี้เพราะผู้หญิงไม่ควรได้รับการศึกษา 
และเด็กหญิงที่ออกมาประณามตาลีบันและเรียกร้องสิทธินี้สมควรถูกผู้ชายตัวโตๆ ยิงสังหารในระยะประชิด 
มรึงแมนมาก


ภาย ใต้การปกครองและในพื้นที่อิทธิพลของตาลีบันเด็กผู้หญิงเป็นจำนวนมากใน อัฟกานิสถานและปากีสถานไม่ได้เรียนหนังสือเพราะเป็นการเสี่ยงอันตรายเกินไป โรงเรียนโดนระเบิด โดนเผา รถโรงเรียนถูกซุ่มโจมตี ครูและเจ้าของโรงเรียนผู้หญิงตกเป็นเป้าสังหารอยู่เสมอ 
วัน ที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมาเป็นวันเด็กหญิงสากล (International Day of the Girl) CNN สัมภาษณ์ หญิงสาวชาวอัฟกันนางหนึ่งที่ต้องปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชายแล้วเดินเท้าไป โรงเรียนไปกลับเที่ยวละ 45 นาทีทุกวัน สัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อไปโรงเรียน แล้วโรงเรียนที่ว่านี่ เป็นโรงเรียนลักลอบเปิดสอนด้วยนะครับ โรงเรียนคือห้องโถงบ้านครู (ผู้หญิง) ที่มีเด็กหญิงแออัดยัดเยียดกันเรียนถึงหนึ่งร้อยคน 
ทุกคนรู้ว่าหากตาลีบันมาเจอจะต้องตายกันหมด

พ่อแม่ของเด็กๆ ก็รู้ว่าถ้าวันไหนลูกเดินไปโรงเรียนแล้วตาลีบันมาเจอเข้าว่าเป็นเด็กผู้หญิงปลอมตัว ทั้งลูก ทั้งพ่อแม่มีสิทธิตายหมู่ 
คุณ ครูก็รู้ว่าหากเรื่องโรงเรียนลักลอบนี้แพร่งพรายออกไป คุณครูและครอบครัวก็มีสิทธิจะถูกฆาตกรรมได้ เด็กๆ ก็รู้อยู่แก่ใจว่ากำลังเสี่ยงกับอันตรายทุกวัน

ปัจจุบัน ชาบาน่า บาจีฟ ราซิก หญิงสาวคนดังกล่าวจบปริญญาตรีแล้วจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งใน สหรัฐอเมริกาและกลับไปเปิดโรงเรียนประจำหญิงที่กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน เธอเล่าเสริมว่า ด้วยความกลัว ความเหนื่อยล้าและไม่เห็นอนาคตที่ดีกว่า เธอจึงงอแงไม่อยากไปโรงเรียนอยู่บ่อยๆ แต่พ่อแม่ของเธอนั่นแหละที่ไม่ยอมให้เธอเลิก เพราะต่างก็เชื่อในคุณค่าของการศึกษาอย่างสุดหัวใจ  
เธอ เล่าถึงพ่อของเธอว่าเขาย้ำกับเธอเสมอว่าเงินถูกปล้นได้ บ้านถูกยึดได้ อะไรๆ ที่เรามีก็ถูกยึดเอาไปได้ แต่ความรู้ที่มีจากการได้รับการศึกษาไม่มีใครเอาไปจากเราได้ ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ การเสี่ยงชีวิตจึงเป็นการเสี่ยงที่คุ้มค่า 
เด็ก หญิงชาบาน่า บาจีฟ ราซิก จึงมีวันนี้และสามารถมาทำอะไรดีๆ ต่อให้ผู้อื่นที่ต้องการได้อีก ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของครอบครัวและสังคมประเทศนั้นจริงๆ  
การยอมเสี่ยงเจ็บเสี่ยงตายเพื่ออะไรบางอย่าง บางอย่างนั้นมันต้องเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากในความรู้สึก  
การ ยอมเสี่ยงเจ็บเสี่ยงตายเพื่อให้ได้มาซึ่งการศึกษานั้น แสดงถึงการให้ความสำคัญกับความรู้มาก ("ความรู้" นะครับ ไม่ใช่ใบปริญญา กรุณาอย่าเหมาว่าเป็นสิ่งเดียวกัน)

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมกลับมามองตัวเอง (และขอเชิญชวนให้คุณผู้อ่านลองทำเช่นเดียวกัน)   
แล้วพยายามจินตนาการว่า มีอะไรบ้างในชีวิตที่มีความสำคัญมากพอที่จะยอมเจ็บยอมตายยอมเสี่ยงเพื่อให้ได้มามั้ย  
เปล่า ครับ ไม่ได้จะดราม่า---มันก็แค่น่าคิดเฉยๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องมีสิ่งนั้นซะเมื่อไหร่ ไม่มีก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าทุกคนลองคิดดูดีๆ แล้วเกิดมันมี

สิ่งนั้นแวบขึ้นมาในหัว แล้วเราบอกตัวเองว่าใช่แล้ว สิ่งนี้แหละที่เรายอมแลก ยอมแลกแม้กระทั่งชีวิตเพื่อให้ได้มา

แล้ว ถ้าสมมติว่าสิ่งนั้นมีมากกว่าหนึ่งคนที่คิดเหมือนคุณ มีมากกว่าหนึ่งร้อยคนที่คิดเหมือนคุณ มีมากกว่าล้านคนที่คิดเหมือนคุณ มันจะพอเป็นไปได้ไหม ...  
ที่เราจะบอกว่า 

สิ่งนั้นคือสิ่งที่สังคมต้องการ
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม