วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

โจรใต้ มีเฮ อิิอิ ต่อไปใบกระท่อมจะเปิดเสรีแล้ว

โจรใต้ มีเฮ  อิิอิ  ต่อไปใบกระท่อมจะเปิดเสรีแล้ว

 'ใบกระท่อม' กับ 'ความมั่นคง' จังหวัดชายแดนใต้
2013-09-21 / เมือง ไม้ขม รายงาน / ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


         ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นอกจากเรื่องการก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังมีปัญหา "ทับซ้อน" อื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องและเพิ่ม "อุณหภูมิ" ของความร้อนแรงให้เพิ่มมากขึ้น และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ภัยแทรกซ้อนดังกล่าวคือ เรื่องการระบาดของการค้า ยาเสพติดและขบวนการค้า น้ำมันเถื่อนดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา "ภัยแทรกซ้อน" จึงมีการมุ่งเป้าหมายในการปราบปรามกลุ่ม ผู้ค้ายาเสพติด และ น้ำมันเถื่อน เพื่อลดปัญหาของภัยแทรกซ้อน จนสุดท้ายกลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน ที่ได้ใช้คำว่า "ภัยแทรกซ้อน" แสวงหาผลประโยชน์ด้วยการเรียกเก็บ "ส่วย" ทั้งจาก ผู้ค้าน้ำมันเถื่อนและ ยาเสพติด

        และเป็นที่รู้กันทั้งประเทศว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยาเสพติดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "สี่คูณร้อย" ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่นทั้งชายและหญิง และยาเสพติดชนิดนี้มี "สารตั้งต้น" ที่มาจาก "พืชใบกระท่อม" โดยนำเอาใบกระท่อมมาต้มผสมกับยาแก้ไอ ยาแก้ไข้หวัดหลายยี่ห้อ และ "น้ำดำ" ซึ่งเป็นน้ำอัดลมยี่ห้อดัง รวมทั้งส่วนผสมอื่นๆ ตามแต่ความนิยมของผู้ผลิต

         เมื่อ "ใบกระท่อม" คืนสารตั้งต้นที่ขาดไม่ได้ในการผลิตยาเสพติด "สี่คูณร้อย" ราคาของใบกระท่อมที่นำมาขายยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส จึงมีราคาแพงกว่าที่อื่นๆ ของประเทศไทย บางแห่งขายกันเป็นใบ บางแห่งขายกันเป็นกิโลกรัม กิโลกรัมละ 20,000-30,000 บาท ถ้ามีการจับกุมมาก ราคาก็ยิ่งแพงขึ้น เพราะตลาดมีความต้องการมาก

       ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ใบกระท่อมจากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงมาจนถึง จ.พัทลุง จึงกลายเป็นสินค้าผิดกฎหมาย ที่ถูก "ซุกซ่อน"มากับขบวนการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ซุกซ่อนมากับรถบรรทุกสินค้า รถส่วนตัว ทั้งกระบะและเก๋ง รวมถึงการส่งทางไปรษณีย์

          และในระยะหลังมีการลักลอบนำเข้า "ใบกระท่อม" จากประเทศมาเลเซีย ทั้งทางด่าน อ.สะดา, ปาดังเบซาร์ และบ้านประกอบ จ.สงขลา และด่านชายแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส มีประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ขบวนการนำเข้าใบกระท่อมจากประเทศมาเลเซียอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะที่ประเทศมาเลเซีย พืชกระท่อมไม่ใช่พืชที่ผิดกฎหมาย จึงมีการปลูกได้และขายได้ และปัจจุบันลูกค้าที่สำคัญคือ คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          วันนี้ "ใบกระท่อม" จึงเป็นสินค้าที่มีราคาแพง เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างไม่จำกัดจำนวน และเป็น "ช่องทาง" ให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ โดยการเก็บ "ส่วย" จากกลุ่มผู้ค้า เป็นรายเที่ยว รายเดือน และเก็บจากผู้ผลิต "สี่คูณร้อย" ในพื้นที่ จนกลายเป็น "เงื่อนไข" ที่สร้างความโกรธแค้น ความไม่พอใจให้กับเยาวชน และผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ใน "วงจร"ของการค้า การผลิต ยาเสพติด "สี่คูณร้อย" ดังกล่าว

         การที่กระทรวงยุติธรรมมีความคิดที่จะถอดพืชกระท่อม หรือใบกระท่อม ออกจากพืชเสพติดซึ่งเป็นพืชเสพติดในประเภทที่ 5 และมีผู้ที่ขาน รับความคิดนี้เป็นจำนวนมากนั้น ถ้ามองจากมุมที่ว่าใบกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดที่ร้ายแรง และคนไทยใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นยาชูกำลัง ทำให้ผู้ที่กินใบกระท่อมขยันในการทำงาน ไม่กลัว
แดด และโทษตามกฎหมาย เมื่อถูกจับกุมมีโทษแค่จ่ายค่าปรับ

         หลายคนจึงออกมาสนับสนุนให้มีการถอดพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดพ.ศ.2522 โดยมีผู้นำหน่วยงานหลายหน่วยที่มีหน้าที่แก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มองว่า การถอดพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด จะลดเงื่อนไขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ใช้ช่องทางของ พ.ร.บ.ยาเสพติด ในการเรียกรับผล ประโยชน์จากผู้ค้าใบกระท่อมและกับผู้เสพใบกระ ท่อม ความ "ขัดแย้ง" และความไม่พอใจการกระทำของเจ้าหน้าที่ของคนในพื้นที่จะได้หมดสิ้นไป

          นั่นคือการมองปัญหาที่ "ปลายเหตุ" เพราะปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้อยู่ที่ "ใบกระท่อม" อยู่ที่ยาเสพติด "สี่คูณร้อย" ที่มี "ใบกระท่อม" เป็นสารตั้งต้นในการผลิต และปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้คือคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชน วัยรุ่น ทั้งว่างงานและทำงาน ทั้งชายและหญิงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ติดยาเสพติด "สี่คูณร้อย" อย่าง "งอมแงม" แบบขาดไม่ได้ จนกลายเป็นปัญหาในเรื่อง "คุณภาพชีวิต" เพราะการติดสารเสพติด ไม่ว่าจะประเภทไหน ถ้าติดจน "งอมแงม" ย่อมเป็นภัยอันตรายทั้งกับตนเองและกับสังคม
           เห็นด้วยกับ "อาศิส พิทักษ์คุมพล"จุฬาราชมนตรี ที่กล่าวกับ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ที่เข้าหารือเรื่องการถอดพืชกระท่อม ออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดว่า จะนำมาซึ่งปัญหา เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำใบกระท่อมไปใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บอย่างในอดีต แต่มีการนำมาใช้ผลิตยาเสพติด และมีการติดยาเสพติดที่ผลิตจากใบกระท่อมเป็นจำนวนมาก และการติดยาเสพติดเป็นการผิดหลักศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าพืชกระท่อมไม่ใช่พืชที่ผิดกฎหมาย การนำมาใช้อย่างเสรีจะทำให้การระบาดของผู้ติดยาเสพติด "สี่คูณร้อย" ขยายวงอย่างกว้างขวาง

         ดังนั้นวันนี้จึงต้องมีการแยกประเด็นของ "ใบกระท่อม" กับยาเสพติด "สี่คูณร้อย" ออกจากกัน ถ้าเห็นว่าพืชกระท่อม หรือ "ใบกระท่อม" เป็นยาสมุนไพร เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็ถอดพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 เพื่อให้มีการปลูก มีการใช้ มีการขาย ได้อย่างพืชอื่นๆ

           แต่ในขณะเดียวกัน จะต้องมี พ.ร.บ. หรือกฎหมายที่เอาผิดกับยาเสพติด "สี่คูณร้อย" ที่มี "ใบกระท่อม" เป็นสารตั้งต้นในการผลิต และผู้หลักผู้ใหญ่ "ทั้งหงอกทั้งดำ" ก็อย่างที่เข้าใจว่า "สี่คูณร้อย" เป็นยาเสพติดที่สามารถใช้ทดแทน "ยาบ้า" และ "ยาไอซ์" หรือยาเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา, เฮโรอีนได้ เพราะผู้เสพเป็นคนละกลุ่มกัน ไม่สามารถทดแทนกันได้ ถ้ามีการถอดพืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด และไม่มีการใช้มาตรการในการจับกุมยาเสพติด "สี่คูณร้อย" สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จะมีโรงงานผลิตยาเสพติด "สี่คูณร้อย" ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ก็ขึ้นทุกหมู่บ้าน ย่านตำบล และจังหวัดชายแดนภาคใต้จะ "คลาคล่ำ" ไปด้วยผู้ติดยาเสพติด ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะรุนแรงยิ่งขึ้น และจะพัฒนาได้ยากเย็นกว่าเดิม.
http://narater2010.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม