วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ศาสนากับการเมือง บทเรียนจากศรีลังกา


ศาสนากับการเมือง บทเรียนจากศรีลังกา
ศาสนากับการเมือง บทเรียนจากศรีลังกา
 โดย เสรีภาพ  ณ ชะเยือง

1. ลักษณะของประเทศศรีลังกาโดยทั่วไป

           ศรีลังกา (Sri Lanka ) หรือ ลังกา ชื่อเดิมในภาษาอังกฤษคือซีลอน     (Ceylon) เป็นประเทศที่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองมีศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยมาตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลจนถึงปัจจุบัน
           เรื่องราวของศาสนาและการเมืองในประเทศนี้ น่าศึกษาสำหรับคนไทยเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลก็คือ ศรีลังกาเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับไทย  ลักษณะศาสนาพุทธมีความคล้ายคลึงกันมาก เพราะไทยรับศาสนาพุทธมาจากศรีลังกา  และพระสงฆ์บางส่วนในศรีลังกา ก็รับศาสนาพุทธนิกายสยามวงศ์ไปจากไทย    อีกประการหนึ่ง ศรีลังกาเคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ล้ำหน้าไทยมาก แต่เนื่องจากความแตกแยกไม่ลงรอยกันของคนในชาติ ทำให้ประเทศนี้ถดถอยและล้าหลังเพื่อนบ้านอย่างมากในขณะนี้   

           ศรีลังกา มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา (Democratic Socialist Republic of Sri Lanka) ประชากรของศรีลังกามีประมาณ 20 ล้านคน ประกอบด้วย 8 จังหวัดใหญ่(provinces) แต่ละจังหวัดมีหลายเมือง ซึ่งคงคล้ายกับอำเภอของไทย ได้แก่(ชื่อเมืองหลวงอยู่ในวงเล็บ) จังหวัดกลาง (แคนดี้)  จังหวัดซาบารากามูวา (รัตนปุระ) จังหวัดตะวันตก (โคลัมโบ)  จังหวัดตะวันตกเฉียงเหนือ (กุรุเนกะละ) จังหวัดตะวันออกเฉียงเหนือ (ตรินโคมาลี) จังหวัดใต้ (กอลล์) จังหวัดกลางตอนเหนือ (อนุราธปุระ) จังหวัดอูวา (บาดุลลา) (จาก http://th.wikipedia.org/)

           ในเว็บไซต์ของผู้ใช้นามว่า สิงหะ พุธรา (Singha Puthra) ซึ่งรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชและสิทธิเสรีภาพของศรีลังกาไว้จำนวนมาก บันทึกไว้ว่า  ในปี พ.ศ. 2544  จากข้อมูลที่สำรวจใน 18 เมือง จากทั้งหมด 25 เมือง (ไม่สามารถสำรวจในเขตทมิฬเหนือและตะวันออกได้เพราะรบกัน) ศรีลังกามีประชาชนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ดังนี้   
  • สิงหลพุทธ 76.7 %  
  • สิงหลคริสเตียน 5.2 %  
  • ลังกาทมิฬ 4.5 %  
  • อินเดียทมิฬ 5.1 %  
  • มุสลิม 8.5 %  

             อินเดียทมิฬคือพวกทมิฬที่อพยพหรือถูกเกณฑ์มาจากอินเดียในยุคอาณานิคมเพื่อทำงานในไร่ชา และปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนภูเขา พวกนี้ยากจนที่สุด(Singha Puthra, http://www.nexcorpsl.com/sinhala)

           ถ้าดูจากกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างๆ อย่างเดียว ไม่แยกเป็นสิงหลหรือทมิฬ มีรายงานเรื่อง เสรีภาพในการนับถือศาสนานานาชาติ ประจำปี ค.ศ. 2005 ซึ่งรัฐบาลอเมริกันจัดทำทุกปีตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญของเขา ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2548 ศรีลังกามีพลเมืองประมาณ  19.4 ล้านคน ประชาชนนับถือ พุทธ, ฮินดู, คริสเตียน และอิสลาม ร้อยละ 70, 15, 8 และ 7 ตามลำดับ   รัฐธรรมนูญประเทศนี้ให้ความสำคัญแก่ผู้นับถือพุทธสูงสุด แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ  ประชาชนมีเสรีภาพทางศาสนาค่อนข้างมาก มีวันหยุดประจำชาติตามหลักศาสนาอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะศาสนาพุทธอย่างเดียว (http://www.state.gov/g/ drl/rls/irf/2005/51622.htm หัวข้อ Sri Lanka, International Religious Freedom Report   2005, Released by the Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor)


           แม้ไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่รัฐธรรมนูญศรีลังกาฉบับที่ใช้อยู่ขณะนี้ คือฉบับปี พ.ศ. 2521/ค.ศ. 1978   ได้ให้ความสำคัญแก่ศาสนาพุทธอย่างมาก โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในบทที่  2 มาตรา 9 เกี่ยวกับศาสนาพุธไว้ว่า 

“         บทที่ 2 ศาสนาพุทธ

           9. สาธารณรัฐศรีลังกาจะยกศาสนาพุทธไว้ในตำแหน่งสูงสุด และโดยนัยนี้ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องและทะนุบำรุงพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันต้องให้ความมั่นใจแก่ทุกศาสนาในสิทธิตามมาตราที่ 10 และ 14(1)(e)”  

           ฉบับเต็ม เข้าไปอ่านได้ที่ http://www.priu.gov.lk/Cons/1978Constitution/ Chapter_02_Amd.html


           ต่อมาในปี พ.ศ. 2543/ค.ศ. 2000 นางจันดริกา บันดาราไนเก กุมาราตุงคะ (Chandrika Bandaranaike Kumaratunga) ประธานาธิบดีศรีลังกาในขณะนั้น ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงใหม่  มีการเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาพุทธเข้าไปอีก ความว่า “ในบางพื้นที่ที่จำเป็น รัฐจะต้องปรึกษาสภาสูงสุด  ที่ยอมรับโดยรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับพุทธศาสนา (คงหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงศาสนาพุทธ) เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะดำเนินการเพื่อปกป้องและทะนุบำรุงพุทธศาสนา”
           แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนประธานาธิบดีและปัญหากบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแรมรุนแรงขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จึงยังไม่ผ่านสภาในขณะนี้  ผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดต้นฉบับร่างได้ที่http://www.priu.gov.lk/Cons/2000ConstitutionBill/Constitution_Chapter2.pdf

         มาตราที่ 10 กับ 14(1)(e)ในรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2521   เป็นเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการสวดภาวนาตามความเชื่อทางศาสนา ซึ่งให้เสรีภาพประชาชนดังเช่นในอารยะประเทศอื่นๆ  อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2548  มีคดีรัฐมนตรีศาสนาคริสต์ฟ้องร้องไม่ให้นำร่างกฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนา(anti-conversion bill)โดยวิธีไร้จรรยา(unethical conversion) เข้าสภา โดยอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญบทที่ 2 มาตรา 9 

            ศาลฎีกาของศรีลังกาตัดสินให้แพ้คดีโดยให้เหตุผลว่า “แม้ในรัฐธรรมนูญจะรับประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ  แต่ไม่ได้ประกันเสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนา  และองค์กรใดที่พยายามแผ่ขยายศาสนาคาทอลิก  แสดงว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ที่ยกให้ศาสนาพุทธมีความสำคัญสูงสุด” ถ้าเดาจากสถานการณ์ คงหมายความว่า การใช้วิธีการใดๆ เปลี่ยนคนที่นับถือพุทธไปเป็นศาสนาอื่น  เป็นการไม่ยกย่องศาสนาพุทธไว้ในตำแหน่งสูงสุด (Anti-Conversion Bill Gains Support (Sri Lanka), August 19, 2003 http://www.intervarsity.org/ism/news_item.php?news_id=729)

           ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรอย่างเป็นทางการของศรีลังกาที่ทำได้ทั้งประเทศ ล่าสุดคือในปี พ.ศ. 2524/1981 ซึ่งได้ตัวเลขคนนับถือศาสนาต่างๆ ดังนี้  สิงหลพุทธ 71%  สิงหลคริสเตียน4.7% ทมิฬฮินดู10%  ทมิฬคริสเตียน 2.6% ชาวเขาทมิฬจากอินเดีย 5.5% พวกมัวร์และมาเลย์ 6.4% พวกยุโรปที่ตั้งรกรากถาวรหรือที่เรียกว่าพวกเบิร์กเฮอร์(Burghers) 0.8% จากข้อมูลทั้งสามชิ้นที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า จำนวนคนนับถือพุทธต่อประชากรทั้งประเทศน้อยกว่าประเทศไทย (ในปี พ.ศ. 2550 คนไทยพุทธมีประมาณ 94% )

           ในเว็บไซต์ของ สิงหะ พุธรา อ้างหลักฐานที่แสดงว่า ในยุคโบราณ ศรีลังกาเคยมีความเจริญรุ่งเรืองทางเทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมล้ำหน้ากว่าแหล่งอารยะธรรมในอินเดียและยุโรปเสียอีก  มีหลักฐานประวัติศาสตร์ที่ค้นพบแสดงว่า เมื่อประมาณ 1,000 B.C. ( 1,000 ปีก่อนคริสตกาล) ศรีลังกามีอักขระภาษาพราหมณ์ของตนเองแล้ว (มีตำราจารึกบนหินแผ่นมหึมา) และมีเทคโนโลยีในการผลิตเหล็กและทองแดงล้ำหน้ายุโรป







              ประมาณ พ.ศ. 0193 (350 B.C.)  นักประวัติศาสตร์ค้นพบว่า ในศรีลังกาเริ่มสร้างระบบชลประทาน ระบบส่งน้ำใต้ดิน ระบบกำจัดน้ำเสีย ห้องสุขาสาธารณะที่หรูหรา มีสระว่ายน้ำและสถานอาบอบนวดในรูปแบบ “สปาส์” กันแล้ว  มีแม้กระทั่งห้องปรับอากาศ ที่สร้างโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมล้ำยุคอย่างไม่น่าเชื่อ  

เพื่อป้องกันการโต้แย้ง ขอเรียนว่า ในที่นี้ผู้เขียนใช้ พ.ศ. ตามระบบที่ใช้ในประเทศไทย  ซึ่งต่างจากเอกสารในอินเดีย, ศรีลังกาและยุโรป เนื่องจากเขาเชื่อว่า พระพุทธเจ้าปรินิพานก่อนพระเยซูประสูติ 483 ปี แต่ของไทยใช้ 543 ปี  ตัวเลข พ.ศ. จึงต่างกัน 60 ปี คือถ้าคิดแบบศรีลังกา 350 B.C. จะเป็น พ.ศ. 0133  แหล่งข้อมูลที่นำมาใช้นี้ แทบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้คริสต์ศักราช เมื่อเปลี่ยนเป็น พ.ศ. จึงอาจคลาดเคลื่อนจากแหล่งข้อมูลภาษาไทยอื่นๆ  

นอกจากนี้ ผู้เขียนไม่สันทัดในภาษาบาลีและสันสกฤต ดังนั้น การเขียนชื่อคน และสถานที่ จึงใช้วิธีเขียนจากการอ่านตัวสะกดในภาษาอังกฤษโดยตรง โดยมิได้ไปค้นว่าต้นเสียงภาษาสันสกฤตหรือภาษาสิงหลของเจ้าของภาษาจริงๆ เป็นอย่างไร แต่ก็ได้วงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไว้แทบทั้งหมด เพื่อให้ผู้สันทัดรู้ว่า ต้นฉบับเสียงภาษาสิงหลที่แท้คืออย่างไร




จากหลักฐานสิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่พบว่า ในยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองถึงขีดสุด คือประมาณ พ.ศ. 0350 มีการสร้างมหาวิทยาลัยอย่างทันสมัยเกือบทุกๆ 12 กิโลเมตร โดยใช้วัดเป็นที่จัดการศึกษา มีห้องเรียน ห้องผู้บริหาร  เหมือนมหาวิทยาลัยยุคใหม่ มีการสอนวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับวิชาทางศิลปะและปรัชญาด้วย  วิชาที่สำคัญที่สอนกันในยุคนั้นได้แก่  พุทธศาสนา, ภาษาศาสตร์, ประวัติศาสตร์, จิตรกรรม,  การปั้น, การแกะสลักงาช้าง, แกะสลักไม้และแกะหิน, รวมทั้งวิศวกรรมชลประทาน

มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดชื่อสิตูลพาฟวา (Situl Pavwa) สร้างในปี พ.ศ. 0343 โดยพระเจ้ากาวานติสสะและวิหารามหาเทวี (King Kavan Tissa and Vihara Maha Devi ) เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกา สามารถรับนักศึกษาประจำได้ถึง 12,000 คน มีการเจาะหินเป็นถ้ำให้ฝึกสมาธิจำนวนมาก  นักประวัติศาสตร์ค้นพบตำราโบราณ ณ ที่แห่งนี้กว่า 60 เล่ม มหาวิทยาลัยนี้ถูกทำลายในปี พ.ศ. 1643  โดยพวกโชลา(Chola) จากยุโรปที่บุกผ่านมาทางอินเดีย ขณะนี้สงวนพื้นที่ไว้เป็นอุทยานแห่งชาติ


           ประมาณ พ.ศ. 0250 เป็นต้นมา ในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช  ศรีลังกาเป็นศูนย์กลางเผยแพร่พุทธศาสนาต่อจากอินเดีย มีการบันทึกพระธรรมคำสอนและตำราวิชาการด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งจัดรวบรวมบันทึกพระไตรปิฎกที่สมบูรณ์มาก จนอินเดียยังต้องมาขอคัดลอกในภายหลัง   มีการสร้างวัด สร้างพระพุทธรูปและสถูปอย่างมากมาย สถาบันสงฆ์รุ่งเรืองสุดขีด ถึงขนาดที่สามารถเผยแพร่ศาสนาพุทธมายังประเทศไทย พม่าและอินโดนีเซีย  

           น่าเสียดายที่สิ่งดีๆ ทั้งหลาย รวมทั้งมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ที่กล่าวนี้ ถูกพวกรุกรานจากแคว้นโชลา(Cholas)และแคว้นแพนดี้ยาน(Pandyan)ของอินเดียตอนใต้ รวมทั้งพวกโปรตุเกส บุกทำลายจนแทบจะไม่เหลือซาก (แหล่งข้อมูลที่ละเอียดดูได้จากเว็บไซต์ต่อไปนี้  http://www.state.gov/g/drl/rls/irf/2005/51622.htm, http://countrystudies.us/sril-lanka/, http://lakdiva.org/mahavamsa/chapters.html, http://www.nexcorpsl.com/sinhala/crono.html,   http://sripada.org/http://srimahabodhi.org/, http://www.lankalibrary.com/ , http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Sri_Lanka )

           ในอีกแง่มุมหนึ่ง รู้สึกว่าน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีศรัทธาทางศาสนาแรงกล้ามายาวนาน ต้องประสบชะตากรรมเช่นศรีลังกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นศรัทธาในศาสนาพุทธและฮินดู 

           เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาสนาฮินดูและพุทธ เน้นการเสียสละและสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษย์ด้วยสันติวิธี  เป็นศาสนาที่สร้างผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่ได้อุทิศตนต่อสู้เพื่อสร้างความเท่า เทียมให้แก่มนุษย์ชาติโดยไม่เลือกชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์  จนคนทั่วโลกถือเป็นแบบอย่าง เช่น ดร. บิห์มเรา รามไจ อัมเบ็ดการ์(Dr, Bhimrao Ramji Ambedkar), มหาตมะคานธี และวิโนบา เบ็พ  แต่ศรีลังกากลับไม่สามารถยุติความขัดแย้งแตกแยกระหว่างคนในชาติเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมได้  ถึงกับใช้กำลังฆ่าฟันกันไม่รู้จบสิ้นจนถึงทุกวันนี้   (Dr, Bhimrao Ramji Ambedkar - April 14, 1891 - December 6, 1956  เป็นวีรบุรุษชนชั้นจัณฑาลที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียในยุคเดียวกับมหาตามะคานธี แต่ท่านสู้ตามวิถีทางของรัฐสภา ในขณะที่คานธีสู้นอกสภา ดร. อัมเบ็ดการ์เป็นหนึ่งในผู้ร่างรัฐธรรมนูญอินเดียและต่อสู้เพื่อสลายการแบ่งแยกชนชั้นในอินเดียว เมื่อผิดหวัง ท่านเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูมานับถือพุทธ  พื้นฟูศาสนาพุทธและก่อตั้ง neo-Buddhism ขึ้น  ทำให้ขยายชุมชนชาวพุทธในอินเดียได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปี พ.ศ. 2549 ชุมชนนี้ท้าทายอำนาจรัฐที่ออกกฎหมายห้ามเปลี่ยนศาสนาโดยการทำพิธีประกาศตนเป็นชาวพุทธให้แก่คนฮินดูเกือบหมื่นคน - Published: Sunday, 15 October, 2006, 01:24 PM Doha Time- http://www.gulf-times.com/site/topics/article.asp? cu_no=2&item_no=112808&version=1&template_id= 40&parent_id=22)

           ความขัดแย้งเรื่องศาสนาและเผ่าพันธุ์ในศรีลังกามีมานานแล้ว การต่อสู้ระหว่างกษัตริย์ของชนเผ่าทมิฬ(Tamil) ซึ่งนับถือฮินดู กับกษัตริย์สิงหล(Sinhalese)ซึ่งนับถือพุทธ มีขึ้นเรื่อยๆ เป็นเวลาพันกว่าปีมาแล้ว   ผลัดกันแพ้ชนะ มาหยุดลงนานหน่อยเมื่อใกล้หมดราชวงศ์แห่งกรุงแคนดี้ เพราะอยู่ใต้การปกครองของโปรตุเกส  ดัตช์ และอังกฤษ รวม 443 ปี (133, 158, 152 ปี ตามลำดับ)

           เพื่อให้เห็นที่มาของปัญหาระหว่างชนสองเผ่าที่มีมาตั้งแต่ยุคพุทธกาล  ซึ่งมีสาเหตุมาจากศาสนาบ้างในยุคแรก และเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของความยึดติดในภาษาและวัฒนธรรมอย่างไม่ปล่อยวางในปัจจุบัน รวมทั้งการที่พระสงฆ์ศรีลังกาต้องออกมาต่อสู้ทางการเมืองอย่างเปิดเผย ถึงขั้นตั้งพรรคการเมือง และเป็น ส.ส.  เราจำเป็นต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เก่าแก่ของประเทศศรีลังกากันก่อน ซึ่งความเป็นมา ตั้งแต่กำเนิดประเทศและเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอกราชและเสรีภาพของประชาชนในศรีลังกา อาจเป็นกุญแจ หรือให้แนวคิดในการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยในยุคนี้ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
           อนึ่ง  เนื่องจากศาสนาพุทธในไทยนั้นสืบทอดมาจากศรีลังกา การศึกษาที่มาและปรากฎการณ์ของศาสนาพุทธในศรีลังกา อาจทำให้เราเห็นสิ่งที่จะเกิดกับศาสนาพุทธในไทยในอนาคตได้
 
2. กำเนิดประเทศและศาสนาพุทธในศรีลังกา
           ประวัติการเกิดประเทศศรีลังกา เกี่ยวพันกับศาสนาพุทธและตำนานโบราณคล้ายกับนิทานชาดกของไทยมาก อ่านแล้วสนุกสนาน ทำให้เห็นว่า ลักษณะวัฒนธรรมความเชื่อของไทยเราน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากศรีลังกาไม่น้อย  จึงขอเขียนถึงเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดสักหน่อย

คนศรีลังกาเป็นคนชอบพูดชอบเขียน และประวัติศาสตร์ยุคก่อนคริสตกาลของศรีลังกามีปรากฏในตำนานของประเทศอื่นหลายประเทศ  ที่รู้จักกันดีก็คือในเรื่องรามเกียรติ์ของอินเดีย และคัมภีร์เก่าแก่ 3 เล่มคือ มหาวันสา(Mahavamsa) ดิภาวันสา(Dipavamsa) และจุฬาวันสา(Chulavamsa) ซึ่งมีส่วนสับสนขัดแย้งกันค่อนข้างมาก แม้แต่ในพจนานุกรมวิกี้พิเดีย(http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Sri_Lanka) ก็ยังประกาศขอให้ช่วยกันปัดกวาดแก้ไขบันทึกประวัติศาสตร์ศรีลังกาในเว็บไซต์ของตน 

ในที่นี้จึงขอสรุปเอาแค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้เท่านั้นและอ้างอิงที่มาเมื่อจำเป็น โดยมีข้อมูลจับเล็กผสมน้อยมาจาก Mahavamsa-EnglishVersion อยู่ที่ http://lakdiva.org/mahavamsa/ เว็บไซต์ http://lakdiva.org/codrington/ ซึ่งจัดหมวดหมู่ได้ดี นอกจากนี้ก็มี ของสิงหะ พุทธรา และวิกี้พิเดีย 

ประเทศศรีลังกายุคโบราณแบ่งเป็นแคว้นเล็กๆ หลายแคว้น แต่ละแคว้นมีกษัตริย์ปกครองโดยอิสระ  ชนเผ่าดั้งเดิมมิใช่พวกสิงหล แต่เป็นชนพื้นเมืองหลายเผ่า  ชื่อเผ่าพวกนี้ในวรรณคดีโบราณศรีลังกาคุ้นหูคนไทยมาก เช่น เผ่านาคา(naga), ยักษ์(Yaksa), เทวา(Deva) และรักษ์(Raksha)  พวกเขานับถือผีสางเทวดาและศาสนาฮินดู  เล่ากันว่ามีเผ่าหนึ่งรูปร่างอัปลักษณ์น่ากลัวและดุร้าย ซึ่งคนไทยรู้จักดีในเรื่องรามเกียรติ์ คือพวกยักษ์ (Yaksa)นั่นเอง   พวกนี้มีกรุงลงกาเป็นเมืองหลวง(ตำนานของศรีลังกาเรียกว่า ลังกาปุระ-Lankapura)
ก่อน ศาสนาพุทธจะแพร่เข้าไปในศรีลังกา มีบันทึกว่ามีวัดฮินดูอยู่แล้วประมาณ 5 แห่งทั่วประเทศ ประวัติการเกิดประเทศและที่มาของศาสนาพุทธในศรีลังกาเป็นเรื่องเล่าแบบนิทาน ชาดก    เนื้อหาส่วนใหญ่นำมาจากบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถือว่ายิ่งใหญ่ของโลกเล่ม หนึ่งคือ มหาวันสา (Mahavansa -http://lakdiva.org/mahavamsa/ ) ซึ่งเขียนขึ้นประมาณปี พ.ศ. 0999/ค.ศ. 0456 โดยพระภิกษุชื่อ มหานามา (venerable thera Mahanama) ซึ่งเป็นพระเชษฐา(พี่ บางแห่งว่าเป็น พระปิตุลา(ลุง)) ของพระเจ้าดาตุเสนา(King Dhatusena) ของศรีลังกา  (http://lakdiva.org/mahavamsa/editorsnote.html)

3. ที่มาของชนเผ่า สิงหล
ตามตำนานประเทศศรีลังกา กล่าวว่า มีเจ้าหญิงอินเดียของชนเผ่าอารยันองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสรรพพาเทวี(Suppadevi) เป็นพระธิดาของกษัตริย์เมืองเบงกอลกับพระมเหสีซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากเมืองกะลิงคะ  เจ้าหญิงสรรพพาเทวีทรงซุกซนและโปรดการผจญภัยมาก วันหนึ่งทรงหนีออกจากตำหนัก เดินทางท่องเที่ยวไปจนถึงย่านป่าเขาชื่อลดา(Lada)ในแคว้นกุจราช (Gujarat)

ในป่าลดาแห่งนั้น เจ้าหญิงถูกสิงโตตัวหนึ่งลักพาไปขังอยู่ในถ้ำ ภายหลังได้สมสู่กับสิงโตหรือสิงหะในภาษาอินเดีย และคลอดลูกแฝดเป็นหญิงชายคู่หนึ่ง ทรงตั้งชื่อว่า สิงหะบาฮู(Sinhabahu)  และสิงหะสีวาลี(Singha Seevali หรือ Sihasivali)  คำว่าสิงหะนี้เพี้ยนมาเป็น Sinhala หรือสิงหล อันเป็นชื่อเผ่าพันธุ์ของคนส่วนใหญ่ของศรีลังกาในปัจจุบัน 

           เมื่ออายุได้ 16 ปี สิงหะบาฮูมีฤทธิ์พอขยับหินที่ปิดประตูถ้ำได้  จึงพามารดาและน้องสาวหนีออกจากถ้ำไปค้นหาถิ่นมนุษย์ ได้พบกับแม่ทัพของกษัตริย์เบงกอลองค์ใหม่ ซึ่งเป็นลูกชายของพระปิตุลา(ลุง)ของพระนางสรรพพาเทวี ต่อมาแม่ทัพผู้นี้ตกหลุมรักเจ้าหญิงสรรพพาเทวี และได้อภิเษกสมรสกัน
           ฝ่ายสิงโตผู้พ่อ เมื่อกลับถ้ำไม่พบเมียและลูกๆ  ก็โกรธมาก ออกเดินทางตามหาไปทั่วป่าและย่านที่อยู่อาศัยของมนุษย์  อาละวาดทำร้ายผู้คนตามหมู่บ้านต่างๆ จนเดือดร้อนไปทั้งเมือง  เรื่องนี้ร้อนไปถึงกษัตริย์แห่งเมืองเบงกอล

กษัตริย์เบงกอลทรงประกาศให้รางวัลแก่ผู้ปราบสิงโตได้  แต่ทั่วทั้งเมือง ไม่มีพรานหรือนักรบคนใดเอาชนะอิทธิฤทธิ์ของสิงโตตัวนี้ได้เลย  สิงหะบาฮูหนุ่มจึงรับอาสาไปปราบสิงโตเพื่อเงินรางวัล  มารดา รู้ว่าสิงโตตัวนี้คือใคร จึงได้ทัดทานไว้ถึง 3 ครั้ง

จากตำนานผสมบทละครกล่าวว่า เพราะอยากได้ลาภ สิงหะบาฮูแอบหนีมารดาไปสู้สิงโตจนได้  สิงหะบาฮูแผงฤทธิ์ต่อสู้กับพ่อสิงโตอย่างสูสี แต่สิงโตมีใจเมตตาลูกเพราะความรักของพ่อ ลูกศรที่สิงหะบาฮูแผงไปใส่หน้าผากพ่อสะท้อนกลับตกสู่พื้นแทบเท้าตนถึง 3 ครั้ง(บางตำนานว่ากลายเป็นดอกไม้) ในการต่อสู้ครั้งหนึ่งพ่อสิงโตเกิดความโกรธขึ้นมา ลูกศรจึงปักทะลุร่างจนเสียชีวิต  จากประกายตาของพ่อก่อนยอมเป็นเป้าอาวุธ สิงหะบาฮูรู้ว่าพ่อยอมตายเพราะรักตน จึงสำนึกผิดและเสียใจมาก

 

           เมื่อสิงหะบาฮูกลับเมืองพร้อมชัยชนะ ปรากฏว่ากษัตริย์เบงกอลเสด็จสวรรคต ชาวเมืองได้เชิญสิงหะบาฮูขึ้นเป็นกษัตริย์แทน  แต่ด้วยความเสียใจที่ได้ฆ่าพ่อตนเองไปด้วยความโลภ สิงหะบาฮูยกตำแหน่งกษัตริย์ให้พ่อใหม่ของตน  เขาทิ้งเมืองเบงกอลไปตั้งเมืองใหม่ในย่านลดาถิ่นเกิด และตั้งชื่อเมืองว่า สิงหะปุระ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพ่อสิงโตและสถาปนาตนเป็นกษัตริย์เมืองนี้แทน  

 สิงหะบาฮูซึ่งเป็นลูกครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงโต ไม่สามารถหาราชินีมนุษย์ที่ถูกใจได้ เนื่องจากตนเองมีพลังเหนือมนุษย์  จึงต้องอภิเษกสมรสกับนางสิงหะสีวาลีน้องสาวของตนเอง   และไม่นานพระนางสิงหะสีวาลีก็ทรงประสูติเจ้าชายองค์แรก ได้รับพระราชทานนามว่า เจ้าชายวิจายา (Vijaya)  และตามมาด้วยราชโอรสอีกองค์หนึ่งคือเจ้าชายสุมิตตา(Sumitta)

 เมื่อเจ้าชายทั้งสองทรงเจริญพระชันษาขึ้นสู่วัยหนุ่ม เจ้าชายวิจายาทรงประพฤติเกเรมาก นำความเสื่อมเสียมาสู่พระบิดาจนทรงเห็นว่าไม่อาจจะให้อยู่ในเมืองต่อไปได้ กษัตริย์สิงหะบาฮูจึงทรงบัญชาให้ออกจากเมืองไปโดยให้พาข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดอีก 700 คนตามเสด็จไปด้วย(http://www.lankalibrary.com/geo/kings/vijaya.htm)

  
เจ้าชายวิจายา ทรงพาบริวารเดินทางด้วยเรือออกสู่ทะเล และไปพบเกาะลังกาในวันเดียวกับวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า นั่นคือวันเริ่มต้นของพุทธศักราช พ.ศ. 0000 

เมื่อขึ้นฝั่ง บริวารจำนวนหนึ่งของเจ้าชายวิจายาถูกเจ้าหญิงยักษ์ชื่อกุเวณี(Kuveni) ดักจับไป(สิงหะพุทธราอ้างว่าเป็นเพียงลูกสาวหัวหน้าเผ่า)  เจ้าชายจึงทรงตามไปช่วยและรบชนะนางกุเวณี  ต่อมาทรงได้นางเป็นสนม และมีลูกด้วยกันสองคน นางหลงรักเจ้าชายมากถึงกับทรยศพวกยักษ์ด้วยกันเพื่อช่วยเหลือเจ้าชายวิจายาแย่งดินแดนจากพวกยักษ์  นางแนะให้เจ้าชายฉวยโอกาสตอนงานเลี้ยงฉลองการแต่งงานของพระธิดาองค์หนึ่งของกษัตริย์ยักษ์ ซึ่งจัด 7 วัน 7 คืน ทำให้เจ้าชายรบชนะยักษ์ได้   พระองค์แย่งดินแดนบางส่วนมาตั้งเมืองใหม่และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์

           เพื่อให้สมกับบารมีกษัตริย์ใหม่ พระเจ้าวิจายาทรงเห็นว่าไม่อาจแต่งตั้งนางยักษ์ ซึ่งถือว่าเป็นคนชั้นต่ำให้เป็นพระมเหสีได้  จึงทรงส่งราชทูตไปขอเจ้าหญิงจากเมืองมาดูระ(Madura) ณ แคว้น แพนดียาน ของอินเดียมาเป็นราชินี  

           เรื่องนี้ทำให้นางกุเวณีเสียใจมาก จึงพาลูกสองคนหนีไปหาพวกยักษ์เผ่าเดิมที่เมืองลังกาปุระ แต่พวกยักษ์เห็นว่าเป็นคนทรยศจึงฆ่ากุเวณีทิ้งเสีย ลูกทั้งสองได้หลบหนีไปอยู่บนภูเขาแถวศรีพาดาหรืออดัมส์พีคในปัจจุบัน และกลายเป็นบรรพบุรุษของชาวเขาแถบนั้นตั้งแต่นั้นมา

           สีพาดา(Sri Pada)  หรือศรีบาทา มีชื่อฝรั่งว่า อดัมส์พีค เป็นยอดเขาจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของศรีลังกา บนยอดเขามีรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในก้อนหิน  เชื่อว่าทรงประทับไว้ตอนเสด็จศรีลังกาครั้งที่สาม หลังทรงตรัสรู้ได้ 8 ปี ตามคำอาราธนาของราชทูตในพระเจ้าเคลานิยาแห่งกรุงนาคา 

           สีพาดาเป็นที่เคารพของศาสนิกชนสามศาสนาคือ พุทธ, ฮินดู และอิสลาม โดยพวกฮินดูเชื่อว่ารอยพระพุทธบาทเป็นรอยเท้าพระศิวะ พวกอิสลามก็เชื่อว่าเป็นรอยเท้าของ อดัมมนุษย์คนแรกของโลก (อิสลามเชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลกเช่นเดียวกับคริสเตียน) ฝรั่งจึงเรียกว่า Adam’s Peak หรือยอดเขาของอดัม

           การที่พระเจ้าวิจายาทรงสืบเชื้อสายมาจากสิงโต และทรงนำเผ่าพันธุ์อารยันของอินเดียมาตั้งรกรากอยู่ในศรีลังกา จึงเชื่อกันว่าต้นตระกูลของคนศรีลังกาชั้นสูงในปัจจุบันเป็นเผ่าอารยันที่ สูงส่ง  พวกเขาชอบชื่อเผ่าพันธุ์สิงหล มาก นัยหนึ่งเพราะทำให้รำลึกถึงตำนานการสืบสายเลือดที่เข้มแข็งมาจากสิงโต   และการตั้งเมืองใหม่ของเจ้าชายวิจายา ถือได้ว่าเป็นการให้กำเนิดประเทศศรีลังกา
           พระเจ้าวิจายาเสด็จสวรรคตหลังจากครองราชย์สมบัติได้ 38 ปี แต่ทรงไร้รัชทายาท ก่อนสวรรคตทรงส่งสาส์นไปสิงหะปุระ ขอให้พระอนุชามาครองเมืองแทน แต่เจ้าชายสุมิตตาทรงได้รับสถาปนาเป็นกษัตริย์สิงหะปุระไปแล้ว จึงทรงส่งโอรสองค์ที่ 3 พระนามว่า ปันดูวัสเทวะ ให้ไปครองเมืองแทน พร้อมให้ทหารองครักษ์คู่พระทัยติดตามไป 32 คน

4. บรรพบุรุษศรีลังกาสืบเชื้อสายมาจากพระพุทธเจ้า
           พระเจ้าบันดูวัสเทวะปกครองลังกาโดยตั้งเมืองใหม่ชื่อวิจิตาปุระ และได้ทรงส่งราชทูตไปขอเจ้าหญิงสุพัตตา กัชชานา (Subadda Kachchana  อาจออกเสียงเป็น สุพัตราก็ได้) ซึ่งเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า จากเผ่าศากยะตอนเหนือของอินเดีย เพื่อมาอภิเษกสมรสเป็นมเหสี   
           เจ้าหญิงสุพัตตาได้เสด็จเดินทางพร้อม พระสหายสตรีอีก 32 คน เพื่อไปเป็นคู่ครองขององครักษ์ทั้ง 32 คนของพระเจ้าปันดูวัสเทวะด้วย การเดินทางของพระนางทำให้ช่างและวิศวกรของอินเดียตอนเหนือจำนวนมากเดินทาง ตามไป และเข้าไปสร้างความเจริญรุ่งเรืองในศรีลังกาอย่างมากมาย   จากตำนานนี้ คนศรีลังกาจึงถือว่า ราชวงศ์กษัตริย์ศรีลังการาชวงศ์หนึ่ง สืบเชื้อสายมาจากพระพุทธเจ้า  ทำให้พวกสิงหลภูมิใจในศาสนาพุทธมาก พระเจ้าบันดูวัสเทวะทรงมีพระโอรสถึง 10 องค์และพระธิดาหนึ่งองค์

การเผยแพร่ศาสนาพุทธและกำเนิดพระภิกษุในศรีลังกา
           เอกสารทางการของประเทศตะวันตกมักอ้างว่า ศาสนาพุทธในศรีหลังกาเริ่มต้นในยุคพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ประมาณ พ.ศ. 0237 (306 B.C.)  แต่เอกสารทางศาสนาพุทธของศรีลังกาบันทึกไว้ว่า ในยุคพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในศรีลังกาถึง 3 ครั้ง  ครั้งแรกเสด็จไปห้ามกองทัพยักษ์สองเมืองไม่ให้ฆ่ากัน  ครั้งที่สองทรงเสด็จไปห้ามทัพกษัตริย์มาโฮดาราแห่งกรุงนาคาไม่ให้รบกับโอรส ของพระขนิษฐภคินี(เข้าใจว่าเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางห้ามญาติ) ครั้งที่สาม 8 ปีหลังตรัสรู้ ทรงได้รับนิมนต์จากพระเจ้าเคลานิยาแห่งกรุงนาคาและได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่ ยอดเขาสามานาลา(Samanala) หรือศรีพาดา ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกในปัจจุบัน  

           ถ้าเชื่อตำนานศรีลังกา แสดงว่าคนศรีลังการู้จักธรรมะของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ในยุคพุทธกาล  เพียงแต่ยังไม่แพร่หลาย มีตำนานกล่าวว่า ผู้เลื่อมใสในศาสนาพุทธ 2 คนแรกที่บรรลุธรรมเป็นพ่อค้า หลังจากถวายน้ำผึ้งให้พระพุทธเจ้าแล้วได้รับพระราชทานพระเกศาจำนวนหนึ่ง จึงสร้างสถูปขึ้นเก็บรักษาไว้ ณ ภูเขาแห่งหนึ่งและตั้งชื่อว่า คีรีแคนดิไคติยา(Giri Kandi Caitiya) ปัจจุบันอยู่ในวัดแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของพยัคทมิฬอีแลม ชื่อเมืองตรินโคมาลี (Trincomalee) 

           นี่คือสาเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้ความพยายามแยกตรินโคมาลีออกเป็นประเทศอิสระของพวกพยัคฆ์ทมิฬในปัจจุบัน ถูกพวกสิงหลต่อต้านอย่างหนัก

ภายหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พุทธศาสนาในศรีลังกาก็เสื่อมลงเพราะอิทธิพลของศาสนาฮินดูและความเชื่อเดิมๆ ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมเช่นเดียวกับในอินเดียจนแทบจะสูญหายไป  (http://www.lakehouse.lk/Mihintalava/ binlanka.htm, http://en.wikipedia.org/wiki/Trincomalee

ในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ศรีลังกาอยู่ในสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ(Devanampiya Tissa) ซึ่งครองกรุงอนุราธปุระ(Anuradapura) พระองค์ทรงมีสัมพันธไมตรีที่ดีมากกับพระเจ้าอโศกมหาราช  วันหนึ่ง มีราชสาส์นจากพระเจ้าอโศกถึงพระองค์ ความว่า  “ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธแล้ว” แต่มิได้ทรงชักชวนให้เปลี่ยนศาสนาตามแต่อย่างใด  (Devanampiya Tissa (307-267 B.C., http://www.lankalibrary.com/geo/list of kings.htm , http://www.lakehouse.lk/mihintalava/mihintala-03.htm)  

แต่อีกทางหนึ่ง พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอาราธนา พระอรหันต์มหินทะ เถโร(Arahath Mahinda Thero บ้างก็เรียกมิหินดู เถโร Mihindu thero) ราชโอรสของพระองค์เอง ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุและได้บรรลุอรหันต์แล้ว  ให้จาริกไปเผยแพร่พุทธศาสนาในศรีลังกาอย่างลับๆ (ในหนังสือ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ ระบุว่า ภารกิจนี้ เป็นหนึ่งใน 9 สายของสมณทูตที่ส่งไปเผยแพร่ศาสนาในต่างประเทศ)  

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเดินทางถึงลังกา พระอรหันต์มหินทะ เถระ พร้อมบริวารประกอบด้วย ภิกษุ 4 รูป คือ พระอุตติยะ, พระอิฏฐิยะ, พระสัมภระ, พระภัททสาละ สามเณร 1 รูป คือ สามเณรสุมานะ และ  อุบาสกติดตามอีก 1 คน คือ บันดูละ (Bhikkhus Uttiya, Ittiya, Sambala, Bhaddasala and Samanera Sumana and upasaka Bandula. บางตำราระบุว่ามีคฤหัสถ์ 2 คน) ได้แสดงฤทธิ์เหาะขึ้นไปยอดเขามิสสาขะ(Missaka) ประทับบนยอดก้อนศิลาใหญ่สวยงามก้อนหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า อรัตหะนากาลา(Aradhana gala) เพื่อรอพบพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะขณะทรงออกล่าสัตว์
Text Box: รูปวาดแสดงจินตนาการที่ต่างกันตอนที่พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงเผชิญหน้าพระอรหันต์มหินทาเถระ ขณะทรงไล่ตามกวาง

http://www.lakehouse.lk/mihintalava/art-06.htm

คืนนั้นพระจันทร์เต็มดวง ตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 0236 (History of Mihintalava,  http://www.lakehouse.lk/ mihintalava/mihintala.htm แต่เว็บไซต์ของสิงหะพุทธรา อ้างว่า 16th May 246 BC) ขณะที่พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงล่าสัตว์และเสด็จตามกวางตัวหนึ่งไป  ทรงเผชิญหน้าพระอรหันต์มหินทะ มหาเถโร ประทับอยู่บนก้อนหินใหญ่ พร้อมมีรัศมีแห่งธรรมเจิดจ้า (คนพุทธศรีลังกาเชื่อว่าพระอรหันต์จะมีรังสีเปล่งออกมา 6 สี บางตำนานว่าเป็นฤทธิ์พระอรหันต์ดลใจกวางไปล่อมา) ตอนแรกพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงเข้าพระทัยผิดว่าเป็นพวกยักษ์ จึงทรงเตรียมพร้อมจะต่อสู้ แต่พระอรหันต์มหินทะเถระได้ตรัสเจริญพรและถามปริศนาทดสอบสติปัญญาไปหลายข้อ เมื่อเห็นว่าทรงมีพระปรีชาชาญพอจะเข้าใจพุทธธรรมะได้ พระอรหันต์มหินทะเถระจึงถวายพระธรรมเทศนา และสามารถทำให้พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงศรัทธาเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธได้ในรุ่งอรุณของวันนั้นเอง


 พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงเป็นองค์อุปถากศาสนาพุทธที่สำคัญยิ่งของศรีลังกา  พระองค์ทรงสร้างวัดมหาวิหารให้พระมหินทะเถระพำนักเพื่อเผยแพร่พระศาสนา ต่อมามีการบวชพระภิกษุสามเณรหลายร้อยรูป และได้เผยแพร่ศาสนาไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว  จนต่อมาขยายไปสู่ประเทศใกล้เคียงด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งได้ขยายมาจนถึงประเทศไทยที่นครศรีธรรมราช

ต่อมา พระนางอนุฬาเทวี พระชายาในพระอนุชาของพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ทรงปรารถนาที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณี  พระมหินทะเถระได้แนะนำพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะให้ส่งราชทูตไปเชิญพระนางสังฆมิตตาเถรี (Sanghamittha) พระธิดาของพระเจ้าอโศกซึ่งเป็นพระขนิษฐภคินี(น้องสาว)ของพระมหินทะเอง และทรงสมณะเพศเป็นภิกษุณี ให้มาทำพิธีอุปสมบทให้       พระนางสังฆมิตตาเถรีได้เสด็จมาถึงศรีลังกาหลังพระอรหันต์มหินทะ 6 เดือน จากนั้นทรงทำพิธีอุปสมบทภิกษุณีให้พระนางอนุฬาเทวีพร้อมสตรีอื่นอีก 1,000 รูป 
ในคราวเสด็จมาศรีลังกา ภิกษุณีสังฆมิตตาเถรีได้นำหน่อต้นโพธิ์ต้นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับขณะตรัสรู้ ณ พุทธคยา มาปลูกในศรีลังกาด้วย ซึ่งได้เจริญเติบโตเป็นต้นโพธิ์ใหญ่เรียกว่าต้นศรีมหาโพธิ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้  คนศรีลังกาอ้างว่า เป็นต้นไม้ที่อายุยืนที่สุดในโลก  และภูมิใจกับต้นศรีมหาโพธิ์นี้มาก เพราะต้นโพธิ์เดิมในอินเดียถูกพระชายาขี้อิจฉาองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศกสั่งตัดทำลายในปี พ.ศ. 0250 จนไม่เหลือซาก และทำให้พระเจ้าอโศกทรงเสียพระทัยจนเสด็จสวรรคตในปีต่อมา

มีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าแผ่นดินศรีลังกายุคต่อมา ทรงโปรดแต่งตั้งชาวศรีลังกากลุ่มหนึ่ง เป็น ผู้พิทักษ์ต้นศรีมหาโพธิ์ โดยพระราชทานทรัพย์และที่ดินทำกินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่รอบๆ ต้นโพธิ์และทรงให้สาบานตนว่าจะรักษาต้นโพธิ์เท่าชีวิต  คนพวกนี้ยังสืบเชื้อสายต่อมาจนถึงทุกวันนี้  

การตั้งชุมชนพิทักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้  มีการเลียนแบบมาถึงประเทศไทยเช่นกัน เช่น ที่วัดพระนอนขอนม่วง จังหวัดเชียงใหม่  มีตำนานเล่าว่า หมู่บ้านที่อยู่ติดกับวัดขณะนี้  ก็คือหมู่บ้านของชาวบ้านที่กษัตริย์เชียงใหม่ผู้สร้างวัดได้แต่งตั้งให้เป็นผู้พิทักษ์วัด คนรุ่นเก่าๆ เรียกชาวบ้านพวกนี้ว่า “ข้าวัด” (ข้า ในภาษาเหนือหมายถึงข้าทาสบริวาร)

แม้ผู้พิทักษ์ต้นศรีมหาโพธิ์ในปัจจุบันจะลำบากยากจน เนื่องจากทางรัฐไม่เหลียวแลเพราะขาดการจัดการต่อเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว นับจากพวกฝรั่งได้เข้ามาทำลายและปิดกั้นศาสนาพุทธ    แต่คนพวกนี้ยังรักษาคำสาบานของบรรพบุรุษของตนอยู่เช่นเดิม  ข้อเขียนของสิงหะพุทธรา กล่าวว่า ในปี ค.ศ. 1984 พวกทมิฬได้บุกเข้าทำลายต้นโพธิ์นี้ ชาวบ้านพวกนี้ได้ออกมาปกป้องโดยเข้าขวางทางปืนพวกทมิฬไว้ และประกาศว่าพวกเจ้าจะทำลายได้ “เมื่อข้าตายเท่านั้น” พวกเขาถูกยิงตายไปจำนวนมาก

           ในปี พ.ศ. 0238 สามเณร สุมานะ (Sumana Samanera เป็นโอรสของภิกษุณีสังฆมิตตาเถรีก่อนออกบวชเป็นภิกษุณี เและบรรลุอรหันต์ตั้งแต่อายุแค่ 7 ขวบ) เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าอโศก พระองค์ทรงขอให้นำพระรากขวัญเบื้องขวา(พระธาตุส่วนที่เป็นกระดูกไหปลาร้าขวา) และบาตรที่ใช้ประจำของพระพุทธเจ้าไปไว้ในศรีลังกา นัยว่าเพื่อให้พ้นจากการแย่งชิงกันในหมู่เจ้าครองนครต่างๆในอินเดีย พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงสร้างสถูปชื่อธุปารมะ(Thuparama Dagoba )เพื่อบรรจุพระรากขวัญไว้ให้คนรุ่นหลังได้สักการะบูชา พระอรหันต์ มหินทะมหาเถโร เป็นผู้แนะนำการก่อสร้างด้วยตนเอง และในงานฉลองสถูปนี้ มีการบวชสามเณรถึง 2,500 รูป

The Thuparama Dagoba in Anuradhapura. 

อีกมุมหนึ่งของสถูปทุปารามา ในเมืองอนุราธปุระ The Thuparama Dagoba in Anuradhapura.
พระมหินทะมหาเถโรได้นำพระไตรปิฎกและพระสูตรต่างๆ มาแปลเป็นภาษาสิงหล รวมทั้งนำช่างแกะสลัก ช่างก่อสร้างจากอินเดียเข้ามาช่วยสร้างวัดและสถานที่สำคัญอื่นๆ อีกมาก คนศรีลังกาถือว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และศิลปะต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธในศรีลังกาอย่างแท้จริง ในช่วงนี้ศาสนาพุทธเจริญในศรีลังกาถึงขีดสุด  

พระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ 6 แห่ง และวัดมหาวิหารได้เติบโตเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในช่วง 69 ปีหลังจากอรหันต์มหินทเถระไปถึงเกาะลังกา ศาสนาพุทธเจริญยังรุ่งเรืองค่อนข้างต่อเนื่อง มีปัญหาบ้างจากพวกขุนนางที่เห็นแก่ตัวที่พยายามทำลายศาสนาและแย่งบัลลังก์ 
จนถึง พ.ศ. 0306 ในยุคพระเจ้าสุระติสสะ พระองค์ทรงมุ่งแต่สร้างมหาวิทยาลัยให้ครบ 500 แห่งตามราชประณิธาน แต่ไม่ทรงสนพระทัยด้านกำลังทหารเลย  มีลูกชายพ่อค้าม้า 2 คนจากอินเดียชื่อเสนา และกุตติกา (Sena, Kuttika) เห็นความอ่อนแอของเมืองนี้  จึงจ้างทหารรับจ้างจากอินเดียตอนใต้ เดินทางมาบุกยึดเมืองได้อย่างง่ายดาย

5. มหาสงครามเพื่อศาสนาพุทธ
 เริ่มจากลูกชายพ่อค้าม้า เมืองอนุราธปุระถูกปกครองโดยผู้รุกรานจากอินเดียตอนใต้ร่วมกับพวกทรราชเห็นแก่ตัวเกือบหนึ่งร้อยปี ศาสนาพุทธซึ่งเคยฝังรากอย่างงดงามด้วยพระหัตถ์ของพระอรหันต์มหินทะ เถระ ถูกทำลายและทอดทิ้งแทบหมดสิ้น แม้จะชิงคืนมาได้ก็เป็นช่วงสั้นๆ  

นับว่าชาวพุทธในศรีลังกายังโชคดี  ที่ช่วงนั้นแคว้นทางทิศใต้ชื่อรูหุนา(Ruhuna) ซึ่งเป็นป่าเขายังเป็นอิสระและปกครองโดยกษัตริย์ชาวพุทธอย่างเข้มแข็ง  จนถึง พ.ศ. 0382  ขณะนั้นกษัตริย์ชนชาติอินเดียตอนใต้พระนามว่า อีลารา (Elara) ปกครองอนุราธปุระได้ประมาณ 40 ปี กษัตริย์รูหุนาพระนามว่า ดุตธะกามณี (มีหลายชื่อ เช่น Dutthagamani, Gamini Abhaya, Dutugemuni) ทรงตระเตรียมสะสมกำลังไว้หลายปีมาแล้วเพื่อขับไล่กษัตริย์อีลาราต่างศาสนาออกจากประเทศอย่างถาวร  ในปีนั้น พระเจ้าดุตธะกามณี ทรงกรีธาทัพจำนวนมหาศาลบุกเข้าตีเมืองอนุราธปุระ 

การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดนองเลือดรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ศรีลังกา  คนศรีลังกายกย่องให้เป็นมหาสงครามยุทธหัตถีเลยทีเดียว  มีการใช้ช้าง ม้า และยุทธวิธีทุกประการที่คิดได้ในยุคนั้น  ที่น่าสนใจคือ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเป็นครั้งแรกว่า พระเจ้าดุตธะกามณี ได้ทรงนิมนต์พระสงฆ์ 500 รูปเดินทางร่วมไปในกองทัพด้วย  เนื่องจากทหารของพระองค์ศรัทธาในศาสนาพุทธมาก จึงทรงเห็นว่าการมีพระสงฆ์ในกองทัพจะเพิ่มขวัญกำลังใจให้ทหารได้  การรบเกิดขึ้นอย่างดุเดือดจนเลือดนองไปทั่วทุกแม่น้ำลำธาร และยุติลงด้วยการทำยุทธหัตถีระหว่างพระเจ้าดุตธะกามณีกับพระเจ้าอีลารา  ผลที่สุด พระเจ้าอีลาราถูกพระแสง(แหลน)ของพระเจ้าดุตธะกามณีสิ้นพระชนม์ในที่รบ

           สำหรับคนศรีลังกาที่ไม่ชอบชาวพุทธ โดยเฉพาะพวกทมิฬ มองสงครามครั้งนี้ว่า เป็นสงครามศาสนาโดยแท้  โดยอ้างบันทึกในมหาวันสาที่ว่า ก่อนออกศึก พระเจ้าดุตธะกามณีทรงประกาศว่า
           “กองทัพของข้ามิได้มีไว้เพื่ออวดอ้างหรือให้ได้มาซึ่งความจงรักษ์ภักดีจากใคร  กองทัพข้ามีไว้เพื่อสถาปนาศาสนาของพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง  ด้วยสัจจะที่ข้าประกาศในวันนี้ ขอให้อาวุธและเครื่องมือทั้งหลายของกองทัพข้า จงเปล่งประกายในขณะสู้รบดุจดังแสงแห่งดวงตะวัน”

 (จากข้อเขียนต่อต้านชาวพุทธชื่อ Buddhist Sinhalese Kingdoms of Blood  by Sekar Keriappa  อ้างจากมหาวันสา บทที่ 25 http://www.dalitstan.org/journal/dalitism/ dal000/budsinbk.html  ความว่า“this enterprise of mine is not for the purpose of acquiring the pomp and advantages of royalty. This undertaking has always had for its object the re-establishment of the religion of the supreme Buddha . By the truth of this declaration may the arms and equipment of my army in the hour of battle flash, as if emitting the rays of the sun" (Mahavansa, chap. 25)." -- [ Guru citing Mahavamsa, cited in Sinh_b ] หรือจะหาอ่านเต็มฉบับได้ที่ http://lakdiva.org/mahavamsa/ แต่ข้อความต่างกัน `Not for the joy of sovereignty is this toil of mine, my striving (has been) ever to establish the doctrine of the Sambuddha. And even as this is truth may the armour on the body of my soldiers take the colour of fire.')
 
           ในปัจจุบันนี้ มีข้อเขียนที่ตีพิมพ์ และอยู่ในเว็บไซต์จำนวนมาก พยายามเรียกร้องให้โลกเห็นว่า พวกคนทมิฬเชื้อสายดราวิเดียน ถูกกดขี่โดยชาวพุทธเผ่าสิงหลเชื้อสายอารยัน มาตั้งแต่ยุคโบราญจนถึงทุกวันนี้  และเป็นเพราะศาสนาที่ต่างกัน  จึงไม่มีทางเข้าใจกันได้ จำเป็นต้องปลดปล่อยตนเองเป็นประเทศอิสระ  

6. ที่มาของพระเขี้ยวแก้ว
หลังจากนั้น ศรีลังกาถูกปกครองด้วยกษัตริย์ราชวงค์ต่างๆ ต่อมาอีกมากกว่าร้อยพระองค์  ศาสนาพุทธมีขึ้นและมีลงตามศรัทธาและพระปรีชาสามารถของกษัตริย์แต่ละองค์  ในช่วงนี้มีการกล่าวถึงพระเขี้ยวแก้วซึ่งเป็นพระทนต์(ฟัน)ข้างซ้ายของพระพุทธเจ้าได้ตกมาอยู่ในศรีลังกา 

ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้ากุหาศิวะ(Guhasiva) แห่งเมืองกลิงคะของอินเดีย ทรงเกรงว่าจะรักษาพระเขี้ยวแก้วไว้ไม่ได้เนื่องจากมีผู้รุกรานดินแดน จึงได้มอบให้พระธิดาฮิมามาลี(Hemamali) และพระสวามีนำไปหาที่เก็บรักษาให้ปลอดภัย

เจ้าหญิงทรงซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในมวยผม ปลอมตัวเป็นพราหมณ์พร้อมพระสวามี ออกเร่ร่อนเดินทางไปถึงศรีลังกาในปี  พ.ศ. 0853  (บางตำราว่า พ.ศ. 0914) พระเจ้ากีรติศรีเมกาวานนะ(Kirti Sri Megavanna) ทรงสร้างปราสาทสวยงามขึ้นเป็นที่เก็บรักษาพระเขี้ยวแก้วไว้  ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมือและสถานที่ไปหลายครั้ง ปัจจุบันนี้อยู่ที่วัด ศรีดาลาดามาลิกาวะ(Sri Dalada Maligawa) ซึ่งคนไทยเรียกกันติดปากว่า วัดพระเขี้ยวแก้ว ในเมืองแคนดี้ ( รายละเอียดหาอ่านได้ที่ http://www.spur.asn.au/ ซึ่งเป็นสมาคม เพื่อสันติภาพเอกภาพและสิทธิมนุษยชนเพื่อศรีลังกา - Society for Peace, Unity and Human Rights for Sri Lanka (SPUR))

7. การบ่อนทำลายศาสนาพุทธโดยชาวตะวันตก
การบ่อนทำลายศาสนาพุทธโดยชาวตะวันตกในศรีลังกา อาจเป็นเรื่องที่นานมาแล้ว หลายคนอาจคิดว่าไม่ต้องไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่กงล้อประวัติศาสตร์มักวนกลับเสมอ และคนไทยที่รักชาติศาสนาส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน การรู้ไว้เพื่อเตือนสติและเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดในวันนี้หรือวันหน้า  จึงไม่น่าเสียหายอะไร 

ผู้เขียนได้พยายามรวบรวมและสรุปเหตุการณ์ที่สำคัญเรื่องนี้ไว้ที่นี่ เพื่อให้คนไทยที่สนใจและไม่ถนัดภาษาอังกฤษได้อ่านกัน โดยข้อเขียนที่ละเอียดนั้น  ผู้ที่ถนัดภาษาอังกฤษ หาอ่านได้จากเว็บไซต์ของสิงหะพุทธราที่กล่าวแล้ว และในหัวข้อเรื่อง 450 Years of Colonialism Part 1, 2, 3 ที่เว็บไซต์ของ Society for Peace, Unity and Human Rights for Sri Lanka (SPUR) - http://www.spur.asn.au/
 
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2048/ค.ศ.1505 ชาวโปรตุเกสล่องเรือมาขึ้นฝั่งศรีลังกาโดยบังเอิญ ที่เมืองโคลัมโบ โดยมีกัปตันเรือชื่อ ดอน ลอเรนโก เดอ อัลไมดา (Don Lourenco De Almeida) พวกสิงหลได้เห็นปืนใหญ่ ไวน์ และขนมปังเป็นครั้งแรก พวกเขานำชาวโปรตุเกสไปเมืองคอตเต  ขณะนั้นศรีลังกาแบ่งเป็น 3 แคว้น แต่ละแคว้นมีกษัตริย์ปกครองได้แก่ กษัตริย์จาฟฟ์นา(Jaffna) ปกครองทางเหนือและตะวันออก กษัตริย์คอตเต(Kotte) ปกครองซีกตะวันตก และกษัตริย์แคนดี้(Kandy)ปกครองภาคกลางและใต้(http://www.eelamweb.com/history/short/

แคน ดี้เป็นดินแดนที่เป็นป่าเขาและอุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่เดินทางเข้าถึงยากที่สุด  พวกโปรตุเกสเห็นความอุดมสมบูรณ์ของศรีลังกาจึงพยายามผูกมิตร จากนั้นแผ่อิทธิพลเข้าค้าขายกับพวกมุสลิมในคอตเต  และวางแผนยึดดินแดนทั้งหมดของเกาะลังกาเนื่องจากมีอบเชยและเครื่องเทศที่ คุณภาพดีที่สุดในโลก
กษัตริย์โปรตุเกสในช่วงนั้นคือ พระเจ้าเอมานูเอล (King Emanuel, 1495-1521)   ทรงเป็นคาธอลิคที่เคร่งครัดมาก ทรงพยายามเผยแพร่ศาสนาโดยส่งมิสชั่นนารีไปยังดินแดนที่ห่างไกล  ดังนั้น จึงมีคณะมิสชั่นนารีมาศรีลังการ่วมกับทหารเพื่อภารกิจดังกล่าว  มีบันทึกว่า ช่วง พ.ศ. 2065/1522 บาทหลวงของโปรตุเกส ที่เป็นพวกฟรานซิสจำนวนหนึ่ง (Franciscan monks คือนักบวชคริสต์ที่ถือว่าเป็นสาวกของนักบุญฟรานซิส อุทิศตนเพื่อเผยแพร่ศาสนาโดยถือว่าการเปลี่ยนคนนอกศาสนามานับถือคริสต์ได้คือผลงาน ยอมมีชีวิตอย่างลำบากยากจน แต่งตัวด้วยผ้าถูกๆ แม้กระทั่งเดินเท้าเปล่า ) ลุกคืบเข้าสอนศาสนาในดินแดนป่าเขาของกรุงแคนดี้ร่วมกับกองทหารโปรตุเกส โดยได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่เบื้องบนว่า “เริ่มต้นโดยใช้ไบเบิล ถ้าไม่สำเร็จให้ใช้ดาบ”

พวก เขาสามารถตั้งหน่วยเผยแพร่ศาสนาในแคนดี้ได้ในปีนั้น แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากคนสิงหลยึดติดศาสนาพุทธอย่างเหนียวแน่น โปรตุเกสใช้เวลาหลายปีในการแทรกซึมทางทหารและบ่อนทำลายวัฒนธรรมของศรีลังกา แต่การบุกยึดกรุงแคนดี้เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าทึบและภูเขาสูง เป็นชัยภูมิที่ดีของฝ่ายตั้งรับ

ในปี พ.ศ. 2086/ค.ศ. 1543 กษัตริย์จัว ที่ 3 (King Joao-3) ของโปรตุเกสถึงกับประกาศว่า จะต้องกำจัดกษัตริย์ของศรีลังกาตั้งแต่ปู่จนถึงหลานให้ได้   ทรงส่งบาทหลวงคาทอลิกมาสร้างโบสถ์และพยายามเปลี่ยนศาสนาของคนศรีลังกาให้ เป็นคริสเตียนอย่างจริงจัง  การทำงานนี้ยึดแนวทาง  “เริ่มต้นโดยการเทศน์ จากนั้นให้ใช้ดาบ (begin by preaching then use sword)” เช่นเดิม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะทำกับคนลังกาได้

จนถึงปี พ.ศ. 2140/ค.ศ. 1597 คอตเตจึงตกเป็นของโปรตุเกส  จากนั้นพวกโปรตุเกสก็ยึดกรุงจาฟฟ์นาและจับกษัตริย์ได้ในปี พ.ศ. 2462/ค.ศ. 1919 พระองค์ถูกนำไปประหารที่รัฐกัว(Goa -รัฐชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย) พวกฝรั่งเศสปกครองศรีลังกาแคว้นชายฝั่งทั้งหลายโดยใช้จาฟฟ์นาเป็นศูนย์กลางจนถึงปี พ.ศ. 2201/ค.ศ. 1658 และพยายามรุกเข้าอาณาจักรแคนดี้ซึ่งเป็นเมืองภูเขาใจกลางเกาะตลอดเวลา 

โปรตุเกสพยายามบุกยึดแคนดี้หลายครั้ง บางครั้งชนะแต่ก็ถูกตีคืนอย่างรวดเร็ว กษัตริย์แคนดี้พยายามขับไล่โปรตุเกสอย่างสุดกำลัง  โดยทำสงครามกันถึง 13 ครั้ง 

ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2181/ค.ศ. 1638  โปรตุเกสบุกยึดแคนดี้ได้อีกครั้ง  สิงหะ พุทธรา อ้างบันทึกของนักเขียนโปรตุเกสคนหนึ่งเขียนไว้อย่างเหลือเชื่อว่า ร้อยเอกดีโก เดอเมลโล(Diego DeMello) เป็นผู้หนึ่งที่คุมกำลังบุกแคนดี้ เขาสั่งทหารเผาหมู่บ้านและวัดทุกแห่งที่ผ่าน ฆ่าเด็กๆ เล่นอย่างสนุกสนาน ข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่า คนสวยๆ ถุกจับไปเป็นทาสบำเรอ มีทหารคนหนึ่งฆ่าชายสิงหลต่อหน้าเมียและลูกๆ จากนั้นตัดเนื้อกินสดๆ ให้ดูด้วย
 
เมื่อทหารโปรตุเกสทำลายและยึดแคนดี้ นักรบสิงหลจึงต้องหนีเข้าป่า แต่ไม่นานต่อมา ในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2181/ค.ศ. 1638 นายพลมหาสธานะ(Mahasthana) รวมคนบุกยึดเมืองแคนดี้คืนได้ ทหารโปรตุเกสถูกฆ่าตายประมาณ 2500 คน

ต่อมาพวกดัตช์ได้เข้ามาแย่งอิทธิพลทางการค้าจากโปรตุเกส และพยายามผูกมิตรกับกษัตริย์แคนดี้  กษัตริย์แคนดี้ทรงยื่นเงื่อนไขให้พวกดัตช์ช่วยขับไล่โปรตุเกสออกจากจาฟฟ์นา ในปี พ.ศ. 2196/ค.ศ.1658 กองกำลังสิงหลร่วมกับดัตช์ยึดจาฟฟ์นาได้  เสร็จจากสงครามพวกดัตช์ส่งบันทึกให้กษัตริย์จ่ายค่าจ้างในการช่วยรบซึ่งสูงมากจนไม่สามารถจ่ายได้ กษัตริย์แคนดี้จึงทรงหันไปเริ่มปฏิบัติการสงครามกับพวก ดัตช์แทน 

ด้วยอาวุธและเล่ห์เหลี่ยมที่เหนือกว่า พวกดัตช์แผ่อิทธิพลเข้ายึดครองหัวเมืองทางเหนือและแถบชายฝั่งได้ทั้งหมด  เช่น โคลัมโบ จาฟฟ์นา และพยายามหลอกล่อกษัตริย์ด้วยผลประโยชน์ต่างๆ จนกระทั่งศรีลังกาเสียเมืองท่าทั้งหมด การค้าขายต่างประเทศต้องผ่านดินแดนพวกดัตช์ รวมทั้งต้องเสียภาษีให้ด้วย การแทรกซึมทางวัฒนธรรมทำให้คนศรีลังกาส่วนหนึ่งหันไปนิยมศาสนาคริสต์ ละทิ้งศาสนาพุทธ และหันไปเรียนในโรงเรียนฝรั่งมากขึ้น 

กษัตริย์วิมาลาดาร์มาสุริยา-2 ทรงพยายามแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยสนับสนุนบาทหลวงโจเซฟ วาซ(Father Joseph Vaz) ให้ตั้งหน่วยมิสชั่นนารีคาทอลิกในเมืองแคนดี้ได้ เพื่อแสดงว่าทรงไม่กีดกันศาสนาอื่นๆ หวังจะได้รับความเกรงใจจากพวกดัตช์ แต่ในปี พ.ศ. 2279/ค.ศ.1736 เป็นต้นมา  พวกดัตช์กลับบังคับให้เด็กในพื้นที่ยึดครองของตนเข้าเรียนในโรงเรียนคริสต์ ถ้าไม่เรียนจะถูกปรับ

สิ้นกษัตริย์ในราชวงศ์สิงหลในปี ค.ศ. 1739 และมีกษัตริย์ราชวงศ์นายักคาร์(Nayakkar) จากตอนใต้อินเดียในแคว้นทมิฬนาดูขึ้นครองราชย์แทน พระองค์ทรงใช้ภาษานายัคคาร์ซึ่งต่างจากภาษาทมิฬและสิงหล แต่ทรงอุปถัมภ์ศาสนาพุทธโดยไม่ลำเอียงหรือแบ่งแยก แต่รัชสมัยของพระองค์สั้น จึงช่วยได้ไม่มากนัก

แม้จะมีพระสงฆ์และกษัตริย์บางพระองค์ในยุคต่อๆ มา พยายามฟื้นฟูค่านิยมในศาสนาพุทธให้คืนมา แต่ก็ต้านทานอิทธิพลทางเทคโนโลยีและการเงินของพวกตะวันตกไม่ได้  แถมเริ่มมีพวกอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสเข้ามาท่องเที่ยว ค้าขายและตั้งรกรากมากขึ้นเพื่อทำไร่ชา กาแฟ และยาสูบ คนศรีลังกาจึงทิ้งอาชีพเดิม สูญเสียที่ทำกิน กลายเป็นลูกจ้างต่างชาติมากขึ้น และยอมรับวัฒนธรรมต่างๆ อย่างเต็มใจ

8. จุดเริ่มต้นพระสงฆ์นิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา
ผลของการบ่อนทำลายด้วยวิธีการต่างๆ พระพุทธศาสนาในศรีลังกาจึงเสื่อมลงเรื่อยๆ จนเกือบสิ้นสมณวงศ์ ไม่มีพระภิกษุแม้รูปเดียว  มีแต่สามเณรที่รออุปสมบสเป็นภิกษุจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2296/ค.ศ.1753 พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์  ทรงส่งคณะราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยเรือค้าขายของพวกดัตช์  เพื่อขอพระราชทานพระสงฆ์ไทยไปช่วยทำการอุปสมบทชาวลังกาเพื่อสืบต่อพระศาสนา  

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ได้ทรงนิมนต์พระอุบาลีกับพระอริยมุนี  พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีกรวม 15  รูป ให้ไปช่วยศรีลังกาฟื้นฟูพุทธศาสนา และทรงให้รวบรวมพระธรรมและสิ่งของต่างๆ ที่พระภิกษุชาวศรีลังกาเคยนำมาเผยแพร่ศาสนาพุทธในประเทศไทยจำนวนหนึ่งไปยังศรีลังกาด้วย  คณะสงฆ์ไทยได้เดินทางไปด้วยเรือชาวดัตช์  เมื่อถึงศรีลังกาได้อุปสมบทกุลบุตรชาวศรีลังกาจำนวนมาก  และช่วยกันวางรากฐานพระพุทธศาสนาในลังกาจนมั่นคงเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง

พระอุบาลีเป็นผู้แนะนำให้เปลี่ยนพิธีเฉลิมฉลองพระเขี้ยวแก้วประจำปีให้มาอยู่ในรูปแบบของชาวพุทธเช่นทุกวันนี้  ซึ่งแต่เดิมเคยเพี้ยนไปจากพิธีพุทธ โดยการบวงสรวงเทพเจ้าแบบฮินดู การสั่งสอนธรรมะของพระอุบาลี ทำให้พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ ทรงพอพระทัยมาก ถึงกับประกาศว่า “ตั้งแต่นี้ไป ไม่ว่าเทพเจ้า หรือมนุษย์  ต้องเดินตามรอยพระพุทธเจ้า”  

แนวทางการสอนธรรมะของพระอุบาลี ทำให้เกิดนิกายพุทธที่เรียกว่า  อุบาลีวงศ์  หรือ สยามวงศ์  ขึ้นในศรีลังกา วัดของพระอุบาลียังคงได้รับการรักษาให้อยู่สืบมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบัน พระสงฆ์สายสยามวงศ์มีบทบาททางการเมืองในศรีลังกาอย่างมาก

ในปี พ.ศ. 2309/ค.ศ. 1766 พวกดัตช์บังคับให้กษัตริย์เมืองแคนดี้ลงนามในสนธิสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบอย่างมาก พระองค์จึงทรงแสวงหาพันธมิตรเพื่อขับไล่พวกดัตช์  โดยเริ่มติดต่อพวกอังกฤษตั้งแต่ปี  ค.ศ.1782 แต่ตกลงกันไม่ได้ ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2338//ค.ศ.1795 ผู้สำเร็จราชการจากอังกฤษเสนอสนธิสัญญาฉบับหนึ่ง มีเนื้อหาว่าจะส่งทหารมาช่วยไล่พวกดัตช์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้สิทธิเข้าควบคุมเมืองชายทะเลและผูกขาดการค้าอบเชย กษัตริย์แห่งแคนดี้ยุคนั้นต้องทรงยอมรับแบบไม่มีทางเลือก  ในปี พ.ศ. 2339/ค.ศ.1796 อังกฤษก็ขับไล่พวกดัตช์ออกไปได้

 การที่ราชวงศ์แห่งราชอาณาจักรแคนดี้(Kandyan)ร่วมมืออังกฤษครั้งนั้น  กลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์  เพราะเท่ากับไปนำเอาปีศาจตนใหม่ที่ฤทธิ์มากกว่าเข้ามาแทนพวกดัตช์จนต้องเสียกรุงแคนดี้ในเวลาต่อมา ช่วงนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว อังกฤษจึงแข็งแกร่งทั้งกำลังอาวุธและเศรษฐกิจ 

ในปี พ.ศ. 2340/1797 รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจว่าจะต้องเอาเกาะทั้งเกาะเป็นอาณานิคมทั้งหมดให้ได้  จึงเตรียมการโดยให้ข้าหลวงที่ดูแลศรีลังกาเป็นผู้รักษากฎหมายอังกฤษที่นำมาใช้ในศรีลังกาในเขตยึดครอง และให้บริษัทอีสต์อินเดีย(East India Company)เป็นผู้ควบคุมเรื่องการเงินและการค้าทั้งหมด

ตั้งแต่นั้น ศรีลังกาเลยกลายเป็นเกาะยุทธศาสตร์และอาณานิคมสำคัญ(Crown Colony)ของอังกฤษแห่งหนึ่ง  ผลจากการที่ลอร์ด เนลสัน(Nelson) ได้ชัยชนะกองกำลังทัพเรือผสมของฝรั่งเศสกับสเปนที่แหลมทราฟาลการ์(Trafalgar) ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง  การรบครั้งนั้นอังกฤษมีเรือแค่ 27 ลำ แต่ฝ่ายตรงข้ามมี 33 ลำ ทำให้กองทัพเรืออังกฤษได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลกในยุคนั้น อังกฤษจึงส่งกองเรือมาประจำที่ศรีลังกาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์จากอานานิคมของตนทั้งหมดในแถบเอเชีย เป็นกองกำลังที่น่าเกรงขามที่สุดทางทะเลแถบนี้ (แสนยานุภาพของกองทัพเรืออังกฤษจากศรีลังกา เห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean ภาค 3 ตอน “At World’s End”  ฉายในประเทศไทยในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2550)

  อังกฤษวางแผนขยายเขตครอบครองเข้ายึดราชอาณาจักรแคนดี้โดยใช้วิธี แทรกแซงแบ่งแยก และปกครอง ตามถนัดที่เคยทำมาในอินเดีย   ช่วงนั้นราชวงศ์แคนดี้เริ่มอ่อนแอและมีปัญหาวุ่นวายกับพวกทมิฬ  อังกฤษจึงซื้อข้าราชการทรราชระดับสูงของแคนดี้ได้  โดยการร่วมมือกับพวกทรราชอย่างลับๆ   สงครามนองเลือดแคนดี้ครั้งแรกจึงเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2346/ค.ศ.1803 อังกฤษบุกเข้าเมืองแคนดี้ได้ใน 21 วัน กษัตริย์แคนดี้ทรงพาคนหลบหนีออกเมืองไปตั้งหลักอยู่ในป่าลึก
แต่เนื่องจากแคนดี้อยู่ลึกเข้าไปในเกาะ และพื้นที่เป็นป่าเขารกทึบ กองทหารอังกฤษจึงเผชิญกับไข้มาลาเรียและถูกตีกลับได้ในแค่ 122 วัน กองทหารที่ปล่อยไว้ควบคุมกรุงแคนดี้ถูกฆ่าหมู่ตายเกือบหมด  พวกที่เดินทัพกลับเมืองชายทะเลก็ถูกลอบสังหารจนไม่เหลือแม้แต่คนเดียว และยังถูกตีไล่หลัง  ป้อมค่ายบางแห่งถูกยึด พวกอังกฤษจึงต้องถอยห่าง และไม่กล้าบุกเข้าไปอีกนานกว่า 10 ปี
 
9. กบฏชาวพุทธแคนดี้และความป่าเถื่อนของทหารอังกฤษ
อังกฤษไม่ละความพยายามที่จะยึดศรีลังกาให้ได้ทั้งประเทศ  จึงใช้ทุกวิถีทางที่ทำได้   มีเรื่องเล่าที่ไม่น่าเชื่อว่า อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองผู้ดี  มีอารยธรรมสูงส่ง แต่กลับทำสิ่งที่สยดสยองและป่าเถื่อนขึ้นในประวัติศาสตร์อีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดในอาฟริกามาแล้ว  ข้อมูลที่นำมาเขียนต่อไปนี้ ส่วนใหญ่นำมาจากเว็บไซต์ของสิงหะพุทรา (Singha Puthra, http://www.nexcorpsl.com/sinhala  และ SPUR- http://www.spur.asn.au/  ) ซึ่งพบว่ามีการรวบรวมเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวสิงหลที่ละเอียดที่สุด แม้จะดูรักชาติจนหลงไปบ้าง แต่ก็มีหลักฐานทำนองเดียวกันบางส่วนในเว็บไซต์อื่นเช่นกัน  เช่น http://countrystudies.us/sri-lanka/11.htm    ส่วนจะเป็นความจริงแค่ใหน ผู้เขียนไม่มีเวลาพอที่จะไปหาหลักฐานเพิ่มเติมมายืนยันได้ จึงขอให้ผู้อ่านพึงใช้วิจารณญาณของตนเองด้วย

ในปี  พ.ศ. 2358/ค.ศ. 1815 กษัตริย์แห่งกรุงแคนดี้เกิดขัดแย้งกับผู้นำชาวสิงหล เพราะพระองค์ทรงมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับพระสงฆ์และทรัพย์สินของวัด จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนอย่างมาก  ผลก็คือ เกิด “กบฏชาวพุทธในแคนดี้” ขึ้น ผู้นำพวกกบฏได้ติดต่อข้าหลวงอังกฤษขอกำลังไปช่วยโค่นล้มราชบัลลังก์  ซึ่งอังกฤษรีบเตรียมกองกำลังอย่างดีส่งไปทันที  
ด้วยกองกำลังที่เข้มแข็งของอังกฤษที่เข้าร่วมกับพวกทรยศต่อชาติ กษัตริย์ ศรีวิคกรามา ราชสิงห์(Sri Vickrama Rajasingha)แห่งแคนดี้ ทรงเห็นว่าสู้ไม่ได้แน่ จึงทรงหลบหนีเข้าป่า แต่ไม่นานต่อมาก็ถูกตามจับได้  สงครามยุติโดยแทบไม่มีการยิงกัน  พระองค์ถูกนำไปขังไว้ในอินเดีย ทรงทุกข์ทรมานในฐานะนักโทษนานถึง 17 ปี จึงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2375/ ค.ศ.1832 และสิ้นสุดราชวงศ์แห่งกรุงแคนดี้ไปในครั้งนั้น
ผลของการชักศึกเข้าบ้านครั้งนี้ หัวหน้าพวกกบฏในแคนดี้ต้องลงนามในสนธิสัญญากับพวกอังกฤษในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2358/ค.ศ.1815  สนธิสัญญานี้มีเนื้อหาสำคัญบางส่วนดังนี้ (http://countrystudies.us/sri-lanka/11.htm)
1.    กรุงแคนดี้และเมืองบริวารทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของอังกฤษ
2.    สิทธิตามประเพณีนิยมทุกประการของผู้นำชาวแคนดี้ ให้คงไว้เช่นเดิม
3.    ให้ใช้กฎหมายและสถาบันต่างๆ ของชาวพุทธปกครองอาณาจักรแคนดี้เช่นเดิม แต่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารของตัวแทนรัฐบาลอังกฤษที่จะส่งมาประจำในกรุงแคนดี้ เพื่อทำหน้าที่เทียบเท่ากษัตริย์แคนดี้

  สนธิสัญญานี้จงใจบั่นทอนอำนาจบริหารและอิทธิพลของผู้นำชาวแคนดี้อย่างชัดเจน  แม้อังกฤษจะเริ่มปฏิบัติการตามสนธิสัญญาอย่างค่อยเป็นค่อยไป  แต่พระสงฆ์ทั่วแคนดี้ต่างก็ไม่พอใจกับการที่ราชวงศ์แห่งแคนดี้ต้องสูญสลายไป เนื่องจากกษัตริย์และพระราชวงศ์คือองค์อุปถัมภ์ศาสนาพุทธที่สำคัญที่สุด และยิ่งการตั้งรัฐบาลในนามของต่างชาติขึ้นมาปกครอง โดยในทางปฏิบัติให้ความสำคัญแก่พวกแขกมัวร์ที่เป็นมุสลิมและพวกคริสเตียนมากกว่าคนพุทธศรีลังกา ยิ่งเป็นสิ่งที่สร้างความแค้นเคืองให้แก่พระสงฆ์และชาวพุทธอย่างมาก
สถานภาพของพระสงฆ์ในสังคมช่วงนั้นตกต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  พระสงฆ์จึงใช้เหตุผลทางด้านการเมืองและศาสนา ปลุกระดมประชาชนทันทีที่มีการลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษครั้งนี้ เหตุการณ์นี้พัฒนาไปทำให้เกิด “กบฏชาวพุทธแคนดี้” ขึ้นอีกครั้ง   แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ปฎิวัติกษัตริย์ของตนเอง แต่เพื่อขับไล่อังกฤษ
กบฏชาวพุทธแคนดี้  ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชนทั่วอาณาจักร  พวกอังกฤษจึงใช้กำลังปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม ในปี พ.ศ. 2360/ค.ศ. 1817 พวกนักรบสิงหลต้องหนีเข้าป่า และต่อสู้ปืนอังกฤษด้วยหอกดาบและธนูเท่านั้น พวกเขาใช้กลวิธีรบแบบกองโจร ใช้กับดัก หลุมพราง สามารถฆ่าทหารอังกฤษได้มากมาย
ทหารอังกฤษไม่สามารถสู้รบในป่ากับพวกกองกำลังรักชาติสิงหลได้เลย  กองทหารที่ส่งเข้าไปปราบจบลงด้วยการเสียชิวิตและบาดเจ็บ แม้บางครั้งจะล้อมพวกสิงหลบางกลุ่มได้ แต่พวกเขาก็ยอมสู้แบบถวายชีวิตจนถึงคนสุดท้าย แม้กระทั่งโดดเขาตายหมู่ที่มาดัลลา(Madulla)เกือบ 50 คนเพื่อไม่ให้ถูกจับก็มี พวกอังกฤษต้องขอกำลังหนุนจากอินเดียเพื่อรักษาป้อมค่ายฝ่ายตนเอาไว้ให้ได้
  เมื่อทำอะไรพวกนักรบประชาชนสิงหลซึ่งหน้าไม่ได้   อังกฤษก็ใช้การรบอย่างสกปรกที่สุดที่มนุษย์เคยทำมา  เช่น  ฆ่าหมู่ผู้ชายทั้งหมู่บ้าน ข่มขืนผู้หญิง จับญาติพวกต่อต้านมาทารุณ แขวนคอ เพื่อให้บอกที่ซ่อนกองกำลัง  ทำลายพืชไร่และต้นไม้ที่มีผลกินได้ทุกชนิด ทำลายแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำและเขื่อน เพื่อไม่ให้มีเสบียงพอส่งพวกทหารป่าสิงหล หวังจะให้พวกนักรบอดตาย

  ช่วงปี พ.ศ. 2360 มีเรื่องเล่าถึงความโหดร้ายอย่างเหลือเชื่อของทหารอังกฤษหลายเรื่อง  เช่น การฆ่าล้างหมู่บ้านของพันตรีแมคโดนัล (Major MacDonald)  ความซาดิสม์ของหมวดแมเคลน(Lieutenant J. Maclaine) ที่ชอบกินอาหารเช้าดูการแขวนคอชาวสิงหล  รวมถึงพันเอกฮุค(Colonel Hook) ที่ชอบแขวนคอคนที่สงสัยเป็นพวกต่อต้านโดยไม่ถามแม้แต่คำเดียว 

มีบันทึกของทหารที่เข้ารบในครั้งนั้นหลายคนที่ภายหลังถูกนำมาเปิดเผย เช่น พันเอกแคมป์เบลล์ (Colonel Campbell’s memo) บันทึกไว้ว่า “เราได้รับคำสั่งให้ทำลายต้นมะพร้าวและต้นไม้ผล กินได้ทุกชนิดรวมทั้งนาข้าว เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ มันจำเป็นสำหรับการเพราะปลูกของพวกนี้  เราอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขาจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดกว่าจะสร้างเขื่อนและอ่าง เก็บน้ำขนาดใหญ่เช่นนี้ได้อีกโดยไม่มีเครื่องจักรกลใดๆ”  บันทึกของ จ่าคาล์ลาดีน (Calladine) มีว่า “ไม่มีวันใดผ่านไปโดยไม่มีการเผาหมู่บ้านและฆ่าพวกสิงหล พวกเราไม่มีการจับเชลย”

ในปี พ.ศ. 2360/ค.ศ.1817 พันตรีหมอจอห์น เดวี (Major Dr. John  Davey) ศัลยแพทย์อังกฤษบันทึกว่า “... ประมาณ 20% ของทหารฝ่ายเราตายเพราะเชื้อโรคในป่าทึบ ที่ตายในการรบมีมากกว่า 1,000 คน เราไม่สามารถฆ่าทหารข้าศึกได้เลย แต่เราฆ่าชาวบ้านจำนวนมาก  อย่างน้อยน่าจะมีชายสิงหลกว่า 10,000 คนแล้วที่ถูกพวกเราฆ่า”  อีกหนึ่งปีต่อมาเขาบันทึกอีกว่า “ไม่มีลูกๆ ของหัวหน้าพวกกบฏรักชาติสิงหลในประเทศ และในแถบอูวา-เวลลัสสาคนใดเหลือชีวิตรอดแม้แต่คนเดียว”

นอกจากปราบด้วยอาวุธแล้ว อังกฤษยังร่วมมือกับอเมริกันส่งมิสชั่นนารีเข้าเผยแพร่ศาสนาคริสต์อย่างเร่งรีบ พวกอเมริกันตั้งโบสถ์และโรงเรียนที่แหลมจาฟฟ์นาและแทรกซึมวัฒนธรรมเข้าไปในพวกทมิฬที่นับถือฮินดูอย่างรวดเร็ว ทำให้พวกทมิฬได้รับการศึกษาทันสมัยกว่า พูดอังกฤษได้ดีกว่าชาวพุทธสิงหลมาก อังกฤษยกระดับและให้สิทธิแก่พวกแขกมัวร์ที่นับถืออิสลามและพวกทมิฬที่นับถือคริสต์ เหนือกว่าคนพุทธสิงหลอย่างมาก 

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2360 พระภิกษุเวริยาโปลาศรีสุมังกาลา เถโร (Veriyapola Sri Sumangala Thero) พยายามปกป้องศาสนาพุทธโดยพาพระเขี้ยวแก้วหลบหนีไปอยู่ในป่าลึก พวกสิงหลทรยศได้แอบแจ้งให้ทหารอังกฤษที่ฐานปฎิบัติการทหารชื่อ นิกาเวลลา(Nikawella)ทราบ พระภิกษุรูปนี้ถูกจับได้ในวันที่ 28 พฤศจิกายนปีเดียวกัน พวกอังกฤษพบพระเขี้ยวแก้วซ่อนไว้ในจีวร โชคดีที่พันตรีหมอจอห์น เดวี ได้เก็บรักษาไว้ด้วยความเคารพ โดยหวังเอาชนะจิตใจของพวกสิงหล

พวกอังกฤษใช้วิธีจ้างคนสิงหลที่เห็นแก่ได้ พวกแขกมัวร์และพวกมุสลิมในการต่อสู้กับพวกกบฏชาวพุทธสิงหล นอกจากนี้ก็พยายามใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อ  ยึดทรัพย์สินพวกกบฏไปแจกจ่ายให้พวกที่หันไปร่วมมือกับอังกฤษ  ลดโทษให้คนที่ถูกจับได้หากให้ข้อมูลแหล่งหลบซ่อนของเพื่อนนักรบคนอื่นๆ ทรมานลูกเมียของพวกต่อต้านถึงชีวิตเพื่อให้มามอบตัว  หลังการสู้รบแบบยอมตายหมู่ ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าอย่างมากที่ดัมบารา(Dumbara) ในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2361/ค.ศ.1818  ฝ่ายต่อต้านก็อ่อนกำลังลงจนหมดสภาพไป

หลังชัยชนะ พวกอังกฤษรีบตัดอำนาจและสิทธิต่างๆ ของผู้นำสิงหลในกรุงแคนดี้ทันที พวกเขาเข้ามาจัดการบริหารประเทศแทนข้าราชการทั่วทุกแห่งรวมทั้งเมืองบริวาร ลดสิทธิพิเศษและความสำคัญของศาสนาพุทธลง ศรีลังกากลายเป็นเมืองขึ้นอังกฤษอย่างแท้จริงทั้งทางทหารและวัฒนธรรมตั้งแต่นั้นมา

เพื่อให้แน่ใจว่าคนสิงหลจะไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้อังกฤษได้อีกต่อไป นับจากปี พ.ศ. 2363/ค.ศ.1820 ผู้ว่าการอังกฤษชื่อ บาร์นส์ (Governor Barnes) ได้ส่งเสริมให้มีการตั้งร้านเหล้าอย่างน้อย 1 ร้านต่อหนึ่งหมู่บ้าน เป็นการใช้สุรามอมเมาประชาชน ผลก็คือ ชาวสิงหลกลายเป็นพวกขี้เมาหยำเป ชอบทะเลาะกันเอง ลักเล็กขโมยน้อย สังคมอ่อนแอกันถ้วนหน้า ผู้นำนักรบสิงหลกลายเป็นพวกไอ้ขี้เมาไปหมด 

พระภิกษุพยายามออกมาต่อต้านการตั้งร้านเหล้าและค่านิยมการดื่มเหล้าตามที่อังกฤษพยายามปลูกฝังในสังคมศรีลังกา แต่ก็ได้ผลน้อย ผู้พิพากษาอังกฤษชื่อ เจ. ฟอร์เบส(J. Forbes) บันทึกไว้ว่า “ฉันเห็นใจพวกพระภิกษุจริงๆ ที่ออกมาต่อต้านการตั้งร้านเหล้า พวกเขาสอนศาสนาที่ห้ามดื่มเหล้า แต่รัฐบาลคริสเตียนบังคับให้พวกสิงหลดื่ม นี่ไม่ใช่เพียงเพิ่มรายได้ให้รัฐเท่านั้น แต่มันเพิ่มการจี้ปล้น ฆาตรกรรม การพนัน และคนขี้เมา”

10. การขุดรากถอนโคนศาสนาพุทธ
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2358 /ค.ศ.1815 ที่อังกฤษเริ่มเข้าไปยึดครองแคนดี้แล้ว ศาสนาพุทธในศรีลังกาก็ถูกกีดกันและบ่อนทำลายต่างๆ นาๆ  เพื่อให้หมดอิทธิพลต่อจิตใจชาวสิงหล  

มีหลักฐานเป็นจดหมายเขียนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2350/1807 ของข้าหลวงอังกฤษชื่อ เม็ตแลนด์ (Maitland ) ถึงผู้บัญชาการทหารชื่อ อีเดน ที่ประจำอยู่เมืองมาทาร่า ทางใต้ของศรีลังกา มีข้อความว่า “ขอให้ถือเป็นความลับและระมัดระวังยิ่ง สัมพันธภาพระหว่างศาสนาพุทธและปรัชญาของชาวพุทธในเมืองมาทาร่าจะต้องถูกทำลาย  ในเมืองนี้ พระภิกษุมีอำนาจมากกว่าหัวหน้าหมู่บ้าน  ต้องให้แน่ใจว่าหัวหน้าหมู่บ้านทุกคนต้องเป็นคริสเตียน” ( จากเว็บไซต์ของสิหะพุทรา - January, 1807, a letter sent by Governer Maitland to Eden, GA of Matara says, " Use this carefully and secretly, Reliance of Buddhism and philosophy of Matara Buddhists must be destroyed, In Matara, Bikkus are more powerful than village chiefs, Make sure all chiefs are Christians. ")

การบ่อนทำลายศาสนาพุทธดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2382 มีหลักฐานเป็นใบปลิวที่แจกจ่ายโดย บาทหลวงสเปนซ์ ฮาร์ดี้( R. Spence Hardy) มีข้อความวิจารณ์และสาปแช่งการสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอังกฤษให้แก่ศาสนาพุทธ โดยอ้างว่าเป็นการขัดกับคำสั่งสอนของพระเจ้า และขอให้คนอังกฤษตัดขาดจากศาสนาพุทธทุกประการโดยทันที   

ทั้งนี้ สันนิษฐานว่า อาจเป็นความเข้าใจผิดคิดว่า  การที่ศาสนาพุทธมีการสวดมนต์บูชาพระพุทธรูป  น่าจะเป็นลัทธิบูชาเทพเจ้าหรือบูชาซาตานอย่างหนึ่ง  ชาวคริสต์หัวโบราณถือว่าลัทธิเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้ามต้องทำลาย  ผู้กระทำพิธีกรรมเหล่านี้เป็นศัตรูของศาสนาคริสต์ 

ผลของใบปลิวนี้และปฏิกิริยาชี้นำของนักสอนศาสนา ทำให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ  ไม่สามารถให้การสนับสนุนใดๆ แก่กิจกรรมทางศาสนาพุทธได้ เพราะเกรงจะผิดกฎศาสนาของเขา แม้การสนับสนุนนั้นๆ จะกำหนดไว้ในสนธิสัญญาแคนดี้แล้วก็ตาม

           ช่วงปี พ.ศ. 2361-2382/ค.ศ. 1818-1839 การบ่อนทำลายศาสนาพุทธเริ่มเป็นระบบมากขึ้น โดยพวกมิชชันนารีร่วมมือกับขุนนางอังกฤษยึดโรงเรียนวัดและที่ดินของสงฆ์ กว่า 800,000 เอเคอร์ (2 ล้านไร่)มาจัดการเอง   ยึดระบบการศึกษาที่แต่เดิมจัดการโดยพระภิกษุและชาวพุทธไปทำเองทั้งหมด มีการตั้งโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ขึ้นแทนโรงเรียนวัด  พวกเขายกเลิกวันหยุดตามศาสนาพุทธ  ใช้วันหยุดตามศาสนาคริสต์แทน 

           ชาวสิงหลที่นับถือพุทธจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม หางานทำไม่ได้ เป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ ใครอยากได้รับการศึกษาดี ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องหันไปนับถือคริสต์และเรียนในโรงเรียนของพวกมิสชั่นนารีอังกฤษ (มีกล่าวไว้บางส่วนในบทความของท่าน ประยุทธ ประยุตต์ โต ชื่อ From Ceylonese to Srilankan Buddhism, Bhikkhu Prayudh Payutto พบในเว็บไซต์ที่ http://www.budsas.org/ebud/ebdha152.htm ก่อนหน้าหนี้เคยอยู่ที่http://www.saigon.com/~anson/ebud/ebdha152.htm  ข้อเขียนที่เว็บไซต์นี้เป็นของพระภิกษุเวียตนาม)

           นอกจากนี้ พิธีการต่างๆ จะตัดพิธีทางพุทธออกไปหมดสิ้น การพิจารณาความผิดก็ใช้ศาลคริสเตียน ในปี พ.ศ. 2391/ค.ศ.1848 ชาวสิงหลพยายามลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง แต่ก็ถูกปราบเรียบ ผู้นำ 18 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต 

           ในวันที่ 25 สิงหาคมของปีนั้น พระภิกษุรักชาติฉายา กาดาฮาโปลา เถโร (Kadahapola Thero)  ถูกจับและนำขึ้นใต่สวนโดยศาลทหาร แม้คนอังกฤษเองก็พยายามโต้แย้งวิธีการตัดสินคดีที่ใช้ทหาร 5 คนเป็นผู้พิพากษา และยังหาหลักฐานชัดเจนไม่ได้ แต่ ดาฮาโปลา เถโร ก็ถุกตัดสินประหารชีวิตโดยการยิงเป้าในวันรุ่งขึ้น

           ในปี พ.ศ. 2401/ค.ศ. 1858 มีกฎหมายออกมาว่า รัฐบาลอาณานิคมจะให้เงินสนับสนุนการศึกษาเฉพาะโรงเรียนคริสเตียนเท่านั้น การกีดกันทางการศึกษาเช่นนี้ ทำให้ในปี  2463 /1920 โรงเรียนของรัฐบาลที่ชาวพุทธบริหารทั่วประเทศเหลือเพียง 919 โรงในขณะที่โรงเรียนมิสชั่นนารีคริสเตียนมี 2,122 โรง ในปี พ.ศ. 2491/1948 ทั้งประเทศมีโรงเรียนพุทธเพียง 22 โรงเรียน แต่มีโรงเรียนคริสเตียน 199 โรงเรียน (เข้าใจว่าจำนวนน้อยลงเนื่องจากขาดเงิน และมีการยุบโรงเรียนเล็กๆ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้น)

           การกีดกันทางศาสนากระทบคนศรีลังกาที่นับถือมุสลิมและพุทธมากขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2457/ค.ศ.1914 เป็นต้นมา  มีการสร้างสิ่งก่อสร้างของทางราชการทับที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธมากมาย มีการห้ามตั้งโรงทานในวันวิสาขะบูชาเพื่อเอาใจพวกมุสลิม การกระทำบางอย่างก็กระทบพวกนับถือมุสลิม จนเกิดการจลาจลหลายครั้ง ทั้งประท้วงรัฐบาลอังกฤษโดยชาวพุทธหรือมุสลิม หรือไม่ก็เป็นการปะทะระหว่างผู้นับถือศาสนาทั้งสองนี้ มีการจับพระสงฆ์ขังคุก และประหารชีวิตชาวสิงหลที่รักชาติโดยศาลทหารอีกหลายครั้ง

11. การฟื้นฟูศาสนาพุทธในศรีลังกา
           ช่วงที่อังกฤษกดขี่ข่มเหงและลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางศาสนาอย่างหนัก  ชาวพุทธศรีลังกาบางกลุ่มยอมเสี่ยงชีวิต พยายามทุกวิถีทางเพื่อดิ้นรนรักษาศาสนาพุทธไว้อย่างสุดฤทธิ์ พวกเขาหาทางฟื้นฟูศาสนาพุทธขึ้นใหม่  เช่น พยายามจัดตั้งองค์กรศาสนาพุทธที่เรียกว่าสังฆะ(Sangha) ขึ้นอีกครั้ง (หลังจากที่อรหันต์มหินทะมหาเถโรได้มาตั้งไว้กว่าพันปีก่อน) 

           องค์กรสังฆะนี้คงคล้ายกับเถรสมาคมของประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อสืบทอดศาสนาพุทธและเพื่อต่อต้านการบ่อนทำลายศาสนาพุทธโดยพวกมิสชั่นนารีของศาสนาอื่น  พระสงฆ์หลายรูปได้พยายามฟื้นฟูวัดเก่าแก่ขึ้นมาอีกครั้ง  รวมทั้งพยายามตั้งโรงเรียนของชาวพุทธให้มากขึ้น

           ช่วงนี้มีฮีโร่พระสงฆ์หนุ่มรูปหนึ่ง ฉายา มิเกตุวัตเต กุนานันทะ เถโร(Migettuwatte Gunananda Thero) ประกาศท้าโต้วาทีกับพวกมิสชั่นนารีเกี่ยวกันหลักการ สิทธิ และการยอมรับชาวพุทธสิงหล ว่าควรเท่าเทียมกับคนที่นับถือคริสเตียนอย่างไร พวกมิสชั่นนารีรับคำท้า  มีการโต้กันต่อหน้าสาธารณชน 3 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2409, 2414, 2415/ค.ศ.1866, 1871 1872 พวกคริสเตียนแพ้อย่างไร้ทางสู้ทุกครั้ง  พวกฝรั่งนำรายละเอียดการโต้วาทีทั้งหมดนี้ไปตีพิมพ์เผยแพร่ในหลายประเทศ รวมทั้งอเมริกา

           ในปี พ.ศ. 2416/ค.ศ.1873 นักเขียนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันชื่อ พันเอก เฮนรี่ สตีเล โอลคอตต์(Colonel Henry Steele Olcott) ได้อ่านรายงานการโต้วาทีของกุนานันทะเถโรอย่างสนใจ  เขาเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนที่มีชื่อของอเมริกาผู้หนึ่ง งานของเขามีผลถึงกับนำไปสู่สงครามกลางเมืองในอเมริกามาแล้ว  
           พันเอก โอลคอตต์ เคยร่วมก่อตั้ง องค์กรเคลื่อนไหวธิออสโซฟี (Theosophical Movement) ซึ่งเป็นองค์กรสากลเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของคนที่ด้อยโอกาสทั่วโลก และได้เป็นประธานองค์กรนี้คนแรก  แนวคิดขององค์กรนี้แพร่ไปในยุโรปและอเมริกา แนวปรัชญาของเขามีว่า  รวมทุกศาสนาเข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยยึดหลักความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเป็นแนวทาง
           พันเอก โอลคอตต์ คงประทับใจในหลักการและเหตุผลของ มิเกตุวัตเต กุนานันทะ เถโร อย่างมาก จึงตัดสินใจเดินทางไปช่วยชาวพุทธในศรีลังกาทันที  เขาเดินทางไปถึงศรีลังกาในปี พ.ศ. 2418/ค.ศ.1875 และได้รวบรวมชาวศรีลังกา จัดรณณรงค์ต่อต้านการกระทำของเจ้าหน้าที่และมิสชั่นนารีอังกฤษขึ้นอย่างจริงจัง

Text Box:  

พันเอก เฮนรี่ สตีเล โอลคอตต์ และ พระภิกษุสุมังกลา

(Henry Steel Olcott and Rev. Sumangala,

 http://aryasangha.org/olcott-prothero.htm)

           จากนั้น พันเอกโอลคอตต์ได้ตั้งสมาคมพุทธธิออสโซฟีแห่งศรีลังกา(Bhddhist Theosophical Society of Ceylon) ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ  ต่อมา สมาคมนี้ได้ตั้งวิทยาลัยการศึกษาระดับสูงขึ้น 3 แห่งคือ วิทยาลัยอานันทะ,  วิทยาลัยมหินทะ และวิทยาลัยธรรมราชา (Ananda Colledge, Mahinda Colledge, Dhamaraja Colledge) นอกจากนี้ยังตั้งโรงเรียนขึ้นอีกประมาณ 200 แห่ง เป้าหมายคือการให้การศึกษาแบบอิงศาสนาพุทธและเน้นสร้างความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ประชาชน นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.  2428/1885 ยังได้ช่วยแนะนำในการออกแบบธงพุทธศาสนานานาชาติ (International Buddhist Flag) ขึ้นอีกด้วย

12. ธงพุทธศาสนานานาชาติ
           ธงพุทธศาสนานานาชาติ ออกแบบขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อและศรัทธาในศาสนาพุทธ ซึ่งมีเจตนาที่สูงส่งด้วยบุญกุศลต่อเพื่อนมนุษย์ทุกชาติพันธุ์ทั่วโลก  แต่น่าเสียดายที่มีคนในโลกเพียงส่วนน้อยที่สนใจในเรื่องนี้  ข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Buddhist_flag  บอกว่า  เริ่มออกแบบธงพุทธศาสนาในปี คศ. 2423 /ค.ศ. 1880 โดยคณะกรรมการโคลอมโบ(Colombo Committee) ประกอบด้วย
1.    พระคุณเจ้า ฮิกกาดูวี ศรี สุมังคลา เถระ (Ven Hikkaduwe Sri Sumangala Thera) เป็นประธาน นอกนั้นก็มี
2.    มิเก็ตตุวัตเต กุนานันทะ เถระ Ven. Migettuwatte Gunananda Thera,
3.    ดอน คาโรลิส เฮวาวิถารานา (Don Carolis Hewavitharana)
4.    แอนดิริส เปเรรา ดาร์มากุนาวาร์ธนา (Andiris Perera Dharmagunawardhana)
5.    วิลเลียม เดอร์ อบริว (William de Abrew)
6.    ชาร์ลส์ เอ. เดอร์ ศิวะ (Charles A. de Silva)
7.    ปีเตอร์ เดอร์ อบริว (Peter de Abrew)
8.    เฮส. วิลเลียม เฟอร์นานโด (H. William Fernando)
9.    เอ็น. เอส. เฟอร์นานโด (N. S. Fernando), และมี
10. คาโรลิส ปูจิตธะ กุนาวาร์ดินา (Carolis Pujitha Gunawardena) เป็นเลขานุการ

           ก่อนจะใช้งาน พันเอก เฮนรี่ สตีล โอลคอตต์ ได้รับเชิญไปให้คำแนะนำ ซึ่งเขาเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขบางส่วน รวมทั้งขนาดของธง ให้เท่าธงชาติศรีลังกา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการ ธงนี้ขึ้นสู่เสาในวันวิสาขะบูชา ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2428 ณ วัด ดิพาดุตตามารามายา(Dipaduttamaramaya ) ในกรุงโคลัมโบ โดยพระคุณเจ้า มิเก็ตตุวัตเต กุนานันทะ เถโร (ผู้เคยโต้วาทีกับพวกมิชชันนารี) เป็นผู้เชิญธง (รายละเอียดเรื่องวันเวลา มาจากข้อเขียนของ Ven. Sobhita Maha Thero (MA Ph.D.), Religious Adviser, Bodhiraja Buddhist Society , No 3 Jalan Ulu Siglap, Singapore 457122, Tel : (+65)64453007 ในเว็บไซต์ http://web.singnet.com.sg/~sidneys/flag.htm)
           การออกแบบธงพุทธศาสนานี้ แม้มีเอกสารระบุชื่อผู้ออกแบบ แต่ความหมายของสีต่างๆ ไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการของผู้ออกแบบระบุไว้ชัดเจน  ความหมายของสีในธงที่บันทึกไว้หลายๆ แห่งจึงไม่ค่อยจะตรงกันนัก ในพม่าใช้สีชมพูแทนสีที่ 6 และส่วนใหญ่ผู้เขียนได้เพิ่มเติมความเห็นของตนเข้าไป ความหมายของสีต่างๆ เท่าที่พบมีดังต่อไปนี้
          
           มีข้อเขียนของคนศรีลังกาในเว็บไซต์บางแห่ง กล่าวว่า ในอินเดียและศรีลังกา มีความเชื่อเรื่องรัศมีประหลาด ที่เปล่งออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้าเมื่อทรงบรรลุโสดาบันและตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ต้นโพธิ์ ในวันวิสาขะบูชา  มีเรื่องเล่ากันว่า พระสาวกที่คอยเฝ้าอยู่ มองเห็นรัศมีนี้เปล่งประกายเจิดจ้าขึ้น จึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว รัศมีนี้ประกอบด้วยแถบแสงรวม 6 สี เป็นแสงที่มองเห็นด้วยตามนุษย์ทั่วไป 5 สื และมองไม่เห็นอีก 1 สี โดยเชื่อว่า แสง 5 สีที่มองเห็นได้ มีดังนี้
       1. แสงสีน้ำเงิน เปล่งออกจากเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้า หมายถึงจิตวิญญาณแห่งพระเมตตาที่เป็นสากลต่อสรรพสิ่ง
       2. แสงสีเหลือง เปล่งออกจากพระฉวี(ผิวหนัง)ของพระพุทธเจ้า หมายถึงทางสายกลาง ซึ่งหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งมวลและนำมาซึ่งความสมดุลย์และการหลุดพ้น
       3. แสงสีแดง เปล่งออกจากมังสะ(เนื้อ)ของพระพุทธเจ้า หมายถึงอานิสงหรือพรที่จะได้รับจากการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
       4. แสงสีขาว เปล่งออกจากพระอัฐิ(กระดูก)และพระทนต์(ฟัน) ของพระพุทธเจ้า หมายถึงความบริสุทธิ์ยิ่ง ของพระธรรมคำสั่งสอนของพุทธเจ้าและการหลุดพ้นที่จะได้รับ
       5. แสงสีแสดหรือสีส้ม เปล่งออกจากพระหัตถ์(มือ) พระบาท(เท้า) และพระโอษฐ์(ปาก) ของพระพุทธเจ้า หมายถึงความมั่นคงหนักแน่นสุดยอดของปัญญาจากพระธรรม
       6. แถบสีที่เกิดจาก 5 สีรวมกัน หมายถึงความเป็นสากลของสัจจะหรือความจริงอันเที่ยงแท้ ของพระธรรมคำสอน
           จากข้อเขียนของชาวพุทธในศรีลังกาที่เคยอ่าน  เขาเชื่อกันว่า หากใครก็ตามได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ก็จะมีรัศมีเปล่งออกมาเช่นกัน และจะไม่มีภัยอันตรายใดๆ ที่จะกล้ำกรายได้อีก  แต่จะครบทุกสีเท่าพระพุทธเจ้าหรือไม่ ผู้เขียนยังหาหลักฐานไม่พบ
           สีของธงพุทธศาสนาจึงใช้สีทั้ง 5 สีนี้เป็นสัญลักษณ์  หมายถึงเป้าหมายอันสูงสุดของมนุษย์  โดยออกแบบให้เป็นแถบในแนวนอนและแนวตั้ง แถบสีในแนวนอนหมายถึงเผ่าพันธุ์ทั้งมวลในโลกที่อยู่ด้วยกันด้วยความสามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว (ปัจจุบันยังเป็นแค่ความฝัน และดูเหมือนจะห่างจากความจริงไปทุกที หากพวกเราไม่ช่วยกันคงจะหายไปในที่สุด)  แถบสีทางแนวตั้งหมายถึงความเป็นนิรันดร์ของสันติสุขของโลก   ส่วนสีที่เกิดจากทั้ง 5 สีรวมกัน หมายถึงความสมบูรณ์สุดยอด(Perfection) ของความเป็นพระพุทธและพระธรรม  
           ความหมายของสีต่างๆ ของธงในรูปที่ Wikipedia เป็นความหมายเดียวกับที่ Sidney (Siri) See เขียนไว้ในเว็บไซต์ของท่าน ซึ่งคงมีคนไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง  ความหมายที่ท่านเขียนสรุปไว้โดยอ้างว่ามาจากการค้นพบเอกสารอ้างอิงในหลาย แห่ง มีดังนี้
           “ความหมายของธงพุทธศาสนาโดยรวม จึงหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นเผ่าพันธุ์ ชาติ ผิวสี ใดๆ สิ่งมีชีวิตชั้นสูงทั้งมวลมีสิทธิ์ที่จะได้บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น  ความหมายของสีทั้งหก จึงสามารถแปลความได้ว่า
1.    สีน้ำเงิน แสดงถึงหลักแห่งความรักความเมตตาและสันติสุขในศาสนาพุทธ
2.    สีเหลือง  แสดงถึงทางสายกลาง  นั่นคือ ความไร้รูปแบบและอนัตตา(ความว่างเปล่า)อันสมบูรณ์
3.    สีแดง แสดงถึงความสำเร็จ  ปัญญา ความคิดและการกระทำที่ชอบ รวมทั้งบุญ และความอิ่มใจ
4.    สีขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์ ความหลุดพ้น ที่มีอยู่ในตัวธรรมะ โดยไม่ขึ้นกับเวลาและสถานที่
5.    สีส้ม แสดงถึงแก่นของศาสนาพุทธ ซึ่งเต็มไปด้วยปัญญา ความเข้มแข็งและความมุ่งมั่นอันสูงส่ง
6.    สีที่เกิดจากทั้ง 5 สีรวมกัน แสดงว่าความหมายของสีทั้ง 5 นั้นเป็นสัจจะเพียงหนึ่งเดียวในโลก ”
(จาก http://web.singnet.com.sg/~sidneys/flag.htm ใช้คำศัพท์ภาษาไทยบางส่วนจากhttp://www.dhammawave.com/index.php?mod=cms/content&nid=232 ซึ่งอ้างข้อมูลจากนิตยสาร ธรรมลีลา)



13. การต่อสู้เพื่อปลดแอกจากอังกฤษ
           พันเอกโอลคอตต์และคณะกรรมการสมาคมที่ตั้งขึ้น ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อปลุกความสนใจของประชาชนเรื่อง ประวัติศาสตร์อาณาจักรพุทธของชาวสิงหล (Singhalese Buddhist Kingdoms)  ต่อมาได้ต่อรองกับฝ่ายปกครองอังกฤษจนได้รับอนุญาตให้มีวันหยุดราชการตามความเชื่อในศาสนาพุทธ 1  วัน คือวันวิสาขะบูชา (วันวิสาก Vesak  ตามภาษาสิงหล Waisak ในอินโดนีเซีย, Saga Dawa ในธิเบต)
           จากการริเริ่มนี้และการที่พระมหาราชาแห่งเนปาลทรงประกาศให้วันวิสาขะบูชาเป็นวันหยุดราชการของประเทศ  ทำให้การประชุมตั้งองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) (The World Fellowship of Buddhists (WFB)) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม  พ.ศ.2493/ค.ศ.1950 ในกรุงโคลอมโบ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 27 ประเทศทั่วโลก ได้ตกลงกันว่าให้ใช้วันนี้เป็นวันหยุดสำหรับชาวพุทธทั่วโลก (http://www.wfb-hq.org/intro1.htm)

           ประมาณ พ.ศ. 2423/ค.ศ. 1880 กลุ่มชาวพุทธศรีลังกาได้เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสิ่งเสพติดมึนเมา โดยเฉพาะสุรา ซึ่งเป็นค่านิยมที่อังกฤษปลูกฝังไว้  มันใช้เวลานานถึง 25 ปี จนถึง พ.ศ. 2448/1905 จึงสามารถพัฒนาไปสู่การก่อตั้ง “สมาคมปฏิรูปสังคมแห่งศรีลังกา (Ceylon Social Reform Society)”  ขึ้นได้ วัตถุประสงค์ของสมาคมนี้ก็คือ เพื่อต่อต้านกิเลสเย้ายวนต่างๆ อันเนื่องมาจากค่านิยมแบบตะวันตก การทำงานของสมาคมนี้ ทำให้ในปี พ.ศ. 2453/1910 อังกฤษยอมให้มีผู้แทนในสภานิติบัญญัติของประเทศอาณานิคมที่เลือกโดยประชาชนศรีลังกาได้หนึ่งคน

           แรงกระตุ้นให้ตระหนักถึงรากเหง้าและชาติพันธุ์ของตนเอง เริ่มขึ้นครั้งแรกจากคำปราศรัย เมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2447/1904 ของ เซอร์  ปอนนามปาแลม รามานาธาน (Sir Ponnampalam Ramanathan) ผู้เป็นปราชญ์รักชาติเชื้อสายทมิฬที่ยิ่งใหญ่ของศรีลังกา  ในประโยคที่ว่า 

           “ถ้าปากคนสิงหลไม่พูดภาษาสิงหล ใครเล่าจะพูด  ประเทศชาติจะพ้นจากข้อผิดพลาด ปฏิรูป และก้าวไปสู่องค์ความรู้ที่สูงขึ้นได้อย่างไร นอกจากด้วยภาษาของตนเอง”
 
           ท่านผู้นี้คือผู้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันเอกโอลคอตต์ในการรวบรวมเงินกองทุน วางแผนและทำกิจกรรมต่างๆ จนได้รับความสำเร็จดังที่ได้กล่าวมา

           เซอร์ รามานาธาน พยายามเตือนสติคนศรีลังกาที่หลงใหลในวัฒนธรรมอังกฤษ จนละอายที่จะพูดภาษาของตนเอง และโจมตีอังกฤษว่ากำลังบ่อนทำลายศรีลังกา จนใกล้สูญความเป็นชาติ  วาทะของท่านมีหลายครั้งที่ส่งแรงกระตุ้นรุนแรง เช่น 

“คุณรู้สึกภูมิใจหรือไม่ที่ได้พูดภาษาสิงหลอันไพเราะที่บ้าน กับเพื่อนๆ กับคนที่คุณพบในรถไฟ หรือที่อื่นๆ และบนเวทีสาธารณะ”  “ถ้าจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในภาคปฏิบัติ เราจะต้องรักษาความเป็นชาติเอาไว้ให้ได้ เพื่อเห็นแก่ประชาชน แม้ไม่ใช่เพื่อตัวคุณเอง คุณจะต้องรู้สึกดีใจที่มีภาษาสิงหล”
“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า คนสิงหลทุกคน คนทมิฬทุกคน ที่รู้จักตัวเอง จะต้องประท้วงต่อกระบวนการบ่อนทำลายชาติที่เกิดขึ้นในประเทศนี้  พวกเขาจะต้องเดินหน้าออกมาปกป้องภาษาสิงหลและภาษาทมิฬของเรา ถ้าใครเพิกเฉยต่อเรื่องนี้  เขาก็ไม่ใช่คนสิงหลหรือทมิฬ”  

           แรงกระตุ้นเรื่องรักชาติรักภาษาของตนเองนี้ รุนแรงมาก ส่งผลกระทบมาถึงทุกวันนี้  เพราะการที่ยังมีการต่อสู้ระหว่างกบฏทมิฬกันชาวสิงหลในวันนี้ ก็เนื่องมาจากข้อขัดแย้งที่เริ่มมาจากเรื่องการประกาศให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาประจำชาติเพียงภาษาเดียว ในขณะที่ทมิฬก็อยากได้ภาษาของตน

           ในปี พ.ศ. 2473/1930 การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนศรีลังกาได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง โดยองค์กรที่เรียกว่า สันนิบาตเยาวชน(Youth Leagues) เป็นผู้จุดประกายไฟเรื่องนี้  และขยายต่อไปทั่วประเทศ 

           องค์การสันนิบาตเยาวชนแห่งศรีลังกา เริ่มมาจากสภานักศึกษาแห่งเมืองจาฟฟ์นา (Jaffna Students’ Congress) ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2467/1924 (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น  Jaffna Youth Congress (JYC)ในปี 2469/1926) ผู้ร่วมก่อการและแกนนำเป็นนักศึกษาเผ่าทมิฬชนชั้นกลาง   ซึ่งได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในอินเดียและมหาวิทยาลัยโคลอมโบของลังกา ที่ตั้งขึ้นได้ไม่นาน  แรงบันดาลใจของแกนนำได้มาจากการมาเยือนของมหาตมะคานธี และเนห์รู นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่นิยมลัทธิมาร์กซ์และการเคลื่อนไหวของพวกกรรมกรอยู่ด้วย (http://en.wikipedia.org/wiki/Youth_Leagues

        องค์การสันนิชาติเยาวชนได้จัดพิมพ์วารสารในภาษาสิงหลชื่อ กรรมการูวา หรือ กรรมกร (Kamkaruwa or The Worker) ขึ้นเป็นระยะๆ พวกเขาทำกิจกรรมต่อต้านนักล่าอานานิคม (anti-imperialist) ที่ค่อนข้างรุนแรงหลายครั้ง  พยายามปลุกสำนึกในสิทธิเสรีภาพของศรีลังกาในหมู่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง 

           ในเดือน กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2476/1933 พวกเขาเข้าไปช่วยกรรมกรประท้วงที่โรงงานปั่นด้ายและทอผ้าชื่อ  Wallawatte ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ และได้กลายเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของกรรมกรไปโดยปริยาย (คล้ายเหตุการณ์ในประเทศไทยช่วงหนึ่ง )

           ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476/1933 พวกเขาก่อการเคลื่อนไหว ต่อต้านวันปอปปี้เดย์ (Poppy Day) ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงความสูญเสียชีวิตจากสงครามโลกและสงครามอื่นๆ ที่พระเจ้ายอร์จที่ 5  ทรงริเริ่มขึ้นในอังกฤษ 

           พวกขุนนางอังกฤษ ร่วมกับพวกศรีลังกาชั้นสูงที่นิยมอังกฤษได้จัดงานวันนี้ขึ้น โดยการขายดอกปอปปี้เพื่อหาเงินตั้งกองทุนส่งไปเอาหน้าเจ้านายที่อังกฤษ 

           กลุ่มแกนนำองค์กรสันนิบาตเยาวชนแห่งศรีลังกาต้องการปลุกจิตสำนึกชาตินิยมของคนศรีลังกา ให้คิดถึงสิทธิเสรีภาพของตนเอง แทนที่จะคิดตามค่านิยมของคนอังกฤษไปทุกอย่าง จึงช่วยกันรณณรงค์ขายดอกสุริยา (Suriya หมายถึงต้นโพธิ์ทะเล ใบเหมือนต้นโพธิ์มีดอกสีเหลืองอ่อน) เป็นสัญลักษณ์ในวันนี้แทนดอกปอปปี้ โดยชูประเด็นว่าเพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึกศรีลังกา และขายแข่งดอกปอปปี้ของพวกนิยมอังกฤษ  ปฏิบัติการครั้งนี้เรียกว่า การเคลื่อนไหวสุริยามาล (Suriya-Mal Movement) และดอกสุริยากลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนศรีลังกาจนถึงปัจจุบัน
                     

           ระหว่างปี  พ.ศ. 2477-8/1934-5 พวกองค์การสันนิชาติเยาวชนได้รณณรงค์ช่วยคนงานในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโรคภัยร้ายแรงที่มีคนตายถึงประมาณ 100,000 คนเป็นผลสำเร็จ ทำให้ได้รับความนิยมยกย่องอย่างมาก 

           ในช่วงที่รัฐสภาแห่งชาติของศรีลังกา (Ceylon National Congress)ยอม อ่อนข้อต่ออังกฤษ โดยได้เตรียมยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลอังกฤษเพิ่มอำนาจการปกครองให้ตนเองมากขึ้น แทนที่จะเรียกร้องขออิสรภาพอย่างเต็มตัว  องค์กรสันนิชาติเยาวชนได้รณณรงค์ต่อต้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง จนการยื่นข้อเสนอนี้ต้องเลิกล้มไป

           การต่อสู้เพื่อทวงสิทธิเสรีภาพของชาวสิงหลและทมิฬเริ่มได้ผลขึ้นเรื่อยๆ เมื่อชาวพื้นเมืองพวกนี้มีการศึกษาสูงขึ้น  กลุ่มทมิฬที่จาฟฟ์นาซึ่งเป็นคนศรีลังกาที่การศึกษาดีสุดในยุคนั้น เป็นกลุ่มการเมืองที่มีสิทธิมีเสียงในสภาปกครองอาณานิคมเท่ากับคนสิงหลที่มีประมาณ 80% ของประเทศ พวกเขามีผู้แทนเพิ่มขึ้นเพราะคนทมิฬจากอินเดียที่ถูกนำมาทำงานให้พวกอังกฤษเพิ่มขึ้นถึง  6 แสนกว่าคน รัฐเริ่มเข้ามาเอาใจชาวพุทธมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้าน  เช่น เด็กพุทธไม่ต้องเรียนวิชาศาสนาคริสต์ในชั้นเรียน ดังที่เคยถูกบังคับมาเป็นเวลาถึง 126 ปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1812 

           ในปี พ.ศ. 2490 /ค.ศ.  1947 ฝ่ายทมิฬและสิงหลร่วมกันตั้งพรรคการเมืองชื่อ  United National Party(UNP)ขึ้น  เพื่อเตรียมการมีเอกราชประชาธิปไตยของศรีลังกา  ขณะเดียวกัน ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของพวกเขาในขณะนั้น คือ นาย ดี. เอส. เสนานายาเก(D.S. Senanayake ) และเซอร์ โอลิเวอร์ กูเนติเลเก( Sir Oliver Goonetileke) ก็พยายามเจรจาเพื่อขอมีเอกราชอยู่ในลอนดอน ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษได้คืนเอกราชให้อินเดีย แล้ว

           เพื่อลดปัญหาความวุ่นวายจากการต่อต้านของประเทศที่เป็นอาณานิคมของตนเองที่ก่อหวอดขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2491/1948 อังกฤษก็ยอมให้ศรีลังกาประกาศตนเป็นเอกราชเช่นเดียวกับอินเดีย  ผู้นำพรรค UNP คือ นาย ดี. เอส. เสนานายาเก ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก

14. ความแตกแยกระหว่างชาวสิงหลกับพยัคฆ์ทมิฬหลังได้รับเอกราช
           หลังจากได้รับอิสรภาพในปี พ.ศ. 2491 แล้ว รัฐบาลที่ตั้งขึ้นก็ยังทำตัวเป็นสมุนอังกฤษ  ระบบเศรษฐกิจของประเทศแทบทั้งหมดอยู่ในมือพวกผู้ดีชั้นสูง ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนน้อยที่ถูกปลูกฝังวัฒนธรรมแบบอังกฤษ  พวกเขาพยายามจะกดขี่ชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนาพุทธและฮินดูด้วยวิธีการต่างๆ ต่อไป และพยายามสนับสนุนศาสนาคริสเตียน นิกายโรมันคาทอลิก ขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติ 

           ในขณะเดียวกัน พวกทมิฬซึ่งนับถือฮินดูและอิสลามก็พยายามเรียกร้องขอแยกตัวออกไปปกครองตนเองตามหลักศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา

           ในปี ในปี พ.ศ. 2494/1951 พวกทมิฬแยกตัวออกไปตั้งพรรคสหพันธ์ทมิฬ(Tamil Federal Party) และเรียกร้องขอแยกดินแดนเป็นของตนเองโดยอ้างว่าเป็นชนเผ่าที่แตกต่างจากสิงหล และมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ทำให้พวกทมิฬหัวรุนแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้น

           เหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้พระภิกษุในศรีลังการ่วมกับชาวพุทธสิงหล ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนชั้นกลางและระดับล่างทั้งด้านเศรษฐกิจ ศาสนาและวัฒนธรรมของตนเองเท่าที่ทำได้  และเช่นเดียวกับพวกทมิฬ กลายเป็นการต่อสู้ระหว่าง 3 ฝ่าย ที่ต่างก็ประณามซึ่งกันและกันว่า พวกเผด็จการเห็นแก่ตัว พวกพุทธหัวรุนแรง หรือทมิฬหัวรุนแรง เป็นต้น

           ในปีนั้น นาย บันดาราไนเก โซโลมอน เวสต์ ริจเวย์ ดิอัส หรือ S.W.R.D Bandaranaike (Bandaranaike, Solomon West Ridgeway Dias (1899-1959), the prime minister of Ceylon (1956-59)) แยกตัวจากพรรค UNP ออกมาตั้งพรรคเสรีภาพศรีลังกา (Sri Lanka Freedom Party (SLFP)) โดยตั้งเป้าหาฐานเสียงจากพวกชาวนา  กรรมกร คนชนบท ครู แพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะชาวพุทธ ซึ่งขณะนั้นกำลังอ่อนแอเพราะการบ่อนทำลายมาหลายร้อยปี ทำให้พวกนี้ขาดโรงเรียน ขาดแพทย์อายุรเวท และพระภิกษุ   บันดาราไนเกชูเป้าว่าจะทำรัฐบาลให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง(Appe Anduwa-People’s Government)

           ในปี ค.ศ. 1956 มีหนังสือโจมตีศาสนาพุทธ เขียนโดยนาย จี. อาร์. ฟาซีเกอร์ลี (G.R. Fazekerly) ชื่อ “เงามืดในผ้าเหลือง (Shadow in Saffron)” ออกตีพิมพ์ในอังกฤษ เป็นการเขียนที่พยายามบิดเบือนและบ่อนทำลายศาสนาพุทธในศรีลังกาอย่างมาก โดยกล่าวแต่เฉพาะด้านร้ายของสังคมพุทธศาสนา  เช่น พระสงฆ์ชอบกินเหล้าและข่มขืนเด็กสาวๆ  ทำให้ชาวพุทธยิ่งโกรธแค้นและพยายามกดดันให้รัฐบาลปกป้องศาสนาพุทธให้มากขึ้นด้วยมาตรการต่างๆ

            ช่วงนั้น มีความขัดแย้งกันในหมู่นักการเมืองและประชาชนเรื่องจะใช้ภาษาสิงหลหรือทมิฬ เป็นภาษาราชการอีกประเด็นหนึ่ง พวกทมิฬต้องการให้ใช้ภาษาของตนในเขตอาณานิคมซึ่งมีพวกทมิฬเป็นชนส่วนใหญ่ ฝ่ายชาวพุทธก็ต้องการปกป้องศาสนาพุทธและสนับสนุนให้ใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น ทั้งประเทศ  มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งเพื่อต่อต้านกันและกัน พระภิกษุได้เข้ามาเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายที่ สนับสนุนศาสนาพุทธและภาษาสิงหลเป็นภาษาประจำชาติอย่างออกหน้า กลุ่มนี้ได้ร่างเงื่อนไขขึ้นจำนวนหนึ่งตีพิมพ์แจกจ่ายไปทั่วประเทศ  และประกาศว่า พรรคการเมืองใดที่ต้องการเสียงสนับสนุนจากชาวพุทธ ให้นำเงื่อนไขเหล่านั้นไปเป็นนโยบายส่วนหนึ่งของประเทศ

           เงื่อนไขของชาวพุทธเรียกว่าข้อเรียกร้อง 10 ประการ (10-point program มีข้อมูลจากข้อเขียนของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) และบางส่วนจาก http://www.lankalibrary.com/pol/swrd.htm SRI LANKA: THE UNTOLD STORY Assassination of Bandaranaike) ซึ่งมีข้อที่น่าสนใจดังนี้
1.     ให้ใช้ภาษาสสิงหล (Sinhalese) เป็นภาษาประจำชาติ
2.     ให้ประกันสิทธิเสรีภาพ ในการนับถือศาสนา
3.     ให้มีการกระจายรายได้และการอยู่ดีกินดีอย่างยุติธรรม
4.     ให้ยึดหลักไม่ใช้ความรุนแรง
5.     ให้ปฏิเสธการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลที่จะทำให้มีการแตกความสามัคคีในชาติ
6.     ให้สนับสนุนการรักษาโรคด้วยวิธีและยาแผนโบราณ (Ayurvedic (indigenous) medicine)

 
          ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1956  พรรคการเมืองของนายบันดาราไนเก (S.W.R.D. Bandaranaike) ยอมรับข้อเสนอของชาวพุทธ และมีนโยบายสนับสนุนพุทธศาสนาตามที่เรียกร้อง จึงทำให้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรี  ถือว่าเป็นการเริ่มต้นยุคที่ชาวสิงหลได้เปรียบในสิทธิเสรีภาพทางด้านภาษาและศาสนายิ่งกว่าเผ่าอื่นๆ 

หลังเลือกตั้ง กลุ่มชาวพุทธมีการรวมตัวกันแข็งแกร่งมาก กลายเป็นองค์กรที่คล้ายกับมีทหารของตนเอง (militant Buddhist organization) คอยจับตาประเด็นปัญหาระหว่างชาวสิงหลและทมิฬ พวกพระก็จะคอยสอดส่องพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรและรัฐบาลว่าทำตามข้อตกลงหรือไม่ กลุ่มนี้มี พุทธรากิธา เถโร(Buddhrakitha Thero) เป็นเลขาธิการ

ต่อมาเมื่อมีการร่างกฎหมายออกมาไม่ตรงกับที่ชาวพุทธต้องการนัก  คือมีการยอมให้ใช้ภาษาทมิฬและภาษาอังกฤษในบางพื้นที่  ชาวพุทธจึงออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง ศาสตราจารย์ เอฟ. อาร์. จายาสุริยา  อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซีลอน ประกาศอดอาหารจนตายหน้ารัฐสภา เพื่อให้แก้ร่างกฎหมายว่า ให้ใช้ภาษาสิงหลภาษาเดียวเป็นภาษาทางการ  นายบันดาราไนเกถูกกดดันหนักจนต้องยอมแก้ร่างให้เป็นไปตามที่ชาวพุทธต้องการ และในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1956 ร่างกฎหมายนี้ก็ผ่านสภาด้วยเสียง 66 ต่อ 29

           กฎหมายที่ประกาศออกมามีเพียงสั้นๆ  เรียกว่า “บทบัญญัติภาษาทางการ ที่ 33/1956 (Official Language Act, No. 33 of 1956)  ซึ่งพวกทมิฬเรียกว่า “Singhala-Only Act” มีใจความสำคัญว่า “ให้ใช้ภาษาสิงหลเป็นภาษาทางการเพียงภาษาเดียวของศรีลังกา” นอกนั้นกระบุอำนาจหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายว่า “ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าไม่สามารถใช้ภาษาสิงหลเป็นภาษาทางการได้ในทันทีในพื้นที่ใด ให้ใช้ภาษาเดิมที่เคยใช้ไปก่อน จนกว่าการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นจะเป็นผลได้ในเวลาที่เร็วที่สุดที่จะเป็นได้  และ ถ้าการเปลี่ยนภาษานั้นไม่สามารถทำได้ในทางบริหาร  จะต้องออกข้อบังคับให้เปลี่ยนภาษาตามบทบัญญัติข้อนี้” รายละเอียดของประกาศนี้หาอ่านได้จาก http://www.tamilnation.org/srilankalaws/ 56sinhala.htm

           หลังจากนั้น  ในปี พ.ศ.2500/1957 พวกทมิฬได้รวมกำลังกันร่างข้อเสนอของตนขึ้นมาบ้าง โดยกดดันให้นายบันดาราไนเกให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนร่างนี้เช่นกัน  และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ. 1957 เรียกว่า สนธิสัญญาบันดา-เชลเวนายากัม( Banda-Chelvenayagam Pact)  นายเชลเวนายากัม คือนักการเมืองระดับผู้นำชาวทมิฬในขณะนั้น  สนธิสัญญานี้มีหัวข้อสำคัญ 8 ข้อ แต่พวกสิงหลเรียกสนธิสัญญานี้ว่า “ข้อเสนอเพื่อแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ที่ไร้เหตุผล (Unreasonable Tamil racist demands)” โดยมีประเด็นในข้อเสนอที่สำคัญ ดังนี้
1.    ให้ถือว่าภาษาทมิฬเป็นภาษาแห่งชาติอีกหนึ่งภาษา และให้ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาทางการในภาคเหนือและภาคตะวันออก
2.    จังหวัดทางภาคเหนือจะต้องรวมกันเป็นเขตปกครองตนเอง 1 เขต ส่วนจังหวัดทางภาคตะวันออกต้องแบ่งออกเป็น 2  เขตหรือมากกว่า
3.    ให้ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาราชการเพื่อการบริหารในเขตแดนทางเหนือและตะวันออก  
4.    จะต้องกำหนดให้มีการเลือกสภาท้องถิ่นในเขตปกครองที่แยกไว้ดังกล่าว
5.    สภาท้องถิ่นจะต้องมีอำนาจจัดการในเรื่องต่างๆ เช่น เกษตรกรรม สหกรณ์  การพัฒนาที่ดิน อาณานิคม การศึกษา  สุขภาพ อุตสาหกรรม การประมง อสังหาริมทรัพย์ บริการสังคม ไฟฟ้า น้ำประปา และถนน  ลักษณะเหมือนระบบอาณานิคมในยุคก่อน
6.    สภาท้องถิ่นต้องมีอำนาจในเรื่องภาษี การการกู้ยืม
(จาก http://www.eelamweb.com/history/document/banda_chelva/)  

           ข้อตกลงเหล่านี้ พวกสิงหลไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าเป็นการบังคับให้คนสิงหลในเขตปกครองตนเองของทมิฬจะต้องทำงาน พูด และเขียนเป็นภาษาทมิฬ ทำให้ต้องเรียนภาษาทมิฬ  โดยปริยาย บางข้อ เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะเป็นการกระจายอำนาจมากไป ส่วนกลางควบคุมยาก และอาจนำไปสู่การแบ่งแยกการปกครอง (ซึ่งเป็นจริงดังว่าในระยะหลัง)   การปกครองแบบอาณานิคมทางเขตเหนือและตะวันออก จะทำให้เผ่าทมิฬยังคงเป็นคนอภิสิทธิ์ในส่วนนั้นต่อไป พวกทมิฬในเขตอาณานิคมเคยได้รับสิทธิสูงกว่าจากพวกอังกฤษและได้รับการศึกษาดีกว่าพวกสิงหล   พวกสิงหลเห็นว่าข้อนี้เป็นการกีดกันชนเผ่าอื่นๆ 

รัฐบาลได้พยายาชะลอการออกกฎหมายตามที่พวกทมิฬเรียกร้องไว้ก่อน บังเอิญในปี พ.ศ. 2501/1958 เกิดเหตุการณ์ชาวทมิฬซึ่งนับถือฮินดู ฆ่าคนสิงหลคนหนึ่งที่ถือพุทธ ทำให้ชาวพุทธไม่พอใจมาก มีการเรียกร้องวุ่นวายจนเกิดจลาจลขึ้น ชาวทมิฬหลายร้อยคนถูกฆ่าตาย 

ที่เลวร้ายซ้ำไปอีกก็คือ สภาได้ผ่านกฎหมายที่สนับสนุนภาษาทมิฬบางส่วนตามข้อเรียกร้องของพวกทมิฬ (Tamil language (Special Provisions) Bill) ในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1958 โดยผู้เสนอก็คือนายกรัฐมนตรีเอง นัยว่าพยายามเอาใจพวกทมิฬเพื่อระงับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น   ทำให้ฝ่ายชาวพุทธโกรธแค้นไม่พอใจอย่างมาก พวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะให้ระงับกฎหมายนี้ มีการเคลื่อนไหวด้วยรูปแบบต่างๆ  รวมทั้งพวกนักการเมืองชาวพุทธพยายามแยกตัวให้นายกรัฐมนตรีถูกโดดเดี่ยวในสภา

และประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกอย่างน่าเสียใจสำหรับชาวพุทธไว้ว่า ในเช้าของวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2502/ค.ศ. 1959 พระภิกษุ ตัลดูวี โสมารามา เถโร (Thalduwe Somarama Thero)  ได้นัดพบนายกรัฐมนตรี นายบันดาราไนเก เพื่อเจรจากัน พอพบกันและนายกรัฐมนตรีกำลังยกมือขึ้นคาราวะ พระภิกษุ ตัลดูวี ก็ชักปืนจากย่ามยิงเข้าที่ท้อง และเสียชีวิตในวันต่อมา (http://www.lankalibrary.com/pol/swrd.htm SRI LANKA: THE UNTOLD STORY Assassination of Bandaranaike)

จากการสอบสวนพบว่า  ภิกษุรูปนี้ถูกบงการโดยนักการเมืองที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีในอดีต  มีผู้พัวพันในคดีนี้ถูกจับ 7 คน  เป็นพระภิกษุสองรูป ฉายาว่า มาปิติกามา พุทธรักษ์กิตถา ( Mapitigama Buddharakkhitha)  และตัลดูวี โสมารามา หนึ่งใน 7 นั้นคือ ส.ส. หญิงผู้เคยสนับสนุนนายกมาก่อน และเป็นผู้ใกล้ชิดกับภิกษุมาปิติกามา พุทธรักษ์กิตถา  คือ นางวิมาลา วิเจวาร์ดินี (Vimala Wijewardene) พระภิกษุทั้งสองและผู้ต้องหาคนที่ 3 ชื่อ  พาลลีฮาคาราเก อนุรา เซ ศิวะ (Pallihakarage Anura se Silva) ถูกศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต 

วิกฤตผู้นำเกิดขึ้นทันที  จนถึงปี พ.ศ. 2503/1960 ภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกสังหาร คือนางสิริมาโว บันดาราไนเก (Sirimavo Bandaranaike )   รวบรวมสมาชิกพรรค SLFP ต่อสู้กับพรรคอื่นๆ จนได้รับตำแหน่งแทนสามี นางจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก และสืบทอดแนวคิดของสามีขึ้นปกครองประเทศได้ยาวนานกว่าใคร

นางสิริมาโว แพ้การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512/ค.ศ. 1969 สาเหตุสำคัญของการพ่ายแพ้มาจากการนำพวกนิยมลัทธิมารกซ์ 3 คน เข้าไปร่วมในคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการคัดค้านต่อต้านจากชาวพุทธอย่างมาก แม้กระทั่งนิตยสาร เวิลด์บุดดิสซึม ก็ลงบทความประท้วงการกระทำอันนั้น โดยยกเหตุผลว่าลัทธิมากร์กซ์สั่งสอนให้คนเห็นว่า ศาสนาเป็นยาเสบติด จึงไม่ควรไปร่วมสังฆกรรมใดๆ กับคนพวกนี้

รัฐบาล ได้พยายามประนีประนอมกับพวกทมิฬอย่างต่อเนื่อง แต่เงื่อนไขต่างๆ ที่พวกทมิฬยื่นให้ดูเหมือนจะยากที่คนสิงหลจะยอมรับได้  พวกทมิฬยึดติดในภาษาและวัฒนธรรมของตนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พวกเขาต้องการอย่างน้อยให้ใช้ภาษาทมิฬเป็นภาษาที่สองของประเทศ  ในขณะที่พวกสิงหลก็ยืนยันในความเป็นหนึ่งเดียวของชาติและภาษาที่ใช้อย่าง เป็นทางการ ทำให้ความพยายามของรัฐบาลล้มเหล็วตลอดมา  

ปัญหาที่เจรจากันไม่ได้ในเรื่องนี้ มีผู้วิเคราะห์ไว้หลายประการ เหตุผลที่น่าฟังมีว่า ในยุคปกครองอังกฤษ คนทมิฬแม้เป็นชนกลุ่มน้อยแต่ได้รับการยอมรับและมีสิทธิพิเศษเหนือกว่าพวกสิงหล  พวกเขาได้รับการศึกษาสูง มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารประเทศ  เป็นทหาร ตำรวจ หรือชนชั้นปกครอง เป็นเครื่องมือสำคัญของอังกฤษในการปราบพวกสิงหล ในขณะที่คนสิงหลถูกกีดกันเหยียบย่ำเพราะเคยก่อกบฏสู้รบพวกอังกฤษมายาวนาน ความคับแค้นขุ่นเคืองกันคงยังมีอยู่ นอกจากนี้ช่วงนั้นการศึกษาจัดการโดยมิชชั่นนารีอังกฤษ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1948  ระบบจัดการศึกษาของศรีลังกาเปลี่ยนไป ในชุมชนชาวสิงหลและทมิฬจะใช้ภาษาของตนเองเป็นสื่อในการสอน ใช้ภาษาอังกฤษน้อยมาก นี่คือปัญหาที่ทำให้ช่องว่างระหว่างภาษาของชุมชนทั้งสองกลุ่มนี้ห่างกันมากยิ่งขึ้น” (50 years later - Tamil an official language "only in name"
PK Balachandran, Hindustan Times, 12 February 2006)

ดังนั้น รากเหง้าของความขัดแย้งภายในศรีลังกาโดยสรุป คงเป็นไปตามความเห็นของ นาย เค. เอ็ม. เดอ ศิวะ (K M de Silva) ซึ่งวิเคราะห์ไว้ว่า มีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ
1. คนสิงหลส่วนใหญ่เห็นว่า พวกชนกลุ่มน้อยทมิฬเคยได้สิทธิพิเศษที่เหนือกว่าตนในยุคที่อังกฤษปกครองศรีลังกา ดังนั้นจะต้องปรับสมดุลย์ให้เกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญแก่คนสิงหลซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มากกว่า
2.  ชนกลุ่มน้อยทมิฬ เป็นพวกที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นแสวงหาความสำเร็จอย่างไม่ยอมแพ้  และเป็นพวกที่ยังคงมีสถานะทางสังคมและอิทธิพลทางเศรษฐกิจสูงมาก  จึงเห็นเป็นเรื่องใหญ่ ที่ถูกชาวสิงหลตัดบทบาททางการบริหารราชการและการศึกษาของประเทศ
           รายละเอียดอยู่ที่ http://www.peaceinsrilanka.org/peace2005/Insidepage/ Background/Background.asp, To Restore Peace to Sri Lanka's Fractured Polity
By K M de Silva, BA (Ceylon), PhD, DLitt. (London)*

ในปี พ.ศ. 2515/1972 ผู้นำทมิฬอ้างว่า สิ้นหวังในการแก้ปัญหาและทำให้สันติสุขกลับสู่ดินแดนทมิฬ จึงได้ตัดสินใจต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ  พวกเขาก่อตั้งกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬขึ้นต่อสู้รัฐบาลเพื่อแยกดินแดนอย่างเด็ดขาด โดยมี นายเวลูปิลไล ปิราบาการาน( Mr.Velupillai Pirabakaran) เป็นหัวหน้า  เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่นั้นมา  


ในการต่อสู้ทางการเมืองนั้น ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา  พรรค SLFP แพ้พรรค  UNP อย่างต่อเนื่อง  แต่การผูกขาดตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงของพรรค UNP ที่มีมากว่า 17 ปีได้หยุดลง เมื่อ นางจันทริกา บันดาราไนเก กุมาราตุงกะ (Chandrika Bandaranaike Kumaratunga (born 29 June 1945) ) บุตรีของนางสิริมาโว  ซึ่งได้เข้าสู่วงการเมืองในนามของพรรค SLFP(Sri Lanka Freedom Party) ได้ รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม  พ.ศ. 2537/1994  และต่อมาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของศรีลังกาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน  นางได้แต่งตั้งมารดาให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนเธออีกครั้งหนึ่ง 

นางจันทริกา บันดาราไนเก กุมาราตุงกะ  ได้พยายามเคลื่อนไหวที่จะเจรจาสงบศึกกับพวกแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬ  โดยการร่างกฎหมาย “โอกาสที่เท่าเทียมกัน(Equal Opportunities Bill)” เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในด้านการจ้างงานอันเนื่องมาจากเหตุผลทางภาษาและชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อย แต่พวกสิงหลก็ออกมาประท้วงกันวุ่นวายขึ้น  ซึ่งนายศิวะให้ความเห็นว่า เป็นเพราะพวกสิงหลคิดว่า “การสงวนรักษาเผ่าพันธุ์ ภาษา และศาสนาของชนกลุ่มน้อย จะเป็นการบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของศรีลังกาและเป้าหมายที่จะนำไปสู่ อาณาจักรพุทธสิงหล” ความพยายามหยุดยิงล้มเหล็ว พวกทมิฬก็ไม่หยุดก่อการร้าย  จึงต้องใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยกำลังทหารต่อไป


ใน ปี พ.ศ.  2545/2002 มีการลงนามสัญญาหยุดยิงถาวรระหว่างรัฐบาลกับพวกกบฏพยัคฆ์ทมิฬ  จากนั้นได้ตกลงเรื่องแบ่งอำนาจกันในพื้นที่ของพวกทมิฬโดยการเจรจาที่ประเทศ นอร์เวย์  นางอินทริการู้สึกไม่พอใจนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าได้ทำข้อตกลงที่อ่อนข้อ ให้พวกทมิฬมากไป  ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546/2003 นางจึงปฏิวัติยุบสภา และยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรี โดยส่งกำลังทหารออกคุมอำนาจทั่วประเทศ 

            หลังจากปฏิวัติยึดอำนาจตนเอง ในเดือนมกราคม 2547/2004 นางอินทริกา ได้ตั้งกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองขึ้นมา ชื่อ United People’s Freedom Alliance (UPFA) โดยรวมพรรค  JVP (People’s Liberation Front) เข้ามาด้วย  และทำให้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายนของปีนั้น  เมื่อชนะการเลือกตั้ง นางอินทริกาได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่  โดยมีนายมหินทะ ราชาปักษา(Mahinda Rajapaksa) นักการเมืองพรรคเดียวกันเป็นนายกรัฐมนตรี

นางอินทริกาอยู่ในตำแหน่งจนหมดวาระ 6 ปี ในเดือนมิถุนายน 2548/2005 และผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อจากเธอก็คือ นายมหินทะ ราชาปักษานั่นเอง

            นายมหินทะ ราชาปักษา ประกาศนโยบายของตนเองว่าจะเน้นแก้ปัญหาด้วยสันติ และเลิกใช้อาวุธกับพวกทมิฬ เขาประกาศวิสัยทัศน์โดยย่อของตนเองว่า “เป้าหมายของผมคือชักนำจิตใจของทุกคนไปที่ประโยชน์ของชาติ ผมจะเคารพเอกลักษณ์ของคนทุกเผ่าพันธุ์และศาสนา ผมจะหลีกเลี่ยงการใช้กำลังกับทุกฝ่าย และจะสร้างสังคมใหม่ที่ปกป้องเสรีภาพของปัจเจกชนและสังคม”  (http://www.mahinda4srilanka.org/)  เขาชนะการเลือกตั้งอย่างหวุดหวิด เพียง 181,000 เสียง เสียงที่ทำให้เขาชนะมาจากชาวพุทธทางตอนใต้

           หลังขึ้นสู่ตำแหน่ง นายมหินทะพยายามที่จะเจรจาลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ(Peace Pact) กับพวกทมิฬต่อไป  โดยมีประเทศนอร์เวย์รับเป็นเจ้าภาพเช่นที่เคยทำมากว่า 5 ปีแล้ว  มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านการเจรจานี้  แต่ระหว่างเตรียมการเจรจา การรบระหว่างทหารรัฐบาลกับกองโจรพยัคฆ์ทมิฬยังคงดำเนินต่อไป  นายมหินทะ  ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ BBC ตอนหนึ่งว่า “ผมพยายามที่จะเจรจากับพวกก่อการร้ายเป็นครั้งแรก และผมยังช่วยพวกเขาด้วย ผมส่งอาหาร  ยา ทุกอย่าง รวมทั้งการศึกษา ครู หมอ ผมส่งให้ และจ่ายโดยรัฐบาลเราทั้งสิ้น”  แต่การให้นี้ก็มีเงื่อนไข ดังคำพูดตอนหนึ่งว่า “ พวกพยัคฆ์ต้องยอมรับวิธีการของเราและต้องวางอาวุธมาเจรจากับเรา” (http://tothecenter.com/news.php?readmore=990)

           ดูเหมือนว่าความพยายามของนายมหินทะจะไร้ความหมาย เพราะการสู้รบยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในเดือนมีนาคม 2550 พวกทมิฬถึงกับใช้เครื่องบินรบบินเข้าไปทิ้งระเบิดใส่ค่ายทหารกลางเมืองหลวง และหลบหนีไปได้อย่างลอยนวล 

           นายมหินทะให้สัมภาษณ์กับเหตุการณ์นี้ว่า “การที่พวกพยัคฆ์ทมิฬอีแลมใช้เครื่องบินรบมาโจมตีเรา ไม่ได้เป็นปัญหากับเราเท่านั้น แต่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศอื่นๆ อีกด้วย” เขาหมายถึงประเทศในแถบเอเชียทั้งหมด เหตุการณ์นี้ทำให้พวกทมิฬเป็นกองกำลังผู้ก่อการร้ายแห่งแรกของโลกที่มีเครื่องบินรบออกปฏิบัติการ  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประมาณว่า พวกเขามีเครื่องบินรบในครอบครองไม่น้อยกว่า 2 เครื่องและมีสนามบิน 1 แห่ง  ผลนี้ทำให้การเจรจาหยุดชงักไป(http://www.sibernews.com/news/sri-lanka/-200705048399/)

           เกี่ยวกับสนธิสัญญาที่ยอมให้พวกทมิฬปกครองตนเองในพื้นที่บางส่วนของประเทศ นายมหินทะให้สัมภาษณ์ว่า “วันนี้เราตระหนักแล้วว่า เราตัดสินใจผิด  เนื่องจากสนธิสัญญาสันติภาพกลายเป็นการแบ่งเขตแดนให้เป็นเขตในความควบคุมของพวกทมิฬ  ทำให้พวกเขาใช้สิทธินี้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน”  ... “ในเขตของพวกทมิฬ พรรคการเมืองไม่สามารถทำงานได้  ชาวบ้านไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ และเด็กๆ ถูกบังคับให้เป็นทหาร......” ( 9 มีนาคม 2550 http://www.lankaeverything.com/vinews/politics/20070209231503.php )

แม้จะมีกองกำลังทหารรัฐบาลคอยปราบพวกทมิฬอยู่   แต่ทางการเมืองดูเหมือนว่า กำลังสำคัญในการต่อต้านพวกทมิฬจะมาจากพระสงฆ์มากกว่า และมีศักยภาพที่พวกทมิฬเกรงขาม  คงเป็นเพราะอิทธิพลของศาสนาพุทธมีต่อประชาชนส่วนใหญ่และระบบการเมืองในศรีลังกาอยู่มาก

 เมื่อครั้งมีการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1956 โปสเตอร์เลือกตั้งบางแห่งจะมีรุปพระพุทธเจ้ากำลังถูกนายกรัฐมนตรีนิยมอังกฤษและลุงแซม(หมายถึงสหรัฐอเมริกา)โจมตีอยู่  ประชาชนและฝ่ายสังฆะหรือพระสงฆ์มีจุดยืนร่วมกันมาตั้งแต่นั้น  นั่นคือ ปกป้องศาสนาพุทธจากการบ่อนทำลายของพวกต่างชาติศาสนา
 
           การประกาศตนเป็นศตรูกับพวกทมิฬอีแลมของพระสงฆ์นั้น ชัดเจนมาก  ในคราวที่ผู้นำทมิฬทางตะวันออกชื่อ กรุณา แยกตัวออกจากพวก LTTE  และหันเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลและประกาศจะอยู่ร่วมกันโดยสันติหากรัฐบาลช่วยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของพวกทมิฬ  มีความเห็นแตกแยกในกลุ่มผู้นำสิงหลอย่างมากว่า จะรับนายกรุณามาอยู่ข้างตนหรือไม่   ในขณะที่ฝ่าย LTTE ก็ส่งกำลังเข้าปราบปรามกองกำลังของนายกรุณาโดยหาว่าเป็นพวกทรยศ   พระภิกษุ อุดูวี ธรรมมะโลกา เถระ (Uduwe Dhammaloka Thera) ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการของพรรค JHU ได้ออกมาประกาศสนับสนุนนายกรุณาอย่างเปิดเผยว่า 

           “ทุกคนที่เคารพต่อชาติ ประชาธิปไตย และพุทธศาสนา คงตระหนักว่า พวกพยัคฆ์ทมิฬอีแลม(LTTE) คือศัตรูที่สำคัญของเรา  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า กรุณา เคยทำร้ายพวกเราในอดีต  แต่ตอนนี้เขาได้วางอาวุธและแสวงหาประชาธิปไตยให้แก่ภาคตะวันออก เราจึงควรให้ความคุ้มครองแก่เขา เพื่อความมั่นคงของชาติ

           เราขอร้องให้ประธานาธิบดี รัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านทั้งหลาย จงเลิกคิดถึงความแตกต่างทางการเมืองเสีย และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชาติ นี่คือโอกาสอันดียิ่ง ที่ฝ่ายต่างๆ จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเอาชนะพวกทมิฬอีแลม” (http://www.tamilnet.com/art.html?catid=13&artid=12300  [TamilNet, June 27, 2004 11:19 GMT].
           ไม่ทราบว่าในภายหลัง มีเรื่องขัดแย้งใดเกิดขึ้น พระภิกษุรูปนี้จึงได้ลาออกจากพรรค JHU มีรายงานข่าวบอกว่า ท่านรู้สึกว่าบทบาทของท่านไม่เหมาะสม จึงอยากไปปฎิบัติธรรมให้มากขึ้นมากกว่า (Ven. Dhammaloka Thera quits JHU, 06.01.2005 - Daily Mirror)

15. การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวพุทธยุคใหม่
           หลังจากได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ.1948)  พวกทมิฬกับสิงหลก็เริ่มต่อสู้กันอีก  นอกจากนั้น ชาวพุทธหัวรุนแรงที่ถูกฝรั่งกดขี่มานาน ทนการบีบคั้นให้เปลี่ยนศาสนาด้วยเล่ห์กลและสิ่งหลอกล่อทางเศรษฐกิจไม่ไหว  ได้ออกมาต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาคริสต์อย่างเปิดเผย   มีม็อบเข้าทำลายโบสถ์และทำร้ายชาวคริสต์หลายครั้ง   ในปี พ.ศ. 2547/2004 พรรคการเมืองชาวพุทธที่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำชื่อ จาติกาเฮลาอุรุมายา (Jathika Hela Urumaya (JHU)= National Heritage Party =พรรคมรดกแห่งชาติ) ได้รณณรงค์ผลักดันให้ออกกฎหมายบังคับใช้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และให้ถือว่าการเปลี่ยนคนไปนับถือศาสนาอื่นเป็นความผิดอาญา ความพยายามนี้ยังคงมีอยู่ในวันนี้ 

           พรรค JHU มีปรัชญาต่อต้านการแบ่งแยกประเทศและสงคราม ต้องการให้คนทมิฬและสิงหลใช้ภาษาเดียวกัน มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันทุกแห่งในศรีลังกา ช่วงเลือกตั้งปี 2548  พรรค JHU สนับสนุนประธานาธิบดีคนใหม่ คือนายมหินทะ ราชาปักษา(Mahinda Rajapaksa) อย่างเต็มที่  เพราะเป็นคนเดินสายกลาง และมีนโยบายแก้ปัญหาทมิฬโดยสันติวิธี ทำให้นายมหินทะชนะอย่างหวุดหวิด

           หนึ่งในผู้นำพรรคและได้เป็น ส.ส. พรรค JHU ในปี 2549 คือ พระคุณเจ้าเอลลาวาลา เมตตานันทะ เถระ (Ellawela Mettananda Thera) ท่านเป็นภิกษุนิกายสยามวงศ์ (นิกายสงฆ์จากไทยยุคกรุงศรีอยุทธยา) ท่านเคยให้สัมภาษณ์ว่า “JHU มิได้แสวงหาผลประโยชน์ใดๆ ให้ตัวเอง เราต้องการเพียงปกป้องอำนาจอธิปไตยของศรีลังกา  ...ตราบใดที่ประธานาธิบดียังให้ความสำคัญแก่ข้อเสนอของพรรคเราและนโยบายที่ท่านได้ประกาศไว้(นโยบายนี้มีชื่อว่า Mahinda Chinthanaya เป็นวิสัยทัศน์ที่ผู้สมัครประธานาธิบดีจะต้องแถลงไว้ทุกคน มีชื่อตามผู้สมัคร) เราก็จะสนับสนุนท่าน  เราจะเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อรักษาศรีลังกาให้หลุดจากการขุดหลุมฝังตัวเอง แม้กระทั่งต้องเสี่ยงถึงชีวิต...” (จาก http://www.amarasara.net/jhu-news/news_item.asp?NewsID=176  หัวข้อ Mahinda is the only true leader since 1815 – JHU (07.12.2005 - The Island)) 

           ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพและความสำคัญกับศาสนาพุทธมาก และยังถือว่าพระสงฆ์มีสิทธิทางการเมืองเท่าประชาชนคนหนึ่ง คือ มีหน้าที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง  มิสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ตั้งแต่เป็น ส.ส. จนถึงประธานาธิบดี ปัจจุบัน พระสงฆ์ศรีลังกาจึงมีบทบาททางการเมืองสูงถึงขั้นเล่นการเมืองอย่างเปิดเผย และคงเป็นประเทศเดียวในโลก ที่พระภิกษุเป็นผู้แทนราษฎรได้  

           เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 มี พระสงฆ์ได้ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  และมีพระภิกษุที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. รวม 9 รูป ต่อมามีบางรูปลาออก จึงเหลือ 6 รูป

           สาเหตุที่ทำให้พระสงฆ์ลุกขึ้นมาสมัคร ส.ส. มาจากหลายปัจจัย เท่าที่อ่านพบในบทความต่างๆ โดยเฉพาะที่น่าสนใจมาจากการสัมภาษณ์ของวารสารโพธิ์ (Bodhi Journal) ที่ได้สัมภาษณ์ศาสตราจารย์ วาย กรุณาดาสา (Y. Karunadasa) จาก Sri Lanka’s Kelaniya University ซึ่งเป็น Visiting Professor in Buddhist Studies ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง และพระภิกษุจันทาวิมาลา เถโร (Thero Chandawimala) จากศรีลังกา ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว  

           จากการอ่านบทสัมภาษณ์ในวารสารโพธิพอจับประเด็นได้ว่า  สาเหตุที่พระสงฆ์เดินขบวนเข้าสมัคร ส.ส. จำนวนมาก มาจากปัญหาในสังคมที่รัฐบาลไม่ยอมแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น ความยากจนของประชาชนที่รัฐบาลทอดทิ้ง ปัญหาคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ  ความแตกแยกทางการเมือง ปัญหาผู้ก่อการร้ายพยัคฆ์ทมิฬที่พยายามแยกประเทศ (พื้นที่ของพวกทมิฬมีโบราณสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธมากมาย) ทำให้ชาวพุทธถูกทำร้ายและสังหารทั้งหมู่บ้านหลายครั้ง  ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ได้มานานกว่ายี่สิบปี   ชาวบ้านจึงสิ้นหวังในนักการเมือง เพราะเห็นว่ามุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน  ส่วนใหญ่มองว่าพระสงฆ์คือผู้มีศีลบริสุทธิ์  เป็นผู้พิทักษ์ศาสนาและประเทศชาติมาตั้งแต่อดีต จึงน่าจะทำงานได้ดีกว่าฆราวาส  ชาวพุทธส่วนหนึ่งจึงได้ออกมาเรียกร้องให้พระสงฆ์ทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้ (http://www.buddhistdoor.com/  Bodhi Journal Issue I Face to Face. 1 st Issue (October, 2006)


           พระภิกษุอูดูวี ธรรมมะโลกา เถโร ( Uduwe Dhammaloka Thero ) จากพรรค JHU ได้ให้สัมภาษณ์ช่วงตัดสินใจส่งพระสงฆ์สมัครเลือกตั้งตอนหนึ่งว่า  “พวกนักการเมืองขึ้นสู่ตำแหน่งและหาผลกำไรด้วยวิธีที่ขาดคุณธรรม  ดังนั้นเรา(พรรค JHU) จึงต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง”

           ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สร้างความไม่พอใจให้คนสิงหลพุทธและพระสงฆ์จำนวนมากก็คือ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่กระทบวิถีชีวิตชาวพุทธ  เช่น การทำงานของ NGO, และการทำงานเผยแพร่ศาสนาแบบไร้จรรยาของกลุ่มคริสเตียนลัทธิดั้งเดิม (Christian fundamentalism ) ทำให้ชาวพุทธยากจนถูกหลอกล่อด้วยวิธีการต่างๆ ให้เปลี่ยนศาสนากันมาก เช่น ให้งานทำ, ให้การช่วยเหลือทางการเงิน และที่อยู่อาศัย 

           มีพระภิกษุหลายรูปแจ้งสื่อมวลชนว่า มีคนสิงหลพุทธถูกชักจูงให้เปลี่ยนศาสนาถึงประมาณ 23,000 คนต่อปี  และหน่วยงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์กำลังเร่งทำงานดังกล่าวอยู่ใน 5,000 หมู่บ้านจากหมู่บ้านทั้งหมด 25,400 แห่งของประเทศ(http://www.brethrenassembly.org/ articles/srilanka.html--Sri Lanka's Buddhist clergy want to ban conversion to Christianity
JHU General Secretary, MP Ven. Omalpe Sobhita Thera



          ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2546/2003 พระภิกษุ ดร. โอมาลปิ โสพิตา เถโร (Dr. Omalpe Sobhitha Thero พระรูปนี้เคยมาทำงานเผยแพร่ศาสนาและช่วยชุมชนใน เขมร ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร ) และพระภิกษุ ราชาวัตเต วัพพะ เถโร( Rajawatte Wappa Thero) ได้ประกาศจะอดอาหารจนตายที่หน้ากระทรวงศาสนาพุทธ หากรัฐบาลไม่ออกกฎหมายห้ามการเปลี่ยนคนถือศาสนาพุทธไปเป็นศาสนาอื่น ที่กระทำโดยการขาดจรรยาบรรณ เช่น ใช้เล่ห์กลและสิ่งหลอกล่อทางเศรษฐกิจ  พระภิกษุทั้งสองมาจากต่างนิกายกัน คือนิกายรามานนา และ อมาราปุระ (Ramanna  และ Amarapura) ผู้นำในการจัดการประท้วงคราวนี้คือ พระภิกษุ เอลลาเวลา เมตตานันทะ ซึ่งเป็นพระนิกายสยามวงศ์ (Siamese sect) และดำรงตำแหน่งประธานแนวร่วมภิกษุแห่งชาติ (President of the National Bhikku Front) 

          
           ต้นเหตุเรื่องนี้มาจากการกล่าวหาของชาวพุทธจำนวนมากว่า องค์กรคริสต์เตียนชาวอเมริกัน ใช้เงินรัฐบาลสหรัฐ ในการให้รางวัลหรือหลอกล่อชาวสิงหลพุทธจำนวนมากให้เปลี่ยนศาสนา  และรัฐบาลไม่พยายามแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่ชาวบ้านได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่องมานาน   ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการศาสนาฮินดูได้พยายามปกป้องเรื่องนี้มาก่อนแล้ว โดยออกมาเปิดเผยว่า มีคนฮินดูกว่า 7 พันครอบครัว เปลี่ยนไปถือคริสต์ด้วยวิธีการดังกล่าว (http://www.lankaweb.com/news/items03/311203-10.html)

           พระภิกษุ เอลลาเวลา เมตตานันทะ  ให้สัมภาษณ์กรณีถูกกล่าวหาว่า พระสงฆ์กำลังก่อเรื่องให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา  ด้วยเหตุผลดังนี้ “—เราได้ทำการรณณรงค์ด้วยสันติวิธีเพื่อปกป้องศาสนาพุทธและประเทศชาติ   ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังหูหนวกตาบอด ต่อภัยที่กำลังเกิดขึ้นกับพุทธศาสนา” ท่านยังให้เหตุผลเรื่องการกล่าวหาว่าชาวพุทธบุกทำลายโบสถ์ชาวคริสต์ในระยะนั้นว่า “พวกนั้นไม่ใช่คนพุทธ   พวกที่ทำเป็นหน่วยงานของพวก  UNF ซึ่งเคยก่อเหตุการณ์จลาจลในปี 1983 เพราะไม่มีชาวพุทธที่แท้คนใดจะโจมตีโบสถ์”

           พระเมตตานันทะกล่าวถึงความจำเป็นเรื่องการอดอาหารครั้งนี้ว่า “มีกลุ่มชาวคริสต์ที่มีความเชื่อแบบดั้งเดิม (fundamentalist groups - พวกนี้ถือว่า การเปลี่ยนคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้ามานับถือศาสนาคริสต์ได้ เป็นหน้าที่ของชาวคริสต์ที่ควรปฏิบัติ ) มากกว่า 170 กลุ่ม ที่เดินทางเข้ามาศรีลังกาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวเพื่อชักจูงคนพุทธและฮินดูให้เปลี่ยนศาสนา  ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาฮินดู(Hindu Affairs Minister)  ได้ออกมาพูดในนามของคนฮินดูแล้ว  แต่ไม่มีใครออกมาทำอะไรในนามของชาวพุทธเลย” (จากหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ของศรีลังกา http://www.dailymirror.lk/2003/12/31/front/2.asp)

           นอกจากการอดอาหารแล้ว คณะสงฆ์ยังมีมาตรการสนับสนุนอีกระดับหนึ่งคือ หากรัฐบาลไม่ทำอะไรภายใน 14 วัน พระในสังกัดสภาสูงสุดของสังฆะ(Supreme Sangha Council) จะเริ่มอดอาหารทันที และจะมีการเคลื่อนไหวก่อกวนทางการเมืองทั่วเกาะลังกา

           ผลของการอดอาหารนี้ ฝ่ายพระสงฆ์ได้ชัยชนะใน 3 วัน โดยรัฐบาลต้องให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายก, รัฐมนตรีกระทรวงศาสนาพุทธ(Minister of Buddhist Affairs ) และผู้นำฝ่ายค้าน คือนายมหินทะ ราชาปักษา (ต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2005) มาทำข้อตกลงว่า จะแต่งตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยพระสงฆ์จำนวนหนึ่งไปร่างกฎหมายนี้ภายใน 14 วัน และผ่านสภาผู้แทนราชฎรให้ได้ภายใน 60 วัน


           ร่างกฎหมายที่ออกมาถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “กฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนา (anti-conversion bill)“ ทางกระทรวงศาสนาพุทธและ JHU ตกลงกันไม่ได้ จึงต่างคนต่างร่างของตนเองขึ้น  ร่างทั้งสองนี้ถูกต่อต้านจากฝ่ายคริสเตียนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยหาว่าเป็นการกำจัดเสรีภาพทางศาสนาซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 1978 ที่ใช้อยู่  จนในที่สุดต้องขอความเห็นจากศาล 

           ตอนแรกศาลฎีกาตัดสินว่ามีสองบทที่ขัดรัฐธรรมนูญจริง โดยร่างของพรรค JHU ตกไป แต่ของรัฐมนตรีกระทรวงศาสนาพุทธผ่าน โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมหลายจุด  (เหตุผลที่ให้ผ่านได้กล่าวมาในตอนต้นแล้ว) แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านเสียง 2 ใน 3 ของสภา เมื่อผ่านแล้วต้องผ่านกระบวนการทำประชามติก่อน จึงจะประกาศใช้ในทางปฎิบัติได้ (Catholic World News, http://www.cwnews.com/news/viewstory.cfm?recnum=31593, Sri Lanka court knocks down anti-conversion bill.Colombo, Sri Lanka, Aug. 19, 2004 (CWNews.com))

           ร่างกฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนาให้คนอื่นโดยขาดจรรยาบรรณหรือโดยบังคับนี้ กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไปทั่วโลก  องค์กรศาสนาคริสต์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนจำนวนมากออกมาต่อต้าน โดยอ้างว่าเป็นการปิดกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา 

           อาร์คบิชอปศรีลังกาและสาวกจำนวนมากออกมาต่อต้านเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนอย่างเปิดเผย  และในวาระเข้าเฝ้าสันตะปาปาที่เป็นธรรมเนียมทุก 5 ปี บิชอประดับผู้นำได้นำเรื่องความห่วงใยนี้ไปรายงานต่อองค์สันตะปาปา (โปปเบเนดิกท์ ที่ 16  - Pope Benedict XVI) ด้วย โดยอ้างว่า พวกเขาเกรงว่าหากกฎหมายนี้ผ่าน อาจจะทำให้กิจกรรมทางการศึกษาและการบริจาคช่วยเหลือต่างๆ ถูกเอาผิดทางกฎหมายไปด้วย บิชอปที่ไปเฝ้าสันตะปาปาอ้างว่า พระองค์ได้ตรัสกับพวกตนว่า “วาติกันจะทำเท่าที่ทำได้ในการช่วยเหลือเรื่องนี้” และ  “ไม่ว่าจะมีปัญหาใดๆ เราจำเป็นต้องประกาศศาสนาคริสต์ (in spite of all the problems, we still have to proclaim Christ.)” และตรัสชมสิ่งที่บิชอปทั้งหลายได้ทำไปแล้วในการพยายามยับยั้งร่างกฎหมายนี้ผ่านรัฐสภา พระองค์ทรงแสดงชัดเจนว่า จะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศอื่น ขอให้เหล่าบิชอปแก้ปัญหากันเอง (http://www.catholicnews.com/ data/stories/cns/0502722.htm, SRILANKA-POPE May-3-2005 (580 words) xxxi, Sri Lankan bishops say they found pope friendly, knowledgeable, By Carol Glatz, Catholic News Service)

           กฎหมายต่อต้านการเปลี่ยนศาสนาโดยขาดจรรยาบรรณของศรีลังกามีโทษค่อนข้างหนัก  คือหากพบว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเปลี่ยนศาสนาโดย “การใช้กำลัง  ชักจูงด้วยทรัพย์สินเงินทอง หรือหลอกลวง”  และ “ พยายามเปลี่ยน หรือช่วยเหลือ หรือมีการกระทำที่ยุยงส่งเสริม ให้บุคคลเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น” จะต้องถูกทำโทษดังนี้

           “ผู้ใดกระทำผิดต่อกฏหมายนี้ จะถูกตัดสินลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกปรับไม่เกิน 100,000 รูปี (ประมาณ $1,005 หรือ 4 หมื่นบาท)”

           “ถ้าการทำผิดนี้กระทำกับชนกลุ่มน้อย ผู้กระทำผิดอาจถูกตัดสินจำคุกได้ไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 รูปี”

           อย่างไรก็ดี ก่อนเข้าสู่สภาตามกำหนดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2548/ค.ศ. 2005 กฎหมายนี้ถูกเหตุการณ์ต่างๆ เข้ามาขัดจังหวะ เช่น ความล้มเหลวของการเจรจาหยุดยิงกับพวกทมิฬ การเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในเดือน พฤศจิกายน 2548    และที่สำคัญที่สุดก็คือ  ทางฝ่ายผู้เสนอกฎหมายอ้างว่ารัฐบาลสหรัฐได้เข้ามาแทรกแซง  ทำให้ต้องเก็บใส่ลิ้นชักไม่สามารถผ่านเข้าสภาได้จนถึงวันนี้

           มีเว็บไซต์หลายแห่งอ้างข่าวหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ วันที่ 3 ตุลาคม 2548  ซึ่งรายงานว่า  เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์นักข่าวของเดลิมิเรอร์ที่วอชิงตันว่ามีการถกปัญหาเรื่อง anti-coversion bill  กับรัฐบาลศรีลังกา เพื่อแสดงความเป็นห่วงของรัฐบาลอเมริกันเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้  เพราะเป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา แม้จะอ้างว่าต้องมีกฎหมายนี้เพื่อป้องกันการชักจูงให้คนศรีลังกาเปลี่ยนศาสนาด้วยวิธีการที่ไร้จรรยา แต่เมื่อฝ่ายสหรัฐขอให้แสดงหลักฐานก็ไม่มีใครนำหลักฐานมาแสดงได้  และยังอ้างปัญหาทางสิทธิมนุษยชนว่า นับจากปี พ.ศ. 2546 ถึง 2548   กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงได้จู่โจมทำร้ายหน่วยเผยแพร่ศาสนาคริสต์ตามหมู่บ้านและโบสถ์รวมเกือบ 200 ครั้ง ซี่งปรากฏในรายงานเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ ค.ศ. 2005 ของสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน ของสหรัฐ (International Religious Freedom Report 2005. Released by the Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor )  การยกประเด็นนี้มา   ทำให้รัฐบาลศรีลังกาตกลงระงับการเสนอร่างนี้เข้าสภาไปก่อน (Govt. agrees to drop Anti-Conversion Bill , 03,Oct 2005. http://www.balamu.com/1.php? subaction=showfull&id= 1128340830&archive=&start_from=&ucat=1&)

           เมื่อร่างกฎหมายถูกเก็บเข้าลิ้นชัก กระบอกเสียงของพรรค JHU ประณามรัฐบาลเรื่องนี้อย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า “ศาสนาพุทธถูกขายด้วยราคาเพียง 40 ล้านดอลลาร์” โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลศรีลังการะงับการนำกฎหมายเข้าสภา เพื่อแลกกับหนี้สิน 40 ล้านดออลาร์ที่สหรัฐฯ ได้โอนให้แก่เวิร์ลด์แบงค์และไอเอ็มเอฟ  (http://www.amarasara.info/ jhu-news/ news_item.asp?NewsID=150. JHU News   Tuesday, October 04, 2005 at 10:10 (-0500) BUDDHISM HAS BEEN SOLD FOR US$ 40 MILLIONS !(04.10.2005 - Email from Sinhala News))
  
           มีการเสนอกฎหมายทำนองเดียวกันนี้และผ่านสภาในระดับรัฐของอินเดียมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กฎหมายเสรีภาพทางศาสนา (Freedom of Religion Acts) ซึ่งมีรัฐ 7 รัฐได้ผ่านกฎหมายนี้แล้ว ได้แก่ รัฐโอรัสสา, มาธยะประเทศ, ชฮัทติสการ์, อรุนาจัลประเทศ, กุจาราช, ราจาสทาน และหิมาจัลประเทศ  (Orissa, Madhya Pradesh, Chhattisgarh, Arunachal Pradesh, Gujarat, Rajasthan and Himachal Pradesh) แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ประกาศใช้

16.  เหตุผลในการส่งพระสงฆ์สมัครเลือกตั้ง

            หลังจากได้พยายามต่อสู้เพื่อศาสนาพุทธนอกสภามาอย่างยาวนาน พระสงฆ์ในศรีลังกาได้ตัดสินใจส่งตัวแทนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เป็นครั้งแรก ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี ค.ศ. 2005 โดยมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการโดยผู้นำพระสงฆ์ของพรรค JHU จำนวน   4 รูป คือ อูดูวี ธรรมะโลกา เถระ (Uduwe Damaloka Thera), เอลลาวาลา เมตตานันทะ เถระ (Ellawala Methananda thera), อาธุเรลิเย รัตนะ เถระ (Athureliye Ratthana Thera), และพระโคลานนาวี  สุมังคลา (Kolannawe Sumangala) ซึ่งเหตุผลที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้ 

           พระสุมังคลา หัวหน้าผู้สมัครในกรุงโคลัมโบเห็นว่า ”การเลือกตั้งเป็นเพียงสงครามธรรม (Dhamma Yuddhaya) หรือธรรมยุทธ์ เพื่อปกป้องศาสนาพุทธและชนชาติสิงหล” ท่านเมตตานันทะกล่าวว่า “นักการเมืองไม่ได้ให้ความสนใจชาวสิงหลแม้แต่น้อยตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราช”  ท่านธรรมโลกาบอกว่า “รัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องศาสนาพุทธ จนทำให้พระสงฆ์ต้องออกมาต่อสู้เพื่อให้ได้กฎหมายป้องกันการเปลี่ยนศาสนาโดยไร้จรรยา ..... ดังนั้น พระสงฆ์จำเป็นต้องสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อป้องกันประเทศ และปิดกั้นไม่ให้นักการเมืองกระหายอำนาจเข้ามา” (http://www.tamilnet.com/art.html?catid=13&artid=11279
JHU Buddhist monks submit Colombo nominations [TamilNet, February 20, 2004 16:00 GMT])

           อย่างไรก็ดี มีองค์กรพระสงฆ์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการลงเลือกตั้งครั้งนี้ เช่นองค์การพระสงฆ์ทุกเกาะ(All Island Clergy Organization-AICO) ได้ออกมาแถลงว่า พระสงฆ์ฝ่ายมหายานและผู้นำพระสงฆ์จำนวนมากไม่เห็นด้วยและไม่รับรองการลง สมัครเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำในนามพระสงฆ์ทั้งประเทศ (http://www.dailynews.lk/ 2004/02/26/new25.html. Clergy Organisation opposes Bhikkhus' decision to contest polls )

           ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน พระสงฆ์ในศรีลังกามีสิทธิทางการเมืองเท่าคนธรรมดาทั่วไป คือมีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ถึงเป็นประธานาธิบดี แต่ส่วนใหญ่จะจำกัดบทบาทตนเองแค่วิจารณ์การเมือง ปราศรัยหาเสียงช่วยนักการเมือง หรือหาเสียงให้ตัวเองนักการเมืองสามารถนิมนต์พระไปช่วยปราศรัยหาเสียง หรือเป็นหัวคะแนนได้เป็นเรื่องปรกติ 
           พรรคการเมืองที่มีพระสงฆ์เป็นผู้นำอย่างเปิดเผยก็คือ พรรค JHU  มีเว็บไซต์ของตนเองที่ http://www.amarasara.info/jhu-news/   ผู้บริหารของพรรคมีฆราวาสจำนวนหนึ่ง แต่ผู้สมัคร ส.ส. เป็นพระสงฆ์

 

           พรรค JHU คือพรรคการเมืองหลักที่ต่อต้านการเจรจากับพวกทมิฬแทบทุกครั้ง โดยยืนกรานที่จะไม่ยอมลดข้อต่อรองใดๆ กับพวกทมิฬทั้งนั้น ไม่ว่าในเรื่องจะใช้ภาษาทมิฬบางส่วน หรือแบ่งแยกดินแดนไปมีเขตปกครองพิเศษ ที่ยอมให้พวกทมิฬมีกฎหมายพิเศษกว่าคนเผ่าอื่นๆ ในศรีลังกา  โดยอ้างเหตุผลของความเป็นหนึ่งเดียว ภาษาเดียว และรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
            เกี่ยวกับพระสงฆ์ไปเป็นผู้แทนราษฎรก็มีปัญหาไม่น้อย บางครั้งก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงโดยนักการเมืองที่ไม่ใช่ชาวพุทธ  เคยมีพระสงฆ์รูปหนึ่ง ถูก สส. ฝ่ายรัฐบาลประท้วงไม่ให้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งกลางสภา และเกิดเหตุรุนแรงถึงขั้นทุบตีพระสงฆ์รูปนั้นจนต้องเข้าโรงพยาบาล
การมีส่วนร่วมทางการเมืองสูงเช่นนี้ ทำให้นักการเมืองบางกลุ่มไม่เคารพในพระสงฆ์เท่าใดนัก มีการปะทะคารมถึงขั้นทำร้ายพระสงฆ์บ่อยครั้ง และพระสงฆ์ก็ค่อนข้างไวต่อกิจกรรมทางการเมืองมาก หากไม่พอใจรัฐบาล ก็ยกพวกเดินขบวนประท้วงทันที เหมือนดังเช่นกลุ่มพลังการเมืองฆราวาสในประเทศอื่นๆ
พลัง ต่อรองทางการเมืองของคณะสงฆ์ในศรีลังกานั้นสูงมาก  ตัวอย่างเช่น เมื่อ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2001  มีการกำหนดทำประชามติเพื่อซาวเสียงประชาชนว่าจะยอมให้ชนเผ่าทมิฬแยกตัวออกไป ปกครองตนเองหรือไม่ สภาสงฆ์แห่งชาติ ร่วมกับสมาพันธ์อื่นๆ  (The National Sangha Council, National Joint Council and the Movement to Save the Motherland) ได้รวมกันชุมนุมคัดค้านไม่ให้มีการทำประชามติครั้งนี้  มีพระสงฆ์เข้าร่วมชุมนุมกว่า 2,000 รูป ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการทำประชามติออกไป


17. การเคลื่อไหวทางการเมืองของพวกพยัคฆ์ทมิฬอีแลม
           ตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2491/ค.ศ. 1948  เป็นต้นมา ผลการออกข้อกำหนดกฎหมายต่างๆของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญแก่ชาวสิงหลที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ(ประมาณ 80%) ทำให้พวกทมิฬไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ  ในปี พ.ศ. 2515/ค.ศ. 1972 จึงรวมกันเป็นกลุ่มก่อการร้ายพยัคฆ์ทมิฬอีแลมขึ้น  ชื่อเต็มคือ Liberation Tigers of Tamil Eelam (LTTE)  เพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองและใช้กำลังอาวุธต่อสู้รัฐบาลเพื่อแยกตัวเป็นประเทศอิสระ

          
           คำว่าอีแลมเป็นชื่อเดิมของศรีลังกาในภาษาทมิฬ เช่นเดียวกับที่ชื่อเดิมในภาษาอังกฤษคือซีลอน (Ceylon) พวกทมิฬยังเรียกชื่อศรีลังกาอีกชื่อหนึ่งคืออิลังเกีย(Ilankia) ด้วย  พวกนี้ต้องการปกครองตนเองในดินแดนส่วนเหนือและแถบชายทะเลตะวันออก ซึ่งมีคนทมิฬและมุสลิมเป็นส่วนใหญ่  พวกเขาสะสมกำลังอาวุธ โดยเริ่มก่อการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนในปี  2550 ก็มีเครื่องบินรบบินเข้าทิ้งระเบิดค่ายทหารของรัฐบาลได้  มีนักการเมืองสิงหลจำนวนมากเข้าใจว่าพวกทมิฬได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ  โดยเฉพาะประเทศนอร์เวย์ ถึงกับมีการยื่นหนังสือประท้วงรัฐบาลนอร์เวย์เลยทีเดียว

           การตั้งกองกำลังทหารขึ้นนี้ พวกทมิฬพยายามอ้างว่าเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น และดูเหมือนจะเกรงใจพวกสิงหลมากเหมือนกัน พันเอก ซูไซ ของพวกทมิฬเคยประกาศว่า “พวกสิงหลต้องเข้าใจว่า กองกำลังทหารของเรา มีไว้เพื่อปกป้องคนของพวกเราเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องการเอาชนะใคร หรือเพื่อแย่งดินแดนผู้อื่น กองทหารของเราไม่ได้เป็นภัยต่อใครทั้งสิ้น” (Colonel Soosai. [TamilNet, October 10, 2002 20:08 GMT] ) พวกทมิฬถือว่าดินแดนรอบชายฝั่งด้านเหนือและตะวันออก เป็นถิ่นดั้งเดิมของตนเองตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว จึงไม่ถือว่าการแบ่งแยกดินแดนเป็นการแย่งดินแดนของใคร
           รัฐบาลพยายามปราบปรามพวกทมิฬอย่างละมุนละม่อมมาตลอด  เช่น ก่อนปฏิบัติการทางทหาร รัฐบาลจะประกาศให้ชาวบ้านหลบออกจากบริเวณสู้รบก่อน แต่การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายก็ทำให้มีพวกทมิฬตายไปแล้วประมาณ 60,000 คน(ถึงปี 2549) รัฐบาลพยายามเจรจาหยุดยิงและแก้ปัญหาโดยสันติหลายครั้ง แต่แล้วก็ละเมิดข้อตกลงกันอยู่เรื่อยๆ

           ทมิฬ(Tamil) เป็นชนเผ่าผิวดำที่มีภาษาพูดภาษาเขียนและวัฒนธรรมของตนเอง สืบเชื้อสายมาจากชนพื้นเมืองโบราณตอนใต้ของอินเดียที่เรียกว่าพวก “ดราวิเดียน(Dravidian)”  พวกนี้เก่งเรื่องเดินเรือทะเล จึงเดินทางไปไกลตามแถบชายฝั่ง และเป็นบรรพบุรุษคนพื้นเมืองในสิงคโปร์และมาเลเซียด้วย แต่ในอินเดียถือว่าเป็นพวกชนชั้นต่ำสุด คือพวกจัณฑาล ทมิฬแบ่งเป็น 2 พวก พวกแรกเรียกว่าลังกาทมิฬ เป็นชนชั้นกลางและชั้นสูงซึ่งอพยพมาศรีลังกายุคโบราณ มาอยู่ร่วมกับคนพื้นเมืองเดิม พวกนี้มีประมาณ 2 ล้านคน อีกพวกหนึ่งเรียกว่าอินเดียทมิฬ เป็นพวกทมิฬใหม่ที่ถูกอังกฤษนำมาจากแคว้นทมิฬนาดูของอินเดียตอนใต้  เพื่อทำงานในไร่ชาและทิ้งไว้ให้อยู่ตามยะถากรรมหลังได้รับเอกราช พวกนี้มีประมาณ 1 ล้านคน เป็นพวกยากไร้และถูกกดขี่ดูถูกเหยียดหยามมากที่สุด  

           ร้อยละ 90 ของทมิฬนับถือศาสนาฮินดู ประมาณร้อยละ 7 นับถือคริสต์  ที่เหลือเป็นมุสลิม  กลุ่มทมิฬทางเหนือที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมฝรั่งมาก่อนคนศรีลังกาในที่อื่นๆ เป็นพวกที่มีการศึกษาดี  มีความเป็นผู้ดีแบบตะวันตก แต่คนพวกนี้ภูมิใจในสายเลือดและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนมาก และยึดติดอย่างเหนียวแน่น  พยายามจะแยกตนเป็นประเทศอิสระให้ได้ พวกเขาไม่ยอมรับว่าพวกของตนเป็นคนส่วนน้อยของประเทศและเป็นชนชั้นต่ำในสายตาของฮินดู แต่พยายามแสดงความแข็งแกร่งของเผ่าตนในทุกด้าน

           พวกทมิฬได้ตีพิมพ์ข่าวสารและส่งภาพการสังหารชาวทมิฬโดยทหารของรัฐบาล เพื่อเรียกร้องความเห็นใจจากชาวโลกอย่างได้ผล มีเครือข่ายชาวทมิฬในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น เยอรมัน อังกฤษ  คานาดา นอร์เวย์   ในขณะเดียวกันก็มีการปลุกใจคนทมิฬทั่วโลกให้ภูมิใจในสายเลือดและวัฒนธรรมของตน ให้ลุกขึ้นสู้ เพื่อแบ่งแยกดินแดนให้ได้  มีการเผยแพร่ผลงานของกองกำลังทหารฝ่ายตนที่เรียกว่า  พยัคฆ์ (Tigers)  เพื่อให้กำลังใจกันเองทุกรูปแบบ  

           ฝ่ายกองกำลังทมิฬมีเว็บไซต์ที่สำคัญคือ www.eelamweb.com เป็นประบอกเสียงหลัก  เว็บนี้มีเอกสารสนธิสัญญาและข้อเสนอต่างๆ ที่ผู้นำชาวทมิฬ ได้เคยทำเสนอรัฐบาลมาเกือบทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่าพวกเขาได้พยายามต่อสู้ด้วยสันติวิธีมาแล้ว แต่ไร้ผลจนหมดความหวังจริง ๆ รวมทั้งมีข้อเขียนที่โจมตีฝ่ายรัฐบาล และเหตุผลที่น่าเห็นใจของการที่ต้องจับอาวุธขึ้นสู้ทั้งๆ ที่กำลังน้อยกว่ามาก
           แหล่งข่าวสารที่ดีของพวกทมิฬสายกลางได้แก่เว็บไซต์ www.tamilnet.com และ www.tamilguardian.com เว็บไซต์พวกนี้เสนอข่าวทั้งสองด้าน และมีความเป็นกลางพอสมควร
           เนื่องจากคนศรีลังกาที่มีการศึกษาค่อนข้างเคร่งศาสนา การตัดสินใจปราบปรามพวกผู้ก่อการร้ายจึงเป็นแบบไม่แตกหัก เพราะมัวห่วงเรื่องมนุษยธรรมและศีลธรรมตลอดเวลา ดังนั้นเป็นเวลาหลายสิบปี  ประเทศเป็นเกาะแค่นิดเดียว และมีการเปิดเผยข้อมูลกันอย่างชัดเจน  แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถปราบกองกำลังของ LTTE ให้หมดไปได้ และเป็นปัญหายืดเยื้อไม่รู้จบสิ้น
           ตัวอย่างของภาพที่นำมาเสนอจต่อไปนี้ นำมาจาก www.eelamweb.com จะเห็นว่าพวก LTTE ได้พยายามแสดงว่า กองกำลังของตนเองเข้มแข็งพอสู้รัฐบาลได้ สามารถดึงดูดผู้หญิงให้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงใหล่กับชาย และอวดผลงานของพวกกองโจรพยัคฆ์ทมิฬอย่างน่าเชื่อถือ พวกเขามีกองกำลังทั้งทางบก เรือ และอากาศ เคยมีข่าวว่ามาใช้ดินแดนไทยใกล้เกาะภูเก็ตสะสมกำลังด้วย แต่รัฐบาลทั้งสองประเทศก็เคลียร์กันได้
กองกำลังทหารหญิงพยัคฆ์ทมิฬ (Tamil Women Fighters)
Tamileelam Women's Day.

 
กองกำลังรบทางทะเล เรียกว่า Sea Tigers
air5.jpg air1.jpg
เครื่องบินรบพวกทมิฬ ดัดแปลงจากเครื่องบินเก่าๆ เครื่องยนต์เดียว 4 ที่นั่ง  ติดระเบิดได้ 4 ลูก แต่สามารถบินข้ามเกาะเข้ากรุงโคลัมโบไปบอมบ์ค่ายทหารรัฐบาลได้
           การต่อสู้ของพวกทมิฬเใช้วิธีการทำสงครามกองโจร  เนื่องจากมีคนน้อยกว่าและยากไร้ นานๆ จะบุกหนักเข้าทำลายค่ายฝ่ายรัฐบาลสักครั้ง  แต่พวกเขาสู้แบบถวายชีวิต  มีการปลุกระดมที่ได้ผล ใช้ผู้หญิงและเด็กเป็นทหารจำนวนมาก ซี่งกลายเป็นอาวุธมโนธรรมที่ทำความลำบากใจให้ทหารรัฐบาลไม่น้อย  เมื่อถูกปราบหนักเข้า ก็แก้แค้นด้วยการลอบทำร้ายประชาชนชาวสิงหลด้วยการวางระเบิด  ใช้ระเบิดพลีชีพ บุกเผาหมู่บ้านและฆ่าหมู่ชาวบ้าน   

           พวกทมิฬในศรีลังกาเป็นผู้ก่อการร้ายพวกแรก ที่ใช้วิธีระเบิดพลีชีพ โดยการผูกระเบิดติดกับตัวเองแล้วจุดชนวนระเบิดสังหารเป้าหมายให้ตายพร้อมกัน(Suicide bomb attack)  มือระเบิดส่วนใหญ่เป็นหญิงสาว นับว่าเป็นต้นแบบของวิธีการพลีชีพด้วยระเบิดสังหารของผู้ก่อการร้ายโลกก็ว่าได้  ในปี 1991 พวกทมิฬในศรีลังกา ได้ส่งผู้หญิงชื่อธานุ (Dhanu) ติดระเบิดไปสังหารนาย ราจิฟ คานธี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย เพื่อประท้วงกรณีอินเดียให้ความช่วยเหลือรัฐบาลศรีลังกาในการปราบปรามพวกทมิฬ (http://www.spur.asn.au/chronology_of_suicide_ bomb_attacks_by_Tamil_Tigers_in_sri_Lanka.htm)
 
          
           แม้กระทั่งวัดวาอารามอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธก็ไม่วายจะโดนทำลาย  เช่นในวันที่ 25 มกราคม 2541/1998 เวลาประมาณ 6 โมงเช้า พวกก่อการร้ายทมิฬอีแลม (LTTE) กลุ่มหนึ่งใช้ระเบิดผูกติดตัวนั่งรถสองแถวเข้าไปพร้อมกลุ่มคนที่ไปตักบาตรหน้าวัดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่ศักดิสิทธิ์ที่สุดของชาวสิงหล  จากนั้นระเบิดตัวเอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 25 และบางส่วนของวัดเสียหาย

           อย่างไรก็ดี ยังมีพวกทมิฬสายกลางอีกจำนวนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังอย่างโหดร้ายของพวกทมิฬอีแลม(LTTE) และพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี  พวกนี้ถึงกับตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองขึ้นมาต่อต้านพวก LTTE เพื่อป้องกันการบังคับผู้หญิงและเด็กไปเป็นทหาร  และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในบางครั้ง กองกำลังของพวกนี้ที่สำคัญได้แก่  Eelam Revolutionary Organization of Students (EROS) ซึ่งก่อตั้งในลอนดอนในปี ค.ศ. 1975 โดยนักเคลื่อนไหวชาวทมิฬชื่อ Eliyathamby Ratnasabapathy  

           ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2004 ก็มีกองกำลัง Tamil Makkal Viduthalai Pulikal(TMVP) ตั้งขึ้นอีก โดยผู้นำทางทหารของ LTTE ภาคตะวันออกชื่อ วินายากามัวร์ธิ มูราลิธาราน(Vinayagamoorthi Muralitharan) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า กรุณา (Karuna ) โดยประกาศแยกตัวเป็นรัฐอิสระออกจากฝ่ายทมิฬอีแลมทางเหนือ และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขความเสมอภาคเท่าพวกสิงหลและฮินดู   เขาได้ร่วมมือกับประธานาธิบดี ราชาปักษา ส่งทหารเข้าโจมตีแย่งดินแดนคืนจากพวก LTTE หลายครั้ง ผู้นำพรรค JHU ที่เป็นพระสงฆ์บางรูป ได้ออกมาสนับการยอมรับนายกรุณา ให้มาอยู่ข้างฝ่ายรัฐบาลอย่างเปิดเผย  

           การเจรจาหยุดยิงอย่างถาวรที่นอร์เวย์ ซึ่งประธานาธิบดีมหินทะ ราชาปักษี พยายามทำขึ้นในช่วงปี 2548-49  ต้องสะดุดไปอีก สาเหตุหนึ่งเนื่องจากกองโจรทมิฬได้วางระเบิดรถบัส ทำให้ทหารเรือ 10 คนและชาวบ้าน1 คนตาย และบาดเจ็บจำนวนมาก  (เมษายน 2549)
           เหตุการณ์ร้ายที่พวกทมิฬก่อไว้ในอดีตมักถูกพวกสิงหลนำมาตอกย้ำเสมอ  เพื่อให้เห็นความโหดร้ายของพวก LTTE  เช่น ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2529 พวกก่อการร้ายทมิฬ 15-20 คน เดินเข้าสู่หมู่บ้าน  มหาดิวูวีวา (Mahadivulwewa) กราดปืนยิงชาวสิงหลตาย 20 คน เผาบ้าน 20 หลัง  และที่หมู่บ้านเดียวกันนี้ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2530  พวกม๊อบทมิฬยิงชาวบ้านตาย 10 คน และเผาบ้าน 15 หลัง

           หมู่บ้าน มหาดิวูเวเว อยู่ในเขต โมราวีวะ (Morawewa) เมืองทรินโคมาลี (Trincomalee) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพวกทมิฬ  มีสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาอยู่หลายแห่ง มักเกิดปัญหาระหว่างพวกทมิฬกับสิงหลบ่อยครั้ง  และในระยะหลัง ดูเหมือนว่าการสังหารพระสงฆ์และชาวบ้านโดยการขี่จักรยานยนต์เข้าไปจ่อยิงแบบ ที่ทำกันในภาคใต้ของไทยจะกลายเป็นแฟชั่นที่ระบาดไปศรีลังกาด้วย  จึงมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

           การรายงานข่าวจากทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับการต่อสู้และทำลายล้างกัน เป็นเรื่องที่สับสนจนไม่รู้ว่าจะเชื่อข้างใหนดี  ตัวอย่างเช่น  ในปี 2550 มีข่าวจากหนังสือพิมพ์สิงหลเน็ต [COLOMBO, SinhalaNet 2007.05.14 09:36AM http://www.sinhala.net/LocalNews/
SinhalaNet_Full_News.asp?ID=1960#NewsViewBM] รายงานว่า ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 มือสังหารชาวทมิฬ 3 คน ขี่จักรยานยนต์เข้าไปยิง พระภิกษุฮันดันกามูวี นันดาราถานา เถระ 

(Handungamuwe Nandarathana Thera) เจ้าอาวาสวัด ศรีพับบาตถาระมายา(Sri Pabbattharamaya) เสียชีวิตคาที่  สถานที่นี้เป็นสถานที่เดียวกับที่เกิดเรื่องในปี พ.ศ. 2529 การเสนอข่าวนี้ มีการเสนอข่าวย้อนหลังความโหดร้ายของพวกทมิฬในปี 2529-30 ดังกล่าวด้วย และอ้างข่าวการสังหารพระฮินดู เจ้าอาวาสวัดฮินดูแห่งหนึ่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ด้วย ดูจะเป็นการตอกย้ำให้เห็นความโหดร้ายของพวกทมิฬอย่างเห็นได้ชัด


           เมื่อมาดูการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของพวกทมิฬบ้าง พวกเขาเสนอข่าวเดียวกันนี้ในอีกแง่มุมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เว็บไซต์ทมิฬเน็ต[TamilNet, Sunday, 13 May 2007, 12:09 GMT http://www.tamilnet.com/art.html? catid=13&artid=22150]  ลงข่าวเดียวกัน แต่ระบุว่าไม่สามารถระบุว่ามือปืนเป็นฝ่ายใด แต่ได้สรรเสริญพระภิกษุนันดาราถานา ว่า เป็นพระที่พยายามต่อสู้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างพวกทมิฬกับชาวพุทธสิงหลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเคยไปร่วมงานพิธีที่สำคัญๆ ของพวกทมิฬอยู่เสมอ อย่างเช่น งานปองกูทมิฬ ซึ่งเปรียบเสมือนวันชาติของพวกเขา และเสนอภาพพระภิกษุรูปนี้ในงานพิธีที่ถ่ายร่วมกับผู้นำชาวทมิฬ  ข่าวนี้ทำให้เข้าใจเอาเองได้ว่า มือสังหารอาจเป็นชาวสิงหลที่ไม่พอใจความพยายามประณีประณอมของพระรูปนี้ก็ได้

 
            การสังหารพระสงฆ์รายนี้ เป็นเรื่องใหญ่ จนพวกทมิศกลุ่ม EROS ได้ออกมาแถลงว่า  “การ สังหาร นันดาราถานา เถโร เป็นเรื่องที่ไม่สมควร  และเป็นการกระทำที่จะกระตุ้นให้เกิดความแตกแยกทางเผ่าพันธุ์ระหว่างคนสิงหล และทมิฬให้มากขึ้น  เรา กลุ่มผู้นำทมิฬ สิงหล และมุสลิม ซึ่งเป็นตัวแทนชุมชนของเรา ถือว่านี่คือการกระทำที่มุ่งสู่นรก (hell-bound) ซึ่งจะทำให้เกิดการตาย และทำลายล้างประเทศของเรามากกว่าการกระทำเพื่อให้เกิดสันติภาพ ประชาธิปไตย....เรา EROS จึงขอร้องเจ้าหน้าที่ศรีลังกา ให้มีมาตรการป้องกันพระสงฆ์ของทุกศาสนา เพื่อให้พ้นจากการเป็นเป้าหมายกระสุนปืนของพวกก่อการร้าย”

           ความขัดแย้งและการสู้รบที่ไม่จบสิ้นระหว่างพวกทมิฬกับสิงหล เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษายิ่งสำหรับประเทศต่างๆ ในการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย  และดูเหมือนจะใกล้เคียงกับเรื่องราวในภาคใต้ของไทยเข้าไปทุกที

18. การใช้ศาสนาในการปฏิรูปสังคม
ในการช่วยเหลือพัฒนาสังคมและความกินดีอยู่ดีของประชาชน  สถาบันสงฆ์ศรีลังกามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อคนสิงหลมาก  และดูเหมือนว่า วิธีการสรรโวทัยเป็นวิธียอดนิยม   แนวทางนี้ดัดแปลงมาจากแนวทาง ซาร์โวดายา(Sarvodaya)หรือที่นิยมเขียนเป็นไทยว่า สรรโวทัย ของพวกฮินดูในอินเดีย แต่ปรับมาใช้ปรัชญาศาสนาพุทธเข้าไปเป็นแกนนำ (Buddhist-Gandhian philosophy)  แนวทางนี้ได้รับผลสำเร็จไม่น้อย มีพระสงฆ์เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย

           จากข้อเขียนของท่าน ส. สิวรักษ์ อธิบายว่า วิธีการเคลื่อนไหวมวลชนแบบสรรโวทัยในศรีลังกา ใช้การปลุกมโนสำนึกด้านการพัฒนาสังคมของคนในชาติ โดยมีหลักว่า การปลุกคนในระดับบุคคลเรียกว่า ปุริโสทัย จากนั้นก็ปลุกระดับหมู่บ้าน เรียกว่า คาโมทัย ขยายต่อเป็นระดับชาติ เรียกว่า เทโสทัย เป้าหมายสุดยอดคือ ปลุกคนทั้งโลก เรียกว่า สรรโวทัย (สรรพ+อุทัย)   อาจารย์ ส.  สุลักษณ์ ให้ความเห็นไว้ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยธณรมศาสตร์ เมื่อ 14 มิถุนายน 2531 ว่า วิธีการนี้ยังมีข้อบกพร่องหลายอย่าง แต่สามารถนำมาปรับปรุงเพื่อใช้ในประเทศไทยให้เหมาะสมได้ [14]
            ดร. เ.อ ที. อริยารัตน์ (Dr. A.T. Ariyaratne) อดีตครูในชนบทผู้หนึ่งได้กลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวสรรโวทัยที่มีชื่อเสียงมากของศรีลังกา ท่านในแนวคิด Buddhist-Gandhian philosophy และได้ขยายผลจากการพัฒนาชุมชนไปถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมด้วย  เคยมีการร่วมมือกับพระสงฆ์ออกมาต่อต้านการก่อสร้างโรงแรมใกล้กับราชวิหารแห่งหนึ่ง มีประสงฆ์เข้าร่วมถึง 22,300 รูป การประท้วงนี้ ใช้วิธีสัตยาเคราะห์ หรืออหิงสาเป็นหลัก


           ปัจจุบันการพัฒนาสังคมโดยหลักการสรรโวทัย  ได้ขยายไปทั่วประเทศ เป็นจำนวนกว่า 15,000 หมู่บ้าน 34 ตำบล จากข้อมูลในเว็บไซต์ล่าสุด อ้างว่ามีสาขาทั่วประเทศ กว่า 10,000 สาขาและต่างประเทศ 5 สาขา(http://www.sarvodaya.org/)
แนวคิดการทำงานของกลุ่มสรรโวทัยมีว่า  “เพิ่มพลังให้แก่ชุมชนให้สามารถลิขิตชะตากรรมของตนเองได้”  ชุมชนต้องสามารถสร้างอนาคตของตนเอง คณะทำงานมีหน้าที่ปลุกเร้าความรู้สึกในเรื่องนี้ ผู้แข็งแรงกว่าต้องช่วยผู้อ่อนแอกว่า คนรวยช่วยคนจน และแน่นอนว่า ก่อนที่จะทำได้ ต้องพยายามแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในชุมชนต่างๆ เสียก่อน ซึ่งหลักธรรมทางศาสนาช่วยได้อย่างมาก

กิจกรรมนำไอทีสู่ชนบท จาก http://www.sarvodaya.org/users/situ/

เว็บไซต์ของสมาคมสรรโวทัย ที่ http://www.sarvodaya.lk พยายามเรียกร้องคนทุกศาสนาให้หันหน้าเข้าหากัน โดยมีข้อความว่า  “เราทั้งหลายที่เกิดมาเป็นชาวพุทธ มุสลิม คริสเตียน หรือ ศาสนาใดๆ ก็ตาม  สามารถอยู่ในวัด  มอสก์ หรือโบสถ์ ของศาสนาอื่นได้อย่างสบายใจ และร่วมกันสวดภาวนาหรือทำสมาธิ  เพื่อสร้างความมีสติอันยิ่งใหญ่ ที่จะสามารถเอาชนะความโลภ โกรธ หลง ฯลฯ ได้ (We who have been born Buddhist, Hindu, Christian, Muslim, or any other faith can be very comfortable in each others temple's, mosques, and churches, praying or meditating together to create a spiritual mass of consciousness which can overcome our greed, hatred, and illusions, etc)


           ภาพกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนของกลุ่มสรรโวทัยโดยการเรียกร้องให้คนรวยบริจาคทรัพย์ช่วยคนจนในปี ค.ศ.  2006
 

           ในงานวันเกิดครบรอบ 75 ปีของ ดร. เอ. ที. อริยารัตน์  เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549ประธานาธิบดี มหินทะ ราชาปักษาให้ความสำคัญแก่ท่านมากถึงกับไปร่วมงานด้วย จะเห็นว่ามีนักบวชทุกศาสนาเข้าร่วมงาน แสดงให้เห็นความสำเร็จในการเป็นองค์กรสมานฉันท์ ที่ยอมรับกันทุกฝ่าย สามารถดึงชุมชนทุกศาสนาเข้ามาร่วมงานพัฒนาสังคมได้
 

           ความสำเร็จของโครงการสรรโวทัยนี้ ได้พิสูจน์มาหลายประเทศแล้วว่า นักบวชทุกศาสนามีศักยภาพสูงในการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรวม  และทำงานได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียอีก เป็นงานที่ควรส่งเสริมให้ขยายตัวให้มากขึ้น นอกเหนือจากการให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณเพียงด้านเดียว
เจมส์ เจ ฮิวส์ [17, 1987] ได้เข้าไปศึกษากิจกรรมของสงฆ์ในศรีลังกา และเสนอรายงานการวิจัยบทบาทที่ควรเป็นของพระสงฆ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในสายตาชาวศรีลังกา เขาพบว่า ชาวศรีลังกามีความเห็นว่า บทบาทที่เหมาะสมของพระสงฆ์ ควรมีกิจกรรมทางสังคมในรูปของการช่วยเหลือชาวบ้านทางด้านอื่นด้วย ไม่ใช่สอนแต่ธรรมะเท่านั้น  เช่น การสอนด้านการเกษตรและสุขภาพ สอนปรัชญาสรรโวทัย จัดตั้งโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่วัดหรือเอกชนเป็นเจ้าของ แม้กระทั่งช่วยจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล  ดังแผนผังข้างล่างนี้
 
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม