วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

บทวิจารณ์หนังสือ ‘อัตลักษณ์และความรุนแรง: ภาพลวงของชะตาลิขิต’

บทวิจารณ์หนังสือ ‘อัตลักษณ์และความรุนแรง: ภาพลวงของชะตาลิขิต’ 

‘อัตลักษณ์และความรุนแรง: ภาพลวงของชะตาลิขิต’

            หนังสือเล่มนี้นำเรื่องอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวนำพาไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อผู้คนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ออกมาในลักษณะ ยกตนข่มท่าน ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ปัญหาอยู่ที่การให้ความสำคัญทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่อัตลักษณ์เชิงเดี่ยว แทนการมองคนคนหนึ่งมีความหลากหลายในตัวตน อมารตยา เซ็น อธิบายไว้ว่า “ในชีวิตปกติของเรา เราเห็นตนเองในฐานะสมาชิกของกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย เราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเหล่านั้นทั้งหมด เช่นการมองตัวเองว่าเป็นพลเมือง มีถิ่นฐาน ภูมิลำเนา เพศ ชนชั้น การเมือง อาชีพ การจ้างงาน อาหาร การกิน ความสนใจด้านกีฬา รสนิยมทางดนตรี หน้าที่ทางสังคม เสรีนิยม มังสวิรัติ มีบรรพบุรุษเป็นแอฟริกัน มีต้นกำเนินจากคาริบเบียน นักวิ่งระยะไกล นักประวัติศาสตร์ ครู นักประพันธ์ คนรักคนต่างเพศ ผู้เคารพสิทธิของเกย์และเลสเบียน คนชอบดูละคร นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม แฟนเทนนิส นักดนตรีแจส และเป็นผู้ที่เชื่ออยากปักใจว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่เฉลียวฉลาด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เราเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย เขาเป็นส่วนหนึ่งของทุกกลุ่มรวม (Collectivity) และการเปิดโอกาสให้เขาตัดสินใจว่า จะให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์นั้นๆ กี่มากน้อย”


           อมารตยา เซ็น เสนอไว้อย่างโดดเด่นว่า การก้าวข้ามความรุนแรงที่มาจากมายาคติของอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวต้องอาศัยการมีเหตุผลและเสรีภาพในการเลือก และต้องทำความเข้าใจระหว่างพหุวัฒนธรรมนิยมกับสิ่งที่อาจเรียกว่า “เอกวัฒนธรรมนิยมที่มีหลายแบบ” (Plural monoculturalism) การจับคนใส่กล่องอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวส่งผลให้เราไม่เห็นความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้านของเขา เกิดการแบ่งเขา แบ่งเรา และส่งผลให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อคนที่ไม่เหมือนเราง่ายขึ้น เพราะมโนทัศน์เรื่องอัตลักษณ์มีอิทธิต่อความคิดและการกระทำ

            การเมืองแห่งการเผชิญหน้าระดับโลกถูกมองว่าจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือศาสนาในโลก สิ่งที่รองรับวิถีการคิดเชิงเดี่ยวคือการจัดประเภทของประชากรแบบเดียวตามระบบการแบ่งฝ่ายเชิงเดี่ยวที่ครอบงำ การแบ่งฝ่ายของประชากรโลกตามแนวทางอารยธรรมหรือศาสนา ทำให้เกิดแนวคิดแบบ “แยกโดด” ซึ่งมองเห็นมนุษย์ด้านเดียว


          ฐานคิดของอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวเป็นปัจจัยตั้งต้นที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง ฐานคิดนี้เข้มแข็งในแง่การแบ่งคนออกจากกันจากปรากฏการระดับผิวหน้า ซึ่งมองข้ามอัตลักษณ์ที่อยู่ลึกลงไปก่อนการแสดงออกให้เห็นเป็นปรากฎการณ์ของคนคนหนึ่ง ลักษณะเดียว อัตลักษณ์เชิงเดี่ยว มักมีลักษณะปรปักษ์ กับการเลือกและการใช้เหตุผล เป็นลักษณะของการยัดเยียดอัตลักษณ์ ที่นำไปสู่การปลุกเร้าให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งบั่นทอนความสามารถของเราในการเอาชนะความรุนแรง

           อย่างไรก็ตาม ฐานคิดนี้ดูเหมือนเน้นการวิเคราะห์วิธีคิดแบบเส้นตรงเป็นสำคัญ คืออัตลักษณ์เชิงเดี่ยวก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงดังที่ อมารตยา เซ็น อธิบายความรุนแรงของภาพลวงตา (บทที่ 1) ว่าความขัดแย้งและความป่าเถื่อนในโลกจำนวนมาก ดำรงอยู่ผ่านภาพลวงของการมีอัตลักษณ์เดียวที่ไม่อาจเลือกเป็นอื่นได้จนกลบสายสัมพันธ์อื่นๆ (หน้า 13) เขาจึงเสนอการอาศัยการมีเหตุผลและเสรีภาพการเลือกที่หลากหลายเพื่อขจัดความรุนแรงเชิงมายาคติที่หนักหน่วงและตื้นเขิน เพราะอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวทำให้คนโง่เขลา และมองความจริงแบบบิดเบี้ยว อีกทั้งอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวถูกใช้เป็นอาวุธของนักกิจกรรมที่ชอบแบ่งฝ่าย แบ่งนิกาย ซึ่งให้กลุ่มเป้าหมายของตัวเองปฏิเสธความเชื่อมโยงแบบอื่นทั้งหมด นำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคมที่รุนแรงได้

           วิธีการนำเสนอในงานเขียนชิ้นนี้นับว่าน่าสนใจยิ่ง อมารตยา เซ็น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เสนอแนวคิดอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวพร้อมยกสถานการณ์ที่ตนเองประสบเมื่อตอนอายุ 11 ขวบ โดยเริ่มจากการ “เล่าเรื่อง กาเดร์ มีอา ที่ถูกแทงตายในฐานะมุสลิมผู้ตกเป็นเหยื่อ ก่อนตาย กาเดร์ มีอา สลบอยู่หน้าบ้าน ร้องขอความช่วยเหลือ โดยพ่อของเขาพาไปส่งโรงพยาบาล โดยการมองอัตลัษณ์ที่เป็นอริของอีกฝ่ายได้ลดทอนความเป็นมนุษย์จนนำไปสู่การขาดเสรีภาพที่จะมีชีวิต การตัดขาดจากอัตลักษณ์ร่วม (Collective Identity) ซึ่งเป็นแก่นใหญ่ใจความของงานชิ้นนี้ที่ อมาตรยา เซ็น นำเสนอเพื่อให้เห็นภาพลวงของอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวที่ตัดขาดความสัมพันธ์เชิงมนุษย์ลง อัตลักษณ์เชิงเดี่ยวเป็นวิธีคิดที่พยายามเน้นการมองคนๆ หนึ่งเพียงผิวเผิน ผิดเพี้ยนไปจากความจริง วาทกรรมอัตลักษณ์ที่หยิบยกวัฒนธรรมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมหลัก และลดทอนความหลากหลายของอีกกลุ่มคนหนึ่ง

         ดังที่ อมาตยา เซ็น ได้ระบุใน บทที่ 4 หน้า 14 ว่า ผู้ที่ชูธงมูลฐานนิยมแนวอิสลามจะต้องการกดทับอัตลักษณ์อื่นๆ และส่งผลให้ไม่สามารถเห็นมุสลิมในรูปลักษณ์อื่นๆ แทนที่การเห็นชาวมุสลิมนั้นมีธรรมชาติที่มีหลายมิติเหมือนมนุษย์ และไม่จำเป็นที่มุสลิมทุกคนจะให้คุณค่าและจัดลำดับความสำคัญของชีวิต ภายใต้อัตลักษณ์เชิงเดี่ยวแห่งความเป็นอิสลาม ไม่มีเหตุผลว่าทำไมอดีตมุสลิมจากอาหรับจะต้องมุ่งความสนใจเฉพาะเรื่องความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น โดยไม่สนใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งหากจัดประเภทอย่างหยาบ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จะอยู่ในหมวดของ “ศาสตร์ตะวันตก” ที่นักต่อสู้ชาวอาหรับส่งผลให้เกิดการจองจำผู้คนในกล่องของอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวต่อไป

         การตระหนักถึงสายสัมพันธ์ที่ทับซ้อน อมารตยา เซ็น เสนอว่าอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวสามารถเป็นได้ทั้งต้นธารของความรุ่มรวยและความอบอุ่น และเป็นต้นธารของความรุนแรง เราพึงเน้นบทบาทของการเลือกอย่างมีเหตุผลในการต้านทานการกำหนดเอกลักษณ์เชิงเดี่ยวให้ใครๆ การเลือกที่มีอยู่จริงกลับถูกทำให้ไม่มีอยู่ การใช้เหตุผลอาจแทนที่ด้วยการขาดวิจารณญาณโดยการยอมรับพฤติกรรมตามสังคม การประพฤติตามสังคมเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะส่อเชิงอนุรักษ์นิยม หรือการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเชื้อชาติที่เป็นอื่นอยู่รอดมาด้วยการยอมรับโดยปราศจากการตั้งคำถามต่อความเชื่อที่รับทอดมา (รวมทั้งบทบาทยอมของผู้ที่เป็นเบี้ยล่างอยู่แล้วตามประเพณี) มีการปฏิบัติและสิ่งที่สมมติว่าเป็นอัตลักษณ์ในอดีตจำนวนมาก ที่เสื่อมสลายเมื่อเผชิญการตั้งคำถามและการตรวจสอบ อมารตยา เซ็น อธิบายต่อว่าความจริงประเพณีสามารถเปลี่ยนย้ายได้ แม้ภายในประเทศและวัฒนธรรมเดียวกัน

         การคุมขังด้วยอารยธรรม หนังสือของ ซามูเอล ฮันติงตัน เสนอเรื่องการปะทะระหว่างอารยธรรมและการสร้างระเบียบโลกขึ้นใหม่ ว่าปัญหาของแนวพินิจแบบนี้เริ่มต้นตั้งแต่การจัดประเภทลักษณะเดียวก่อนการนำเสนอประเด็นการประทะหรือไม่ปะทะหรือไม่ปะทะทางวัฒนธรรม ดังนั้น ทฤษฎีการปะทะทางอารยธรรมนั้นเป็นกาฝากทางแนวคิดที่ผูกติดกับอำนาจเหนือที่ใกล้ชิดเส้นแบ่งทางศาสนาซึ่งได้รับความสนใจเชิงเดี่ยว ในการจัดแบ่งมนุษย์ในโลกออกเป็นคนของ “โลกอิสลาม “โลกตะวันตก” “โลกฮินดู” “โลกพุทธ” อำนาจอันแบ่งแยกของลำดับความสำคัญในการจัดประเภทเพื่อจัดวางมนุษย์ลงในกล่องอย่างตายตัวเพียงชุดเดียว

          ทฤษฎีการปะทะระหว่างอารยธรรม ปัญหาเริ่มต้นจากสมมติฐานที่ว่าการจัดประเภทเชิงเดี่ยวคือการจัดประเภทแบบเดียวที่เหมาะสม อมาตรยา เซ็น เสนอว่าทัศนคติแบบลดทอนที่เชื่อมโยงกับการรับรู้ประวัติศาสตร์โลกที่พร่ามัวที่มองข้าม 3 ประเด็น
  • 1) ระดับความหลากหลาย 
  • 2) ขอบข่ายและอิทธิพลของปฏิสัมพันธ์ทั้งในทางวัตถุและปัญญาที่ก้าวข้ามเขตแดนทางภูมิศาสตร์ของสิ่งที่เรียกว่าอารยธรรม 
  • 3) ผู้สนับสนุนความเชื่อเรื่องการปะทะ (ไม่ว่าจะเป็นพวกมูลฐานนิยมแนวอิสลามหรือพวกบูชาตะวันตกเป็นใหญ่) จนกระทั่งเกิดเป็นฐานการลดทอนความเป็นมนุษย์ที่มีหลายมิติให้เหลือมิติเดียวอย่างรวดเร็ว

         ประเด็นที่พึงให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ อมารตยา เซ็น นำเสนอเรื่องการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของผู้คนที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ร่วม และไม่ใช่วิธีเดียวที่จะเห็นตัวเราเอง การตระหนักถึงอัตลักษณ์มีหลายแบบจริงๆ และความสำคัญของอัตลักษณ์หนึ่งไม่จำเป็นต้องลบล้างความสำคัญของอัตลักษณ์อื่นๆ ลง บุคคลต้องทำการเลือกทั้งโดยตรงและปริยายว่าในบริบทหนึ่งจะให้ความสำคัญโดยเปรียบเทียบแก่ความภักดีและลำดับความสำคัญที่ไปคนละทาง การมีอัตลักษณ์ร่วมกับผู้อื่นในด้านต่างๆอย่างหลากหลายนั้น อาจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตในสังคม

        การไม่ใส่ใจอัตลักษณ์ (Identity disregard) ที่อยู่ในรูปของการมองข้ามหรือละเลย อมารตยา เซ็น เรียกสิ่งนี้ว่า “สายสัมพันธ์เชิงเดี่ยว” (Singular affiliation) ที่มาในรูปของการสมมติว่า เพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติทั้งปวง บุคคลเป็นส่วนหนึ่งโดยเด่นชัดของกลุ่มรวม (Collectivity) เพียงกลุ่มเดียว เป็นการมองสายสัมพันธ์เชิงเดี่ยวนำไปสู่การบดบังความซับซ้อนของกลุ่มที่มีหลายแบบและความภักดีที่มีหลายลักษณะ

         อมารตยา เซ็น มองว่าหัวใจของอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวคือถูกใช้เป็นอาวุธของนักกิจกรรมที่ชอบแบ่งฝักแยกฝ่าย แบ่งนิกาย ซึ่งต้องการให้กลุ่มเป้าหมายของตนปฏิเสธความเชื่อมโยงแบบอื่นทั้งหมด ดังนั้นอัตลักษณ์ที่คับแคบอัตลักษณ์หนึ่งมีส่วนทำให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมและความรุนแรงได้ อัตลักษณ์ทางศาสนาที่ตายตัว คุณลักษณะทางวัฒนธรรมในแง่ที่คับแคบเกินไป เขากล่าวถึงความเขลาทางวัฒนธรรมกับทรราชย์ทางการเมือง ความไม่สมมาตรของอำนาจระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองผนวกรวมกับอคติทางวัฒนธรรม เมื่อใดที่เราสามารถแยกวัฒนธรรมออกจากภาพลวงของชะตาลิขิต วัฒนธรรมก็อาจช่วยให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ดีขึ้น ในงานชิ้นนี้เขาเห็นว่าเราจำเป็นต้องตระหนักว่า จำเป็นต้องอนุญาตให้มีความหลากหลายเนื่องจากสำคัญสำหรับเสรีภาพทางวัฒนธรรม การปิดกั้นทางสังคมอาจเป็นการปฏิเสธเสรีภาพทางวัฒนธรรม และทำให้สมาชิกของชุมชนยากแก่การเปลี่ยนแบบแผนในการดำเนินชีวิต

          การทำความเข้าใจอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวในหนังสือนำไปสู่การมองเห็นความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีอัตลักษณ์ที่เป็นอริ ที่ต้องแยกกันอยู่มิตินี้สำคัญมาก และคนที่อยู่ในสภาวะพร่ามัวในการทำความเข้าใจอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งมองเห็นแค่ “พวกเรา”และ “พวกศัตรูที่เป็นอื่น” การพยายามมองข้ามการตระหนังถึงปฏิสัมพันธ์ระดับโลกที่ก่อกำเนิดและพัฒนาเป็นอารยธรรมโลกขึ้นมา ซึ่งการป้องกันใช้ความรุนแรงจากมายาคติอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวคือการใช้เหตุผลและการเลือกมากกว่าการยัดเยียดอัตลักษณ์

          อมารตยา เซ็น พาเราให้เห็นและรู้จักความหลากหลายของคนๆ หนึ่งข้ามขอบเขตของภูมิศาสตร์ ศาสตร์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ อารยธรรม วัฒนธรรม กล่าวคือมนุษย์เห็นตัวเองและมีเหตุผลที่จะเห็นตัวเองได้ในหลายๆแบบ เช่นคนมุสลิมในบังกลาเทศ ไม่ได้เป็นแค่มุสลิมคนหนึ่ง แต่ยังเป็นชาวเบงกอลและเป็นชาวบังกลาเทศ ที่มีภูมิใจในภาษา วรรณคดี ดนตรีของเบงกอล เชื่อมโยงกับชนชั้น เพศ การเมือง รสนิยมทางสุนทรียะ การจินตนาการถึงความหลากหลายของคนๆหนึ่งส่งผลต่อการปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่แตกต่างจากเรา

        นอกจากนี้ อมารตยา เซ็น ยังนำเสนอวิธีการมองอัตลักษณ์ของความหลากหลายที่มีหลายแบบซึ่งคนละขั้วกับอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวคือการใช้ความรุนแรงโดยตัวมันเองหรือปูชนวนไปสู่การใช้ความรุนแรง อัตลักษณ์เชิงเดี่ยวเป็นภาพลวงตาของเครื่องมือและหนทางในการแก้ไขความขัดแย้งที่มาจากความแตกต่างหลากหลาย อัตลักษณ์เชิงเดี่ยวมองการขจัดความหลากหลายในคนๆหนึ่ง เพื่อแบ่งแยก ความเหมือน ความต่าง ซึ่งอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวมองว่าความหลากหลายคือต้นกำเนิดของปัญหา การตัดขาดอัตลักษณ์ร่วมเป็นการมองอัตลักษณ์แบบเส้นตรงที่ไม่มีความสลับซับซ้อน

        ในประเด็นการก้าวให้พ้นสหพันธ์ศาสนา มีข้อสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งดิฉันคิดว่าจำเป็นต้องย้ำในที่นี้สำหรับการเผชิญหน้ากับสิ่งที่การเมืองโลกร่วมสมัยเรียกกันอย่างสับสนว่า “การก่อการร้ายแบบอิสลาม” ซึ่งฝ่ายตะวันตกมีนโยบายที่จะทุ่มเทพลังปัญญาเพื่อนิยาม หรือสร้างนิยามใหม่ว่า อะไรคืออิสลาม อย่างไรก็ตามหากเรายังไม่เริ่มมองความหลากหลายของบุคคลที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีความหลากหลายอย่างหลากหลาย (Diverse diversities) มากกว่าการมองสายสัมพันธ์เชิงเดี่ยว ความไม่เข้าใจต่ออัตลักษณ์ที่หลากหลายก็ยังคงเป็นอื่นตราบเท่าที่สังคมยังมองไม่ออกว่า “มุสลิมแท้” ต้องเป็นอย่างไร

       งานชิ้นนี้ของ อมารตยา เซ็น ให้ความสำคัญกับวาทกรรมอัตลักษณ์ร่วมดังนั้นการฉีกภาพลวงของชะตาลิขิตที่เกี่ยวโยงกับอัตลักษณ์ที่มองอย่างตื้นเขินคือการนำพาสังคมสู่ประวัติศาสตร์ของการทำสงครามเพียงการมองว่าอีกฝ่ายไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรา เพียงพอต่อการลดทอนความสลับซับซ้อนของอัตลักษณ์ทั้งหลายที่มีอยู่จริง นำไปสู่ความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงต่อคนอื่นเนื่องจากมีเหตุผลมรองรับ

         หนังสือเล่มนี้อาจต้องทำความเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ภูมิหลังของพื้นที่ความรุนแรงที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ ซึ่งการมองอัตลักษณ์เชิงเดี่ยว และการมองสายสัมพันธ์เชิงระนาบ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาพลวงในจินตนาการซึ่งส่งผลต่อการมอดไหม้เป็นไฟ

        อาจต้องมีการฝึกทักษะการมองให้เห็นความหลากหลายอย่างหลากหลายเหล่านี้ในชีวิตจริงของผู้คนในสังคมด้วยตัวเราเอง เนื่องจากการคาดหวังการมองจากคนอื่นมีความสลับซับซ้อนกว่าการที่เราพยายามมองคนๆหนึ่งโดยปราศจากการตัดสินจากมุมมองของเราซึ่งมุมมองอาจเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคมและความอ่อนไหวของความเป็นมนุษย์ในตัวตน

        ดังนั้นสูตรตายตัว คือเราทำได้แค่การทำความเข้าใจทฤษฎีต่างๆและเข้าใจระดับของความหลากหลายภายในเพื่อให้เห็นเฉดของความแตกต่าง ทำความเข้าใจทั้งศิลปะ วรรณคดี วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การละเล่นของแต่ละถิ่น การค้า การเมือง ความสนใจร่วม ซึ่งต้องก้าวให้พ้นมายาคติมิเช่นนั้นแล้วการพยายามทำความเข้าใจอัตลักษณ์ที่หลากหลายอาจนำไปสู่ผลที่เป็นด้านลบได้ การนำทำความรู้จักอัตลักษณ์อย่างที่ อมาตรยา เซ็น ให้คุณค่า คือการเปิดพื้นที่ให้อัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายได้โลดเล่น มากกว่าการจัดระเบียบอัตลักษณ์ลงกล่อง และปล่อยให้มิตรภาพเหงาหงอยอยู่ในกล่องที่ไร้เฉดสี
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม