วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

ประนามพิเชษฐ์


มุสลิมสงขลาประณาม “พิเชษฐ สถิรชวาล” ตัวป่วน จี้เลิกยุ่งองค์กรศาสนา

มุสลิมสงขลาประณาม “พิเชษฐ สถิรชวาล”
       องค์กรมุสลิมในสงขลา รวมตัวออกแถลงการณ์ประณาม “พิเชษฐ สถิรชวาล” กรณีแจ้งความดำเนินคดีจุฬาราชมนตรี ข้อหาซ่องโจรและลักทรัพย์ เรียกร้องให้หยุดการเคลื่อนไหวทันที และให้สังคมมุสลิมตรวจสอบคุณสมบัติของ “พิเชษฐ” เพื่อให้องค์กรมุสลิมมีบุคลากรทรงคุณภาพเข้ามาทำงาน เพื่อคุณภาพของสังคมมุสลิมโดยรวมต่อไป
       วานนี้ (17 ม.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา องค์กรอิสลาม ใน จ.สงขลา ประกอบด้วย คณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา ชมรมผู้บริหารมัสยิด จ.สงขลา และสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จ.สงขลา กว่า 500 คนได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ตอบโต้กรณีที่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล แจ้งความดำเนินคดีกับ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยรวม 43 คน ในข้อหาซ่องโจรและลักทรัพย์
       โดย นายวิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.สงขลา และหัวหน้าศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีภาคใต้ ได้เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ซึ่งระบุว่าการกระทำของนายพิเชษฐ เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานภาพการเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งโดยหลักแล้วต้องสร้างเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นแก่สังคมมุสลิม
       แต่การกระทำของนายพิเชษฐ ครั้งนี้ ได้สะท้อนว่า ขาดวุฒิภาวะและไม่ควรทำหน้าที่ในองค์กรระดับสูงของมุสลิมต่อไป เนื่องจากความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่นายพิเชษฐ ได้แสดงออกมาบ่งชี้ว่าไม่มีความจริงใจต่อสังคมมุสลิมแต่ประการใด แต่มุ่งเข้าครอบงำองค์กรอิสลาม เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องเป็นใหญ่ เป็นการทำลายองค์กรและสร้างภาพลักษณ์อันเลวร้ายของสังคมมุสลิมในสายตาของคนทั่วไป พฤติกรรมต่างๆที่นายพิเชษฐ์ได้แสดงออก ได้สร้างความเอือมระอาแก่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตลอดมา จนกระทั่งได้มีการลงมติเป็นเอกฉันท์ถอดถอนนายพิเชษฐ ออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในที่สุด
       ซึ่งการตั้งข้อหาซ่องโจรและลักทรัพย์แก่จุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอีก 42 คน บ่งชี้ว่า นายพิเชษฐ กำลังดิ้นรนเพื่อรักษาตำแหน่งของตนเอาไว้ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายขององค์กรและสังคมมุสลิมโดยรวม
       ทั้งนี้ เพราะการปลดนายพิเชษฐนั้น ดำเนินไปภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ทุกประการ ไม่มีอะไรที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวแต่อย่างใด เหนือสิ่งอื่นใดพฤติกรรมของนายพิเชษฐ ได้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า เป็นมุสลิมที่ไม่เข้าใจอิสลาม เนื่องจากโดยหลักอิสลาม การดำรงตำแหน่งใดๆ ทางสังคม ต้องอาศัยหลักการชูรอ หรือการปรึกษาหารือของคณะกรรมการที่รับผิดชอบ
       เมื่อคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นชอบให้ผู้ใดดำรงตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งใด มุสลิมผู้ศรัทธาก็ต้องเชื่อฟังมตินั้น แต่ นายพิเชษฐ กลับปฏิเสธหลักการชูรอ และยังฟ้องร้องดำเนินคดีกับจุฬาราชมนตรีซึ่งดำรงฐานะประมุขสูงสุดทางศาสนาอิสลามในประเทศไทยด้วย เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับทั้งจากมุสลิมและมิใช่มุสลิม ทั้งในประเทศและต่างประเทศนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเมื่อปี 2553 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยถึง 3 แห่ง ได้มอบประกาศดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า นายพิเชษฐ แม้จะเป็นมุสลิม แต่ไม่ได้ศึกษาอิสลามให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ซึ่งชวนให้สงสัยว่า นายพิเชษฐ เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรระดับสูงของมุสลิมได้อย่างไร
       ทั้งนี้ ทางองค์กรอิสลามใน จ.สงขลา ได้เรียกร้องให้ นายพิเชษฐ ยุติการกระทำอันนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สังคมมุสลิมลงทันที และให้สังคมมุสลิมตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิเชษฐ ว่า เหมาะสมกับตำแหน่งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.เพชรบุรี หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรมุสลิมทุกองค์กรมีบุคลากรทรงคุณภาพเข้ามาทำงานเพื่อคุณภาพของสังคมมุสลิมโดยรวมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม