วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

บทที่ 4


เปิดโปงขบวนการรัฐปัตตานี
โดย..สอาด จันทร์ดี



บทที่ 4
ปูมหลังปัตตานี (ในตำรา) ภาค 1




คีย์แมนโทน พระเอกของผมเข้ามายืนอยู่หน้าโต๊ะ รับงานเอาไปทำ พูดภาษาอีสานกับผมด้วยความสนิทสนม ขณะเดียวกัน "ลุงเซะชาวหมู่บ้านสะกอม ก็เข้ามาคุยด้วย ชาวสะกอมพูดสำเนียงใต้ที่แปลกไปจากชาวใต้ทั้งหลาย เสียงจะมีลักษณะอ่อนหวาน นุ่มนวล และแหลมไปในตัว เปรียบเหมือนคนอีสาน แต่สำเนียงชัยภูมิอะไรทำนองนั้น
สะกอมมีอาณาเขตติดกับโรงแยกแก๊ส
ชาวบ้านสะกอม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มต่อต้านกับกลุ่มหนุนให้ก่อสร้างโรงแยกแก๊ส ลุงเซะเป็นกลุ่มสนับสนุน เข้ามาส่งเสียงดังว่า "พ้มชวนมันแล้ว ให้มันมาทำงานมันก็ไม่มา ทำงานได้เงินตั้งหลายพันไม่ทำ...มันจะทำมอบ...มันแย่จัง..หลังจากพูดจบ แกควักยาเส้นออกมามวน แล้วหันหน้าไปคุยโขมงโฉงเฉง จับต้นชนปลายไม่ถูก
อารมณ์ของผมยังคงสดชื่นแจ่มใส แต่สมาธิในการทำงานแบ่งขั้วตลอดทั้งวัน
ขั้วแรกคืองานประจำวัน ซึ่งจะต้องตามดูทุกๆจุดว่าการทำงานเป็นไปด้วยดีหรือไม่ การทำงานในโรงแยกแก๊ส ก็เหมือนกับการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ช่างที่ทำงานนำหน้าคือช่างประกอบท่อ เรียกว่า "Pipe  Fitter" เมื่อช่างประกอบท่อเข้าหน้าได้แล้ว ช่างเชื่อม "Welder" ก็จะเข้าประจำที่ลงมือเชื่อม
ช่างเหล่านี้ มาจากเหนือและอีสาน ลูกมือจำนวนหนึ่ง ได้แก่หนุ่มสาวจากท้องถิ่น ผมบอกกับคีย์แมนโทนว่า ช่างเชื่อมประเภทนี้ รายได้ดี จ้างชั่วโมงละ 92 บาทยังไม่ยอมมากันเลย      วันหนึ่งทำงาน 10 ชั่วโมง ได้เงินมากถึง 1,012 บาทเชียวนะโทน ตอนพักเที่ยง โทนขอซ้อมมือกับช่างเขาสิ...สร้างโอกาสให้แก่ตนเอง...โทนได้ยินด้วยความดีใจ
ผมจัดการให้โทนเข้าไปเป็นกรรมกรแผนกช่างเชื่อม จะได้มีโอกาสเรียนงาน
ในกลุ่มหนุ่มสาวจากใต้ มีคุณหนูคนหนึ่งที่ผมสอบสัมภาษณ์เธอ เธอจบปริญญาตรีภาษามาเลเซียจากกัวลาลัมเปอร์ บรรจุเข้าทำงานควบคุมข้อมูลวัสดุ (Material Control) นี้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความเข้าใจสภาพและปัญหารอบตัว แต่เธอเงียบและเก็บอารมณ์ได้ในทุกสถานการณ์
ใจของผมในขั้วของงาน ดำเนินไปตามปกติ
แต่อีกขั้วหนึ่งเป็นเรื่องชวนให้ครุ่นคิด ทำงานอยู่ก็คิด คิดแตกต่างไปจากทุกคนที่ทำงานด้วยกัน พรรคพวกที่ทำงานอยู่ในโรงแยกแก๊ส เมื่อเข้าประชุมจะส่งเสียงทักทาย ด้วยอารมณ์ขันบ้าง หยอกเย้ากันบ้าง หรือไม่ก็บ่นไม่อยากอยู่ อยู่ไปไม่รู้ว่าจะถูกฆ่าตายวันไหน แต่สรุปแล้ว   เชื่อว่าไม่มีใครคิดที่จะเอาเรื่องภาคใต้ไปวิพากษ์วิจารณ์
ผมกลับเป็นคนคิดอยู่ตลอดเวลา คิดว่าเย็นนี้จะเขียนเรื่องอะไรให้หนังสือพิมพ์บ้านเมือง คิดแล้วก็แปลกใจ มีเรื่องรอให้เขียนมากมายหลายประเด็น ล้วนแล้วแต่น่าเขียนถึง แต่ผมก็ต้องระวังอย่างยิ่ง ไม่ให้พวกโจรรู้ว่าผมทำอยู่โรงแยกแก๊ส
ผมลำดับเรื่องความเข้าใจเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตรฐานนอกตำราแล้ว ผมก็ถามเข้าหาข้อเท็จจริงว่า ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ มันเป็นในตำราไหม ผมนึกถึงคนที่เป็นพระเอกของผมคือ คีย์แมนโทนอีกเช่นเคย
ผมถามคีย์แมนโทนอีกครั้งว่า "ถามจริงๆเถอะโทน...โทนมีความรู้เรื่องปัตตานีบ้างหรือเปล่า..." โทนตอบว่า "รู้ซิ รู้เพราะเขาสอนเมียผม...เมีย
ผมสอนผมต่อ" ...หลังจากนั้น ผมได้ขอโอกาสให้โทนเล่าหรือสอนผมอีกต่อ...

คราวนี้ ความรู้ปัตตานีดูจะเข้าตำรามากขึ้น
โทนเริ่มว่า...นานมาแล้ว ปัตตานีเป็นเมืองเอกราช มีขอบเขตเชื่อมติดต่อกับผืนแผ่นดินสยามทางตอนเหนือ และมีขอบเขตติดกับมลายูทางตอนใต้ ชาวปัตตานีเป็นเชื้อสายเดียวกันกับมลายูในประเทศมาเลเซีย นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน มีลัทธิประเพณีเหมือนกันแต่ภาษาพูดจะแตกต่างบ้างเล็กน้อย ปัตตานีใช้ภาษายาวี มีตัวหนังสือเป็นของตัวเอง แต่ชาวมลายูในประเทศมาเลเซีย ใช้ตัวหนังสืออังกฤษ เนื่องจากถูกพวกล่าเมืองขึ้นทำลายตัวอักษรดั้งเดิม บังคับให้ใช้อักษรอังกฤษแทน
ในประเทศมาเลเซียมีสุลต่าน 5 วงศ์ แต่ละวงศ์จะได้ขึ้นครองเป็นกษัตริย์คราวละ 5 ปี
ปัตตานีก็เคยมีสุลต่านเป็นของชาวปัตตานีเอง สุลต่านไม่มีเหลืออยู่ในประเทศไทย พวกที่ต้องการให้มีสุลต่าน จึงได้ประกาศจัดตั้งรัฐปัตตานี ที่พวกเรารู้กันในนามของพูโตนั่นแหละ พวกพูโตได้ต่อสู้มายาวนาน เคยก่อกบฏ มีการล้มตายสูญเสียกันมาแล้ว
คนปัตตานีทุกคนยังไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะเอาสุลต่านกลับมาให้ได้
ผมถามโทนว่า แล้วทำไมจะต้องฆ่าพุทธ ฆ่าพระด้วยเล่า
โทนบอกว่า การฆ่าพุทธ ฆ่าพระ มันเป็นมาตรการที่จะบีบบังคับเอาชนะรัฐบาล มาตรการที่สำคัญพวกนั้น ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ
ห้ามรักคนไทย ห้ามเรียนภาษาไทย ถึงพูดไทยได้ ก็อย่าใช้พร่ำเพรื่อ ห้ามร้องเพลงชาติไทย ห้ามไม่ให้ความร่วมมือกับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการต้องสนับสนุนลูกหลานให้เรียนคัมภีร์ เรียนภาษายาวี แต่งตัวตามแบบฉบับของอิสลาม ทำตามคำสอนของศาสดาเคร่งครัดในศาสนาของอิสลามห้ามให้การสนับสนุนศาสนาอื่นโดยเฉพาะคือ ห้ามช่วยเหลือศาสนาพุทธ   กดดันชาวพุทธให้อยู่ด้วยไม่ได้  ถ้ากดดันแล้วยังดื้อดึง ในที่สุดก็ต้องฆ่า
แม้แต่พระก็ต้องฆ่า  การฆ่าต้องปาดคอ...สับหัวให้เละ เชือดเนื้อหนังเป็นชิ้น แล้วเอาอุจจาระทา ทำให้พุทธเห็นว่าจะทนอยู่ต่อไปได้ ให้มันรู้ไป
พวกนักรบน้อยใหญ่ บางคนจบมาจากต่างประเทศ จบวิชาก่อวินาศกรรม มีความรู้ในการผลิตระเบิดแสวงเครื่อง ระเบิดมือถือ มีความรู้ในการใช้อาวุธ เก่งและกล้าหาญหาตัวจับยาก นักรบทุกคนต้องสาบานตนเป็นนักรบของพระเจ้า  อีกพวกหนึ่งฝึกอบรมในป่า หรือฝึกที่สนามโรงเรียนปอเนาะในหมู่บ้าน ฝีกได้อย่างเปิดเผย เพราะไม่มีพวกเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าถึง คนในหมู่บ้านก็ไม่มีใครกล้าเอาความไปบอก คนสองพวกนี้ทำงานด้วยกัน
โทนบอกว่ามีกองกำลังกระจัดกระจายทั่ว 3 จังหวัดมากกว่า 7000 คน
ผมถามอีกว่า ใครเป็นหัวหน้าใหญ่...โทนบอกว่า เยอะแยะ...หัวหน้ามีมากกว่า 25 คน คนหนึ่งชื่อ "ดอเยาะ.." อีกคนหนึ่งชื่อ "สะแปอิงและอีกหลายคนหลายชื่อ ซึ่งเป็นทั้งชื่อจริงและชื่อจัดตั้ง แต่จะมีอย่างน้อย 3 คน เป็นจอมบงการใหญ่ !!
จะชื่อไหนก็ตาม ทุกคนทำงานด้วยตัวเอง เรียกว่าตัวจริงเสียงจริง แถมมีผู้หญิงเป็นมือฆ่าอันดับหนึ่ง เหนี่ยวไกปืนแม่นยำเหมือนจับวาง โหดและห้าวหาญยิ่งกว่าผู้ชายเสียอีก
โทนเป็นคนนอกมาเป็นเขย ไม่คิดว่าเขาจะระแวงดอกหรือ" ...ผมถาม
โทนตอบว่า "ตลอดปีตลอดชาติ ผมอยู่กับครอบครัว ไม่เคยเข้าใกล้ทหาร ตำรวจ ไม่ไปหาข้าราชการ เพิ่งจะมาทำงานนี้แหละเป็นครั้งแรกของชีวิต มาทำงานแล้วผมก็ต้องหลีกให้ไกลจากพวกทหาร ตำรวจ ไม่สุงสิงกับใครทั้งสิ้น...นี่...ถ้าไม่ใช่นายหัวสอาด จันทร์ดี ผมไม่คิดว่าจะได้เล่าเรื่องแบบนี้ให้ใครฟัง..."
ผมถอนหายใจด้วยความรู้สึกอึดอัดโดยไม่รู้ตัว
ผมถามอีกว่า..."โทน...โทนคิดว่านักรบทุกคน เป็นหนุ่มสาวชาวบ้านเท่านั้นหรือ...    ถามแล้วผมก็นั่งรออยู่ว่าเขาจะตอบว่าอย่างไร โทนมองดูหน้าผม ถามผมว่า ทำไมจึงอยากรู้    มากนัก โทน...นี้มันบ้านเมืองของเรา เราอยากรู้ โทนไม่ได้รู้สึกตกใจดอกหรือ ฆ่ารายวัน พระเณรถูกสังหารโหด... ทหาร ตำรวจ ตายเป็นใบไม้ร่วง
โทนมีอาการเศร้า...เขาเงียบอยู่ครู่หนึ่ง จึงพูดออกมา
"ข่าวว่า จะมีนักรบรับจ้างมาจากอินโดนีเซีย" แล้วเสริมว่า "จะมีหัวหน้าใหญ่มาจากฝั่งโน้น
ผมมึนตึ้บ...นึกไม่ถึงว่าจะได้ยินเรื่องราวแบบนี้ จึงได้แต่กล่าวขอบคุณเขา ที่เขาเล่าความลับให้ฟัง เมื่อได้ยินเช่นนั้นแล้ว จิตของผมหงุดหงิด คิดไปต่างๆนานาว่า ทำไมหน่วยข่าวกรองจึงไม่รู้ หรือว่ารู้แล้ว มันช่างน่าแปลกเป็นอย่างยิ่ง
ผมเปิดดูบันทึกเก่าๆที่ผมถือติดตัวมาอ่านตรวจสอบ
เหตุร้ายที่ 3 ชายแดนภาคใต้เกิดมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเกิด ตัวอย่างเช่น ตัวเลขความเสียหายย้อนอดีต ตั้งแต่เดือนเมษายน 2512 ถึงเดือนพฤษภาคม 2517 รวมเป็นเวลาเพียง 5 ปี มีคดีก่อการร้ายเกิดขึ้น 780 ครั้ง
เจ้าหน้าที่ถูกฆ่าตาย 53 คน บาดเจ็บ 120 คน
ราษฎรถูกฆ่าตาย 375 คน บาดเจ็บ 127 คน
ราษฎรถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ 102 คน
คนร้ายถูกเจ้าหน้าที่ปราบปราม-ตาย 275 คน บาดเจ็บ 137 คน
นี้เป็นตัวเลขย้อนอดีต...ที่ยังไม่รวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลก ครั้งที่สอง มาจนถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถ้ารวมตัวเลขกับอดีตเข้าไป การเข่นฆ่าราวีได้มีมาก่อนบนตัวเลขความสูญเสียที่น่าสยองใจ
หลังจากปี 2517 เป็นต้นมา...เหตุร้ายไม่เคยเงียบ แต่ด้วยความจำเจซ้ำซาก ได้ทำให้เรื่องราวถูกกลบเกลื่อน ประกอบกับฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องการให้เรื่องไม่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงพากันปล่อยให้เป็นคลื่นกระทบฝั่ง แต่บนสถานการณ์ "คลื่นกระทบฝั่ง" ดังกล่าว ได้เกิดกระบวนการต่อสู้อย่างเข้มข้น แหลมคม....มากไปกว่าเดิมมากมายนัก
ที่แหลมคมมากที่สุด ได้แก่ การสร้างนักการเมืองเป็นปากเป็นเสียงต่อสู้แทน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐสภาของประเทศ   ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ขอทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ มีโครงสร้างที่เป็นตัวแม่บทเกิดขึ้นอย่างเต็มกระบวน เช่นการวางตัวผู้นำรัฐปัตตานี วางตัวคณะรัฐมนตรีเงา ป่าวประกาศแก่ชาวยาวีให้รับรู้เอาไว้แต่เนิ่นๆ ว่าถ้าชนะขึ้นมา จะได้ใครมาเป็นผู้รับผิดชอบกองทัพเรือ ทัพบก...และอื่นๆ ที่รัฐปัตตานีจะต้องมี
สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นความลับในหมู่ของชาวยาวี   
แต่แปลกใจนัก รัฐบาลไทยไม่ระแคะระคายเลย
สิ่งที่เล่ามานี้เป็นปูมหลังของปัตตานี (ในตำรา) ซึ่งจะขอเล่าต่อไปว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 หรือก่อนหน้านี้ ความว่าชื่อของเมืองลังกาสุกะไม่มีเหลืออยู่ในความทรงจำอีกแล้ว มีแต่ปัตตานีชื่อเดียว ปัตตานีในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงสยาม แต่มีอำนาจยิ่งนัก มีเมืองเล็กเมืองน้อยขึ้นต่อรัฐปัตตานีอีกต่างหาก
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2351 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปริวิตกกังวลว่าจะเกิดการแข็งข้อ จึงได้แบ่งแยกดินแดนปัตตานีออกมาเป็น ๗ หัวเมือง ให้แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง ขึ้นตรงต่อกรุงสยาม หรือกรุงเทพฯ
นี้เป็นจุดเริ่มต้นของความบาดหมางร้ายแรงครั้งประวัติศาสตร์ของชาติไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหัวเมืองครั้งใหญ่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงให้ยกเลิกระบบเจ้าเมืองพระยามหานคร อันหมายถึงปัตตานีจะเก็บส่วยจากเมืองต่างๆส่งต่อไปให้เมืองหลวงไม่ได้อีกแล้ว ทางกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนวิธีการใหม่ ให้แต่ละเมืองเก็บส่วยส่งเมืองหลวงโดยตรง ไม่ต้องผ่านปัตตานี ทั้งนี้เพราะเกรงว่าระบบพระยามหานครจะเบียดบังการเก็บส่วย ไม่จัดส่งตามที่เก็บได้มา
ส่วยในที่นี้ หมายถึง ระบบภาษีอากรนี้แล
ระบบใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาใช้ เรียกว่า ระบบมณฑลเทศาภิบาล โดยอาศัยวิธีทรงตั้งข้าหลวงเทศาภิบาล ต่างพระเนตรต่างพระกรรณขึ้นมาดูแลรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินโดยส่วนรวม คราวนี้
ยิ่งก่อให้เกิดความบาดหมางรุนแรงยิ่งขึ้น
พระยามหานครที่ไม่พอใจมากที่สุดมีนามว่า อับดุลกาเดร์ เจ้าเมืองปัตตานี โดยได้รับพระราชทานนามในแบบฉบับการปกครองของไทยว่า "พระยาวิชิตภักดี" แต่ปรากฏว่าพระยาพิชิตภักดีไม่มีความยินดีกับชื่อและตำแหน่งจากราชสำนัก 
เขาพอใจกับชื่อเดิม "อับดุลกาเดร์" มากกว่า
ในปี พ.ศ. 2445 อับดุลกาเดร์ จึงก่อกบฏขึ้น แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์ไทยผู้เป็นใหญ่อย่างเปิดเผย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นว่าจะเป็นภัยไปกันใหญ่เอาไว้ไม่ได้แล้ว จึงส่งกองกำลังลงมาที่ปัตตานี แล้วคุมตัวอับดุลกาเดร์ไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ
อับดุลกาเดร์พูดภาษาไทยได้ดี เพราะเขาก็เป็นคนไทยเชื้อสายมลายู แต่ด้วยที่ท่านนับถือศาสนาอิสลาม จึงมีชื่อตามแบบฉบับของอิสลาม แม้จะพระราชทานนามให้ พร้อมกับยศศักดิ์ เป็นพระยาวิชิตภักดี อับดุลกาเดร์ก็ไม่ปรารถนา
ในหลวงรัชกาลที่ 5 สอบสวนแล้ว ทรงมีพระเมตตา มิได้ลงโทษประหาร แต่ได้ถูกส่งไปกักตัวเอาไว้ที่พิษณุโลก 2 ปีกับ 9 เดือน แล้วก็ได้เดินทาง กลับปัตตานีอีก ในปี 2447 แต่ไม่ให้มีตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าเมืองเหมือนแต่ก่อน
จวน (หรือวัง) ของอับดุลกาเดร์ ตั้งอยู่บ้าน "จะบังติกอ" อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่ออับดุลกาเดร์ได้รับอภัยโทษ ปูมหลังปัตตานีในตำรากล่าวว่าอับดุลกาเดร์ ฮึกเหิมหนักกว่าเดิม คราวนี้ได้โฆษณาชวนเชื่อไปทั่ว มีข้อความโดยรวมดังนี้
เรียกร้องให้ราษฎร 4 จังหวัดภาคใต้เกลียดชังคนไทย ยุยงให้กระด้างกระเดื่องทุกวิถีทาง
บอกกล่าวว่า ดินแดนเหล่านี้เคยเป็นอาณาจักรของมลายูมาก่อน แต่ถูกประเทศสยามล่าเป็นเมืองขึ้น แล้วโฆษณาชวนเชื่อต่อไปว่า คนสยามเอารัฐเอาเปรียบคนปัตตานี กดขี่ข่มเหง ขอให้พี่น้องชาวปัตตานี จงลุกขึ้นสู้กอบกู้เอาเอกราชคืนมา
อับดุลกาเดร์ได้แสดงตนเป็นหัวหน้าใหญ่วางแผนจะกบฏซ้ำ แต่ก็ไม่พ้นสายตาของบ้านเมือง ทางบ้านเมืองจึงวางแผนกลางปี พ.ศ. 2448 จะจับกุมตัว ถ้าจับได้คราวนี้คงจะไม่เอาไว้ให้เป็นเสี้ยนหนาม แต่แล้วความลับก็รั่วไหล
อับดุลกาเดร์หนีไปรัฐกลันตันรอดพ้นจากการถูกตะครุบตัวไปได้หวุดหวิด
ขณะอับดุลกาเดร์หลบภัยอยู่มาเลเซีย ทางประเทศไทยก็มีตัวตายตัวแทน
คราวนี้มีหัวหน้าโจรชื่อ "โต๊ะแต" มือขวาของอับดุลกาเดร์ ที่ยังไม่เคยมีข่าวพัวพันกับกบฏได้ตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ สร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้ราษฎรลุ่มหลง โต๊ะแตได้ถือโอกาสที่ประชาชนเข้าข้าง ชักชวนไม่ให้เสียภาษี พร้อมกับได้ปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อ จัดตั้งกองกำลังขึ้น 100 กว่าคน...
ยกกองกำลังเผาที่ว่าการอำเภอยะหา จังหวัดยะลา  เหตุเกิดปี พ.ศ.2453
คราวนี้พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตำแหน่งนายอำเภอเบตง ได้พยายามสืบสวนจนจับตัวโต๊ะแตได้ หลังจากได้สอบสวน เค้นเอาความจริง จึงได้รู้ว่า ผู้บงการอยู่เบื้องหลัง คืออับดุลกาเดร์
เมื่อโต๊ะแตถูกจับ ไม่มีโอกาสออกมาปลุกระดม คิดว่าจะหมดเสี้ยนหนาม ปรากฏว่าได้มีคนใหม่เข้าทำหน้าที่แทนทันที คนนี้ชื่อ หะยีบูละ ซึ่งก็เป็นแขนอีกข้างของอับดุลกาเดร์
ปี พ.ศ. 2454...หะยีบูละ ก่อการจลาจลขึ้นที่ตำบลจันสตาวา อำเภอยะรัง จังหวัดยะลา เกิดปะทะกับหน่วยปราบปราม ซึ่งนำโดยพระยาศรีบุรีรัฐ นายอำเภอยะรังหะยียูละ ใช้มีดดาบฟันมือขวาพระยาครีบุรีรัฐขาดกระเด็น แต่ก็สามารถจับตัวได้ในที่สุด
แม้ว่าอับดุลกาเดร์หนีไปอยู่มลายู หลุดออกไปจากอำนาจแล้วก็ตาม แต่ชื่อเสียงของอับดุลกาเดร์กลับทวีความยิ่งใหญ่ขึ้น มีคนเคารพนับถือเป็นประหนึ่ง "แม่ทัพกู้ชาติ" ใครที่ได้พบเขาในประเทศมลายู จะตื่นเต้นดีใจ ถือว่าเป็นบุญ สมุนทั้งหลายจึงทำงานรับใช้อับดุลกาเดร์แบบถวายชีวิต ไม่มีความหวาดหวั่นว่าตัวเองจะเดือดร้อน ไม่เกรงกลัวความผิด
ปี พ.ศ. 2465...ก็เกิดเหตุร้ายรุนแรงขึ้นอีก
คราวนี้ สมุนของอับดุลกาเดร์ชื่อ "เปาะจิกา" เป็นหัวหน้ากบฏ คุมบริวาร 150 คน ออกเที่ยวก่อกวนประชาชนไม่ให้สงบสุข มีการปล้นสะดมภ์ ราษฎรกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แม้จะเป็นอิสลามด้วยกัน ถ้าไม่เข้าช่วยเหลือเขา เขาจะปล้นแล้วฆ่าทิ้ง
แผนการของเปาะจิกาคราวนี้มีความแหลมคมมาก ทางบ้านเมืองสืบรู้ว่า กำลังของ
เปาะจิกาจำนวน 150 จะยกพวกเข้าโจมตี แล้วยึดฐานเอาไว้ จะมีกองกำลังจากรัฐกลันตันอีกไม่น้อยกว่า 500 คน พร้อมที่จะเข้ามาช่วยรบ
คราวนั้น พ.ต.อ. พระยาเหิมประยุทธการ เป็นผู้บัญชาการสู้รบที่ยะลา
ตำรวจไทยปะทะกับกองกำลังของเปาะจิกาครึ่งค่อนวัน ในที่สุด เปาะจิกา ก็ถูกปืนด่าวดิ้น นอนกอดปืนตายในท่านักรบ ส่วนสมุนบริวารถูก พ.ต.อ. พระยาเหิมประยุทธการ ปราบปราม ถูกกระสุนปืนล้มตายนับเป็นสิบคน ตำรวจตายไปหลายคน พวกที่เหลือถูกจับได้เกือบหมด
เมื่อการรบพ่ายแพ้ อับดุลกาเดร์เมื่อรับรู้เข้าถึงกับเป็นโรคหัวใจร้ายแรง เขาเสียใจมากที่ไม่อาจทำการสำเร็จ จึงล้มป่วย แม้ว่าจะป่วยเพราะความเสียใจเพียงใด อับดุลกาเดร์ก็มิได้ย่อท้อ เขายังคงสั่งสอนสมุนบริวารให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ จะต้องสู้เอาปัตตานี แยกเป็นรัฐอิสระให้ได้
ปี พ.ศ. 2476 ก็จากไปท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของบริวาร
เมื่ออับดุลกาเดร์สิ้นลมหายใจ...ใช่ว่าเหตุการณ์จะสงบลงได้ ตรงกันข้ามกลับมีตัวตายตัวแทนคนใหม่ปรากฏตัวขึ้นมา คนที่ปรากฏตัวขึ้นมาแทนคราวนี้ มีศักดิ์เป็นถึง "ตวนกู" ซึ่งถือว่าสูงมาก มีนามว่า "ตวนกูอับดุลยะลา" ซึ่งมีชื่อเป็นไทยว่า นายอดุลย์ ณ สายบุรี
ส.ส. ท่านนี้ได้อภิปรายที่รัฐสภา พระที่นั่งอนันตสมาคม
ปี พ.ศ.2487...ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ผมรวบรวมข่าวในสมัยนั้นได้ความว่า นายอดุลย์ ณ สายบุรี หรือ "ตวนกูอับดุลยะลา"
ส.ส. จังหวัดนราธิวาส ได้ลุกขึ้นอภิปรายกล่าวหาอย่างรุนแรงว่า ประเทศไทยปกครอง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความไม่เป็นธรรม รัฐบาลข่มเหงรังแกประชาชน ไม่ให้เกียรติศาสนาอิสลาม มีการแบ่งแยก เอารัดเอาเปรียบ ไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ไม่อยากเป็นคนไทย เป็นแล้วเสียเปรียบ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ลุกขึ้นมาตอบและโต้ว่า ทั้งหมดเป็นการกล่าวหาใส่ความ เราเป็นคนไทยด้วยกัน ประเทศไทยไม่เคยมีเมืองขึ้น คำว่า 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือจะกี่จังหวัดก็ตาม เป็นพระราชอาณาจักรแหลมทองทั้งสิ้น ที่มีพี่น้องต่างชาติอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่อยู่นานวันเข้า ท่านทึกทักเอาเองว่าเป็นเมืองขึ้น
ข้าพเจ้าขอปฏิเสธข้อกล่าวหาของท่าน ส.ส. อดุลย์ ณ สายบุรี
เมื่อออกจากรัฐสภา...จอมพล ป. ได้สืบความลับจนรู้ว่า มี "ตวนกู" ที่โด่งดัง 3 คนรวมหัวกันทำงานใต้ดิน ตั้งปณิธานจะแบ่งแยกดินแดน
1. ตวนกูมะหมุดมะไฮยีดิน
2. ตวนกูอับดุลยะลา หรือ "นายอดุลย์ ณ สายบุรี
3. ตวนกูกูมัดตารอ
นี้เป็นปูมหลังตามตำราอันเป็นที่มาอีกท่อนหนึ่งของปัญหาแบ่งแยกดินแดน
มันเป็นปูมหลังที่มีอายุรวม 109 ปี (นับถึงปี 2549)
แต่เป็นปูมหลังภาค 1 เท่านั้น ยังมีภาค 2 เป็นปูมหลังที่จะเขียนเปิดเผยต่อไป
โปรดรับทราบเอาไว้ว่า เรื่องที่ผมนำเอามาเปิดเผย ทั้งที่เป็นปูมหลังนอกตำรา และปูมหลังในตำรา ทั้งปูมหลังภาคที่ 1 และปูมหลังภาคที่ 2 ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ตลอดระยะเวลา 109 ปีที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลา ปัตตานี นราธิวาส               มีแต่ความสยดสยอง เข่นฆ่าราวีกันไม่ได้หยุด พวกที่คิดจะแบ่งแยก ก็คิดไปหลายรูปแบบ         แต่ละรูปแบบ ได้ถูกนำเอาขึ้นมาตั้งเป็นตุ๊กตา เพื่อจะสืบทอดเจตนารมณ์ของอับดุลกาเดร์อย่างไม่มีวันเลิก
ปูมหลังปัตตานีในตำรา จึงเป็นอีกลีลาหนึ่ง ที่สามารถค้นคว้าได้ในหอสมุดแห่งชาติ และ จะสามารถเรียนรู้ได้จากเครือข่ายพูโต ที่ได้นำอุดมการณ์ของอับดุลกาเดร์มาเป็นแม่บท แล้วทำการขยายความหมายและวิธีการปฏิบัติให้พิสดารมากขึ้น
ถามว่าหลังจากอับดุลกาเดร์แล้ว มีใครบ้างเป็นหัวหน้าใหญ่ มีคำตอบเปิดเผยมากมายหลายคน เช่น หะยี สุหลง อับดุลกาเดร์เป๊าะสู ซึ่งพ้นสมัยไปแล้ว เมื่อหมดยุคนี้ ก็มีคนรุ่นใหมเข้ามาสืบทอดอุดมการณ์ เผยตัวให้เห็นทั้งในชื่อจริงและชื่อจัดตั้ง จะเป็นใครบ้าง จะได้พบกันในหนังสือเล่มนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม