อ่านสถานการณ์ภาคใต้ให้ดี / ศัตรูของเราคือใคร / อีกนานกว่าไฟใต้จะดับ
(อ่านสถานการณ์ภาคใต้ให้ดี นิธิ เอียวศรีวงศ์ นสพ.มติชน จันทร์ 23 ก.พ. 47 หน้า 6)
หลังจากความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องที่จะนำความสงบสุขมาสู่ภาคใต้ตอนล่างท่านนายกฯ เริ่มพูดถึงความเชื่อมโยงของผู้ก่อความไม่สงบกับการก่อการร้ายข้ามชาติ ท่านกล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐแล้ว การปฏิบัติการของฝ่ายตรงข้ามมีความเข้มข้นขึ้นขอให้สังเกตว่า นี่เป็นท่าทีใหม่ซึ่งแตกต่างจากเมื่อตอนเหตุการณ์เริ่มปะทุในการปล้นปืนทหาร เพราะช่วงนั้น ฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่าความไม่สงบในภาคใต้นั้นไม่เกี่ยวกับการก่อการร้ายข้ามชาติท่านนายกฯ จะใช้การก่อการร้ายข้ามชาติเพื่อกลบเกลื่อนความล้มเหลว หรือท่านนายกฯ ได้รับข่าวกรองจากบางหน่วยงานเช่นนั้นก็ตามเถิด แต่ผมคิดว่านี่เป็นการตั้งสมมติฐานที่ผิด และหากยึดถือสมมติฐานที่ผิดๆ นี้อย่างจริงจังแล้ว จะมีผลกระทบในทางลบต่อนโยบายต่อภาคใต้อย่างหนักด้วย
การดำเนินงานของกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ปฏิบัติการใน 9/11 กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้แตกต่างกันอย่างมาก แตกต่างทั้งจุดมุ่งหมาย และแตกต่างทั้งวิธีการ
ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้จะมีแกนกลางสักกี่คนก็ตาม แต่ที่สามารถปฏิบัติการได้กว้างขวางอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ก็เพราะมีฐานมวลชนกว้างขวาง
"ฐานมวลชน" มีความหมายนับตั้งแต่แนวร่วม คือผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับเป้าหมายของกลุ่ม หรืออย่างน้อยก็ใช้กลุ่มเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าบางอย่างของตน ครอบคลุมความหมายไปถึงประชาชนทั่วไปซึ่งวางตัวเป็นกลาง ไม่อยากเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และไม่อยากเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายรัฐ ยิ่งต้องมายืนอยู่ในจุดที่ถูกหวาดระแวงจากทั้งสองฝ่าย ยิ่งไม่อยากขึ้นไปใหญ่
บางคนกล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับรัฐ เพราะถูกฝ่ายตรงข้ามข่มขู่หรือแม้ฆ่าปิดปาก ซึ่งก็คงมีส่วนเป็นความจริงอยู่บ้าง แต่เพราะเป็นความจริงนี่แหละที่แสดงให้เห็นว่าฐานมวลชนของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบต้องกว้างขวางอย่างยิ่ง
เพราะการจะรู้ว่าใครให้ข้อมูลแก่ฝ่ายรัฐ จะฆ่าหรือลงโทษผู้ให้ข้อมูลอย่างไร จึงจะไม่ทำให้ตัวถูกจับ หรือก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังแก่ประชาชนทั่วไป ไม่สามารถทำได้เลย นอกจากต้องมีฐานมวลชนที่ตนสามารถกำกับควบคุมได้สูงและกว้าง ลองคิดเพียงเรื่องเดียวว่า จะสื่อสารการข่มขู่ของตัวออกไปอย่างไร จึงจะสามารถสยบประชาชนส่วนใหญ่ไว้ในอำนาจได้ เพียงแค่นี้ก็ต้องการฐานมวลชนที่กว้างขวางอย่างมากแล้ว
ตรงกันข้ามกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ เช่นกลุ่มที่ปฏิบัติการใน 9/11 ไม่ต้องมีฐานมวลชนที่กว้างขวาง มีบุคคลที่ถูกฝึกอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจถูกส่งออกไปปฏิบัติการได้อย่างปิดลับ จนกว่าการปฏิบัติการจะบรรลุผล โดยอาศัยช่องโหว่ต่างๆ ของการรักษาความปลอดภัยในประเทศที่ต้องการปฏิบัติการ ไม่จำเป็นจะต้องมีฐานมวลชนรองรับ ดังเช่น กลุ่มอัลเคด้า หาได้มีฐานมวลชนอยู่ในสหรัฐไม่ แต่ก็สามารถปฏิบัติการ 9/11 ได้บรรลุผล
แม้แต่การระดมผู้คนเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ ก็ไม่ได้เจาะลงไปยังพื้นที่เฉพาะเจาะจงใดๆ แต่อาศัยแรงดึงดูดของอุดมการณ์ เรียกเอาผู้คนจำนวนน้อยจากหลายประเทศเข้าไปร่วมมืออย่างลับๆ
กล่าวโดยสรุป กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติทำงานเหมือนสมาคมลับ ในขณะที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ทำงานเหมือนกองกำลังปฏิวัติ ดังชื่อที่เขาเรียกตัวเองว่า "แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ"การก่อการร้ายเป็นเพียงยุทธวิธี ซึ่งมีผู้นำไปใช้หลายรูปแบบ ทั้งกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติ และกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ หรือแม้แต่รัฐต่างๆ ก็ใช้การก่อการร้ายเป็นยุทธวิธีอยู่บ่อยๆ คนที่ใช้ยุทธวิธีเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นพวกเดียวกันหรือสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
วิธีดำเนินงานที่แตกต่างกันเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะจุดมุ่งหมายของสองกลุ่มนี้แตกต่างกัน ความไม่พอใจของกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ (ตามการวิเคราะห์ของกลุ่มเอง) มีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และด้วยเหตุดังนั้น จึง "ก่อการร้าย" เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศในขณะที่กลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และถ้าการสังหารผู้คนเป็นรายวัน (เหยื่อมีทั้งชาวพุทธและมุสลิม) เป็นฝีมือของกลุ่มนี้ ก็เห็นได้ชัดว่าเขาต่อต้านอำนาจของรัฐไทยโดยตรง เพื่อจุดมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐไทย เช่นต้องการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น
ไม่เคยมีแถลงการณ์ฉบับใดของกลุ่มนี้ที่ประกาศต่อต้านสหรัฐ หรือสนับสนุนปาเลสไตน์ในกรณีถูกอิสราเอลยึดครอง หรือปกป้องศาสนาอิสลามในบริบทของโลกที่ถูกพวกกาฟีร์(มิจฉาทิฏฐิ) ครอบงำ ฯลฯ
ฉะนั้น ถ้าแม้กลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าเขากำลังทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ แนวร่วมปฏิวัติที่ไหนๆ ก็คว้าความช่วยเหลือทุกอย่างที่มีผู้หยิบยื่นให้ทั้งนั้น ถ้าไม่กระทบต่อแนวทางปฏิวัติของเขา
ถ้ายึดมั่นกับสมมติฐานว่า การก่อความไม่สงบในภาคใต้เชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ วิธีตอบสนองก็คือการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ถูกโจมตี หาข่าวด้วยวิถีทางต่างๆ ทั้งที่ถูกกฎหมาย, ปริ่มกฎหมาย ละเลยกฎหมาย เพื่อปฏิบัติการเป็น "ฝ่ายรุก" ในการต่อสู้บ้าง ใช้ความเด็ดขาดจนถึงระดับ "เหี้ยม โหดสุดสุด" กับผู้ก่อการร้าย ในกรณีที่หมายหัวได้แน่ชัด จนกว่าจะถอนรากถอนโคนไปให้หมดภายในเท่านั้นเท่านี้ปี
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความหวาดระแวง และการละเมิดสิทธิประชาธิปไตยของพลเมืองต่อบุคคลที่น่าระแวง ดังที่สหรัฐกระทำแก่คนที่สหรัฐระแวง ทั้งที่เป็นพลเมืองอเมริกัน และไม่ใช่คนที่รัฐบาลอเมริกันระแวงในสังคมอเมริกันมีน้อย แต่สมมติฐานเดียวกันนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ไทยระแวง "แขก" เกือบทุกคน ทั้งๆ ที่เขาคือส่วนใหญ่ของประชากรในพื้นที่
อะไรจะเกิดขึ้นในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งมีความเปราะบางในความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและราษฎรอยู่แล้ว ก่อนที่รัฐบาลจะสามารถทำให้การปฏิบัติการของสมาคมลับยุติลงได้ เป็นเรื่องที่เมื่อคิดแล้วชวนให้หวาดหวั่นอย่างยิ่ง
และจะยิ่งน่าหวาดหวั่นขึ้นไปอีก ถ้าเชื่อสมมติฐานดังที่ผมเชื่อว่า ความไม่สงบในภาคใต้เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐไทย อาศัยความไม่พอใจบางประ การที่ราษฎรในพื้นที่มีต่อรัฐ เป็นเชื้อสำหรับสร้างฐานมวลชนที่กว้างขวาง ถึงประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่แนวร่วม ก็ไม่ได้รู้สึกว่าคุ้มที่จะปกป้องรัฐ
ความหวาดระแวงและมาตรการเข้มงวดต่างๆ ที่รัฐบาลใช้เพื่อปราบกลุ่มที่ตัวเชื่อว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ จะยิ่งทำให้ฐานมวลชนของกลุ่มก่อความไม่สงบขยายตัวกว้างขึ้น รวมทั้งแนวร่วมก็จะขยายตัวตามไปด้วย
หากการก่อความไม่สงบเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใน (แม้จะเชื่อมโยงกับกลุ่มนอกประเทศบ้าง) สาเหตุสำคัญย่อมมาจากภายใน การตอบสนองจึงต้องมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่
มองไปที่รายละเอียดของปัญหา อย่าเพิ่งเหวี่ยงแหด้วยสมมติฐานผิดๆ เช่นปอเนาะที่ยังไม่ได้รับความอุดหนุนจากกระทรวงศึกษาฯ นั้น เป็นเพราะเขาไม่อยากเข้ารับความอุดหนุน หรือเงื่อนไขของการเข้ารับความอุดหนุนไม่เหมาะกับสถานการณ์ของเขา ฉะนั้น ก่อนที่จะบังคับให้ปอเนาะทั้งหมดลงทะเบียนกับกระทรวง ผ่อนผันเงื่อนไขการเข้ารับการอุดหนุนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น สมดังเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องการสร้างมาตรฐานขึ้นจากความหลากหลาย ไม่ดีกว่าหรือ
ถูกต้องแล้วที่ท่านนายกฯ เปิดให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเข้ามาร่วมเป็นกรรมการพัฒนาของจังหวัด แต่จะเปิดให้กว้างกว่านั้นก็จะยิ่งดี เพราะที่จริงแล้วสังคมมุสลิมในภาคใต้ก็เหมือนสังคมมนุษย์ที่อื่นๆ หาได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันสนิทแนบแน่นภายใต้ผู้นำทางศาสนาไปทุกเรื่องนั้นไม่มี
พยายามทำความเข้าใจกับความไม่พอใจของราษฎรในพื้นที่ให้กระจ่าง แล้วแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างรวดเร็วก่อน ทำได้สำเร็จก็จะทำให้ฐานมวลชนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแคบลงเมื่อฐานมวลชนแคบลง ก็จะปฏิบัติการด้านความรุนแรงได้ยากขึ้น
-----------------------------
(ศัตรูของเราคือใคร ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ คอลัมน์ คิดทางขวาง นสพ.คมชัดลึก อังคาร 24 ก.พ. 47 หน้า 6)
เห็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองทั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีกหลายคนเดินกันขวักไขว่อยู่แถวจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยกเว้นที่ไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสงขลา) ทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า รัฐคงจะนำความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียที
แต่การเดินทางของท่านนายกรัฐมนตรีดูจะพิลึกพิลั่นพอสมควร เพราะก่อนจะไปดูทำท่าลับๆ ล่อๆ เหมือนกับการเดินทางไปใต้คราวนี้ต้องเป็นความลับสุดยอดอะไรทำนองนั้น ที่ปรึกษาอาจดูข่าวประธานาธิบดีบุชเดินทางไปอิรักชนิดที่ไม่มีใครรู้ จึงเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีของเราเอาอย่างบ้าง เลยกลายเป็นจำอวดการเมืองไป
เพราะขัดกับบุคลิกของท่านนายกรัฐมนตรีที่เรียบง่าย ชอบเดินข้างถนน ที่ปรึกษาอาจห่วงเรื่อง รปภ.นายกรัฐมนตรีมากเกินไปก็ได้ แต่สุดท้ายนายกรัฐมนตรีได้มาเดินข้างถนนทักทายพี่น้องชาวไทยมุสลิมอย่างเป็นกันเอง
เจ้าหน้าที่ในพื้นที่หลายคนบอกว่าค่อนข้างสับสน เพราะรัฐมนตรีคนหนึ่งมาก็สั่งอย่างหนึ่ง อีกคนมาก็สั่งอีกอย่าง นายกรัฐมนตรีมาก็สั่งอีกอย่าง เขาเลยตัดสินใจว่า นายกรัฐมนตรีใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้นขอทำตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน
ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่เท่านั้นที่สับสน ประชาชนก็สับสนเหมือนกันเกี่ยวกับข่าวที่นายกรัฐมนตรีพูดว่า ปืนกองพันพัฒนาที่ 4 หายไปก่อนที่จะถูกปล้น นัยหนึ่งคือการกล่าวหาว่ามีทหารแอบเอาปืนไปขายแล้ว จึงแกล้งทำทีเป็นโจรมาปล้นเพื่อแทงยอดจำหน่าย ต่อมาฝ่ายทหารทั้ง ผบ.ทบ. แม่ทัพภาค 4 ออกมายืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ไม่มีอาวุธปืนหายไปก่อนปล้น และบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่เคยพูดเช่นนั้นเลย แต่ไปตีความกันผิดๆ
สื่อคนไหนฟังผิดต้องจับมาล้างหูให้เข็ด โฆษกคนไหนให้ข่าวผิดต้องจับมาตบปาก ทำให้ผู้ใหญ่ในกองทัพต้องมาเสียเวลาแก้ข่าว
ขณะนี้ ถ้าท่านเดินทางไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเห็นทหารตำรวจเต็มไปหมด แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มเติมกำลังทั้งทหารบก นาวิกโยธิน ตำรวจตระเวนชายแดนร่วมกับหน่วยในพื้นที่กว่า 10 กองพันแล้วก็ตาม การลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตายรายวันยังมีอยู่ต่อไป แสดงว่ารัฐยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
รัฐบาลได้ข้อสรุปหรือยังว่า ศัตรูของเราเป็นใครกันแน่ ถ้ายังไม่รู้ว่าศัตรูของเราเป็นใคร การปราบปรามก็คงสะเปะสะปะ เรายอมรับกันหรือยังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มาจากการกระทำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่บงการอยู่เบื้องหลัง ใช้แนวร่วมในตัวเมืองเป็นผู้ปฏิบัติการ จริงอยู่อาจมีคนอื่นผสมโรงอยู่ด้วย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ
หรือยังคิดว่าเป็นฝีมือของพวกเรากันเอง เป็นการกระทำของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ที่สูญเสียประโยชน์เช่นที่ผ่านๆ มา
ถ้ายังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็ไม่มีวันแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เพราะวิธีการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ถ้าตั้งโจทย์ผิด คำตอบก็ผิด จะทุ่มตำรวจทหารลงในพื้นที่อีกเท่าไร ทุ่มเงินอีกพันล้านบาทก็ไม่มีทางสำเร็จ
ที่สำคัญถ้าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยังไม่มีเอกภาพ ทุกอย่างก็จบ
------------------------------
(อีกนานกว่าไฟใต้จะดับ วสิษฐ เดชกุญชร นสพ.มติชน อังคาร 24 ก.พ. 47 หน้า 6)ที่ต้องเขียนเรื่องสถานการณ์ในภาคใต้อีกครั้งหนึ่งนี้ ก็เพราะเป็นห่วงนะครับผมดีใจที่เห็น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสี่ยงอันตรายเดินทางลงไปจนถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาสถานการณ์และอำนวยการแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่ก็อดคิดเหมือนกับที่หลายๆ คนคิดไม่ได้ว่า ดูเหมือนคุณทักษิณจะต้องลงไปทำอะไรด้วยตัวเองเสียทั้งหมด ทั้งๆ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้มอบหมายทั้งสองคนให้ดูแลอยู่แล้ว
การที่นายกรัฐมนตรีต้องวิ่งพล่านขึ้นเหนือลงใต้เพื่อทำอะไรเองอย่างนี้ จะสอดคล้องกับหลักการบริหารแบบบูรณาการหรือซีอีโอ (C.E.O.) หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ถึง "ประชาธิปไตยรวมศูนย์" หรือ Democratic Centralism ที่เมืองจีน (คอมมิวนิสต์) เคยใช้อยู่ในสมัยหนึ่ง
ในฐานะที่เป็นตำรวจและเคยรับราชการอยู่ในภาคใต้ ผมจึงสนใจและยังติดตามศึกษาสถานการณ์ในภาคนั้น และการทำงานของตำรวจในภาคนั้นอยู่
ปัญหาของภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนซึ่งอยู่ติดกับมาเลเซียนั้น จะพิจารณาโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างเรื่องภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมไม่ได้ คนไทยในจังหวัดเหล่านั้นส่วนมากเป็นคนสองภาษา พูดทั้งภาษาไทยและมาเลย์ นับถือศาสนาอิสลาม จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะรู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับผู้ที่พูดภาษาเดียวกันและนับถือศาสนาเดียวกันในประเทศมาเลเซีย
ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญของความจริงข้อนี้ และหลับหูหลับตาส่งแต่ข้าราชการที่พูดได้แต่ภาษาไทยและนับถือศาสนาพุทธไปเป็นผู้ปกครอง ข้าราชการและประชาชนในจังหวัดเหล่านั้นก็อาจจะอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ แต่จะไม่มีวันเข้ากันได้เป็นอันขาด และเมื่อใดที่สถานการณ์เสื่อมทรามลง ที่ทำให้สองฝ่ายกินแหนงแคลงใจกัน เมื่อนั้นก็จะเกิดการกระทบกระทั่งกัน ซึ่งอาจปะทุเป็นการใช้ความรุนแรง อย่างที่กำลังเห็นกันอยู่ในขณะนี้
ผมไม่แน่ใจว่า การวิเคราะห์ของข้าราชการผู้ใหญ่บางคน ที่ว่าเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่อง "ส่วนตัว" หรือเป็นเรื่องข้าราชการสูญเสียประโยชน์ยุยงส่งเสริมให้เกิดขึ้นนั้น เป็นการวิเคราะห์ที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ที่เห็นชัดๆ และต้องยอมรับกันก็คือ เหตุร้ายได้เกิดขึ้นแล้วอย่างแน่นอน
ผมเคยอยู่ในภาคใต้ และรู้จักคนไทยในจังหวัดภาคใต้ดีพอที่จะเชื่อว่า ส่วนใหญ่รักสงบ และไม่สนใจที่จะแยกจากเมืองไทยไปอยู่ใต้การปกครองของประเทศอื่นใด หรือแม้แต่จะแยกตัวออกไปเป็นรัฐอิสระ
แต่การที่ตำรวจ ครู พระภิกษุสงฆ์ และเจ้าหน้าที่ผู้น้อย ถูกฆ่าหรือลอบทำร้ายเกือบทุกวันนั้น ย่อมเพียงพอที่จะทำให้คนไทยที่รักสงบและยังอยากจะอยู่เป็นคนไทยในเมืองไทย เกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าขัดขวางคนร้าย และไม่กล้าร่วมมือด้วยประการใดๆ กับเจ้าหน้าที่
สถานการณ์ทำนองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นแล้วและกำลังเป็นอยู่ในประเทศอิรัก อัฟกานิสถาน อิสราเอล และปาเลสไตน์
จะโดยใครเป็นผู้ก่อ และด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราต้องยอมรับว่า เหตุร้ายในภาคใต้เป็นการก่อการร้าย (terrorism) แล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ก่อการร้ายในภาคใต้กำลังใช้กลวิธีพื้นๆ อย่างที่เขาใช้ในประเทศอื่น นั่นก็คือทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หวาดกลัวจนไม่ยอมหรือไม่กล้าร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ประชาชนและเจ้าหน้าที่ถูกแยกออกจากกัน ตราบใดที่ประชาชนยังหวาดกลัวและแยกตัวออกจากเจ้าหน้าที่ ตราบนั้น มาตรการใดๆ ที่รัฐบาลใช้ย่อมไม่ได้ผล
การทุ่มเทเงินเป็นหมื่นล้านเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ดี การตั้งมหาวิทยาลัยและธนาคารอิสลามขึ้นในภาคใต้ (อย่างที่บางคนกำลังฝันอยู่) ก็ดี จะเป็นการเกาที่ยังไม่ถูกที่คัน และอาจเป็นกลายเป็นการสูญเปล่า
ภารกิจเร่งด่วนอันดับแรกของรัฐบาล คือการปฏิรูปเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหารหรือข้าราชการพลเรือน ฟื้นฟูความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อเจ้าหน้าที่ ถ้าหากยอมรับว่าที่แล้วมาเจ้าหน้าที่ของรัฐทำตัวเป็นนายเหนือหัวของประชาชน ห่างเหินกับประชาชน และข่มเหงรังแก หาประโยชน์โดยมิชอบ ก็จะต้องเอาน้ำดีลงไปไล่น้ำเสีย ด้วยการสังคายนาและฟื้นฟูพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่
แต่ในการนี้ ที่ต้องระวังอย่างยิ่งก็คือ รัฐบาลจะต้องไม่ผลีผลาม ประณามข้าราชการอย่างไม่เลือกหน้าหรือลงโทษอย่างใช้อารมณ์โดยไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้โอกาสที่จะชี้แจงหรือแก้ตัว
เราจะต้องไม่เสียไปทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและไม่ง่าย แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ ยิ่งเร็วยิ่งดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น