วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

สังเวย 4,370 ชีวิต

7 ปีสังเวย 4,370 ชีวิต
กำพร้าครึ่งหมื่น
คดียกฟ้อง 45% 
ฝ่ายความมั่นคงบอกภาพรวมดีขึ้น 
นักวิชาการคนพื้นที่แย้งยังเลวร้าย
ชำแหละงบดับไฟใต้ 8 ปีงบประมาณพุ่งทะลุ 1.45 แสนล้าน แต่สถานการณ์ยังไม่บรรเทา 7 ปีเกิดเหตุรุนแรงกว่าหมื่นครั้ง สังเวยไปแล้วกว่า 4 พันศพ บาดเจ็บกว่า 7 พัน เด็กกำพร้าครึ่งหมื่น หญิงหม้าย 2 พันคน ขณะที่การจัดการด้านคดียังมีปัญหา คดีความมั่นคงกว่า 7 พันคดี ศาลตัดสินได้แค่ 256 คดี แถมยกฟ้องเกือบครึ่ง อดีต กอส.แฉคอร์รัปชันเกลื่อน แนะตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบการใช้จ่าย
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับจากวันเสียงปืนแตก 4 ม.ค. 2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารจำนวนถึง 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถึงวันนี้ผ่านหลักไมล์ 7 ปีมาแล้ว โดยรัฐบาล 6 ชุด 5 นายกฯที่ผ่านมา ได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไปเพื่อดับไฟความรุนแรง
 ประเด็นที่ทุกฝ่ายพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากที่สุดในขณะนี้คือ ผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขปัญหาเมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินที่ทุ่มเทลงไปว่ามีความคุ้มค่าขนาดไหน โดยเฉพาะกับความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ยังเกิดขึ้นแทบจะรายวัน
 ข้อมูลจากสำนักงบประมาณ ระบุว่า รัฐบาล ทุกชุดที่ผ่านมาได้จัดงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามความรุนแรงหนักหน่วงของสถานการณ์ ตัวเลขงบประมาณจึงมีทิศทางสูงขึ้นเกือบทุกปี แม้กระทั่งงบประมาณ ณ ปีปัจจุบัน คือปี พ.ศ. 2554 ก็ยังสูงกว่าเมื่อปีก่อนหน้าเกือบ 3 พันล้านบาท
 งบประมาณดับ
ไฟใต้แยกแยะเป็นรายปีได้ดังนี้  ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 ขยับขึ้นเป็น 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 อยู่ที่ 22,988 ล้านบาท ปี 2552 พุ่งไปถึง 27,547 ล้านบาท ปี 2553 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 16,507 ล้านบาท และปี 2554 ขยับขึ้นไปอีกครั้งอยู่ที่ 19,102 ล้านบาท รวม 8 ปีงบประมาณ รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินลงไปสำหรับภารกิจดับไฟใต้แล้วทั้งสิ้น 145,001 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ 1.45 แสนล้าน
 งบประมาณดังกล่าวเรียกกันว่า "งบฟังก์ชัน" หมายถึง งบที่จัดไว้สำหรับทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่รวมงบประจำประเภทเงินเดือนและค่าตอบแทนของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
 ที่สำคัญตัวเลข 1.45 แสนล้านบาท นี้ ยังไม่รวมงบเยียวยาที่จ่ายให้แก่ผู้สูญเสียและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง, ไม่รวมงบไทยเข้มแข็งที่จัดขึ้นใหม่ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และไม่รวมงบจัดซื้อยุทโธปกรณ์ด้วยวิธีพิเศษของกองทัพ
7ปี"บึ้ม-ยิง-เผา"หมื่นครั้งสังเวย4พันชีวิต
 จากยอดการใช้จ่ายงบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงในพื้นที่จะพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมาสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายจนมิอาจประเมินค่าได้
 ข้อมูลจาก ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกือบจะรายวันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวีนั้น มีทั้งสิ้น 11,523 เหตุการณ์ แยกเป็น จ.นราธิวาสมากที่สุด 4,010 เหตุการณ์ จ.ปัตตานี 3,783 เหตุการณ์ จ.ยะลา 3,152 เหตุการณ์ และ จ.สงขลา 567 เหตุการณ์
 รูปแบบของความรุนแรง แยกเป็น เหตุยิงด้วยอาวุธปืน 6,171 ครั้ง ลอบวางระเบิด 1,964 ครั้ง และวางเพลิงเผาทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงสถานที่ราชการ 1,470 ครั้ง
 ความสูญเสียจากเหตุรุนแรง มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 4,370 ราย แยกเป็น จ.นราธิวาส 1,540 ราย ปัตตานี 1,433 ราย ยะลา 1,167 ราย และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 224 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต 4,370 รายนั้น เป็นประชาชนทั่วไป 3,825 ราย ทหาร 291 นาย และตำรวจ 254 นาย ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากข้อมูลของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ศจฉ.จชต.) อยู่ที่ 7,136 ราย
เด็กกำพร้าครึ่งหมื่น-หญิงหม้าย2พันคน
 สถานการณ์ความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ยังทำให้ตัวเลขเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ กล่าวคือจำนวนเด็กกำพร้าตั้งแต่ปี 2547 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อยู่ที่  5,111 คน  แยกเป็น จ.นราธิวาส 1,463 คน ยะลา 2,033 คน ปัตตานี 1,471 คน และสงขลา 144 คน
 ส่วนหญิงหม้ายที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ นับจากปี 2547 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อยู่ที่ 2,188 คน แยกเป็น จ.นราธิวาส 575 คน ยะลา 770 คน ปัตตานี 770 คน และสงขลา 73 คน
7,680 คดีถึงศาล256ยกฟ้องเกือบครึ่ง
 เป็นที่ทราบกันดีว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แต่เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคลี่คลายคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่าล้มเหลวแทบจะสิ้นเชิง
 ทั้งนี้ ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ศชต.ได้นำมาแยกแยะเป็นคดีความมั่นคงได้ 7,680 คดี จากคดีอาญาที่เกิดขึ้นทั้งหมด 77,865 คดี หรือคิดเป็น 9.86% ในจำนวนคดีความมั่นคง 7,680 คดีนั้น เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดมากถึง 5,872 คดี รู้ตัวผู้กระทำความผิดเพียง 1,808 คดี หรือคิดเป็น 23.54% ในจำนวนนี้จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,264 คดี หลบหนี 544 คดี
 เมื่อแยกแยะคดีความมั่นคงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต่างๆ พบว่า คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 7,680 คดี เป็นคดีที่สั่งงดการสอบสวนเพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดถึง 5,269 คดี สั่งฟ้อง 1,536 คดี สั่งไม่ฟ้อง 210 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 665 คดี พนักงานอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว 655 คดี สั่งไม่ฟ้อง 299 คดี และมีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 256 คดี ลงโทษ 140 คดี หรือ 54.69% ยกฟ้อง 116 คดี หรือคิดเป็น 45.31%
 ฝ่ายความมั่นคงยืนกรานสถานการณ์ดีขึ้น
 ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคง ยังคงยืนกรานว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ
 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มปรับไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น เพราะมีสถิติการก่อเหตุรุนแรงน้อยลง สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้มากขึ้นถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากคนกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียวที่ไม่พอใจการปกครองของภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยปฏิบัติตามกฎหมาย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือแจ้งเบาะแสกระทั่งจับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้เป็นจำนวนมาก
   จากข้อมูลการข่าวและการวิเคราะห์สถานการณ์ เชื่อว่าปี 2554 การต่อสู้ของขบวนการที่มีอุดมการณ์ใช้ความรุนแรงอาจเปลี่ยนแปรไป โดยเลือกใช้ความรุนแรงน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการจัดวางกำลังทหาร ตำรวจตามแผนปฏิบัติการสามารถเข้าถึงพื้นที่ครอบคลุมทั้งสามจังหวัด ขบวนการที่ต้องการต่อสู้กับรัฐจึงลำบากมากขึ้น ขณะที่แนวร่วมบางคนก็รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีทางออก จึงต้องการที่จะต่อสู้ทางอื่น เช่น การต่อสู้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น
 "ทุกคนรู้ดีว่าการก่อเหตุรุนแรงที่ผ่านมาทำให้ระบบการศึกษา และเศรษฐกิจในพื้นที่ตกต่ำอย่างหนัก ฉะนั้นการต่อสู้ในแนวทางที่ไม่ผิดกฎหมายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกลุ่มขบวนการ” พล.ท.อุดมชัย ระบุ
 สถิติเหตุรุนแรงปี2553 ลดลง13%
 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ซึ่งกำกับนโยบายดับ
ไฟใต้ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากสถิติการก่อเหตุร้ายที่รวบรวมโดย ศชต. พบว่า ปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดถึง 2,475 เหตุการณ์ จากนั้นก็ค่อยๆ ลดระดับลงเรื่อยๆ  กระทั่งปี 2553 เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 1,164 เหตุการณ์ เทียบกับปี 2552 ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,348 เหตุการณ์ เท่ากับลดลง 184 เหตุการณ์ หรือ 13.65%
 นอกจากนั้น ความสูญเสียจากเหตุรุนแรงก็ลดลงมากเช่นกัน กล่าวคือตลอดปี 2553 มียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 606 ราย ลดลงจากปี 2552 จำนวน 87 ราย หรือคิดเป็น 14.33%
 "สถานการณ์ในภาคใต้เหมือนกับคลื่นสึนามิ บ่มเพาะอยู่ใต้ดินมานาน 20 ปี แล้วก็เปิดปฏิบัติการเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 คล้ายวันเสียงปืนแตก การก่อเหตุรุนแรงพุ่งสูงสุดในปี 2550 จากนั้นปี 2551-2552 ก็ลดลงถึงร้อยละ 44 กระทั่งปี 2553 ก็ยังลดลงต่อเนื่อง 13.65% แสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายความมั่นคงประสบผลสำเร็จ มีการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดและดำเนินคดีกระทั่งศาลพิพากษาลงโทษเป็นจำนวนมาก" รอง ผบ.ตร. กล่าว
นักวิชาการชี้ละเลงงบหาเสียง-ทุจริตพุ่ง
 ด้านความเห็นของคนในพื้นที่ นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และ อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ทุ่มลงมา ถึงมือชาวบ้านน้อยมาก หนำซ้ำโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐยังมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส หลายโครงการมุ่งผลทางการเมืองของรัฐบาลมากกว่าแก้ปัญหาในพื้นที่
 "ผมอยากให้รัฐบาลประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแล เพื่อส่งข้อมูลไปยังส่วนกลางว่ามีการใช้จ่ายในลักษณะละลายงบและคอร์รัปชันมากขนาดไหน เพราะที่ผ่านมามีช่องโหว่จริงๆ อีกทั้งการตั้งงบประมาณส่วนใหญ่ยังสนองความต้องการของภาครัฐและหน่วยราชการมากกว่าความต้องการของประชาชน"
7 ปีไม่ดีขึ้น-ยอดสูญเสียเกินรับได้
 นายอัฮหมัดสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า การยกเลิกกฎหมายพิเศษโดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บางอำเภอในขณะนี้ ถ้าจะให้ดีควรยกเลิกให้หมดทุกอำเภอ เพราะไม่ได้ทำให้สังคมอยู่เป็นสุขได้เลย 7 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้ว มีคนเสียชีวิตไปกว่า 4 พันคน ขณะที่ความขัดแย้งในยุโรปหลายประเทศ มีปัญหากัน 30-40 ปี มีคนเสียชีวิตแค่ 700-800 คนเท่านั้น
 นายสือนิท นาแว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า งบประมาณที่รัฐเทลงมาในพื้นที่ทั้งงบปกติและงบไทยเข้มแข็ง โดยภาพรวมยังไม่ค่อยถึงมือประชาชนเท่าที่ควร และบางพื้นที่ยังมีการยัดโครงการให้กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่ข้าราชการได้ประโยชน์
 นายอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบบสรรหา จาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า งบประมาณที่ลงมาในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นงบปกติของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ส่วนงบที่ดูแล้วมากเป็นพิเศษ เป็นงบด้านยุทธการของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมีทั้งเรื่องเบี้ยเลี้ยงกำลังพล และการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ โดยเห็นว่าภาคประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้มีประสิทธิผลมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม