วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วิเคราะห์ปัญหารากเหง้าไฟใต้



วิเคราะห์ปัญหารากเหง้าไฟใต้

พันเอก บุญรอด  ศรีสมบัติ
๕ มกราคม ๒๕๕๕
กล่าวนำ

        เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ กลุ่มก่อความไม่สงบได้บุกโจมตีที่ตั้งหน่วยกองพันพัฒนาที่ ๔ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้สังหารเจ้าหน้าที่ทหาร ๔ นาย ล่าถอยไปพร้อมกับอาวุธมากกว่า ๓๑๔ กระบอก ขณะเดียวกันก็ลอบเผาโรงเรียนและจุดต่าง ๆ อีก ๑๘ แห่งในคืนเดียวกัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่แห่งความรุนแรงที่ได้ปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้นก็ตามด้วยการลอบวางระเบิด การลอบฆ่า และการลอบวางเพลิงตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน๒๕๔๗ และสถานการณ์ได้พัฒนารุนแรงที่สุดถึงขั้นสุกงอมเมื่อ ๒๘ เมษายน เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบได้ปฏิบัติการครั้งใหญ่ ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต ๑๐๗ คน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจพลีชีพ    ๕ นาย ทางด้านการปฏิบัติของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ยังคงตอบโต้ด้วยความรุนแรง มีการใช้อำนาจเกินความจำเป็น การคอรัปชั่น การใช้เทคนิคการปราบปรามที่ผิดพลาด การขาดความเข้าใจประเด็นอ่อนไหวในพื้นที่ความขัดแย้งทางศาสนาและวัฒนธรรม กลายเป็นสิ่งชักนำให้สถานการณ์ภาคใต้ของไทยกลับขยายใหญ่โตขึ้นตามลำดับ

         รัฐบาลชุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่สามารถสนองตอบต่อสถานการณ์ความรุนแรง ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ ได้ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ไม่มีหนทางยุติลงได้ง่าย จำนวนผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยไปมากกว่า ๑,๔๐๐ คน (เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙) และวงจรแห่งความขัดแย้งได้หมุนวนไปอย่างไม่หยุดหย่อน เหตุการณ์ฆ่ารายวันกลายเป็นเรื่องปกติในวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่สาม จังหวัดใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานีไปอย่างถนัดตา

      บทความนี้มีความมุ่งหมาย เพื่อวิเคราะห์ปัญหารากเหง้าของการกลับฟื้นคืนชีพของการ  ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง โดยสนใจประเด็นความล้มเหลวในการใช้นโยบายที่แข็งกร้าวของรัฐบาลที่ผ่านมาต่อ สถานการณ์ที่ซับซ้อนยิ่งกว่าในอดีต ซึ่งเป็นมุมมองจากข้างนอก เป็นการวิเคราะห์จากเอกสารต่างประเทศในระหว่างที่ผู้เขียนศึกษาวิทยาลัย ป้องกันราชอาณาจักรออสเตรเลีย (The Centre for Defence and Strategic Studies: CDSS) เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๖

ปัญหาแรงผลักดันทางประวัติศาสตร์

        มุสลิมภาคใต้ของไทยส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์(Malays) ที่ใช้ภาษาพูดเป็นมาเลย์มากกว่าใช้ภาษาไทย ดินแดนแห่งนี้ครั้งหนึ่งในอดีตเคยปกครองและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ปัตตานี(Independence sultanate of Patani) ปัจจุบันคือ พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานีและส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา อาณาจักรปัตตานีเคยเจริญรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยปี ค.ศ. ๑๓๙๐ ถึง ๑๙๐๒ (พ.ศ.๑๙๓๓ – ๒๔๔๕) รัฐไทยได้พยายามใช้นโยบายผสมกลมกลืน (assimilation) คนมุสลิมมาเลย์ให้อยู่ภายใต้โครงสร้างระบบการเมืองการปกครองเดียวกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๕

        ต่อมารัฐบาลไทยประสบความสำเร็จในการสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นปึกแผ่น ของรัฐ แต่ได้ละเลยถึงความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ภาษาและศาสนาของชุมชนมาเลย์ท้องถิ่น อุปสรรคทางภาษา รายได้และค่าครองชีพที่แตกต่างกัน และนโยบายเลือกปฏิบัติ (discrimination) เป็นจุดอ่อนสำคัญต่อความรู้สึกที่แปลกแยก (alienation) และทำให้เกิดการเผชิญหน้าที่รุนแรงระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับชาวไทยมุสลิม ประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและศาสนานักวิเคราะห์ท่านหนึ่ง กล่าวสรุปไว้อย่างน่าฟังว่า ชนกลุ่มน้อยมุสลิมมาเลย์จะแสดงการต่อต้านรัฐบาลกลาง เมื่อเขาเหล่านั้นมีทรรศนะว่าเอกลักษณ์วัฒนธรรมอิสลามถูกคุกคามข่มขู่จาก อำนาจรัฐไทย

        กรณีมุสลิมภาคใต้ของไทยนั้น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้เรียกร้องโดยหลักการพื้นฐานแล้วคือ การปกครองตนเอง (Autonomy) ด้วยคณะบริหารของตน (self-administration) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของวัฒนธรรมมุสลิมมาเลย์ อย่างไรก็ตามการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงครั้งใหม่ ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๗ หามีกลุ่มก่อความไม่สงบใดกล่าวอ้างถึงข้อเรียกร้องการปกครองตนเอง อย่างชัดเจน แล้วกำหนดแผนการและขั้นตอนการนำไปสู่การปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับกลุ่ม Moro Islamic Liberation Front (MILF) ของฟิลิปปินส์

        โดยสรุปปัญหารากเหง้าความรุนแรง (Root of violence) ภาคใต้ของไทย ส่วนที่มีสาเหตุมาจากแรงจูงใจทางประวัติศาสตร์ (historical grievances) แล้ว สาเหตุหลักคือ การขาดการเหลียวแล การเลือกคิด เลือกปฏิบัติ และแรงกดดันจากความพยายามใช้นโยบายผสมกลมกลืนให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล มานานนับศตวรรษ อย่างไรก็ตามแรงจูงใจทางประวัติศาสตร์นั้น มิได้ให้คำอธิบายอย่างชัดเจนว่า ทำไมความรุนแรงจึงปะทุขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗

ปัญหารากเหง้าทางการเมืองที่เป็นรอง

         จากประวัติศาสตร์การที่ชนกลุ่มน้อยมาเลย์ได้รับการแบ่งแยกให้เป็นกลุ่ม บุคคลชั้นสอง(second-class status) ของประเทศนั้น เป็นปัญหารากเหง้าที่รัฐขาดการเหลียวแลมานาน ดังนั้นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจึงได้เสนอข้อเรียกร้องความเท่าเทียมทางการเมือง มาเป็นระยะ ๆ ในประวัติศาสตร์ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ (constitution) ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีบทบัญญัติเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปกครองตนเองได้ในระดับสูงถึงจังหวัด และอำเภอ แต่การกระจายอำนาจการปกครองที่เกิดขึ้นนั้น กลับไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการนำไปสู่การปฏิบัติ ปัญหาทางการเมืองภาคใต้ของไทยปัจจุบันชาวไทยมุสลิมมีความรู้สึกว่า พวกเขายังถูกปกครองโดยตรง (direct rule) จากกรุงเทพฯ และด้วยความรู้สึกนี้เองที่กลายเป็นน้ำหล่อเลี้ยงความรุนแรงให้คงอยู่จนถึง ปัจจุบัน

ปัญหารากเหง้าทางด้านความยากจนและการพัฒนาที่ล้าหลัง

         ปัจจัยสำคัญที่เติมเชื้อไฟให้กับสถานการณ์การก่อความไม่สงบ ส่วนหนึ่งก็คือ การขาดประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น งบประมาณความช่วยเหลือและการลงทุนส่วนใหญ่ลงไม่ถึงพื้นที่เป้าหมาย เพราะพื้นที่นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ทำให้เกิดเงื่อนไขยุ่งยากที่เอกชนจะเข้าไปลงทุน คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ (National Reconciliation Commission: NRC ) รายงานว่าหนึ่งในสามชั้นของปัญหาภาคใต้ คือปัญหาโครงสร้างในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงขยายตัวมากยิ่งขึ้น เพราะจำนวนประชาชนยากจนสูง (คนจนมีจำนวนมาก) ส่งผลให้มีการแย่งชิงทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด อันนำไปสู่ความยากจน (poverty) อย่างไม่มีทางเลือก ถึงกระนั้นก็ตามนักวิเคราะห์ทางสังคมกลับโต้เถียงว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิด (misconception) เหมือน ๆ กันว่า ความยากจนหรือส่วนที่มีความสัมพันธ์กับความยากจนเป็นสาเหตุของความรุนแรง

         แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วแม้ความยากจนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการใช้ความรุนแรง แต่มันมิใช่ปัญหาทั้งหมด แม้ว่าพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจว่าเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุด ในประเทศ แต่ตัวมันเองมิใช่จะนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงเสมอไป แต่เป็นความยากจนที่พิจารณาในแง่มุมของการไม่ได้รับความยุติธรรม (injustice) มากกว่า ดังนั้นหัวใจของปัญหาในการใช้ความรุนแรงมีปัจจัยขับเคลื่อนโดยธรรมชาติ คือ ปัญหารากเหง้าทางการเมือง ถึงแม้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจสามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้ง พื้นที่ภาคใต้ แต่จะไม่เกิดผลต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงได้เลย ถ้ารัฐบาลไม่มีความริเริ่มกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาแรงจูงใจ ทางการเมือง (political grievances)

ปัญหารากเหง้าของระบบการศึกษา

         ความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาระบบการศึกษา เป็นอีกปัญหารากเหง้าหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งของการก่อความไม่สงบ ซึ่งปัญหานี้เป็นอุปสรรคต่อชาวมุสลิมมาเลย์ส่วนใหญ่ ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งในทางโลกและทางศาสนา ระบบโรงเรียนปอเนาะ (Pondok) ของไทย ต้องเผชิญกับการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในบริบททางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจใหม่ตามกระแสโลกาภิวัฒน์

        บางโรงเรียนหรือบางคน เลือกเดินเส้นทางสุดขั้วโดยมีเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนและการทำสงคราม ศักดิ์สิทธิ์ด้วยวิธีการรุนแรง เพื่อตอบโต้รัฐบาลไทยที่เขาเชื่อว่า กดขี่ข่มเหงพวกเขาเป็นที่ชัดเจนว่า ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ ๑๙๙๐ กลุ่มพันธมิตรก่อการร้าย อันประกอบด้วยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเก่า (Former separatist) และกลุ่มทำสงครามศักดิสิทธิ์ใหม่ (newly-arrival jihadists) ได้เริ่มแทรกซึมแฝงตัวเข้าสู่ระบบการศึกษาปอเนาะ แล้วเผยแพร่อุดมการณ์ลัทธิอิสลามแบ่งแยกดินแดน (Islam – separatist ideology) เจาะลึกเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างกว้างขวางกว่าในอดีต จากรายงานของหน่วยข่าวกรองกองทัพบก ระบุว่าโรงเรียนสอนศาสนากลายเป็นแหล่งบ่มเพาะสมาชิกใหม่ของกลุ่มเคลื่อนไหว ต่อสู้แบ่งแยกดินแดน และหัวหน้ากลุ่มก่อความไม่สงบระดับท้องถิ่นล้วนมีประวัติการศึกษาสำเร็จจาก ระบบโรงเรียนปอเนาะ

        นอกจากนี้รัฐบาลไทยเชื่อว่า โรงเรียนสอนศาสนาปอเนาะที่มีสายสัมพันธ์กับประเทศตะวันออกกลางนั้นเป็นภัย คุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะรัฐบาลเชื่อว่า โรงเรียนเหล่านี้ เป็นเป้าหมายของการบ่มเพาะของกลุ่มก่อความไม่สงบ และขณะเดียวกันก็เป็นเป้าหมายของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ เพื่อขจัดต้นต่อของปัญหาก่อความไม่สงบ

ความล้มเหลวเชิงนโยบายของรัฐบาลทักษิณ

มุมมองของทักษิณต่อปัญหาภาคใต้

          สำหรับมุมมองของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เขาเชื่อว่าปัญหาการ  ก่อความไม่สงบเพื่อการแบ่งแยกดินแดนนั้น ได้รับการแก้ไขอย่างยาวนานเป็นอดีตและหมดไปแล้ว ส่วนปัญหาที่เหลือ คือ การลอบยิงและการลอบวางระเบิดนั้น เขามั่นใจว่า เป็นปัญหาของความขัดแย้งและขัดผลประโยชน์ของกลุ่มแก๊งอาชญากร (criminal gangs) ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะมอบโอนอำนาจการดูแลพื้นที่ให้ตำรวจเป็นฝ่ายจัดการกับ ปัญหาเหล่านี้ และในฐานะที่เป็นนายตำรวจเก่าจึงมองปัญหาความไร้เสถียรภาพ (ความมั่นคง ) รวมทั้งปัญหาอันซับซ้อนของสังคม – การเมือง(socio-political problems) ของภาคใต้ เป็นเพียงปัญหาเรื่องยาเสพติด (illicit drug uses) ธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งต้องใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีทางกฎหมายและการจัดระเบียบสังคม ( Low and Order ) ดังนั้นภาพความคิด (mindset) ในการมองปัญหาของเขาต่อปัญหารากเหง้าของภาคใต้นั้นผิดพลาด(misplaced) มาตั้งแต่ต้น

          ยิ่งกว่านั้นทักษิณเข้าบริหารประเทศ ด้วยความเชื่อที่พยายามปรับโครงสร้างการบริหารให้เป็นระบบธรรมาภิบาล (Good government) ทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้นั้นการบริหารราชการยังขาดประสิทธิภาพและ ไร้ประสิทธิผล และเขาเชื่ออีกว่าระบบโครงสร้างการบริหารภาคใต้เดิมนั้นสนับสนุนเพื่อผล ประโยชน์ของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นกังวลว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) (Southern Border Provincial Administration Centre: SBPAC) มีการปฏิบัติงานเพื่อรับใช้พรรคประชาธิปัตย์ มากกว่าตัวเขาและรัฐบาลของเขา ยุทธศาสตร์ที่เขานิยมใช้ คือการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ โดยเอาคนของตนเองบรรจุลงตำแหน่งดังกล่าว ดังนั้นเจ้าหน้าที่หลักที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขาจึงเป็นบุคคลที่มีแนวคิดและมุมมองทางด้านความมั่นคงเช่นเดียวกับเขา มีการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนบ่อยครั้ง จนกระทั่งบุคคลเหล่านั้นอยู่ภายใต้การครอบงำของเขา (personal dominance) โดยสิ้นเชิง

           ทางด้านนโยบายก็เช่นเดียวกัน เขาชอบริเริ่มนโยบายด้านความมั่นคงที่แข็งกร้าวและ ท้าทายฝ่ายก่อความไม่สงบอยู่เสมอ และครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแนะนำให้รัฐบาล เลือกใช้หนทางลดความแข็งกร้าว(Gentler approach) ในการจัดการปัญหา ศาสตราจารย์ ปิยะ กิจถาวร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเขามีแนวทางการทำงานของเขา ซึ่งเขาคิดว่า การใช้กำลังสามารถแก้ปัญหาได้ แต่สองสามปีที่ผ่านมากลับมียอดผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

การยุบเลิก ศอ.บต.และ พตท.๔๓

         ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างความเข้าใจและให้การศึกษาแก่ชาวไทยถึงความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตมุสลิมภาคใต้ของไทย และที่สำคัญ ศอ.บต. มีบทบาทสำคัญในการเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาค ใต้กับรัฐบาลกลาง และทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญที่ให้คำปรึกษาและแนะนำกับผู้บริหารและผู้กำหนด นโยบายจากส่วนกลาง

        เมื่อ ๑ พ.ค.๒๕๔๕ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรียุบเลิก ศอ.บต. ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโครงสร้างความมั่น คง   ๓ ประการ คือ  

ประการแรก เครือข่ายงานข่าวกรองและข่าวลับที่สำคัญๆพังทลายลงไปชั่วพริบตา  
ประการที่สอง เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ที่ได้สร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้นำมุสลิมในพื้นที่ และเป็นช่องทางให้ชาวมุสลิมได้แสดงความคิดเห็นข้อเรียกร้องพื้นฐานขาดสะบั้น ลง และ 

ประการสุดท้าย ศอ.บต. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พตท.๔๓ (Civilian-Police-Military Combined Forces ๔๓) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงาน ข่าวกรองในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้นเมื่อส่งมอบความรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงให้แก่สำนักงานตำรวจแห่ง ชาติ     ดุมล้อแห่งความมั่นคงก็หลุดออกจากเบ้าของการจัดระเบียบความมั่นคงของพื้นที่ ภาคใต้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

         โดยสรุปแล้วการตัดสินใจของรัฐบาลในการยุบเลิก ศอ.บต. นั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการรวบรวมและการวิเคราะห์ข่าวสาร ปัญหาใหญ่อีกเรื่องที่ตามมาก็คือการส่งมอบความรับผิดชอบให้กับตำรวจนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านถ่ายเทอำนาจของทั้งสองหน่วยงาน ก่อให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ (Power vacuum) ตรงจุดนี้เองที่ทำให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเก่าและกลุ่มใหม่ที่เป็นนักรบ ศักดิ์สิทธิ์ (Jihadists) ได้รวมตัวกันมีการปรับรื้อองค์กรใหม่และมีเสรีในปฏิบัติการก่อความไม่สงบ (freedom of movement) ได้ โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าตรวจสอบและขัดขวาง

การบริหารเกณฑ์เสี่ยงที่ไม่มีคุณภาพ

         การที่รัฐบาลทักษิณล้มเหลวในการแจ้งเตือนถึงภัยคุกคามเรื่องการก่อความ ไม่สงบแต่เนิ่น ทำให้ปัญหายกระดับสูงขึ้นเป็นสถานการณ์วิกฤติเร็วขึ้น โดยที่รัฐบาลมีการตอบสนองหรือตอบโต้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจำกัดในการบังคับ ใช้กฎหมาย เพราะแทนที่รัฐบาลน่าจะมองปัญหานี้เป็นปัญหาของการก่อความไม่สงบ (Insurgency problem) ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

        แต่รัฐบาลกลับตำหนิหรือให้ความสำคัญของความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพียง โจรกระจอก (gangs of organized criminal) เท่านั้น จนถึงเดือน เม.ย.๒๕๔๗ นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กล่าวปฏิเสธว่าไม่มีเหตุการณ์การก่อความไม่สงบหรือการก่อการร้ายในประเทศไทย เขากล่าวอ้างอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้นว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนการชั่วร้าย (evil plot) ที่จะทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

        ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้เสียโอกาสสำคัญในการผนึกกำลังประสานมาตรการตอบ โต้ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพกลับปล่อยเหตุการณ์ที่ค่อย ๆ ก่อตัวรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนบานปลาย และปัจจัยสำคัญที่โหมกระพือความโกรธแค้นเกลียดชังให้กับชาวมุสลิมภาคใต้ กล่าวคือไม่เพียงแต่รัฐบาลพยายามจะสร้างสถานการณ์ให้สับสนยิ่งขึ้น ดังกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของน้ำเลี้ยงสถานการณ์รุนแรงภาคใต้ ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังไม่สามารถให้ความกระจ่างกับเหตุการณ์วันที่ ๒๘ เม.ย.๔๗ กรณีกรือเซะ และ เมื่อวันที่ ๒๕ ต.ค.๔๗ กรณีของเหตุการณ์ที่ตากใบ ที่หลายฝ่ายต่างวิจารณ์ว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นต้น

การละเลยการมองปัจจัยปัญหาภายนอกประเทศ
การขยายตัวของลัทธิ Wahhabism 

          ชาวมุสลิมภาคใต้ของไทยส่วนใหญ่ยึดหลักปฏิบัติศาสนาอิสลามสายกลาง และมีความสอดคล้องกับหลักธรรมของอิสลาม แบบ Sufism – Sunni ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างสุดขั้วของมุสลิมสายกลาง ตลอดห้วงระยะเวลามากกว่าสิบปีที่ผ่านมาลัทธิความเชื่อ Salafi บริสุทธิ์ (Purist salafi ) ที่เน้นตามลัทธิ Wahhahism โดยที่หลักคำสอนและลัทธิดังกล่าวได้ถูกวางรากฐานอย่างลึกซึ้งฝังรากลึกลงตาม โรงเรียนและวิทยาลัยสอนศาสนาทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผ่านกระบวนการช่วยเหลือบริจาคจากตะวันออกกลางมานาน นับปี และมีการเผยแพร่ลัทธิมากยิ่งขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน

         กองทุนบริจาคหลาย ๆ กรณีเงินเหล่านี้ผ่านมาทางครูสอนศาสนา (Ustaz) ซึ่งเป็นผู้ได้รับการศึกษาจากปากีสถานและประเทศตะวันออกกลาง โรงเรียนปอเนาะบางแห่งกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่มี ศักยภาพในการเผยแพร่แนวคิดมุสลิมแข็งกร้าวต่อไป แต่อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายฝ่ายถกแถลงว่า การเจริญเติบโตของลัทธิ Wahhahism และการหลั่งไหลของเงินบริจาคภาคตะวันออกกลางนั้น มิได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดอุดมการณ์ Wahhahism กับลัทธินิยมความรุนแรง

สงครามต่อต้านการก่อการร้าย 

          จากการที่รัฐบาลไทยสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อสหรัฐฯ ในการทำสงครามอิรักได้เพิ่มแรงกดดันระหว่างกรุงเทพฯ กับมุสลิมชนกลุ่มน้อยภาคใต้ของไทย และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรส่งกำลังทหาร ๔๒๐ นาย เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพันธมิตรทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอิรัก กระทั่งต่อมาประธานาธิบดี บุช ได้ยกฐานะให้ไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโต้ (Non – NATO ally status) ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลทักษิณได้ก่อให้เกิดความโกรธแค้นชิงชังมากยิ่งขึ้น ใน       หมู่ชาวมุสลิมภาคใต้ของไทย

การสนับสนุนการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์สากล

       ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีหลักฐานอย่างเป็นทางการแสดงว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยมีความสัมพันธ์เชื่อม โยงกับกลุ่มทำสงครามศักดิ์สิทธิ์อิสลาม โดยจากคำยืนยันของนักข่าวอาวุโสของหน่วยข่าวกรองไทยย้ำว่า ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานว่า มีกลุ่มเจมาห์   อิสลามิยาห์ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่ชัดอย่างไม่ต้องสงสัยว่า กลุ่มมุสลิมนิยมลัทธิทหาร (militant Islamist organization) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ กำลังเฝ้ามองและจ้องหาจังหวะแสวงหาโอกาส  เพื่อเข้ามาใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แหล่งข่าวบางสำนักกล่าวว่า สถานการณ์ภาคใต้ของไทย ณ ปัจจุบัน ระดับความขัดแย้งยังเป็นความขัดแย้งในระดับท้องถิ่น (local conflict) (ในพื้นที่) เท่านั้น นักวิเคราะห์เสนอแนะว่า แทนที่จะเพิ่มความพยายามเพื่อการแกะรอยหาหลักฐานความสัมพันธ์ของกลุ่มทำ สงครามศักดิ์สิทธิ์นอกประเทศที่เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบของไทย สิ่งที่ดีที่สุดของรัฐบาลไทยขณะนี้ ควรค้นหาและการแก้ปัญหารากเหง้า (deep-rooted) ที่เป็นแรงจูงใจทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองจะเหมาะสมกว่าโฉมหน้าใหม่ของความขัดแย้ง

การทำความเข้าใจกับภัยคุกคามใหม่
 
         สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของไทย นั้นมีความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ  (new dimension) จากภาพในอดีตหลายประการ กล่าวคือ  

ประการแรก ไม่มีกลุ่มใดกล่าวอ้าง หรือรับผิดชอบต่อการก่อความไม่สงบครั้งใหม่ ทำให้เกิดความสงสัยต่อบทบาทในการจัดตั้งของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน  

ประการที่สอง ความรุนแรงครั้งใหม่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอดีต การปฏิบัติการที่มีระดับการประสานสอดคล้องอย่างสูง (sophistication) การผนึกกำลัง (coordination) อย่างสูง    และผู้ปฏิบัติการมีความเป็นมืออาชีพชนิดเชี่ยวชาญอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประการที่สาม สำหรับ การปฏิบัติการโจมตีไม่เพียงเป็นการวางแผนของกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มใดกลุ่ม หนึ่งเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ การปฏิบัติการครั้งสำคัญๆ นั้นอาจอยู่ภายใต้คำสั่งบงการของขบวนการเบอร์ซาตู (Bersatu) หรือ ปูเซก้า (Pusaka) และ 

ประการสุดท้าย เป้าหมายของความรุนแรงเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายที่หวังผลทางยุทธศาสตร์ไปมุ่ง กระทำต่อพระภิกษุและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น

       ลักษณะสงครามก่อความไม่สงบเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยมีข้อพิจารณา ๕ ประการดังนี้

๑.   ลักษณะของการทำสงครามเปลี่ยนจากสงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) เป็นสงครามในเมือง (Urban Terrorism) (รบในเมือง)

๒. เป้าหมายการโจมตีในอดีตเป็นทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เน้นหน่วยงานด้านความมั่นคงและงานข่าว แต่เป้าหมายของการโจมตีระลอกใหม่นี้ เป้าหมาย เป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่มีการป้องกันตัวเองต่ำ และเป้าหมายเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงตกเป็นเป้าหมายฆ่ารายวัน และยังมุ่งโจมตีต่อโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่ส่งผลกระทบทางด้านยุทธศาสตร์ ในการกำหนดนโยบายของรัฐ เพราะเป็นเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวต่อกระแสความคิดเห็นของสาธารณชน หรือประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งเป้าหมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรงระหว่างสังคม พุทธและสังคมอิสลาม

๓. อดีตการปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายใช้วิธีการทางทหาร คือ การซุ่มโจมตี (Ambush) และการตีโฉบฉวย (raid) ปัจจุบันใช้ยุทธวิธีการก่อการร้าย เช่น การลอบสังหารด้วยอาวุธ (assassination) การลอบวางระเบิด (bombing) และการลอบวางเพลิง

๔. ลักษณะการจัดโครงสร้างองค์กรก็แตกต่างกัน ในอดีตการก่อความไม่สงบมีรูปแบบการจัดตั้งเพื่อปฏิบัติสงครามกองโจร
(Guerrilla unit)  แต่ปัจจุบันองค์กรมีการจัดที่ปิดลับ  (secret) แยกส่วน (Compartmentation) ระหว่างส่วนวางแผนกับส่วนบังคับบัญชาและส่วนปฏิบัติการอย่างเด็ดขาดและเป็น ความลับ รู้เฉพาะในส่วนที่ตนเองปฏิบัติ(need to know) และส่วนปฏิบัติการมีการแยกย่อยออกเป็นระดับเซลส์ที่มีอิสระในการปฏิบัติการ ไม่ต้องรอคำสั่ง สอดคล้องกับการจัดองค์กรของกลุ่มก่อการร้ายระดับสากล
๕. พื้นที่ปฏิบัติการ สงครามในอดีตรบกันในป่าและภูเขา ส่วนปัจจุบันกลุ่มก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ได้ย้ายสนามรบมาเล่น ในหมู่บ้าน ในเมือง และในเมืองใหญ่

บทสรุป

         กล่าวโดยสรุปแล้วการต่อสู้และความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ได้ปรับกระบวนการไปอย่างรวดเร็วจากการต่อสู้เพื่อการแบ่งแยกดินแดนโดยอาศัย ลัทธิชาตินิยมเป็นแกนกลาง (Nationalist – Separatist Struggle) เป็นการต่อสู้ที่ทำให้เป้าหมายเกิดความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนา (Political – Religious Conflict) จะเห็นได้ว่า กลุ่มก่อความไม่สงบพยายามปลุกระดมในประเด็นการเมือง แล้วเรียกร้องให้เกิดการชุมชนรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยใช้หลังอิงเป้าหมายทางศาสนาอิสลามมากกว่า มุ่งประเด็นชาตินิยม (มุสลิมนิยม) สุดท้ายก็คือ การใช้พลังอำนาจทางอุดมการณ์ศาสนาอิสลามเข้าแทนที่อุดมการณ์เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์มุสลิม (ethno-nationalism)

***************************
บรรณานุกรม
Anthony Davis, ‘No end in sight for Southern Thailand’s escalating insurgency’, March ๐๑, ๒๐๐๕, http://intranet.defence.gov.au/jrl/janes/jir๒๐๐๕/jir๐๑๐๙๓.htm, [accessed ๒๖ July ๒๐๐๖].
Anthony Davis, ‘School system forms the frontline in Thailand’s Southern unrest’, Jane’s Intelligence Review, November ๐๑, ๒๐๐๔,  http://intranet.defence.gov.au/jrl/janes/jir๒๐๐๔/jir๐๑๐๙๙.htm, [accessed ๒๖ July ๒๐๐๖].
Aurel Croissant, ‘Unrest in South Thailand: Contours, Causes, and Consequences since ๒๐๐๑’, Contemporary Southeast Asia, vol ๒๗ no ๑, ๒๐๐๕.
BBC News, Asia-Pacific, ‘Fighting Thailand’s insurgents’, September ๑๕, ๒๐๐๖, http://www.news.bbc.co.uk/go/pr/fr/-/๒/hi/asia-pacific/๔๗๗๕๖๒๓.stm, [accessed ๑๕ August ๒๐๐๖].
Duncan McCargo, ‘Rethinking Thailand’s Southern Violence’, Critical Asian Studies, vol ๓๘ no๑, ๒๐๐๖.
International Crisis Group (ICG), ‘Southern Thailand: Insurgency, not Jihad’, Asia Reported no ๙๘, May ๑๘, ๒๐๐๕.
International Crisis Group (ICG), ‘Thailand’s Emergency Decree: no solution’, Asia Report no ๑๐๕, November ๑๘, ๒๐๐๕.
Institute of Defence and Strategic Studies (IDSS) and officer of the Coordinator for Counterterrorism US department of State, ‘Terrorism in Southeast Asia: The Threat and Response’, ๑๒-๑๓ April ๒๐๐๖.
Jeseph Chinyong Liow, ‘Bangkok’s Southern Discomfort: Violence and Response in Southern Thailand, IDSS Commentaries, no ๑๔, ๒๐๐๔.
Joseph Chinyong Liew, ‘The Pondok schools of Southern Thailand: Bastion of Islamic Education or Hotbed of Militancy?’, IDSS Commentaries, no ๓๒, August ๒๕, ๒๐๐๔.
Joseph Chinyong Liow, ‘The Security Situation in Southern Thailand: Towards and Understanding of Domestic and International Dimensions’, Studies in Conflict & Terrorism, vol ๒๗ no ๖, Nov-Dec ๒๐๐๔.
Michael Vatikiotis, ‘Resolving Internal Conflict in Southeast Asia: Domestic Challenges and Regional Perspectives’, Contemporary Southeast Asia, vol ๒๕ no ๑, ๒๐๐๕.
Muhammad Haniff Hassan, ‘Trouble in Thailand’s Muslim South: What a stronger Thaksin can do’, IDSS Commentaries, no ๖, February ๗, ๒๐๐๔.
National Reconciliation Commission (NRC), ‘Overcoming violence through the power of Reconciliation’, Bangkok, ๒๐๐๕.
Norman vasu, ‘Thailand’s Restive South: Time to Acknowledge the Multiplicity of Thai-ness’, IDSS Commentaries, no ๓๕, June ๒๒, ๒๐๐๕.
Rohan Gunaratna, Arabinda Acharya and Sabrina Chua, ‘Conflict and Terrorism in Southern Thailand’, ๒๐๐๕ Marshall Cavendish International (Singapore) Private Limited, ๒๐๐๕.
S.P.Harish, ‘Conflict in Southern Thailand: Removing Education from the Security Agenda,’ IDSS Commentaries, no ๓๓, August ๒๕, ๒๐๐๔.
S.P.Harish and Sabrina Chna, ‘Carnage in Southern Thailand: Is there Resource?’, IDSS Commentaries, no ๕๖, November ๓, ๒๐๐๔.
S.P.Harish, ‘The way Forward in the Southern Thailand Conflict: A Public Peace           Process’, IDSS Commentaries, no ๖๙, October ๑๑, ๒๐๐๕.
S.P.Harish, ‘Insurgency in Southern Thailand: Ethnic or Religious Conflict?’,
IDSS Commentaries, no ๑๗, April ๑๔, ๒๐๐๕.
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม