วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

เส้นทางการเงินหนุนผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้

เส้นทางการเงินหนุนผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ 


เส้นทางการเงินหนุนผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ 

      “ประยุทธ์” สั่ง กอ.รมน. ศึกษาข้อเสนอ บีอาร์เอ็น ร้องขอเขตปกครองพิเศษ 3 จังหวัดภาคใต้...

        เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2556 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ และสารสนเทศ สำนักรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ว่า ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้อาวุธทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่ รวมถึงการลอบวางระเบิดโรงเรียน การยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามน้ำมันเถื่อน และยิงอาสาสมัครทหารพรานขณะสร้างห้องน้ำ ซึ่งจากสถิติข้อมูลการสูญเสียตั้งแต่ปี 2547 ยอดผู้สูญเสียเจ้าหน้าที่จะน้อยกว่าประชาชน แต่ปีนี้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตมากกว่าประชาชน เนื่องจากช่องว่างที่เกิดระหว่างปฏิบัติหน้าที่

       ด้าน ร.ต.อ.หญิงสุวนีย์ แสวงผล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.) กล่าวว่า ทาง ปปง.ในฐานะที่รับผิดชอบการดำเนินงานโครงการบูรณาการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลด้านการข่าว การสืบสวน การติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงิน เครือข่ายยาเสพติดและผู้ก่อเหตุรุนแรง รวมถึงการกระทำความผิดมูลฐานอื่น ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2552 จำนวน 27 หน่วยงาน รวมถึงปฏิบัติงานร่วมเพื่อปิดล้อมตรวจค้นบุคคล สถานที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตรวจค้นจับกุมเครือข่ายค้าน้ำมันเถื่อนที่สนับสนุนกลุ่มก่อความรุนแรงจำนวน 15 ราย

        ทั้งนี้ ยังตรวจสอบสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในพื้นที่ จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาสเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับงานด้านศุลกากร ยาเสพติด ลักทรัพย์ รับของโจร จำนวน 13 ราย โดยคณะกรรมการธุรกรรมโดยมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำ ผิดตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 ถึงก.ค. 56 รวม 28,490,882.41 บาท

       “ปปง.ได้ประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย พ.ศ.2556 ผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงานปปง. คือบุคคลที่ถูกกำหนด ตามมาตรา 4 (UN list) จำนวน 287 ราย และรายชื่อบุคคลตามมาตรา 5 (THAILAND list) จำนวน 16 ราย ทาง ปปง.ยังส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการรายงานธุรกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ สามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายกำหนด คือจังหวัดสงขลาและนราธิวาส ทั้งนี้ได้ตรวจพบเส้นทางการเงินจากประเทศตะวันออกกลางเข้ามายัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุความไม่สงบด้วยหรือไม่” ร.ต.อ.หญิง สุวนีย์ กล่าว

         ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า ผบ.ทบ.สั่งการให้ กอ.รมน. ไปศึกษารายละเอียดข้อเสนอ บีอาร์เอ็น โดยเฉพาะข้อที่ 4 ที่เรียกร้องขอเขตปกครองพิเศษแลกกับการวางอาวุธ โดยกำชับให้พิจารณาในทุกแง่มุม โดยทาง กอ.รมน. ได้พิจารณาถึงความพร้อมของประชาชน 2 ด้านจากด้านรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กทม. มีประชากรที่เก็บภาษี ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์และมีความพร้อมในการดูแลตัวเองในการเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชากร 2 ล้านคน แล้วจะมีความพร้อมหรือไม่ ทั้งเรื่องความพร้อมในการจัดการกับตัวเองโดยอาศัยรายได้จากในพื้นที่ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะนำไปเสนอต่อที่ประชุม ศปก.กปต.ต่อไปทั้งนี้ พ.อ.บรรพต กล่าวถึงการพูดคุยข้อสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ว่ายังอยู่ในขั้นตอนหาข้อสรุปเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม หลังจากนั้นจะศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงการยอมรับของประชาชน ก่อนจะมีการประกาศเจตนาร่วมกัน แล้วกำหนดเป็นแบบแผนที่เป็นรูปธรรม.

http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม