วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

บิดเบือนประวัติศาสตร์


อิสลามกับสังคมการเมืองในอุษาคเนย์




เมื่อครั้งที่ "อาณาจักรมัชปาหิต" ซึ่งนับถือ
ศาสนาฮินดูได้แผ่อิทธิพลในหมู่เกาะชวา
หน้าต่างความจริง
หน้าต่างความจริง
ทำให้อาณาจักรศรีวิชัยซึ่งเป็นอาณาจัก
รพุทธศาสนามหายานเสื่อมลง ชาวศรีวิชัย
ได้อพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่ "มาลักกา" 
ในแหลมมลายู ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นเค้า
ของวัฒนธรรมมลายู ในศตวรรษที่ 14 
พ่อค้าอาหรับได้นำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่
โดยเกลี้ยกล่อม "พระเจ้าองควิชัย" 
แห่งมัชปาหิตไม่สำเร็จ แต่เกลี้ยกล่อม
พระราชโอรสชื่อ "ระเด่นปาตา" 
ให้เข้ารีตอิสลามได้ ระเด่นปาตา
กระทำปิตุฆาต สถาปนาตนเองเป็นสุลต่านและเผยแพร่อิสลาม มัชปาหิตจึงกลายเป็นดินแดนอิสลามนับแต่นั้น
ต่อมาผู้ปกครองบรูไนก็ได้เข้ารีตนับถือและเผยแพร่อิสลาม ซึ่งก็เช่นเดียวกับ "พระเจ้าปาร์ไบสุรา" แห่งมาลักกาที่เข้ารีตนับถือและเผยแพร่อิสลาม โดยเปลี่ยนสถานะเป็นสุลต่าน (sultan) ผู้มีอำนาจทั้งทางฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร สุลต่านผู้เปรียบเหมือน "สมมุติเทพ" เป็นผลรวมของวัฒนธรรมฮินดูในเอเชียอาคเนย์กับแนวคิดอิสลามจากตะวันออกกลาง
อิสลามในอินโดนีเซีย
ต้นศตวรรษที่ 20 ภายหลังจากการสู้รบกับอาณาจักรอิสลามแห่งอาเจะห์ (Aceh) อย่างดุเดือดและยาวนานกว่า 40 ปี รัฐบาลอาณานิคม (Netherlands East Indies) ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งตั้งเมืองหลวงที่ปัตตาเวีย (Batavia) ได้เฝ้าติดตามผู้นำศาสนาอิสลามอย่างระมัดระวัง โดยมีการแยกแยะระหว่างอิสลามที่เป็นศาสนากับอิสลามที่เป็นพลังทางการเมือง มีการเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่สุเหร่า โรงเรียนอิสลาม และครูสอนศาสนา เพื่อมิให้ไปปลุกระดมประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ ถ้ามีการปลุกระดมทางการเมืองก็จะถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ซูการ์โน (Sukarno) ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้ประกาศหลัก "ปัญจศีล" (pancasila) อันประกอบด้วย "ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว เอกภาพของประเทศ มนุษยธรรม ประชาธิปไตย และสังคมที่เป็นธรรม" ให้เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง ภายหลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการซูฮาร์โต (Suharto) การเมืองอินโดนีเซียก็เข้าสู่ความสับสนวุ่นวาย วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.2001 เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี (Megawati Sukarnoputri) บุตรสาวของซูการ์โน ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้นำที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกเริ่มมองเห็นว่า อิสลามที่ฟื้นตัวขึ้นใหม่กำลังกลายเป็นภัยที่คุกคามอำนาจรัฐ
ในช่วงแห่งการปกครองของเมกาวตีนั้น กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiah) ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มอัลเคด้า (al Qae-da) ได้ลอบวางระเบิดสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองคูตา (Kuta) บนเกาะบาหลี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.2002 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 200 คน (เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน และชาวอังกฤษ 26 คน) นับเป็นการท้าทายนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ และความร่วมมือกับตะวันตกในการต่อต้านการก่อการร้าย การโจมตีทำให้เกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อบาหลี และต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ศาสนาในมาเลเซีย
มาเลเซียมีชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมหลากหลายกว่า 60 ชาติพันธุ์ แต่เส้นแบ่งที่สำคัญที่สุดก็คือพลเมืองที่เป็น "ภูมิบุตร" (Bumiputera) ประกอบด้วยเชื้อสายมาเลย์ (ร้อยละ 64) มีวัฒนธรรมพื้นเมืองของแหลมมลายูและบอร์เนียวในเขตมาเลเซีย กับพลเมืองที่ "มิใช่ภูมิบุตร" (non-Bumiputera) ส่วนใหญ่แล้วก็คือเชื้อสายจีน (ร้อยละ 27) และอินเดีย (ร้อยละ 8) ซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองชั้นสอง แม้ว่าทั้งชาวจีนและอินเดียจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มาเลเซียมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ตาม
ในปี ค.ศ.1969 ชาวมาเลย์ได้ก่อเหตุจลาจลบุกทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนในกัวลาลัมเปอร์ การจลาจลดำเนินอยู่ 4 วัน มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และทรัพย์สินถูกทำลายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ อำนาจต่อรองของชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซียได้ลดลงอย่างมาก รัฐบาลมาเลเซียดำเนินนโยบายสร้างรัฐมาเลย์อย่างเปิดเผย ผลประโยชน์ของชาวมาเลย์กลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และ "อุมโน" (UMNO) กลายเป็นพรรคการเมืองที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในมาเลเซีย
ภายใต้การนำของมหาธีร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) นายกรัฐมนตรีคนที่สี่ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามถูกเพิกถอนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้นักเรียนจำนวนกว่า 126,000 คน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาตามปกติของรัฐ โรงเรียนเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นแหล่ง "ล้างสมอง" (ตามคำพูดของมหาธีร์เอง) ที่บิดเบือนคำสอนทางศาสนาเพื่อผลทางการเมือง ทำให้เด็กมุสลิมกลายเป็นคนนิยมความรุนแรง นอกจากนี้ มหาธีร์ยังพยายามแยกศาสนาออกจากหลักสูตรของโรงเรียน โดยให้ไปเรียนในวันหยุดและจะต้องไม่มีเนื้อหาทางการเมืองเข้าไปปะปนอยู่ด้วย นับเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะควบคุมการสอนศาสนาอิสลามในมาเลเซีย
วัฒนธรรมศาสนาของชาวมาเลย์ที่เคยสงบมาช้านาน ได้ถูกขบวนการ ดักวาห์ (dakwah) ปลุกระดมเพื่อให้มาเลเซียเป็นรัฐอิสลาม รัฐบาลมาเลเซียต้องออกกฎหมายควบคุมองค์กรทางศาสนาและคำสอนขององค์กรเหล่านี้ และปรามบุคคลที่ต้องการสร้างความแตกแยกทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพาส (Pas) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เน้นนโยบายสร้างรัฐอิสลาม ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลมหาธีร์ได้ประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน (Internal Security Act) เพื่อควบคุมตัวมุสลิมหัวรุนแรงที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุกาณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลตะวันตกลดการวิพากษ์วิจารณ์มหาธีร์ลง
อิสลามในบรูไน
บรูไนได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาจากอินเดียในสหัสวรรษแรก และได้ส่งเครื่องราชบรรณาการแก่พระจักรพรรดิจีน ต่อมาบรูไนอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) ศตวรรษที่ 15 ผู้ปกครองบรูไนทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งมาลักกา จึงได้เข้ารีตนับถืออิสลาม ทำให้เกิดการแพร่ขยายศาสนาอิสลามไปตามหมู่เกาะต่างๆ จนกระทั่งถึงภาคใต้ของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับศาสนาคริสต์คาทอลิก ซึ่งสเปนได้นำเข้ามาเผยแพร่ภายหลังจากที่ได้ครอบครองเกาะลูซอน ทางภาคกลางของฟิลิปปินส์

บรูไนเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่ถูกญี่ปุ่นยึดครองในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามบรูไนก็กลับเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง โดยสุลต่านปกครองภายใต้ที่ปรึกษาชาวอังกฤษและกองทหารกุรข่า (Gurkha) บรูไนได้รับเอกราชในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1984 นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีความพยายามที่จะสร้างชาติและวัฒนธรรมภายใต้คำขวัญที่ว่า "มาเลย์-อิสลาม-กษัตริย์" (Malayu-Islam-Beraja) แต่ปัญหามีอยู่ว่าชนชั้นกลางซึ่งนับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น จะยอมรับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปอีกสักเท่าใด ในเมื่อสถานะทางการศึกษาและการเงินของชนชั้นกลางเหล่านี้มีสูงขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง
บทสรุป
ดินแดนหมู่เกาะในอุษาคเนย์ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีศาสนาฮินดูตั้งมั่นที่เกาะบาหลี แต่อิสลามในอุษาคเนย์มีความหลากหลายสูง ทั้งระบบความเชื่อและการปฏิบัติ นับตั้งแต่ชาวอาเจะห์ที่เคร่งครัดและแสดงออกถึงความเป็นมุสลิมอย่างเปิดเผย จนถึงประชาชนในชวาภาคกลางและภาคตะวันออกที่นับถืออิสลาม โดยผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและศาสนาที่มีมาแต่เดิม แต่ด้วยแนวคิดสุดโต่งแห่ง "ลัทธิหวนคืนสู่สังคมเก่า" (Fundamentalism) จากตะวันออกกลางซึ่งต่อต้าน "ความทันสมัย" (Modernity) แบบตะวันตก ทำให้มีการนำศาสนาอิสลามมาเป็นเครื่องมือในการตีความให้เข้ากับเงื่อนไขท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน ก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งขึ้นในอุษาคเนย์ รวมทั้งหมู่เกาะมินดาเนาในฟิลิปปินส์ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ปัจจุบันมุสลิมในอุษาคเนย์กำลังแสวงหาทิศทางของตนเอง ระหว่างวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี อิสลามซึ่งกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญ และตะวันตกที่เป็นต้นแบบของเทคโนโลยีและความทันสมัย ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลต่อโลกทั้งมวล
ประกวดคลิปวิดีโอสุขแท้ด้วยปัญญา
"โครงการสุขแท้ด้วยปัญญา" เชิญผู้สนใจร่วมส่งผลงานในรูปแบบคลิปวิดีโอเข้าประกวด โดยเป็นคลิปเหตุการณ์จริง ประสบการณ์ตรง หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ "สุขแท้ด้วยปัญญา" ส่งเป็นไฟล์บันทึกมาในแผ่นดีวีดี ความยาวไม่เกิน 4 นาที พร้อมตั้งชื่อเรื่องและเขียนอธิบายว่าคลิปต้องการสื่ออะไร ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.budnet.org/

โดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม