วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีความขัดแย้ง

ทฤษฎีความขัดแย้ง


ทฤษฎีความขัดแย้ง เป็นทฤษฎีที่มีรากฐานของสมมุติฐานที่ว่าสังคม คือ 
ระบบที่มีลักษณะซับซ้อนของความไม่เท่าเทียมกัน (Inequality) 
ความขัดแย้ง (Conflict) 
ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Macionis 1993 : 19) 

ทฤษฎีความขัดแย้งทางสังคมเป็นทฤษฎีที่สนับสนุนให้ทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่มีความสมบูรณ์ขึ้น กล่าวคือ 

ทฤษฎีความขัดแย้งทางสังคมมีแนวความคิดว่า สังคมนั้นไม่ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่สังคมนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งแยก (Division) อันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม นักสังคมวิทยากลุ่มความขัดแย้งทางสังคมจะพยายามค้นหาว่า ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ชั้นทางสังคม เชื้อชาติ กลุ่มชน เพศ และอายุ มีความเกี่ยวพันกับความไม่เท่าเทียมของการกระจายทรัพยากรที่มีคุณค่าในสังคม ได้แก่ เงิน อำนาจ การศึกษา และเกียรติยศทางสังคมอย่างไร นอกจากนี้นักวิชาการในกลุ่มความขัดแย้งทางสังคมจะมองว่า ในสังคมเกิดการแข่งขันกันเพราะในสังคมมีความขัดแย้งกันอันเนื่องมาจากคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้รับผลประโยชน์และผลตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกัน สิ่งตอบแทนและผลประโยชน์ที่คนในสังคมได้รับมีความแตกต่างกันออกไปตามตำแหน่งและหน้าที่ทางสังคม นักสังคมวิทยาในกลุ่มนี้ยังมองว่า สังคมมีความขัดแย้งกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สังคมมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตามมา

แนวคิด ความขัดแย้งทางสังคม (Social conflict) และความไม่เสมอภาคเกิดขึ้นและคงอยู่ได้อย่างไร
ขอบเขตของทฤษฎี ระดับมหภาค
ตัวแบบของความคิด การต่อสู้ระหว่างชนชั้น (Slass struggle)
              ผลประโยชน์ส่วนตัว (Self-interests)
              การครอบงำของกลุ่มสังคมบางกลุ่ม (Domination of some social groups)
นักทฤษฎี  คาร์ล มาร์กซ์, ราล์ฟท์ ดาเฮร์นดอร์ฟ, แลนดอล คอลลินส์ เป็นต้น

ทฤษฎีความขัดแย้ง

             ทฤษฎีความขัดแย้งในปัจจุบันมักเกิดมาจากแนวความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ ที่มองว่าชั้นทางสังคมในสังคมทุนนิยมนั้นมีความสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต เช่น ทุน ที่ดิน เครื่องจักร เป็นต้น โดยปัจจัยการผลิตนี้จะเป็นตัวกำหนดชนชั้นทางสังคมดังนี้

             -ชนชั้นสูง (Bourgeoisie) เช่น นายทุน พ่อค้า เป็นผู้ที่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง
             -ชันชั้นล่าง (Proletariat) เช่น กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา เป็นผู้ที่ไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตนเอง

             ส่วนลัทธิมาร์กซ์สมัยใหม่จะมองว่าตำแหน่งทางสังคมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ กล่าวคือ เมื่อมีกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ ก็ต้องมีกลุ่มที่ถูกใช้ประโยชน์ เช่น นายจ้างคือผู้ได้รับผลประโยชน์ ลูกจ้างก็คือผู้ที่ถูกใช้ประโยชน์ และได้อธิบายว่าการหาแสวงหาผลประโยชน์นั้นมี 3 ประเภท ดังนี้ (Theodorson 1990 :229)
             -การแสวงหาผลประโยชน์ของนักลงทุนนั้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของปัจจัยการผลิต ผู้ที่มีปัจจัยการผลิตพร้อมเพียงย่อมแสวงหาผลประโยชน์ได้มากกว่าผู้ที่ขาดปัจจัยการผลิต
             -การแสวงหาผลประโยชน์ขององค์กรนั้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในทุนทรัพย์ขององค์กร องค์กรที่มีทรัพย์สินมากย่อมมีโอกาสที่จะนำเงินทุนไปสร้างผลกำไรตอบแทนได้มากกว่าองค์กรที่มีทรัพย์สินน้อย
             -การแสวงหาผลประโยชน์ของแรงงานนั้นเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของแรงงานที่มีฝีมือไม่เท่าเทียมกัน ผู้ที่มีความสามารถหรือมีฝีมือที่เชี่ยวชาญย่อมได้รับผลประโยชน์จากการใช้ความสามารถได้ดีกว่าผู้มี
ความสามารถน้อยกว่าหรือไม่มีความเชี่ยวชาญ

     ส่วนแมค เวเบอร์ ได้เสนอความคิด การปิดกั้นทางสังคม (Social closure) ว่า ในทุกสังคมจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้ผูกขาด (Monopoly) ในการได้รับผลประโยชน์จากสังคมและจะทำการกีดกันไม่ให้ผู้อื่นเขามาแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ ซึ่งการผูกขาดนั้นมีหลายรูปแบบเช่น ที่ดิน ปัจจัยการผลิต อำนาจ ความรู้ หรือทรัพยากรบางชนิดที่เขาได้รับสิทธิในการควบคุมและดูแล

     ทฤษฎีการขัดแย้งของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ  ให้ชื่อโมเดลว่า Dialectical Conflict Perspective  ในทัศนะของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ  องค์การสังคมคือ imperatively coordinated association เรียกย่อว่า ICA องค์การนี้มีขนาดต่างๆอย่างองค์การสังคมโดยทั่วไปตั้งแต่กลุ่มสังคม ชุมชนไปจนถึงสังคมมนุษย์  องค์การแต่ละขนาดประกอบด้วยบทบาทจำนวนหนึ่ง  แต่ละบทบาทจะมีอำนาจบังคับผู้อื่นจำนวนหนึ่ง   ดังนั้นในสายตาของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ  องค์การสังคมหรือไอซีเอของเขาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์อำนาจและอำนาจในองค์การถือได้ว่าเป็นสิทธิอำนาจ (authority) เพราะบทบาทเหล่านี้เป็นของตำแหน่งที่ยอมรับกันในองค์การ  ดังนั้น ความเป็นระเบียบทางสังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยการพยายามซ่อมบำรุงกระบวนการสร้างความสัมพันธ์แห่งสิทธิอำนาจเอาไว้

             สาเหตุของการขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดจากการที่บางครั้งอำนาจมีอยู่น้อย  หายาก  กลุ่มย่อยต่างๆในไอซีเอจึงต้องแข่งขันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอันน้อยนั้น
             ถ้าเปรียบความคิดของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ กับของมาร์กซ์แล้วจะเห็นความพ้องกันในความคิด ดังนี้
             1.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าระบบสังคม (เข้าใจง่ายๆว่าคือสังคมมนุษย์) มีสภาพการขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง
             2.ทั้งสองเห็นว่าการขัดแย้งนั้นเกิดจากการขัดกันในผลประโยชน์ ซึ่งติดเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม
             3.ทั้งสองเห็นว่าผลประโยชน์ที่ขัดกันนั้นสืบเนื่องมาจากการได้รับส่วนแบ่งอำนาจไม่เท่ากันระหว่างกลุ่มเหนือ (dominant) กับกลุ่มใต้ (subjugated)
             4.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าผลประโยชน์ต่างๆ  มีแนวโน้มที่แยกออกเป็นสองฝ่ายที่ขัดกัน
             5.ทั้งสองเห็นว่าการขัดแย้งเป็นแบบวิภาษวิธี ซึ่งมติของการขัดแย้งครั้งหนึ่งจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ตรงข้ามกันขึ้น อันจะส่งผลให้มีการขัดแย้งคราวต่อไปอีกภายใต้เงื่อนไขเฉพาะอย่างหนึ่ง
             6.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นลักษณะที่ต่อเนื่องมาแต่โบราณ(ubiquitous)ของระบบสังคมและจะทำให้เกิดการขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในองค์การสังคมทุกระดับ  ซึ่งเป็นเรื่องของวิภาษวิธี

ประพจน์โดยสรุปที่ราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ สร้างขึ้นในทฤษฎีขัดแย้งเชิงวิภาษวิธีของเขามีดังต่อไปนี้
             1.การขัดแย้งมีโอกาสเกิดได้  หากสมาชิกของกลุ่มขัดแย้งรู้แน่ว่าผลประโยชน์ของตนคืออะไร  และสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อมุ่งผลประโยชน์นั้น

             2.ความขัดแย้งจะเข้มข้น  หากเงื่อนไขทางเทคนิค (เช่น  มีเครื่องอำนวยความสะดวก)  เงื่อนไขทางการเมือง (เช่น กฎหมายเปิดช่องไว้บ้างหรือผู้มีอำนาจบางคนสนับสนุน)  และเงื่อนไขทางสังคม (เช่น มีคนร่วมด้วยจำนวนมากพอ)ในการรวมกลุ่มขัดแย้งอำนวยให้
             3.ความขัดแย้งจะมีความเข้มข้น หากการกระจายสิทธิอำนาจและรางวัลเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน (ทำให้มีกำลังทวีคูณ)
             4.ความขัดแย้งจะมีความเข้มข้น หากการสับเปลี่ยนโยกย้ายบุคคลไปมาระหว่างกลุ่มที่ผู้มีอำนาจกับกลุ่มผู้ไม่มีอำนาจเป็นไปได้โดยยาก
             5.ความขัดแย้งจะรุนแรง  หากเงื่อนไขการรวมกลุ่มคนด้านเทคนิค  ด้านการเมืองและด้านสังคมไม่อำนายหรืออำนวยให้ทำได้น้อย
             6.ความขัดแย้งรุนแรง  หากมีการเสียประโยชน์ในการแบ่งรางวัล สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนเกณฑ์จากเกณฑ์ตายตัว   (หรือเกณฑ์วัตถุวิสัย  เห็นได้  วัดได้  ชัดเจน)ไปเป็นเกณฑ์เชิงเปรียบเทียบ (หรือเกณฑ์จิตวิสัย เช่น  ใครทำดีกว่าใคร  ใครทำเก่งกว่าใคร)
             7.ความขัดแย้งจะรุนแรง ถ้ากลุ่มขัดแย้งไม่สามารถจะสร้างข้อตกลงควบคุมการขัดแย้งระหว่างกันขึ้นมาได้
             8.ความขัดแย้งที่เข้มข้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและการจัดองค์การใหม่ขึ้นในองค์การสังคมแห่งการขัดแย้งนั้น
             9.ความคิดขัดแย้งที่รุนแรงจะก่อให้เกิดอัตราการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและการจัดระเบียบใหม่ในองค์การสังคมที่เกิดการขัดแย้งนั้นอย่างสูง


ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กับความขัดแย้งทางสังคม ทฤษฎี ประสบการณ์และแนวทางสมานฉันท์
มีเหตุผลเพียงพอที่สนับสนุนความเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุหนึ่ง หรืออย่างน้อยมีความสัมพันธ์ กับความขัดแย้งในสังคม ทั้งในรูปแบบที่รุนแรงและไม่รุนแรง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าความสัมพันธ์เป็นอย่างไรกันแน่ ทั้งในบริบทสากลในบริบทของประเทศไทย บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ ทั้งในเชิงทฤษฎีและประสบการณ์จริง นอกจากนี้บทความยังครอบคลุมแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง หรือการสร้างความสมานฉันท์ที่มีสาเหตุหรือมีความเกี่ยวโยงกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย
ในด้านของข้อเท็จจริง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนในประเทศค่อนข้างสูง คือใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีปัญหาการกระจายรายได้รุนแรงเช่นบางประเทศแถบละตินอเมริกา โดยมีแนวโน้มที่ไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2533 หลังจากนั้นก็เริ่มทรงตัวแต่ก็ยังอยู่ในระดับไม่เท่าเทียมกันสูง
อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำที่สูงไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความขัดแย้งเสมอไป ยังมีสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากเหตุผลทางเศรษฐกิจอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของประชาชนต่อความชอบธรรมของความเหลื่อมล้ำ ความคาดหวังต่ออนาคตที่ดีขึ้น การรวมตัวของกลุ่มคนในสังคม ความสามารถของสังคมในการป้องกัน และจัดการความขัดแย้งหรือแม้กระทั่งความสามารถของฝ่ายปกครองในการปิดกั้นความรุนแรงมิให้เกิดขึ้น เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็พบว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่รวดเร็วและขนานใหญ่ มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในบางครั้ง เพราะหลายภาคส่วนของสังคมไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หรือการจัดระเบียบสังคมปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

มีประสบการณ์ความขัดแย้งทั้งในต่างประเทศ และในประเทศที่น่าจะมีความเกี่ยวโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แม้จะเป็นทางอ้อม เช่นประสบการณ์ต่างประเทศ หลายประเทศประสบปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งมีสาเหตุที่สามารถโยงไปถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่รวดเร็วเกินกว่าการจัดระเบียบทางสังคม และการเมืองจะตามได้ทัน เช่น ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ ในระยะครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประเทศทั้งสามมีการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ซึ่งมีผลทำให้โครงสร้างการผลิตเปลี่ยนไปอย่างพลิกผันจากอดีตก่อนหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและชนชั้นนายทุนยังอยู่ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนา จึงเกิดการเอารัดเอาเปรียบ การปฏิบัติต่อแรงงานเป็นไปอย่างไร้ศีลธรรม ภาครัฐเองก็ยังไม่พร้อมในการเข้ามาจัดระเบียบ ความขัดแย้งและความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ประเทศในกลุ่มละติน อเมริกาบางประเทศก็ประสบปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวโยง กับปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำที่เด่นชัด เช่น เหตุการณ์ในประเทศอาร์เจนตินา โบลิเวีย และประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งประสบปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงต้นทศวรรษ 2000 โดยมีสาเหตุจากการบริหารเศรษฐกิจมหภาคผิดพลาด จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ (คล้ายกับประเทศไทย ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997) ซึ่งกระทบต่อทุกคนในประเทศ รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากต้องประสบปัญหาการว่างงาน ค่าใช้จ่ายสูงตามเงินเฟ้อ เป็นต้น จุดที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างของ 3 ประเทศนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะวิกฤตเศรษฐกิจเช่นที่สังคมประเทศนี้ประสบพบนั้น เคยเกิดกับประเทศอื่นๆ มานับไม่ถ้วน แต่ระดับความรุนแรงของวิกฤตการณ์ทางสังคมที่ตามมาไม่เด่นชัดเท่า ไม่รุนแรงเท่า

ในส่วนของประเทศไทยก็ประสบปัญหาความขัดแย้งทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง ความเชื่อที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่รักสงบ และจัดการกับความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี ถูกท้าทายด้วยความโหดร้ายและรุนแรงของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 แต่ในระดับความรุนแรงที่ต่ำกว่า) ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคมมีความซับซ้อนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งในส่วนของรัฐบาลพลเรือนผสมในขณะนั้น ฝ่ายนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลากหลายอุดมการณ์ ฝ่ายทหารก็มีหลายพวกหลายเหล่า ความเชื่อมโยงกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจึงไม่ชัดเจน ส่วนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม สามารถหาจุดเชื่อมโยงกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองได้มากกว่า

กล่าวคือเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อย่างรวดเร็ว (ซึ่งในกรณีของไทยได้แก่การเปลี่ยนแปลง หลังการรับแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจ ของธนาคารโลกในยุคจอมพลสฤษดิ์ประมาณ 20 กว่าปีก่อนหน้า) ในขณะที่พัฒนาการทางการเมืองก้าวตามไม่ทัน การปกครองโดยทหารที่ไม่ให้อิสระเสรีภาพทางการเมืองแก่คนทั่วไป ภาพการคอร์รัปชั่น ระบบอภิสิทธิ์ ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นขนาดความชอบธรรม แม้ว่าประชาชนโดยทั่วไปจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นก็ตาม ดังการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ การต่อต้านคอร์รัปชั่นและเรียกร้องรัฐธรรมนูญจึงขยายวงกว้างจนกลายเป็นความขัดแย้ง การเผชิญหน้า และความรุนแรงในที่สุด

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลาแล้ว ความขัดแย้งที่รุนแรงในสังคมไทยดูจะผ่อนคลายไประยะหนึ่ง ทั้งนี้น่าจะเป็นผลของพัฒนาทางการเมืองที่มีมากขึ้น เร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่ก็ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำที่สูงมากขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้ความไม่พอใจในการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคมมีมากขึ้น ความขัดแย้งเริ่มปรากฏให้เห็นใหม่ ในรูปของการคัดค้านโครงการพัฒนาที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนปากมูล กรณีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หรือกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอบ่อนอก หินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนต้องจัดการความขัดแย้งและแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เหมาะสม
ความชอบธรรมของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อความขัดแย้ง เพราะความเหลื่อมล้ำโดยตัวเองนั้น หากเป็นผลจากความขยันขันแข็งหรือความสามารถส่วนบุคคลแล้ว ก็มักจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง แต่หากมีความไม่ชอบธรรม เช่น มีการเอารัดเอาเปรียบ มีระบบอภิสิทธิ์ชนผ่านระบบอุปถัมภ์ที่ไม่โปร่งใส สังคมโดยรวมก็มักจะยอมรับไม่ได้ หากสังคมมีความชอบธรรมแล้วก็จะนำไปสู่สังคมที่สนับสนุน “ความเท่าเทียมกันของโอกาส” แทนความเท่าเทียมกันของรายได้หรือทรัพย์สิน

จริงๆ แล้วทุกสังคมจะมีกลไกเพื่อป้องกัน บรรเทา และแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะความสามารถในการจัดการกับความขัดแย้งมีผลโดยตรงกับความอยู่รอดของสังคมมนุษย์โดยรวม แต่ละสังคมอาจสร้างกลไกที่แตกต่างกัน เช่น สังคมตะวันตกปัจจุบันนิยมใช้กลไกทางกฎหมายเป็นตัวจัดการ ในขณะที่สังคมไทยและสังคมตะวันออกหลายสังคมพึ่งพิงวัฒนธรรมประเพณีมากกว่า

การสร้างความชอบธรรมในสังคม ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ตรงกับปัญหามากที่สุด ดังที่กล่าวแล้วว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยตัวเองมิใช่ปัญหา แต่ความไม่ชอบธรรมที่แฝงตัวมาพร้อมกับความเหลื่อมล้ำ (ถ้ามี) ต่างหากที่เป็นรากเหง้าของปัญหา จนสามารถเป็นเชื้อไฟก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งที่แฝงเร้น และที่แสดงออกอย่างรุนแรงได้
ส่วนการสร้างความสมานฉันท์ที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทำได้ 2 แนวทางพร้อมๆ กัน แนวทางแรกคือการสร้างกระบวนการจัดการความขัดแย้งเพื่อป้องกันความรุนแรง ซึ่งอาจประกอบด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น การพัฒนากระบวนการประชาพิจารณ์โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ให้สามารถสะท้อนความต้องการของทุกฟากฝ่าย การมีกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาท
หากความขัดแย้งบรรลุถึงระดับเด่นชัดและเสี่ยงต่อความรุนแรง แนวทางที่สองคือการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยตรง ซึ่งอาจทำได้ผ่านทางมาตรการทางการคลัง เช่น มาตรการภาษี ระบบสวัสดิการสังคม และที่สำคัญคือการเร่งสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งจะช่วยทั้งในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลง
พร้อมๆ กับสร้างความชอบธรรมให้กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จะยังหลงเหลืออยู่ อันจะมีส่วนช่วยในการป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม