วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ไขปริศนา! PLAโยงป่วนใต้...ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?



ไขปริศนาภาพ'นักรบนิรนาม'ว่อนไลน์ กองกำลังPLAโยงป่วนใต้...ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?

          ช่วงไม่นานานี้ มีภาพ "นักรบจากชายแดนใต้" ว่อนอยู่ในโซเชียลมีเดีย ทั้งระบบไลน์และเว็บไซต์เฟซบุ๊ก นักรบที่ว่านี้ไม่ใช่ทหารหรือทหารพราน แต่เป็นกลุ่มคนที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็น "กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง" หรือ ผกร. ซึ่งดูจากภาพแล้วคล้ายคลึงกับกลุ่มก่อการร้ายในต่างประเทศอย่างมาก

            ภาพดังกล่าวมีหลายภาพ อาจเรียกได้ว่า เป็น “ภาพชุด” ถูกเผยแพร่ในระบบสื่อสารทางแอพพลิเคชั่น “ไลน์” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน โดยอ้างว่าเป็นภาพที่ได้จากโทรศัพท์มือถือของกลุ่มติดอาวุธที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม 3 ศพ ในเหตุการณ์ปะทะกับทหารและตำรวจที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

           ภาพชุดนี้มีภาพที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ 2 ภาพ คือ 
  • 1.ภาพชายฉกรรจ์ 5 คนสวมชุดทะมัดทะแมง โพกผ้าปิดบังใบหน้า กำลังนั่งคล้ายประชุมหารือกันอยู่บนโขดหิน กับ 
  • 2.ภาพชายฉกรรจ์แต่งกายชุดลำลองหลายคน แต่มีอาวุธครบมือ กำลังนั่งคล้ายฟังบรรยายจากผู้บรรยาย โดยด้านหลังมีการแขวนป้ายคล้ายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม พร้อมข้อความบางอย่าง ฉากหลังเป็นป่าโปร่งคล้ายในภาคใต้ของประเทศไทย
          คนที่นำภาพมาปล่อยในกรุ๊ปไลน์ เขียนข้อความคล้ายการแจ้งเตือนของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เอาไว้ด้วย โดยระบุทำนองว่า กลุ่มก่อความไม่สงบกำลังประชุมกันเพื่อเตรียมก่อเหตุใหญ่วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งมีการอ้างว่าเป็นวันสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น

1 ใน 2 ภาพส่อโยง “พีแอลเอ”
          เมื่อภาพชุดดังกล่าวถูกเผยแพร่ ก็มีการแชร์ต่อจากกรุ๊ปไลน์หนึ่งไปยังอีกกรุ๊ปไลน์หนึ่ง และกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทำให้หน่วยงานความมั่นคงต้องตรวจสอบภาพ และสรุปเป็นรายงานผลการวิเคราะห์ออกมาดังนี้

  • ภาพที่ 1 ภาพชายฉกรรจ์ 5 คนกำลังนั่งประชุมกันอยู่บนโขดหิน พบว่าชายฉกรรจ์บางคนสวมเสื้อที่มีเครื่องหมายคล้ายกองกำลัง "พีแอลเอ" ซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายทหารของขบวนการพูโลที่เพิ่งตั้งขึ้นไม่นานมานี้ โดย "พีแอลเอ" (PLA) ย่อมาจาก Patani Liberation Army เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่า ภาพนี้น่าจะถ่ายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นภาพเก่าเคยเผยแพร่มาก่อนแล้ว และล่าสุดมีการนำมาเผยแพร่ซ้ำ

  • ภาพที่ 2 ภาพชายฉกรรจ์แต่งกายด้วยชุดลำลอง กำลังนั่งฟังบรรยาย น่าจะเป็นภาพของเครือข่ายกลุ่มอัล-ไกดา หรือกลุ่มเจไอ (เจมาห์อิสลามิยาห์) ที่มีอุดมการณ์ตั้งรัฐอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (แพนอิสลาม) ครอบคลุมดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และภาคใต้ตอนล่างของไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ภาพนี้เป็นภาพเก่าเช่นกัน เคยเผยแพร่มาแล้วเมื่อปี 56

           อนึ่ง “กลุ่มแพนอิสลาม” นำโดยขบวนการเจไอนี้ เป็นแนวคิดดั้งเดิมในการตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และถูกระดมกวาดล้างมาหลายปี แต่ล่าสุดมีข่าวครึกโครมจากสื่อมาเลเซียว่ามีกลุ่มขบวนการชื่อใหม่ แต่มีแนวคิดเดิม คือ ตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคลื่อนไหวอยู่ในมาเลเซียและประเทศใกล้เคียง

รู้จักกองกำลังพูโลใหม่

           สำหรับ “กองกำลังพีแอลเอ” ที่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวโยงกับภาพถ่าย 1 ใน 2 ภาพนี้ เนื่องจากมีสัญลักษณ์ปรากฏบนเสื้อยืดของชายฉกรรจ์บางคนในภาพนั้น แหล่งข่าวจากฝ่ายทหาร ระบุว่า กองกำลังพีแอลเอเป็นฝ่ายทหารของกลุ่มพูโลใหม่ ซึ่งแตกตัวออกจาก "องค์การพูโล" หรือพูโลเก่า โดยกลุ่มที่แตกตัวออกมามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของ นายกัสตูรี มาห์โกตา และกลุ่มของ นายซำซูดิง คาน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเปิดโต๊ะพูดคุยกับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น สายของนายฮัสซัน ตอยิบ

          แหล่งข่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่กลุ่มพูโลใหม่ตกขบวนเจรจา จึงพยายามก่อเหตุรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา และรวมตัวกันฝึก "กองกำลังรุ่นใหม่" ตระเวนก่อเหตุรุนแรงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเข้าสู่โต๊ะเจรจา

           กองกำลังรุ่นใหม่เหล่านี้บางรายถูกจับกุมได้และยอมรับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มพูโลใหม่ และเรียกตัวเองว่า “พีแอลเอ”

คาดว่าเป็นการปล่อยภาพออกมา เพื่อปลุกใจนักรบ

            อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคง ไม่ฟันธงว่าภาพที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียนั้น ถูกดึงมาจากมือถือของผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะที่ อ.รือเสาะ หรือไม่ แต่ระบุว่าการนำภาพมาเผยแพร่น่าจะมีจุดประสงค์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในหมู่ผู้ก่อเหตุรุนแรงเอง เพราะระยะหลังมีสมาชิกระดับนำถูกจับและเสียชีวิตจากการปะทะหลายราย ขณะเดียวกันก็อาจต้องการทำให้เข้าใจว่ามีกองกำลังจากประเทศอื่นเข้ามาร่วมสนับสนุน ซึ่งน่าจะทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีความฮึกเหิมมากขึ้น

           เป็นที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการนำคลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นคำแถลงของ "ฝ่ายทหารบีอาร์เอ็น" ที่มีการประกาศไม่เจรจากับรัฐไทย มาเผยแพร่สั้นๆ ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้วสรุปว่าเป็นคลิปเก่าที่เคยแพร่เมื่อปี 56 เช่นกัน จึงน่าเชื่อว่าเป็นความพยายามสร้างกระแส แต่มุ่งไปที่การคัดค้านเจรจาในขณะที่ทางการไทยกำลังสถาปนาช่องทางพูดคุยขึ้นใหม่

ภาพ"กลุ่มนิรนาม"อาจไม่ใช่แก๊งป่วนใต้

         กระนั้นก็ตาม มีรายงานจากหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยให้ข้อมูลไปอีกทางหนึ่งว่า ภาพปริศนาทั้ง 2 ภาพอาจไม่ได้ถ่ายในประเทศไทย

         ข้อสังเกตประการแรก คือ กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย เวลาฝึก ประชุม หรือบรรยาย มักไม่มีผ้าโพกศีรษะเพื่อปิดบังใบหน้าตลอดเวลา หากจะพรางใบหน้าก็จะพรางเฉพาะครูฝึก หรือผู้บรรยายปลุกระดมเท่านั้น ส่วนฝ่ายปฏิบัติการโดยมากก็ไม่มีการปิดบังใบหน้า

         ประการที่สอง ภาพที่มีการเผยแพร่ 1 ใน 2 ภาพ มีป้ายผ้าหรือผ้าใบผูกติดไว้กับต้นไม้ เหมือนเป็นสัญลักษณ์บอกฝ่ายหรือบอกกลุ่ม ซึ่งสัญลักษณ์และข้อความบนป้ายดังกล่าวไม่ใช่ขบวนการที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น พูโล หรือบีเอ็นพีพี และภาษาที่ใช้ก็ไม่ใช่ภาษามลายู

          ประการที่ 3 ข้อความที่ส่งมาพร้อมภาพ เป็นข้อความแจ้งเตือนผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ เนื้อหาและถ้อยคำที่ใช้ไม่ใช่ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ และโดยปกติการแจ้งเตือนจะกระทำผ่านทางวิทยุสื่อสารมากกว่าระบบไลน์

         ส่วนที่มีข่าวบางกระแสระบุว่า ภาพที่เผยแพร่นี้มาจากมือถือของผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับทหารที่ อ.รือเสาะ นั้น แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงหน่วยเดียวกัน ระบุว่า ไม่มีข้อมูลดังกล่าว แต่หากเป็นภาพจากโทรศัพท์มือถือของผู้ตายจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นภาพของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทย หรือเป็นภาพการฝึก บรรยาย หรือประชุมในประเทศไทย เพราะอาจไปโหลดภาพของขบวนการอื่นในภูมิภาคนี้มาก็ได้

“ภาพ-ข่าวลือ-บทวิเคราะห์”ว่อนโซเชียลฯ

         เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอด 1-2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา มีข่าวที่เผยแพร่จากการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่มต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลุดออกมาเป็นข่าวนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักโดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องหลายข่าว เช่น ข่าวนายมะแซ อุเซ็ง แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่ถูกออกหมายจับในคดีปล้นปืนกว่า 400 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ประชุมแกนนำกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน และสั่งให้เครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบเร่งสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเดือนสิงหาคม

          นอกจากนั้นยังมีข่าวผู้ต้องสงสัย 3 คน ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่ อ.รือเสาะ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม สวมนาฬิกาชนิดเดียวกัน จึงเชื่อว่าเป็น “สัญลักษณ์บอกฝ่าย” ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ผ่านการฝึกมาจากแหล่งเดียวกัน รวมทั้งการปล่อยภาพที่อ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังประชุมวางแผนและรับฟังบรรยายในพื้นที่ป่าเขาด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

Powered By Blogger

หน้าเว็บ

ผู้ติดตาม